วาญิบละหมาดญามะอะฮ์
อาจารย์ ยาซิร กรีมี
ท่านพี่น้องมุสลิมและมุสลิมะฮฺ ที่เคารพทุกท่านครับ ตัวเรา ลูกหลานของเรา ทรัพย์สมบัติของเรา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ มีทั้งคุณและมีทั้งโทษ ในขณะที่เราชื่นชมกับทรัพย์สมบัติ ชื่นชมกับลูกหลานที่มีฐานะ มีตำแหน่ง มีหน้าที่การงานที่ดี เราก็ต้องดูแลด้วยว่า พวกเขาเหล่านั้นบกพร่องต่อหน้าที่ที่มีต่ออัลลอฮฺ หรือเปล่า ? ยังละหมาดเหมือนที่เราเคยสอน เคยเคี่ยวเข็ญสมัยที่พวกเขายังเรียน เหมือนที่เราเคยไล่ให้ไปมัสยิด ไล่ให้ไปละหมาดในสมัยที่เขายังเด็กอยู่หรือเปล่า ? เพราะเมื่อลูกหลานของเราโตขึ้นมา แต่เรากลับปล่อยปะละเลย ไม่ดูแลตรงนี้ ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัตตะฆอบุน อายะฮฺที่ 14 อัลลอฮฺ ตรัสความว่า
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธา ส่วนหนึ่งจากภรรยา ส่วนหนึ่งจากลูกหลาน เป็นศัตรูของพวกท่าน จงตักเตือนพวกเขา
แต่ถ้าพวกเจ้าอภัยและยกโทษ (แก่พวกเขา) แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ”
ถ้าลูกหลานของเราดี ก็จะมาเป็นลูกหลานที่ศอลิฮฺ ที่มาขอดุอาอฺให้กับเรา แต่ถ้าลูกไม่ดี ไม่ได้อยู่ในเรื่องราวของศาสนา ลูกคนนั้น ภรรยาคนนั้น ก็จะกลับกลายเป็นศัตรูของเรา ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัตตะฆอบุน อายะฮฺที่ 15 อัลลอฮฺ ตรัสความว่า
“แท้จริงทรัพย์สิน ลูกหลานเป็นฟิตนะฮฺ เป็นบททดสอบ”
อัลกุรอาน ระบุว่า ลูกหลานอาจจะเป็นศัตรูกับเราก็ได้ หรืออาจจะเป็นสิ่งที่เป็นทานถาวรให้กับเราก็ได้ และลูกหลานก็เป็นฟิตนะฮฺ เป็นเครื่องทดสอบเราว่า เมื่อลูกเราเติบโตได้ดิบได้ดีแล้ว เราหลงไปกับลูกคนนั้นไหม ? ในขณะเดียวกันเมื่อเขาบกพร่องเรื่องราวของศาสนา เราได้ตักเตือนเขาหรือไม่ ? ถ้าเราปล่อยปะละเลย มันก็เป็นบททดสอบเราเช่นกัน เราจะพบว่า ในสังคมมุสลิม ไม่มีมุสลิมคนใดที่ตั้งใจทิ้งละหมาด แต่อาจจะเป็นเพราะว่า เขาไม่ให้ความสำคัญกับการละหมาด แต่ถ้ามุสลิมคนใดที่ตั้งใจทิ้งละหมาด ก็ชัดเจนอยู่แล้ว จากหลักฐานตามอัลกุรอานและอัลฮะดีษที่กล่าวมาข้างต้น
ในวันนี้ผมจะขอพูดถึงการละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสยิด ฮุก่มของการละหมาด ญะมาอะฮฺนั้น อุละมาอฺส่วนใหญ่ ให้ความเห็นว่า การละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสยิดเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบรรดาผู้ชายที่มีความสามารถ และปราศจากอุปสรรคใด ๆ ซึ่งฮุก่มต่าง ๆ นี้ อุละมาอฺไม่ได้คิดเอง ไม่ได้ตั้งฮุก่มขึ้นมาเอง แต่อาศัยหลักฐานที่เรียกว่า “นัศ” ตัวบทจากอัลกุรอานและอัลฮะดีษ แล้วนำออกมาเป็นฮุก่มว่าการละหมาดญะมาอะฮฺรวมกันในมัสยิด เป็นวาญิบสำหรับบรรดามุสลิมผู้ชายที่มีความสามารถ
ในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺ อันนิซาอฺ อายะฮฺที่ 102 กล่าวถึง สภาพที่ท่านนบี ออกทำสงคราม อัลลอฮฺ ตรัสความว่า
“มุฮัมมัด ถ้าเจ้าอยู่ร่วมกับบรรดาทหารในขณะที่กำลังจะออกศึก จงดำรงไว้ซึ่งการละหมาด (ญะมาอะฮฺ)
โดยให้มีซึ่งนายทหารกลุ่มหนึ่งจัดแถวไว้เพื่อดำรงละหมาดแล้วให้ถืออาวุธไว้ด้วย”
ในรายละเอียดของ การละหมาดขณะประจันหน้ากับข้าศึก เขาก็จะมีวิธีว่า กลุ่มหนึ่งยืนรักษาความปลอดภัย ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งละหมาดในสภาพที่ถืออาวุธ ถ้าหากว่าการละหมาดอนุญาตให้ต่างคนต่างละหมาด โดยไม่ต้องมาละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสยิด อัลลอฮฺ ก็คงไม่ประทานอายะฮฺนี้มา สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าขณะอยู่ในสงคราม อัลลอฮฺ ยังทรงสั่งใช้ท่านนบีมุฮัมมัด ร่วมละหมาดญะมาอะฮฺกับบรรดาทหาร เพราะฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงเวลานอกสงครามหรือเวลาปกติ ดังนั้นการละหมาดญะมาอะฮฺ จึงมีความจำเป็นอย่างแน่นอน
“การละหมาดรวมกันที่มัสยิด ประเสริฐกว่าการละหมาดคนเดียว 27 เท่า”
ถ้าเราพิจารณาตัวบท แล้วเอาสติปัญญาของเราคิด ให้ดูการดำเนินชีวิตของเราในปัจจุบัน คนที่เป็นพ่อค้า คนที่ทำธุรกิจ ซื้อเสื้อตัวหนึ่งราคา 20 บาท ถ้านำไปขายที่ชนบท หรือในที่ห่างไกลจากความเจริญจะขายได้ในราคา 100 บาท กับเสื้อตัวเดียวกันนี้ ถ้านำไปขายที่สีลมหรือที่นา จะขายได้ราคา 300-400 บาท เราจะเลือกขายที่ไหน คนก็ต้องเลือกไปขายที่สีลมหรือที่นานา เพราะฉะนั้น เมื่ออัลลอฮฺ ให้ท่านนบี บอกว่า ละหมาดรวมกันที่มัสยิดประเสริฐกว่าละหมาดคนเดียว 27 เท่า เราก็เลือกเอาเองแล้วกันว่าเราจะเลือก 1 เท่า หรือเลือก 27 เท่า
อีกฮะดีษหนึ่งที่เป็นหลักฐาน “กอฏอีย์” คือ หลักฐานที่ไม่ต้องมาเถียงกัน ไม่ต้องตีความ
จากท่าน อบีฮุรอยเราะฮฺ เล่าว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า
“ชายตาบอดคนหนึ่ง ชื่ออับดุลลอฮฺ อิบนิลมักตูม มาหาท่านนบี ที่มัสยิด เพื่อจะมาขอผ่อนผันกับท่านนบี
เขากล่าวว่า “โอ้ท่านร่อซูลของอัลลอฮฺ ผมเป็นคนตาบอดไม่มีคนที่จะจูงมามัสยิด เพราะฉะนั้นผมจะมาขอผ่อนปรนจากท่านหน่อยได้ไหมว่า อยากจะขอละหมาดที่บ้าน
ท่านนบี ก็อนุญาต แต่เมื่อชายคนนั้นหันกลับท่านนบี ก็เรียกชายคนนั้นให้หันกลับมา
แล้วถามว่า ท่านได้ยินการเรียกมาสู่การละหมาดไหม ? ได้ยินอะซานไหม ?
