ความรักที่มีต่อพระองค์อัลลอฮฺ
แปลและเรียบเรียงโดย อาจารย์อับดุลฆอนี บุญมาเลิศ
ความรัก เป็นพื้นฐานของศาสนาอิสลาม เป็นหลักสำคัญและเป็นองค์ประกอบของอิสลาม ผู้ที่เป็นมุสลิมจะต้องมีความรักที่มีต่ออัลลอฮฺ อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อจะทำให้การนับถือศาสนาอิสลามของเขานั้นครบถ้วนสมบูรณ์ และหากว่าความรักที่มีต่ออัลลอฮฺ บกพร่องจะมีผลทำให้บุคคลผู้นั้นขาดหลักการให้เอกภาพ (เตาฮีด) ต่ออัลลอฮฺ ไปด้วย ดังนั้น เป้าหมายของความรักในที่นี้คือ ความรักในการเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ ซึ่งจำเป็นต้องมีความนอบน้อมถ่อมตน ความจงรักภักดี และมีความรู้สึกประทับใจในความรักที่มีต่ออัลลอฮฺ มากกว่าความรักที่มีให้กับบุคคลอื่นหรือสิ่งอื่น ความรักประเภทนี้เป็นความรักที่มีเฉพาะต่ออัลลอฮฺ เท่านั้น ไม่อนุญาตให้มีความรักต่อผู้อื่นเข้ามามีส่วนร่วม เช่นความรักประเภทนี้
ความรักมีสองประเภทด้วยกัน คือ
ประเภทที่หนึ่ง : ความรักที่ต้องจำกัดเฉพาะอัลลอฮฺ เป็นความรักที่บ่าวของอัลลอฮฺ รักพระองค์ เมื่อเกิดความรักประเภทนี้แล้วจะมีความรู้สึกนอบน้อมต่อพระองค์อย่างสมบูรณ์เต็มไปด้วยความจงรักภักดีแก่ผู้ที่เขารัก ความรักประเภทนี้ เป็นความรักที่จำกัดเฉพาะอัลลอฮฺ เท่านั้น ไม่สามารถจะนำความรักประเภทนี้ไปมอบให้กับผู้อื่นโดยเด็ดขาด
ประเภทที่สอง : เป็นความรักเกิดขึ้นได้หลายปัจจัย และความรักประเภทนี้มีสามชนิดด้วยกัน คือ
ชนิดที่หนึ่ง : ความรักที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นเรื่องปกติวิสัยของมนุษย์ เช่น คนที่มีความหิว ชอบที่จะได้รับประทานอาหาร เพื่อให้หายจากการหิว
ชนิดที่สอง : ความรักที่เกิดจากความคิดถึงความห่วงใย ดังเช่น ความรักที่พ่อแม่มีต่อลูก หรือที่สามีและภรรยามีต่อกัน
ชนิดที่สาม : ความรักที่เกิดจากความใกล้ชิดสนิทสนม เช่น ความรักของคนที่มีกิจกรรมร่วมกัน หรือเพื่อนฝูงที่รักใคร่ชอบพอกัน
ความรักทั้งสามชนิดดังกล่าวนั้น มิได้ก่อให้เกิดการเทิดทูนสักการะบูชา จึงไม่ทำให้แต่ละฝ่ายได้รับโทษแต่ประการใดถ้ามีความรักดังกล่าวแต่ความรักประเภทนี้จะต้องไม่มากเกินหรือเท่าเทียมกับความรัก ที่มีต่ออัลลอฮฺ เพราะความรักต่ออัลลอฮฺ จะต้องมีอยู่เหนือความรักใด ๆ ผู้มีความรักต่ออัลลอฮฺ เขาก็คือผู้ที่เป็นบ่าวของพระองค์ที่จะต้องต้องเคารพภักดี โดยมีระบุอยู่ในอายะฮฺอัลกุรอาน ซูเราะฮฺ อัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 165 ว่า
“และในหมู่มนุษย์นั้นมีผู้ที่ยึดถือบรรดาภาคีอื่นจากอัลลอฮฺ ซึ่งพวกเขารักภาคีเหล่านั้น เช่นเดียวกับรักอัลลอฮฺแต่บรรดาผู้ศรัทธานั้นเป็นผู้ที่รักอัลลอฮฺมากยิ่งกว่า...”
