รักเราะซูลุลลอฮ์ยิ่งกว่าผู้คนทั้งหลาย
  จำนวนคนเข้าชม  11164

 

รักเราะซูลุลลอฮ์ยิ่งกว่าผู้คนทั้งหลาย 


 

แปลและเรียบเรียงโดย อาจารย์ อับดุลฆอนี บุญมาเลิศ

 

สาเหตุต่าง ๆ ที่จะเพิ่มพูนความรักที่มีต่ออัลลอฮฺ มีอยู่สิบประการ ตามที่ อิบนุล กอยยิม ได้เล่าไว้ มีดังนี้ :

 

1. หมั่นอ่านทบทวนอัลกุรอาน ตั้งใจเรียนรู้ทำความเข้าใจในความหมายอายะฮฺที่อ่านและพยายามทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ในการประทานอัลกุรอาน

 

2. พยายามปฏิบัติซุนนะฮฺ หลังที่ได้ปฏิบัตฟัรดูเสร็จแล้ว

 

3. พยายามเข้าใกล้ชิดอัลลอฮฺ ด้วยการรำลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา ในทุกสภาพ ด้วยปาก ด้วยใจและด้วยการกระทำ

 

4. ในเวลาใดที่มีความรักต่อบุคคลหลาย ๆ คน ต้องเลือกรักคนที่รักอัลลอฮฺ เป็นอันดับแรก

 

       5. พิจารณาเกี่ยวกับบรรดาพระนามและคุณลักษณะต่าง ๆ ของอัลลอฮฺ  และความหมายของพระนาม และคุณลักษณะเหล่านั้น ที่บ่งชี้ถึงความสมบูรณ์ และความสูงส่งที่น่าสรรเสริญยิ่งของอัลลอฮฺ

 

6. รำลึกและพิจารณาถึงความโปรดปรานต่าง ๆ ที่อัลลอฮ์  ประทานให้ ทั้งที่มองเห็นและที่ลับ ๆ ซึ่งพระองค์ได้ทรงโปรดปรานให้แก่บรรดาบ่าวของพระองค์

7. มีจิตใจแน่วแน่เสมือนอยู่ต่อหน้าพระพักตร์ของพระองค์ เนื่องจากมีความปรารถนาในสิ่งที่ได้รับจากพระองค์อย่างมิได้ขาด

       8. ทำให้ตัวเองว่างเพื่อการรำลึกถึงพระองค์ ในช่วงเวลาที่อัลลอฮฺ เสด็จสู่โลกดุนยาในตอนท้ายของเวลาค่ำคืนที่เป็นส่วนที่สามของกลางคืน พร้อมอยู่ในสภาพที่มีการอ่านอัลกุรอาน และจบลงด้วยการขอลุแก่โทษหรือการเตาบะฮฺตัวอย่างแน่วแน่

9. พยายามเข้าร่วมวงสนทนาอยู่กับคณะของผู้รู้ศาสนา และบุคคลที่ดีมีความรักกันเพื่ออัลลอฮฺ  และแสวงหาความรู้จากคำสั่งของผู้รู้ศาสนา

10. สลัดตนเองให้ออกจากสิ่งที่จะมาขวางกั้นระหว่างหัวใจของเขากับอัลลอฮฺ  จากความพะวักพะวงต่าง ๆ


ความรักที่มีต่ออัลลอฮฺ ต้องอยู่คู่กับความรักที่มีต่อท่านร่อซูล ด้วย

ความรักอีกส่วนหนึ่งที่จะต้องอยู่คู่กับความรักอัลลอฮฺ  ได้แก่ความรักต่อท่านร่อซูล  ดังที่ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  ได้กล่าวไว้ว่า :

“คนหนึ่งคนใดของพวกท่านนั้น ยังเป็นผู้ศรัทธาที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ จนกว่าว่าฉันจะต้องเป็นที่รักของเขา

ยิ่งกว่าลูกของเขา หรือ ยิ่งกว่าพ่อของเขา และยิ่งกว่าผู้คนทั้งหลาย”

หมายความว่า เขายังไม่เป็นผู้ศรัทธาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ จนกว่าเขาจะรักท่านร่อซูล มากกว่าตัวเขาเอง หรือมากกว่าคนที่ใกล้ชิดที่สุดของเขา


การที่ความรักต่อท่านร่อซูล  มีสาเหตุหลายประการ ดังนี้

     1. ท่านเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ และเมื่ออัลลอฮฺ  เป็นที่รักสุดของพวกท่านมากกว่าอื่นใดทั้งหมด ดังนั้น ศาสนทูตของพระองค์จึงต้องเป็นที่รักยิ่งกว่าผู้ใดเช่นกัน

