ความหวานซึ้งของความรักที่มีต่อพระองค์อัลลอฮฺ
  จำนวนคนเข้าชม  6394

 

ความหวานซึ้งของความรักที่มีต่อพระองค์อัลลอฮฺ

 

แปลและเรียบเรียงโดย อาจารย์ อับดุลฆอนี บุญมาเลิศ


 

มีรายงานจากอัลดุลลอฮฺ บินอับบาส ว่า
 

 

          “ใครที่มีความรักให้เพื่ออัลลอฮฺและโกรธเพื่ออัลลอฮฺให้การปกป้องคุ้มครองเพื่ออัลลอฮฺ และเป็นศัตรูเพื่ออัลลอฮฺ อันเนื่องจากความคุ้มครองของอัลลอฮฺ จะถูกรับด้วยเรื่องดังกล่าวนั้นและบางคนจะยังไม่ได้รับรสชาติของความศรัทธา แม้ว่าเขาทำการละหมาดมาก ถือศีลอดมาก เว้นแต่ว่าจะต้องมีเรื่องดังกล่าวนั้นอยู่ และแน่นอนในคนทั่ว ๆ ไปนั้น พวกเขาจะจับมือนับญาติกันในเรื่องของ (ดุนยา) โลกนี้เท่านั้น ดังกล่าวนั้นจะไม่ก่อประโยชน์แก่ผู้ที่ทำเช่นนั้นแม้แต่สิ่งเดียว”


 

ส่วนประโยคที่ว่า :
 

“อันเนื่องจากความคุ้มครองจากอัลลอฮฺ จะถูกรับด้วยเรื่องดังกล่าวนั้น”
 

          หมายความว่า “ใครก็ตามที่มีความรักชื่นชอบกัน มีความผูกพันกันในเรื่องเกี่ยวกับอัลลอฮฺ ในส่วนของศาสนบัญญัติของพระองค์มิใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยแห่งโลกดุนยานี้”


 

ประโยคที่ว่า :
 

“และโกรธเพื่ออัลลอฮฺ”
 

         หมายความว่า “เขามีความโกรธไม่ชอบกันด้วยเพื่ออัลลอฮฺ” เมื่อเขาได้พบเห็นบุคคลที่ทำการฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺ และแสดงความไม่พอใจออกมา และมีความโกรธผู้ที่ฝ่าฝืนนั้น อันเนื่องจากบุคลผู้นั้นถูกอัลลอฮฺ ทรงกริ้ว และเขารักผู้ใดสักคน อันเนื่องจากอัลลอฮฺ ทรงรักผู้นั้นนั่นเอง”


ประโยคที่ว่า :

“และให้ความปกป้องคุ้มครองเพื่ออัลลอฮ์”

          หมายความว่า “การให้ความปกป้องคุ้มครองกัน มีความรักสนิทสนมต่อกัน หมั่นดูแลกันและกันมิให้เกิดอันตรายใด ๆ”


ประโยคที่ว่า :

“และเป็นศัตรูเพื่ออัลลอฮ์”

       หมายความว่า “การเป็นศัตรูตรงข้ามกันกับการเป็นมิตร ทำตัวออกห่างให้ไกลพ้นไปจากพวกเขา พร้อมทั้งแสดงการโกรธและไม่พอใจพวกเขาเพื่ออัลลอฮฺ ”


ประโยคที่ว่า :

“อันเนื่องจากความคุ้มครองของอัลลอฮฺ จะถูกได้รับด้วยเรื่องดังกล่าวนั้น”

          หมายความว่า “คนนั้นจะได้รับการปกป้องคุ้มครองของอัลลอฮฺ ทันที เพราะเขายึดโยงเรื่องรัก เรื่องโกรธ เรื่องการเป็นมิตร เรื่องการเป็นศัตรูของเขาทั้งหมดเพื่ออัลลอฮฺ ”


ประโยคที่ว่า :

“ด้วยเรื่องดังกล่าวนั้น”

          หมายความว่า “อักษรบาอฺ ในประโยคนี้ เป็นการบอกว่าสาเหตุที่จะได้รับที่เป็นเป้าหมายนั้นคื สาเหตุที่เขามีความรัก ความโกรธ ความเป็นมิตร ความเป็นศัตรูต่อกันนั้น เพื่ออัลลอฮฺ เท่านั้น”