ชายตาบอดคนนั้นบอกว่า ได้ยินครับ
ท่านนบีมุฮัมมัด จึงบอกว่า ดังนั้นการละหมาดญะมาอะฮฺจำเป็นต่อท่าน
ในอีกริวายะฮฺหนึ่ง ในบันทึกของอิมามอะหฺมัด และอบูดาวูด ว่า
ท่านนบีมุฮัมมัด บอกว่า “ฉันไม่พบว่ามันจะเป็นข้อผ่อนผันให้กับท่านได้”
ขนาดคนตาบอดได้ยินการอะซาน มาขอผ่อนผันกับท่านนบี ซึ่งในตอนแรกท่านนบี ไม่ทราบว่าได้ยินการอะซานก็ยอมผ่อนผัน ผ่อนปรนให้ แต่เมื่อท่านนบี ทราบว่าได้ยินเสียงอะซาน ก็บอกว่า การละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสยิดจำเป็นสำหรับเขา
เพราะฉะนั้นลูกของเรา หลานของเรา ก็ยังเป็นลูกหลานของเราอยู่เสมอ ผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัว คำว่า “มัซอูลียะฮฺ” ความรับผิดชอบไม่ได้ตกหายไป ไม่ว่าลูกหลานคนนั้นจะโตแล้ว จะทำงานแล้ว มีเงินมากแล้ว คนที่เป็นพ่อ เป็นหัวหน้าครอบครัวก็ต้องบอก ต้องเตือน ต้องให้ความสำคัญ ต้องใช้วิธีที่อิสลามสอน ก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้เขามาละหมาดที่มัสยิด เพราะถ้าเราปล่อยปะละเลย ไม่พิจารณาในตัวบทหลักการของอัลอิสลาม อิสลามสมบูรณ์มาด้วยกับการยึดมั่น ปัจจุบันอิสลามก็ยังสมบูรณ์อยู่ แต่ทำไมสังคมมุสลิมจึงดูตกต่ำ สาเหตุก็เพราะผู้ที่ได้ชื่อว่ามุสลิม มุสลิมะฮฺ ไม่ได้ยึดมั่นหลักการของอิสลามอย่างถูกต้อง ยึดมั่นบางประการ ปฏิบัติบางประการ แล้วก็ละทิ้งบางประการ
สุดท้ายขอฝากอัลกุรอานในซูเราะฮฺ อัลกะฮฺฟิ ซึ่งเป็นซูเราะฮฺที่มีซุนนะฮฺจากท่านนบี ให้ผู้ที่เป็นมุสลิมทุกคนอ่านในวันศุกร์ ตั้งแต่มัฆริบค่ำคืนของวันพฤหัสบดีก็อ่านได้ตลอดเลย ซึ่งจะมีผลบุญ มีความดีต่าง ๆ มากมาย ที่ระบะไว้ในอัลฮะดีษ ในส่วนของอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลกะฮฺฟิ อายะฮฺที่ 103-104 อัลลอฮฺ ตรัสความว่า
“มุฮัมมัด จงกล่าวเถิดว่า ฉันจะบอกพวกท่านให้เอาไหม ถึงบรรดาผู้ที่การงานของเขาขาดทุนที่สุด (คนที่ขาดทุนมากที่สุด) ก็คือ
บรรดาผู้ที่หลงอยู่ในดุนยา ผู้ที่แสวงหาในเรื่องของดุนยาอย่างไม่ถูกต้อง โดยที่เขาคิดเองว่า สิ่งที่เขาปฏิบัตินั้นเป็นสิ่งที่เขาทำถูกต้องที่สุดแล้ว”
แต่ในความถูกต้องที่เขาคิดนั้น เขาไม่ได้เปิดใจฟังคนรอบข้าง ไม่ได้เปิดใจฟังอุละมาอฺท่านอื่นว่า ในเรื่องราวต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องอะกีดะฮฺนั้น พูดว่าอย่างไรบ้าง เขาเชื่อแล้วก็คิดว่าสิ่งที่เขาเชื่อนั้นดีที่สุดแล้วและเขาก็อยู่ในสิ่งนั้น จนวาระสุดท้าย อัลลอฮฺ บอกว่า สิ่งที่เขาปฏิบัติอยู่นั้น เป็นการปฏิบัติในสภาพที่หลงทาง แล้วก็คิดว่าตัวเองนั้นอยู่ในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ทำดีแล้ว
จึงขอฝากว่า สังคมมุสลิมต้องการความเป็นปึกแผ่น ต้องการพลัง เพราะฉะนั้นก็ขอให้เราสร้างจากครอบครัวของเรา ดูแลสิทธิของตนเอง ปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง ปฏิบัติหน้าที่ต่ออัลลอฮฺ ปฏิบัติหน้าที่ต่อคนในสังคม เพื่อผลักดันไปสู่ความเป็นสังคมที่แข็งแกร่ง เพราะเมื่อสังคมแข็งแกร่งก็จะทำให้อิสลามเป็นที่เลื่องลือ เป็นที่กล่าวขวัญสืบไป
“โอ้พระเจ้าของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงโปรดให้ข้าพระองค์ ลูกหลานของข้าพระองค์เป็นผู้ดำรงการละหมาดด้วยเถิด โอ้พระเจ้าของข้าพระองค์ โปรดรับการวิงวอนขอด้วยเถิด”
คุตบะฮฺวันศุกร์ มัสยิด (หลวง) อันซอริซซุนนะห์ บางกอกน้อย
ที่มา อัลอิศลาห์ สมาคม