อิมามอิบนุลกอยยิม ได้อธิบายอายะฮฺนี้ว่า “อัลลอฮฺ ตรัสว่าใครก็ตามที่มอบความรักให้แก่ผู้อื่นจากอัลลอฮฺ เท่าเทียมกับที่เขามอบความรักให้แก่อัลลอฮฺ เขาก็คือผู้ที่ยึดเอาอื่นจากอัลลอฮฺ มาเป็นภาคีในเรื่องความรักและการเทิดทูน” เรียกว่า “การมีภาคีในเรื่องความรัก” “ชิรกุลมะฮับบะฮฺ”
อิบนุกะษีร ได้บอกว่า : อัลลอฮฺ ทรงกล่าวว่า สภาพของพวกมุชริกในดุนยา และสิ่งที่พวกเขาต้องประสบในโลกอาคีเราะฮฺ การทุกข์ทรมานจากการลงโทษ อันเนื่องจากพวกเขาตั้งภาคีในเรื่องความรักกับอัลลอฮฺ พวกเขามอบความรักให้แก่ผู้อื่นเช่นเดียวกับรักอัลลอฮฺ นำเอาบุคคลอื่นเหล่านั้นไปเป็นหุ้นส่วนเท่าเทียมกับอัลลอฮฺ และในความหมายเดียวกันนี้ที่ อิบนุกะษีร กล่าวไว้ และชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ เห็นด้วยกับทัศนะนี้ อัลลอฮฺ ทรงบอกกล่าวถึงเรื่องการเปรียบเทียบความรักบูชาจนเท่าเทียมกันระหว่างความรักที่มีต่ออัลลอฮฺ และความรักที่มีต่อผู้อื่น ในคำตรัสของพระองค์ ในซูเราะฮฺอัชชุอะรออฺ อายะฮฺที่ 97-98 ว่า :
“ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ แท้จริงพวกเราอยู่ในการหลงผิดอย่างชัดแจ้ง ขณะที่พวกเราทำให้พวกเจ้าเท่าเทียมกับพระเจ้าแห่งสากลโลก”
มีดำรัสของอัลลอฮฺ อีก ในซูเราะฮฺ อัลอันอาม อายะฮฺที่ 1 ความว่า
“...แต่แล้วบรรดาผู้ที่ปฏิเสธศรัทธานั้นก็ยังให้ (สิ่งอื่น) เท่าเทียมกับพระเจ้าของเขาอยู่”
และคำตรัสของพระองค์ในซูเราะฮ์ อัลบะเกาะเราะฮฺ / 165 ที่ความว่า :
“...แต่บรรดาผู้ศรัทธานั้น เป็นผู้ที่รักอัลลอฮฺ ยิ่งกว่า...”
หมายความว่า ผู้ศรัทธานั้น รักอัลลอฮฺ มากที่สุด ยิ่งกว่าพวกที่ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ บางรายงานบอกว่า ผู้ศรัทธานั้นรักอัลลอฮฺ มากยิ่งกว่าพวกตั้งภาคีทั้งหลายที่รักสิ่งเป็นภาคีของพวกเขา ดังนั้น อายะฮฺนี้จึงเป็นหลักฐานว่า ใครรักสิ่งใดเหมือนกับรักอัลลอฮฺ แท้จริงเขาได้ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ แล้วในเรื่องความรัก
เชคมุฮัมมัด บินอับดุลวะฮาบ ได้บอกไว้ความว่า :
“ในเรื่องของความรักหรือชอบนั้น ใครก็ตามที่มีความรักความชอบอื่นใดเทียบเท่ากับที่เขา มีความรัก ความชอบต่ออัลลอฮฺ นั่นคือ การตั้งภาคี (ชิริก) ใหญ่”
เรื่องของความรักที่ต้องมีต่ออัลลอฮฺ เป็นความรักที่บ่าวของพระองค์ รักพระองค์ มีความ นอบน้อมและรักมากกว่าความรักอื่นใดทั้งสิ้น ความรักประเภทอื่นนั้นเป็นความรักที่สามารถรวมเข้าด้วยกันได้ เช่น รักพ่อรักแม่ รักลูกรักหลาน รักสามีรักภรรยา รักทรัพย์สมบัติ อัลลอฮฺ ได้ทรงคาดโทษแก่ผู้ที่เอาความรักอื่นที่รวมกันได้นั้น มากเกินกว่าความรักที่ต้องมอบให้พระองค์ ด้วยความเป็นบ่าวของพระองค์ ดังที่มีในซูเราะฮฺอัตเตาบะฮฺ อายะฮฺที่ 24 ความว่า