ดังนั้น ความหมายของฮะดีษที่อับดุลลอฮฺ บินอับบาส ได้รายงานไว้นั้นคือ 

          “มนุษย์นั้นจะยังไม่ได้ลิ้มรสของความศรัทธาที่หวานชื่นจนกว่าบุคคลผู้นั้นจะมีเรื่องดังที่ระบุในฮะดีษนั้นอยู่ที่ใของเขาเสียก่อน ทั้ง ๆ ที่เขาละหมาดไม่ขาด ทำการถือศีลอดครบถ้วน และจะเป็นไปได้อย่างไร สำหรับคนที่มีสติปัญญาครบถ้วนสมบูรณ์ดี นอกเหนือจากการเป็นมุอฺมินผู้เพียบพร้อมไปด้วยความศรัทธาเต็มที่อยู่แล้ว ที่เขาจะไปเป็นมิตรกับบรรดาศัตรูของอัลลอฮฺ ซึ่งเขาก็เห็นอยู่ว่าพวกอ้างว่าศรัทธาต่ออัลลอฮฺ นั้น มีทั้งตั้งภาคี (ชิริก) และปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮฺ (กุฟุร) แถมยังอธิบายคุณลักษณะของอัลลอฮฺ ที่ไม่คู่ควรเหมาะสมเต็มไปด้วยข้อตำหนิ ข้อบกพร่องต่าง ๆ มากมาย แล้วยังไปคบค้าสมาคมเป็นมิตรกับพวกเหล่านั้น รักใคร่ชอบพอพวกเขาอยู่”

          ในกรณีดังกล่าวนี้ แม้ว่าพวกเขายังละหมาดทั้งคืน ถือศีลอดตลอดทั้งปี ก็เป็นไปไม่ได้ที่บุคคลผู้นั้นจะได้พบรสชาติของความศรัทธาที่แท้จริง คือ ความหวานซึ้ง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่หัวใจของท่านนั้นจะต้องเต็มเปี่ยมไปด้วย ความรักต่ออัลลอฮฺ ทำตนเองให้ใกล้ชิดกับพระองค์และหัวใจเต็มไปด้วยความชิงชังมีความโกรธต่อพวกศัตรูทั้งหลายของพระองค์ และต้องไม่สมานฉันท์กับพวกเหล่านั้น

        อัลวะลายะฮฺ แบ่งออกเป็น วะลายะฮฺของอัลลอฮฺ ที่มีต่อบ่าว และวะลายะฮฺของบ่าวที่มีต่ออัลลอฮฺ อัลวะลายะฮฺ ในที่นี้แปลว่า การให้ความคุ้มครองคอยช่วยเหลือเกื้อกูล ถึงเป็นอัลวะลายะฮฺ ที่มาจากอัลลอฮฺ แต่ะวะลายะฮฺที่มาจากบ่าวแด่อัลลอฮฺ ก็แปลว่าการให้ความไว้วางใจ การเชื่อมั่นว่าอัลลอฮฺ นั้นมีความรักคอยปกป้องช่วยเหลืออยู่อย่างเสมอ

ตัวอย่างความหมายของการ อัลวะลายะฮฺของอัลลอฮฺ ที่มีต่อบ่าวนั้น ดังดำรัสในซูเราะฮฺ อัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 257 ว่า :

“อัลลอฮฺ นั้นคือ ผู้ทรงช่วยเหลือ บรรดาผู้ที่ศรัทธา...”

สำหรับการวะลายะฮฺของมนุษย์ที่มีต่ออัลลอฮฺ ดังดำรัสในซูเราะฮฺ อัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 56 ว่า :

“และผู้ใดให้อัลลอฮฺ และร่อซูลของพระองค์ และบรรดาผู้ที่ศรัทธาเป็นมิตรรัก....”


