เริ่มต้นใหม่ด้วยการละหมาด
  จำนวนคนเข้าชม  10728

 

เริ่มต้นใหม่ด้วยการละหมาด

 

อาจารย์ ยาซิร กรีมี

 

         ท่านพี่น้องมุสลิมและมุสลิมะฮฺผู้ศรัทธาที่เคารพทุกท่าน วันนี้เป็นวันศุกร์ ในทัศนะอิสลามถือว่าเป็นวันอีดของสัปดาห์ เป็นวันที่ดีที่สุดของสัปดาห์ เป็นวันที่มีความดีต่าง ๆ มากมาย

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาครับ อิสลามมิได้มีแนวทางหรือมิได้มีแบบอย่างในการที่จะให้บุคคลที่เป็นมุสลิมเลียนแบบบุคคลที่ไม่ใช่มุสลิม แม้ว่าเราเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศนี้ แต่ถ้าเราไม่แสดงตัวว่าเราเป็นมุสลิมที่แท้จริง ในวาระหรือในกิจกรรมบางอย่างของชนต่างศาสนิก เราก็อาจจะหลงไปร่วมทำกิจกรรมกับเขาได้ ตัวอย่างเช่น ในวาระปีใหม่ บรรดาบุคลากรในที่ทำงาน หรือโรงเรียน หรือสถานที่ทั่ว ๆ ไปต่างก็มีการจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นปีใหม่กัน ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวนี้ไม่ใช่แนวทางของอิสลาม มุสลิมบางคนที่อาจจะขาดความรู้ หรืออาจจะไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องก็อาจจะร่วมเฉลิมฉลองไปกับเขาด้วย 

 

          หรือเมื่อเราย้อนไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เราเคยได้ยินข่าวว่ามีกลุ่มคนบางกลุ่ม หรือกลุ่มลัทธิต่าง ๆ หลายลัทธิทำนายว่า โลกจะแตกเมื่อเวลานั้น เวลานี้ แต่หลังจากวันที่ 21 ธันวาคม ผ่านไป ผู้ทำนายก็ออกมาปฏิเสธบอกว่าโลกจะยังไม่แตกและโลกจะแตกในอีก 4 ปีข้างหน้า คือ จะแตกในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2017 หรือมีบางลัทธิที่บอกว่าโลกจะแตก แล้วแต่งตัวเป็นมนุษย์ต่างดาวหนีไปอยู่บนภูเขาแล้วบอกว่าจะมีมนุษย์ต่างดาวมาช่วย บางลัทธิก็บอกว่าโลกแตกจะยังไม่เกิดขึ้น จนกว่าจะมีสันตะปาปาครบ 112 ท่าน ซึ่งปัจจุบันนี้เพิ่งจะมีเป็นท่านที่ 16 เท่านั้น 

 

          แต่สำหรับมุสลิมมุอฺมินผู้ศรัทธาอย่างแท้จริงแล้ว จะทราบว่าในคัมภีร์อัลกุรอาน และใน อัลฮะดีษของท่านนบีมุฮัมมัด ได้บอกไว้แล้วว่า วาระสุดท้ายของโลกนี้จะเกิดขึ้นเมื่อมีสัญญาณใดบ้าง แต่ไม่ได้กำหนดเวลาให้เราทราบอย่างแน่นอน เรากลับมามองดูว่า ในโลกปัจจุบัน สัญญาณต่าง ๆ ที่เป็นสัญญาณเล็กตามที่ท่านนบี มุฮัมมัด  ได้บอกไว้นั้น เกิดขึ้นมาเกือบจะครบแล้ว แต่ก็ไม่ได้บอกวันหรือเวลาอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้น ในฐานะที่เราเป็นมุสลิมมุอฺมินผู้ศรัทธาอย่างแท้จริง เราก็ต้องเชื่อในคำสอนของท่านนบี  ของเรา

 

          ในเรื่องดังกล่าวนี้ ถ้าหากมีคนมาบอกเราว่า โลกจะแตกเย็นนี้ทุกคนจะทำอะไร ? แต่ละคนก็จะมีปฏิกิริยาแตกต่างกันไป บางคนก็อาจจะนั่งอ่านอัลกุรอานอยู่ที่มัสยิด ขอดุอาอฺจนถึงเวลาเย็น บางคนอาจจะวิ่งกลับไปบ้าน ไปดูว่าได้อธรรมไว้กับใคร ก็รีบโทรศัพท์ไปขอมะอัฟ หรือไม่ก็นำสิ่งที่ตัวเองได้มาอย่างไม่ถูกต้องไปคืนเจ้าของ แต่ละคนก็จะมีปฏิกิริยาแตกต่างกัน สิบคนก็สิบอาการ ไม่มีใครทราบ เพราะฉะนั้นจากตรงนี้ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์โลกแตก ก่อนที่อะญัลของเราจะมาถึง เราจึงควรที่จะมาสำรวจตัวเองว่า ชีวิตของเราที่สั้นลง เวลาของเราที่หายลงไปทุก ๆ วัน ไม่มีใครทราบว่า อะญัลของเราจะมาถึงเมื่อใด แต่เราสามารถที่จะใคร่ครวญไตร่ตรองดูว่า การงานต่าง ๆ ที่เราได้กระทำไว้ตลอดเวลาในอดีตจนถึงปัจจุบันนั้น เรายังคงปฏิบัติตนเป็นบ่าวที่ดีเสมอต้นเสมอปลายต่ออัลลอฮฺ หรือไม่ ?