     2. ท่านได้ทำแบบอย่างในการอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ  และทำหน้าที่เผยแผ่แนวทางเอาไว้ให้แก่ประชาชาติ

     3. อัลลอฮฺ  ทรงให้ท่านมีจรรยามารยาทอันเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมที่งดงามยิ่ง ตลอดจนมีการปฏิบัติที่สวยงามน่าชมเชย

     4. ท่านร่อซูล  นั้นเป็นผู้เชิญชวนให้เข้าสู่หนทางที่ถูกต้อง และหนทางแห่งความรู้ จนได้ทำหน้าที่สอนสั่งต่อ ๆ กันไป

     5. ท่านร่อซูล  เป็นผู้มีความอดทนต่อภัยอันตรายที่เกิดขึ้นจากการเผยแผ่ศาสนาของท่าน

     6. ท่านร่อซูล  ได้ทุ่มเทความพยายาม ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อให้ศาสนาของอัลลอฮฺ  ดำรงอยู่เหนืออื่นใดทั้งสิ้น


บทเรียนที่ได้รับจากฮะดีษบทนี้

        1. จำเป็นต้องมีความรักต่อท่านร่อซูล  ก่อนความรักตัวเอง 

ดังที่ท่านร่อซูล  ได้บอกแก่อุมัร บิน อัลคอฏฏอบ ในขณะที่เขาได้บอกท่านว่า “แท้จริงท่านนั้นเป็นที่รักยิ่งกว่าอื่นใด สำหรับฉันนอกจากตัวฉันเท่านั้น” 

ท่านร่อซูล  ได้กล่าวแก่เขาว่า “ไม่ใช่ ! ฉันขอสาบายด้วยพระนามของผู้ที่ชีวิตของฉันอยู่ในมือของเขาว่า : ฉันนี้จะต้องเป็นที่รักยิ่งของท่านมากกว่าตัวเอง”

อุมัร จึงกล่าวว่า “ขณะนี้ฉันขอสาบานต่ออัลลอฮฺ  ว่า แน่นอน ท่านนั้นเป็นที่รักยิ่งของฉันมากกว่าตัวของฉัน”

ท่านร่อซูล  จึงกล่าวว่า “เพิ่งจะเดี๋ยวนี้ดอกหรือ ? โอ้อุมัรเอ๋ย !!

          2. เสียสละเพื่อท่านร่อซูล  ได้ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เพราะจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องรักท่าน ก่อนรักทรัพย์สินและชีวิตของตนเอง

         3. จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสนับสนุนค้ำจุน (ซุนนะฮฺ) แบบอย่างของท่านร่อซูล  ด้วยการทุ่มเททั้งร่างกายและจิตใจ ตลอดจนทรัพย์สินทุกช่องทางที่กระทำได้ เพราะสิ่งดังกล่าวนี้จะเป็นส่วนที่ทำให้ความรักต่อท่านร่อซูล  สมบูรณ์แบบที่สุด ด้วยเหตุนี้ ผู้รู้บางท่านจึงได้ให้ความหมายดำรัสของอัลลอฮฺ  ในซูเราะฮฺอัลเกาษัร อายะฮฺที่ 3 ว่า :

“คือคนที่โกรธแค้นท่าน”

ซึ่งมีความหมายจากอายะฮฺนี้ว่า “ใครก็ตามที่ไม่พึงพอใจแนวทางแบบอย่างของท่านร่อซูล  เขาผู้นั้นอาภัพไม่เหลือความดีใด ๆ อีกแล้ว”

        4. อนุญาตให้มีความรักได้ อันเนื่องจากเมตตาสงสารผู้อื่น และเพื่อเป็นการยกย่องให้เกียรติตามอัตภาพ แต่ต้องไม่เกินไปกว่าความรักต่ออัลลอฮฺ และร่อซูลของพระองค์ เพราะมีคำของท่านร่อซูล  ที่ว่า :-

“ผู้ที่มีความรักมากที่เขายิ่งไปกว่ารักลูกหรือรักพ่อของตนเอง”

ฮะดีษนี้ได้บ่งบอกถึงความรักที่มีมาแต่เดิมอีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องรักแบบปกติวิสัยทั่วไปที่ขาดมิได้ และก็คงไม่มีใครที่จะปฏิเสธได้ว่าไม่มี