“จงกล่าวเถิด (มุฮำมัด) ว่า หากบรรดาพ่อแม่ บรรดาลูกหลาน บรรดาพี่น้อง บรรดาสามีภรรยาของพวกเจ้า และทรัพย์สมบัติของพวกเจ้า ที่พวกเจ้าแสวงหาไว้ หรือสินค้าที่พวกเจ้ากลัวว่ามันจะจำหน่ายไม่ออก และบรรดาที่อยู่อาศัย ที่พวกเจ้าพึงพอใจมันนั้น เป็นที่รักใคร่แก่พวกเจ้ายิ่งกว่าอัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์และการต่อสู้ในทางของพระองค์แล้วไซร้ ก็จงรอคอยกันเถิดจนกว่าอัลลอฮฺ จะทรงนำมาซึ่งกำลังของพระองค์ และอัลลอฮฺนั้นจะไม่ทรงนำทางแก่กลุ่มชนที่ละเมิด”
อัลลอฮฺ ทรงแจ้งให้ทราบว่า ใครก็ตามที่ให้ความรักทั้งแปดชนิดที่ถูกระบุอยู่ในอายะฮฺดังกล่าวมากเกินกว่าความรักต่ออัลลอฮฺ และร่อซูลของพระองค์ และบรรดาการงานต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงชื่นชอบแล้ว ก็จะมีบาปหรือมีโทษที่จะต้องได้รับการชำระอย่างแน่นอน แต่ถ้ามีความรักต่อสิ่งเหล่านั้นอยู่บ้าง ซึ่งไม่มากเกินไปกว่าการรักอัลลอฮฺ ถือว่าไม่เป็นความผิดอันใด เนื่องจากความรักเช่นนี้ปกติวิสัยของมนุษย์ทุกคนอยู่แล้ว แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความรักที่มีต่ออัลลอฮฺ นั้น มากยิ่งกว่าทุกสิ่งอื่นใด ทั้งปวง ตลอดจนให้รักร่อซูลของพระองค์ให้มากเช่นเดียวกัน และต้องมีความรักในสิ่งที่พระองค์ทรงโปรดปรานด้วยหลักฐานต่าง ๆ ที่แสดงว่ามีความรักอย่างแท้จริงต่ออัลลอฮฺ มีมากมาย
หนึ่งในนั้นก็คือ เมื่อเขารักอัลลอฮฺ มากกว่าอื่นใดแล้ว เขาก็จะต้องนำเอาการงานที่อัลลอฮฺ ทรงชื่นชอบมาก่อนสิ่งที่ตนเองชื่นชอบทั้งทางด้านของอารมณ์ใคร่ หรือสิ่งของที่ทำให้เกิดความพอใจ ตลอดจนทรัพย์สิน และบรรดาลูกหลาน หรืออาคารบ้านเรือน
อีกส่วนหนึ่งก็คือ ผู้ใดที่รักอัลลอฮฺ มาก เขาย่อมจะต้องปฏิบัติตามร่อซูลของพระองค์ในแนวทางที่ท่านนำมาให้ไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โดยทำในสิ่งที่ใช้ งด หรือ ละเลิกสิ่งที่ถูกห้ามด้วยความยินดีเต็มใจ ดังที่อัลลอฮฺ ได้ตรัสไว้ในซูเราะฮฺ อาละอิมรอน อายะฮฺที่ 31-32 ว่า :
“จงกล่าวเถิด (มุฮำมัด) ว่า หากพวกท่านรักอัลลอฮฺ จงปฏิบัติตามนั้น อัลลอฮฺ จะทรงรักพวกท่าน และจะทรงอภัยให้แก่พวกท่านซึ่งโทษทั้งหลายของพวกท่าน และอัลลอฮฺ นั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ จงกล่าวเถิด (มุฮำมัด) ว่า พวกท่านจงเชื่อฟังอัลลอฮฺ และร่อซูลเถิด แต่ถ้าพวกเจ้าผินหลังให้ แท้จริงอัลลอฮฺ ไม่ทรงชอบผู้ปฏิเสธศรัทธาทั้งหลาย”
บรรพชนชาวสลัฟในอดีต ได้บอกไว้ว่า มีชนกลุ่มหนึ่งอ้างตัวว่าพวกเขารักอัลลอฮฺ ดังนั้น พระองค์ จึงได้ประทานอายะฮฺอัลกุรอาน ในเรื่องของความรักดังกล่าว