การวะลายะฮฺ ที่มาจากอัลลอฮฺ แก่บ่าว แบ่งออกเป็นโดยรวมกว้างๆ และแบบจำกัดเฉพาะส่วน

         การวะลายะฮฺโดยรวมกว้าง ๆ นั้น ได้แก่ที่อัลลอฮฺ ได้ทรงคุ้มครองปกป้องดูแลบรรดาบ่าวทั้งหลาย ด้วยการควบคุมและจัดการพวกเขาให้ดำเนินไป ทั้งนี้รวมทั้งในบรรดาผู้ศรัทธา และผู้ไม่ศรัทธา ซึ่งอัลลอฮฺ เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ที่ทรงเป็นผู้ควบคุมดูแลบ่าวของพระองค์ คอยควบคุมสอดส่องและอื่น ๆ จากนั้น ดังที่ได้ทรงแจ้งไว้ซูเราะฮฺ อัลอันอาม อายะฮฺที่ 62 ว่า :

“แล้วพวกเขาก็ถูกนำกลับไปยังอัลลอฮฺ ผู้เป็นายอันแท้จริงของพวกเขา

พึงรู้เถิดว่า การชี้ขาดนั้นเป็นสิทธิของพระองค์เท่านั้นและพระองค์เป็นผู้ที่รวดเร็วยิ่งในหมู่ผู้ชำระทั้งหลาย”


         การวะลายะฮฺของพระองค์แบบจำกัดส่วน ได้แก่การที่พระองค์ทรงให้การอุปถัมภ์ค้ำจุน ดูแลให้ความสำคัญ พร้อมเอื้ออำนวยให้ประสบความสำเร็จ และอยู่ในหนทางที่ถูกต้อง ข้อนี้เจาะจงอยู่เฉพาะเพียงบรรดาผู้ศรัทธาเท่านั้น ดังที่พระองค์ได้ตรัสไว้ซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 257 ว่า :

“อัลลอฮฺ นั้นคือผู้ทรงช่วยเหลือผู้ศรัทธาทั้งหลาย โดยทรงนำพาพวกเขาออกพ้นจากความมืด ทั้งปวงสู่แสงสว่าง

และบรรดาพวกปฏิเสธศรัทธานั้น พวกผู้ช่วยเหลือของพวกเขา ก็คืออัฏฏอฆูต (พระเจ้าจอมปลอม) โดยที่พวกมันเหล่านั้นจะนำพาพวกเขา ออกจากแสงสว่างไปสู่ความมืด”

และได้ตรัสไว้อีกซูเราะฮฺ ยูนุส อายะฮฺที่ 62-63 ว่า :

“พึงทราบเถิด แท้จริงบรรดาคนที่อัลลอฮฺ ทรงรักนั้นไม่มีความหวาดกลัวใด ๆ แก่พวกเขา และพวกเขาจะไม่เศร้าโศกเสียใจ คือบรรดาผู้ศรัทธา และพวกเขามีความยำเกรง”


อับดุลลอฮฺ บินอับบาส ได้ให้ความหมายของคำตรัสของอัลลอฮฺ ในซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 166 ที่ว่า :

“...และขณะที่บรรดาสัมพันธภาพที่มีต่อกันได้ขาดสะบั้นลง”

       ท่านได้ให้ความหมายคำว่า : อัลอัสบาบ “บรรดาสัมพันธภาพเป็น” และ “อัลมะวัดดะฮฺ” แปลว่า ความรักสนิทสนม และคำพูดของ อิบนุอับบาส ที่อธิบายเช่นนั้นก็เป็นการชี้ถึงคำตรัสของอัลลอฮฺ ที่อยู่ในอายะฮฺเดียวกันนั้นด้วยคือ :

“ขณะที่บรรดาผู้ถูกตามได้ปลีกตัวออกจากบรรดาผู้ตาม และขณะที่พวกเขาเห็นการลงโทษ และขณะที่บรรดาสัมพันธภาพที่มีต่อกันได้ขาดสะบั้นลง”

     คำว่า “อัลอัสบาบ” เป็นคำพหูพจน์ของคำว่า “สะบะบุน” แปลว่า “ทุกสิ่งที่จะทำให้เขาไปสู่สิ่งใดได้ ก็คือ สะบับ” อัลลอฮฺ ได้ตรัสไว้ซูเราะฮฺอัลฮัจญ์ อายะฮฺที่ 15 ว่า :

“ผู้ใดคิดว่า อัลลออฺไม่ทรงช่วยเหลือเขา (มุฮัมมัด) ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ก็จงให้เขาผู้นั้นต่อเชือกขึ้นสู่ท้องฟ้า แล้วให้เขาตัดมันออก (ผูกคอตาย)

แล้วให้เขาเฝ้าดูว่า แผนการของเขาจะทำให้สิ่งที่เขาเคียดแค้นหมดสิ้นไปไหม ?”