        5. จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้คำพูดของท่านร่อซูลุลลอฮฺ อยู่เหนือกว่าคำพูดของผู้ใดทั้งหมด เพราะว่าบุคคลใดก็ตามที่ท่านร่อซูล  เป็นที่รักยิ่งของเขามากกว่าผู้ใด ก็จำเป็นที่ต้องให้คำพูดของท่าน ร่อซูล  เป็นลำดับแรกเหนือกว่าคำพูดของผู้ใดทั้งสิ้น แม้แต่คำพูดของตัวเองก็ตาม 

         ตัวอย่าง เช่น เมื่อท่านพูดสิ่งใดออกไป แล้วท่านก็ชื่นชอบสิ่งนั้นด้วย และได้กระทำสิ่งที่พูดอยู่แล้ว ถ้ามีใครมาบอกท่านว่า “ที่คุณทำนั้นไม่ตรงตามคำพูดของท่านร่อซูล ถ้าท่านร่อซูล เป็นที่บุคคลที่คุณรักที่สุดมากกว่าตัวของคุณ” คุณจะต้องเลิกทำทันที และเปลี่ยนไปทำตามแนวทางของท่านร่อซูล  ทันทีแม้ว่าจะชื่นชอบแค่ไหนก็ตาม พร้อมทั้งต่อต้านจิตใจที่ชื่นชอบในสิ่งผิดนั้น ด้วยคำพูดของท่านร่อซูล  แล้วงดสิ่งที่ชอบในสิ่งนั้นได้อย่างแน่วแน่ อันเนื่องจากมีความจงรักภักดีตามท่านร่อซูล นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “ได้นำเอาความรักต่อท่านร่อซูล นำหน้าความรักตัวเอง” นี้คือข้อสรุปที่ได้จากฮะดีษที่ผ่านไปก่อนหน้านั้น คือ ต้องเอาคำพูดของท่านร่อซูล  เหนือกว่าคำพูดของผู้ใด แม้แต่คำพูดของอบีบักรฺ หรือ คำพูดของอุมัร หรือ อุษมาน หรือ อาลี ตลอดจนบรรดาคำพูดของอิหม่ามทั้งสี่ หรือคำพูดของใครหลังจากนั้น 

อัลลอฮฺ  ได้ตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัลอะหฺซาบ อายะฮฺที่ 36 ว่า :

 

“ไม่บังควรแก่ผู้ศรัทธาทั้งชาย และผู้ศรัทธาหญิง เมื่ออัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์ได้สั่งใช้เรื่องหนึ่งเรื่องใดแล้ว สำหรับพวกเขาก็ไม่มีทางเลือกในเรื่องของพวกเขา...”

        จุดเด่นของฮะดีษที่ผ่านมานั้นชัดเจนมาก ซึ่งการมีความรักต่อท่านร่อซูล  ก็คือ การมีความรักต่ออัลลอฮฺ  และเหตุที่ความศรัทธาจะไม่สมบูรณ์ จนกว่าท่านร่อซูล  จะต้องเป็นที่รักยิ่งกว่าความรักต่อตัวเองหรือต่อคนอื่น ดังนั้น ความรักที่ต้องมีต่ออัลลอฮฺ  นับว่าสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องแสดงความรักและภักดี 


มีรายงานจากบันทึกของอัลบุคอรีย์และมุสลิมว่า ท่านร่อซูล  ได้กล่าวว่า :-

          “สามประการใครมีอยู่ที่ตัวเขาครบ เขาก็จะพบความหวานซึ้งของการศรัทธา : คือ อัลลอฮฺ  และร่อซูลของพระองค์ต้องเป็นที่รักยิ่งของเขายิ่งกว่าอื่นใดทั้งปวง 
 

          “ต้องรักบุคคลด้วยกัน โดยรักเพื่ออัลลอฮฺ  และจะต้องรังเกียจที่จะกลับไปสู่การปฏิเสธศรัทธา ในขณะที่อัลลอฮฺ  ได้ทรงช่วยให้เขารอดพ้นมาแล้วจากการปฏิเสธศรัทธานั้น เช่นเดียวกับ ที่เขามีความรังเกียจที่จะถูกโยนลงไปในไฟนรก”

         ความหวานซึ้งของการศรัทธา หมายความว่า สิ่งที่บุคคลผู้นั้นได้พบในจิตใจของตนเอง เป็นความสงบอบอุ่น ความปลอดโปร่งในจิตใจ ซึ่งเป็นรสชาติที่มิได้ลิ้มรสด้วยปากและลิ้น เช่น อาหาร หรือขนมหวาน แท้จริงแล้วมันเป็นความรู้สึกทางด้านจิตใจ