 

         ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพครับ คุฏบะฮฺในวันนี้ ผมจะขอเสนอสิ่ง ๆ หนึ่ง ซึ่งมันเป็นภาระ เป็นหน้าที่ของเรามุสลิมที่บรรลุศาสนภาวะที่เป็นผู้มีสติปัญญาทุกคนจะต้องตรวจสอบว่าตัวเรา ผู้อยู่ใต้การปกครองของเราปฏิบัติภารกิจนี้หรือเปล่า ก็คือ เรื่องการละหมาด

 

         การละหมาดเป็นอิบาดะฮฺชนิดเดียวที่อัลลอฮฺ ทรงให้ท่านนบีมุฮัมมัด ขึ้นไปรับมาจากพระองค์ ปกติแล้ววะฮีย์ต่าง ๆ จะถูกประทานผ่านท่านญิบรีล ด้วยการมาบอก ดลใจ หรือไม่ก็จำแลงมาในรูปกายของมนุษย์ เพื่อมาสอนท่านนบีมุฮัมมัด แต่การละหมาด เป็นอิบาดะฮฺชนิดเดียวที่ท่านนบีมุฮัมมัด  ขึ้นไปรับบัญญัติมาจากฟากฟ้า แล้วนำมาบอกแก่บรรดามนุษยชาติว่า การละหมาดนั้นเป็นวาญิบ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประชาชาติของท่านนบีมุฮัมมัด 

 

        ถ้าจะพูดถึงความสำคัญของการละหมาด มีฮะดีษ มากมายที่กล่าวถึงความสำคัญของการอิบาดะฮฺนี้ในหนังสือฟิกฮุซซุนนะฮฺ ของอัซซัยยิด อัซซาบิก ซึ่งประมวลฮะดีษไว้มากมายในปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ ได้ถูกแปลเป็นภาษาไทย โดยสมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ ซึ่งท่านพี่น้องสามารถจะหาอ่าน หามาศึกษาได้ เป็นแนวทางของท่านนบีมุฮัมมัด  ในทุก ๆ เรื่อง สำหรับในหัวข้อการละหมาด ผมจะขอยกตัวอย่างฮะดีษมาบอกเล่าให้พี่น้องได้รับทราบ ดังนี้

“หัวเรื่องของมันคืออัลอิสลาม เสาของอัลอิสลาม คือ การละหมาด และสุดยอดของอัลอิสลามคือการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ”

ฮะดีษ จากบันทึกของอิมามอะหฺมัด อันนะซาอีย์ และอัตติรมิซีย์ ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  กล่าวว่า

        “การละหมาดได้ถูกบัญญัติให้กับท่านนบีมุฮัมมัด ในค่ำคืนที่ท่านนบีถูกเชิญตัวขึ้นอิสรอฮฺไปยังเบื้องบน เพื่อไปรับบัญญัติการละหมาดจากอัลลอฮฺ ซึ่งในครั้งแรกกำหนดเวลาละหมาด 50 เวลาต่อ 1 วัน หลังจากนั้น บรรดานบีท่านก่อน ๆ ได้บอกให้ท่านนบีมุฮัมมัด ไปขอลดเวลาการละหมาดลง จนกระทั่งเหลือเวลาการละหมาด 5 เวลา ระหว่างที่ท่านนบี ลงมาจากการรับบัญญัติการละหมาด 5 เวลาก็มีเสียงเรียกขึ้นว่า

"โอ้ มุฮัมมัดบัญญัตินี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกแล้ว ณ ที่ฉัน เพราะฉะนั้นบัญญัติ 5 เวลานี้ จงนำไปบอกประชาชาติของท่าน และมันจะมีภาคผลเท่ากับ 50 เวลา”

        อีกฮะดีษหนึ่ง กล่าวถึง การกระทำของท่านนบีมุฮัมมัด  ในวาระสุดท้ายของชีวิตท่าน ระหว่างที่ท่านกำลังจะเสียชีวิต ลมหายใจสุดท้ายท่านบอกกับประชาชาติของท่านว่า การละหมาด การละหมาด ท่านสั่งเสียกับประชาชาติของท่านว่าให้ดำรงไว้ซึ่งการละหมาด