ความหมายดังที่ได้แปลไปแล้ว ซึ่งจากความหมายของอายะฮฺนี้ ชี้ให้เห็นได้ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องรักอัลลอฮฺ และผลที่ได้จากความรักนั้น หลักฐานที่เห็นได้ก็คือ ถ้ารักอัลลอฮฺ จริง ก็ต้องปฏิบัติตามร่อซูล และผลที่ได้ก็คือ อัลลอฮฺ ทรงรักบุคคลผู้นั้น และจะทรงอภัยโทษในความผิดต่าง ๆ ให้แก่เขา ความหมายที่ว่า มีความจริงในความรักของบ่าวที่มีต่ออัลลอฮฺ นั้นก็คือ ตามที่อัลลอฮฺ ได้ทรงตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 54 ว่า :
“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย ผู้ใดในหมู่พวกเจ้ากลับออกจากศาสนาของพวกเขาไป อัลลอฮฺ ก็จะทรงนำมาซึ่งพวกหนึ่งซึ่งพระองค์ทรงรักพวกเขา และพวกเขาก็รักพระองค์ เป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนต่อบรรดามุอฺมินไว้เกียรติแก่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา พวกเขาจะเสียสละและต่อสู้ในทางของอัลลอฮฺ และไม่กลัวการตำหนิของผู้ตำหนิคนใด...”
ดังนั้น อัลลอฮฺ ทรงระบุในอายะฮฺนี้ เกี่ยวกับผลของความรักที่มีต่ออัลลอฮฺ มีอยู่สี่สัญลักษณ์ด้วยกันคือ :
ข้อที่หนึ่ง : บรรดาคนที่รักเพื่ออัลลอฮฺ นั้น พวกเขาจะมีความอ่อนน้อมถ่อมตัวกับบรรดา ผู้ศรัทธา เต็มไปด้วยความรักเมตตาสงสารด้วยไมตรีจิต
ท่านอะฏอฺ บอกว่า : “มุอฺมินกับบรรดามุอฺมินด้วยกันนั้น มีสภาพเหมือนพ่อกับลูก”
ข้อที่สอง : บรรดาผู้ที่รักอัลลอฮฺ นั้น มีศักดิ์ศรีเหนือกว่าพวกปฏิเสธศรัทธา พวกเขามีความเข้มแข็งเด็ดขาดเหนือกว่าพวกเหล่านั้นจะไม่ลดตัวหรือแสดงความอ่อนแอย่อท้อกับคนที่ปฏิเสธศรัทธาเป็นอันขาด
ข้อที่สาม : บรรดาที่ผู้รักอัลลอฮฺ จะมีการเสียสละในหนทางของอัลลอฮฺ ด้วยชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน หรือก็ด้วยการใช้คำพูด เพื่อเป็นพลังแก่ศาสนาของอัลลอฮฺ และสกัดกั้นศัตรูของพระองค์ในทุกวิถีทาง
ข้อที่สี่ : บรรดาผู้ที่รักอัลลอฮฺ นั้น จะไม่มีความวิตกกังวลต่อการวิพากษ์วิจารณ์ของผู้คน ซึ่งข้อตำหนิติฉินต่าง ๆ ของพวกเขา ที่มีต่อบุคคลผู้ที่ทุ่มเทร่างกายและชีวิตหรือทรัพย์สินไปในทางของ อัลลอฮฺ เพื่อสนับสนุนสัจธรรมให้ได้รับความจำเริญ และเพื่อยืนยันให้เป็นที่ประจักษ์จนผู้คนยอมจำนนในความถูกต้องที่พวกเขายึดมั่นอยู่นั้น และเป็นพลังให้เกิดความเข้มแข็ง คราใดที่คนรักกันแล้วท้อถอยต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นแล้วหมดความพยายามที่จะช่วยปกป้องเกื้อกูลคนที่ตนรัก ความรักเช่นนี้เป็นความรักที่ไม่จีรังแต่อย่างใด
ที่มา : วารสาร อัลอิศลาห์สมาคม