ในฮะดีษบทนี้มีอยู่สามเรื่องที่สำคัญ คือ :-

1. นบีมุฮัมมัด  กล่าวว่า “อัลลอฮฺ  และร่อซูลของพระองค์ ต้องเป็นที่รักยิ่งของเขากว่าสิ่งอื่นใดทั้งปวง” 

         ร่อซูล คือ มุฮัมมัด และรวมถึงบรรดาร่อซูลทั้งหมด ที่ต้องให้มีความรักต่อพวกเขาด้วย และที่ท่านร่อซูล พูดว่า  “...ต้องเป็นที่รักยิ่งของเขายิ่งกว่าสิ่งอื่นใดทั้งปวง...” หมายถึงว่า เขาต้องรักอย่างสูงสุดมากยิ่งกว่าสิ่งใดในโลกนี้ทั้งหมด แม้แต่ตัวเองหรือลูก, หลาน, พ่อ, แม่, สามี หรือภรรยา

 

และในบางรายงานบอกว่า :-

“คนหนึ่งคนใดจะยังไม่พบรสชาติความหวานซึ้งของการศรัทธา จนกว่าว่า... จนจบฮะดีษ”

         เพราะว่าความรักต่อท่านร่อซูล  นั้น คือ ส่วนหนึ่งของความรักต่ออัลลอฮฺ  ด้วยเหตุนี้จึงได้ควบรวมเอาคำปฏิญาณที่ว่า : "อัชฮาดุอัลลาอิลาฮ์ อิ้ลลัลลอฮ์ วาอัชฮาดุ อันนะมุฮัมมัดดัร รอซูลลุลลอฮ์" เข้าไว้อยู่ในรุก่นเดียวกัน และความบริสุทธิ์ผุดผ่องจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ นอกจากจะต้องภักดีตามสิ่งที่มีมาจากแนวทางของท่านร่อซูล 


2. ท่านร่อซูล  กล่าวว่า “ต้องรักบุคคลด้วยกัน โดยรักเพื่ออัลลอฮฺ”

          คำว่า “รักบุคคลด้วยกัน” หมายถึง ทั้งหญิงและชายที่มอบความรักให้แก่กัน และคำว่า “รักเพื่ออัลลอฮฺ์ ” หมายถึง “มอบความรักให้กัน เพื่อแนวทางของอัลลอฮฺ " เพราะที่เขารักกัน เพราะว่าการที่เขาเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ  ส่วนความรักของคนที่รักกันนั้นมีหลายสาเหตุ เช่น รักกันเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในโลกดุนยา หรือเนื่องจากความเป็นญาติพี่น้องกัน หรือเนื่องจากความใกล้ชิดเป็นเพื่อนกัน หรือสามีภรรยารักกัน เพราะมีความสุขที่มีให้กันหรือคนที่หยิบยื่นให้หรือมีการปรนนิบัติดีให้กัน แต่ถ้าท่านรักใครสักคนเป็นความรักที่บริสุทธิ์เพื่ออัลลอฮฺ  นั่นคือ สาเหตุที่ทำให้มีรสชาติความหวานซึ้งของการอีมาน


3. ท่านร่อซูล  พูดว่า “และจะต้องรังเกียจที่จะกลับไปสู่การปฏิเสธศรัทธา (กุฟุร) ในขณะที่อัลลอฮฺ  ได้ทรงช่วยให้เขารอดพ้นมา หลังจากการปฏิเสธศรัทธานั้น เช่นเดียวกับที่เขามีความรังเกียจที่จะถูกโยนลงไปในไฟนรก”

         ในเรื่องนี้หมายถึง คนกาฟิรที่เข้ารักอิสลาม ที่เขาไม่ชอบที่จะกลับสู่สภาพเดิมที่เคยเป็นกาฟิร หลังจากที่ได้รอดพ้นจากการเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาและเข้ารับอิสลามแล้ว เช่นเดียวกับมีความรังเกียจที่จะโดนถูกจับโยนลงนรก ที่ท่านร่อซูล  พูดถึงประเด็นนี้ เพราะคนกาฟิรนั้น ในบางครั้งก็ยังติดนิสัยแบบเดิม ๆ อยู่ เพราะเคยมาแต่แรก และก็พลาดไปทำอย่างเดิมเข้า ไม่เหมือนกับคนมุสลิมมาแต่กำเนิด ที่ไม่เคยเป็นคนกาฟิรมาก่อน

          ดังนั้น ผู้ใดที่ไม่ชอบในการที่จะกลับไปเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา เหมือนกับที่รังเกียจนที่จะโดนโยนลงนรก เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดรสชาติของการศรัทธาได้



 

ที่มา : วารสาร อัลอิศลาห์สมาคม