          สำหรับคำอธิบายของผู้อธิบายที่บอกว่า “อัลมะวัดดะฮฺ” คือ ความรัก ความสนิทสนม ซึ่งสายรายงานจะไม่แข็งแรงในทัศนะของผู้รู้บางส่วน แต่ทางด้านของความหมายถือว่าถูกต้อง ด้วยเหตุผลที่ว่า (อัลอัสบาบ) แปลว่า สัมพันธภาพต่าง ๆ นั้นเกี่ยวข้องกับบรรดาคนมุชริกทั้งหลาย พวกเขาเชื่อมั่นอย่างหนักแน่นว่า พวกมันเหล่านั้นจะช่วยให้พวกเขารอดพ้นได้ และอีกประการหนึ่งเพราะพวกเขามีความรักต่อบรรดาเทวรูปของพวกเขาอย่างงมงาย เทิดทูนเหนืออื่นใดเป็นพิเศษ ในที่สุดมันก็มิได้เกิดประโยชน์แก่ พวกเขาเลยแม้แต่น้อย เข้าใจได้ว่า อิบนุอับบาส คงได้มาจากหลายอายะฮฺ ที่อัลลอฮฺ ตรัสไว้ เช่น ซูเราะฮฺ อัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 165 ที่ว่า :

“และมีบางส่วนของมนุษย์ที่เขาจะยึดเอาอื่นจากอัลลอฮฺ เป็นบรรดาภาคีโดยมีความรักต่อพวกมันเหล่านั้น เช่นเดียวกับที่มีความรักต่ออัลลอฮฺ....”

และที่ได้ตรัสไว้ซูเราะฮฺ อัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 166 อีกว่า :

“ขณะที่บรรดาผู้ถูกตามได้ปลีกตัวออกจากบรรดาผู้ตาม และขณะที่พวกเขาเห็นการลงโทษ และขณะที่บรรดาสัมพันธภาพที่มีต่อกันได้ขาดสะบั้นลง”

         จากความหมายนี้ทำให้ทราบได้ว่าเป้าหมายของคำว่า “อัลมะวัดดะฮฺ” คือ “อัลมะวัดดะฮฺอัชชิรกียะฮฺ” แปลว่า “ความรักความเป็นมิตรสนิทสนมที่เป็นชิริก ตั้งภาคีหุ้นส่วนเท่าเทียมอัลลอฮฺ สำหรับ “อัลมะวัดดะฮฺอัลอีมานียะฮฺ” แปลว่า “ความรักเป็นมิตรสนิทสนมกับบุคคลด้วยกันหรือ รักชอบปรองดองกับการงานที่ดีงามที่อัลลอฮฺ ทรงชื่นชมนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และมีคุณค่ายิ่งที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย อัลลอฮฺ ได้ตรัสไว้ซูเราะฮฺ อัซซุครูฟ อายะฮฺที่ 67 ว่า :

“ในวันนั้น บรรดามิตรสหายจะเป็นศัตรูต่อกัน นอกจากบรรดาผู้ยำเกรง (อัลลอฮฺ)”

     สรุปคือ การอีมานนั้นมีรสชาติหวานชื่น ซึ่งมนุษย์จะได้พวกมันได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะที่ถูกระบุอยู่ในฮะดีษสามประการด้วยกัน ดังฮะดีษที่ว่า : "สามสิ่งที่ผู้ใดมีอยู่ จะเข้าถึงความหอมหวานของอิหม่าน"

 

     เป็นหลักฐานยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ถ้าไม่มีสามประการนี้อยู่แล้ว ก็คงไม่รู้สึกถึงรสชาติหวานชื่นของความศรัทธา (อีมาน) อยู่เลยอย่างแน่นอน

ส่วนเรื่องของงานที่เกี่ยวข้องกับจิตใจโดยเฉพาะมีสี่ประการด้วยกัน ที่จะไม่ได้ความรักชื่นชอบจากอัลลอฮฺ นอกจากต้องมีสี่ประการนั้น คือ : 

"รักกันเพื่ออัลลอฮฺ โกรธกันเพื่ออัลลอฮ เป็นมิตรช่วยเหลือปกป้องกันเพื่ออัลลอฮฺ เป็นศัตรูกันก็เพื่ออัลลอฮฺ" 

          จะไม่บรรลุถึงการช่วยเหลือการคุ้มครองปกป้องจากอัลลอฮฺ เป็นอันขาด นอกจะต้องมีลักษณะที่กล่าวนี้อยู่ทั้งหมด แม้ว่าบุคคลผู้นั้นจะเป็นผู้ละหมาดมาก และถือศีลอดเป็นประจำ แต่เขายังดำรงความเป็นมิตรสนิทสนมกับศัตรูของอัลลอฮฺ เขาจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากอัลลอฮฺ

          ความรักและความเป็นมิตรต่อท่านร่อซูล  นั้นขึ้นอยู่กับความรักและการเป็นผู้ให้ความไว้วางใจต่ออัลลอฮฺ และมีความเชื่อมั่นต่อพระองค์ด้วยเช่นเดียวกันโดยควบคู่กันไปโดยตลอด และผู้ใดที่อ้างว่า ตนเองมีความรักและเป็นผู้สนิทชิดเชื้อกับท่านร่อซูล  แล้ว ก็ต้องปฏิบัติตามท่านโดยครบถ้วน และผู้ใดก็ตามที่อ้างว่ารักท่าน แล้วไม่ปฏิบัติตามท่าน ฝ่าฝืนกระทำในสิ่งท่านได้ห้าม และหันไปตามผู้ที่เป็นพวกบิดเบือน พวกทำการอุตริในศาสนา และผู้ที่ทำตามความเชื่อเหลวไหลหลุดออกไปจากแนวทางซุนนะฮฺ ไปสู่การฟื้นฟูสิ่งที่เป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) เขาผู้นั้นคือ คนโกหกที่อ้างตัวเองว่า รักและเป็นมิตรกับท่านร่อซูล  เพราะเห็นได้ว่า ถ้ารักท่านร่อซูล  จริง เชื่อจริงและเป็นมิตรที่แท้จริง ก็ต้องยืนหยัดยึดมั่นปฏิบัติตามทั้งคำสั่งใช้และละเว้นสิ่งท่านห้าม


          ดังนั้น บรรดาผู้ที่ชอบกระทำอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) ฝ่าฝืนแนวทางของท่านร่อซูล  เช่น การจัดงานวันเกิด (เมาลิด) หรืออื่น ๆ ที่เป็นการกระทำที่ไม่มีมาก่อนในแบบอย่าง (ซุนนะฮฺ) หรือกระทำเกินเลิยไปจากขอบเขตของศาสนาที่เกี่ยวกับตัวของท่านนบี  หรือถึงขั้นขอต่อกุบุรของท่านหรือกุบุรของคนอื่นๆ ที่ตายไปแล้ว ให้ช่วยเหลือหรือขจัดปัดเป่าให้พ้นความทุกข์ยากเดือดร้อน ในเวลาเดียวกันก็ยังอ้างอีกว่า จงรักภักดีต่อท่านการกระทำดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นโกหกอย่างใหญ่หลวง พวกเหล่านี้เป็นเช่นเดียวกับที่ อัลลอฮฺ ได้ตรัสไว้ซูเราะฮฺอันนูร อายะฮฺที่ 47 ว่า :

“และพวกเขากล่าวกันว่า เราศรัทธาต่ออัลลอฮฺและอัรร่อซูล และเราเชื่อฟังปฏิบัติตามแล้ว

ส่วนหนึ่งจากพวกเขาก็หันหลังกลับไปหลังจากนั้น และพวกเหล่านั้นมิใช่ผู้ศรัทธาอย่างแท้จริง”

         เพราะว่า ท่านร่อซูล  ได้ห้ามสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เอาไว้ และแน่นอนพวกเหล่านั้น ได้กระทำในสิ่งฝ่าฝืนข้อห้ามที่ท่านห้ามไว้ และได้ทำการฝ่าฝืนท่าน โดยที่พวกเขาอ้างตัวเองว่า พวกเขารักท่าน จึงเป็นการอ้างแบบโกหกทั้งสิ้น เพราะถ้าพวกเขารักจริงก็ต้องปฏิบัติตาม


 

 

ที่มา : วารสาร อัลอิศลาห์สมาคม