        เพราะฉะนั้นถ้าหากใครที่จะยึดเอาปีใหม่เป็นการเริ่มต้น ก็ขอให้เริ่มต้นในสิ่งที่ดี ๆ เริ่มต้นในการสำรวจตัวเองว่า การละหมาดของตัวเรา การละหมาดของคนในครอบครัวของเรา การละหมาดของสมาชิกในสังคมของเรา การละหมาดของสมาชิกในสังคมของเรานั้นยังเสมอต้นเสมอปลายหรือเปล่า

         เพราะการละหมาดจะเป็นพันธะ จะเป็นสัญญา เป็นสิ่งสุดท้ายที่ ถ้าหากหลุดออกไปจากใครแล้วละก็ บุคคลผู้นั้นก็จะสิ้นสภาพการเป็นมุสลิม

ฮะดีษรายงานจาก ท่านอะบีอุมามะฮฺ บันทึกโดยอิมามอะหฺมัดและอิบนุฮิบบาน ท่านนบีมุฮัมมัด  กล่าวว่า

“อิสลามเปรียบเสมือนห่วงที่ถูกร้อยไว้ซึ่งกันและกันหลาย ๆ ห่วง แล้วห่วงของอิสลามนี้ก็จะค่อย ๆ หลุดออกไปจากมนุษย์แต่ละคนทีละห่วง ๆ

และทุก ๆ ครั้งที่ห่วงมันหลุดไป มนุษย์ก็จะไปคว้าอีกห่วงหนึ่ง (หมายความว่า มนุษย์จะค่อย ๆ ทิ้งหลักการศาสนาไปเรื่อย ๆ)

ระการแรก ที่มนุษย์จะทิ้งห่วงของอิสลามนี้คือ เรื่องของอัลฮุกมุ (การตัดสิน การปกครองด้วยระบบอิสลาม)

และประการสุดท้ายที่มนุษย์จะทิ้งให้หลุดไปจากประชาชาติอิสลามก็คือการละหมาด”

 

           เราลองหันไปมองดูประชาชาติอิสลามทั้งหมด ประเทศที่เรียกว่าเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบอัลอิสลาม ก็จะไม่ได้ใช้กฎหมายอิสลามร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จะมีกฎหมายความมั่นคงเข้ามา มีกฎหมายอื่น ๆ เข้ามาจะใช้กฎหมายอิสลามบังคับเฉพาะ ในเรื่องการแต่งงาน การแบ่งมรดก ส่วนบางประเทศที่ยังใช้อยู่ ก็ยังใช้ไม่หมด เพราะฉะนั้น ท่านนบี  จึงบอกว่าสิ่งแรกที่จะหลุดไปจากประชาชาติอิสลาม ก็คือเรื่องของการปกครอง และสิ่งสุดท้ายที่จะหลุดไปก็คือการละหมาด การละหมาดจึงเป็นตัววัดสุดท้ายว่าบุคคลคนนั้นยังมีความเป็นมุสลิมอยู่หรือเปล่า

         เรามาดูคำสั่งใช้ในเรื่องของการละหมาดทั้งในคัมภีร์อัลกุรอานและในอัลฮะดีษของท่านร่อซูล  ที่ได้สั่งใช้ในเรื่องของการละหมาดในซูเราะฮฺอัลอังกะบูต อายะฮฺที่ 45 อัลลอฮฺ  ตรัสว่า

 

“แท้จริงการละหมาดนั้น จะยับยั้ง (คนที่ละหมาด) ไม่ให้ทำในสิ่งที่ชั่วช้าลามก และสิ่งที่น่ารังเกียจ”

          เราต้องหันกลับมาทบทวนตัวเราว่า ที่เราละหมาดอยู่ทุกวัน ๆ วันละ 5 เวลานั้นมันช่วยเราตรงนี้หรือเปล่า ? ถ้ายังไม่ช่วย ละหมาดแล้วยังไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ละหมาดแล้วยังไม่ปฏิบัติในสิ่งที่ศาสนาสั่งใช้ ละหมาดแล้วยังปฏิบัติในสิ่งที่ศาสนาสั่งห้าม แสดงว่าการละหมาดของเราที่ผ่านมานั้นยังไม่สัมฤทธิ์ผล เพราะการละหมาดที่แท้จริงนั้นจะต้องยับยั้งเราจากการกระทำสิ่งที่ชั่วร้าย สิ่งที่ลามกและน่ารังเกียจ  

ในซูเราะฮฺอัลอะฮฺลา อายะฮฺที่ 14-15 อัลลอฮฺ  ตรัสว่า

“บรรดาผู้ที่ขัดเกลาจิตใจ บรรดาผู้ที่รำลึกถึงอัลลอฮฺตะอาลาด้วยการละหมาด แน่นอน บุคคลเหล่านี้จะได้รับชัยชนะ ได้รับความสำเร็จ”

         ในฮะดีษ จากรายงานของ อัมรฺ อิบนุชุอัยบฺ บันทึกโดย อิมามอบูดาวุด ในบทการละหมาด ซึ่งฮะดีษนี้เป็นแนวทาง เป็นหลักสูตร ในการอบรม การสั่งสอนของท่านนบีมุฮัมมัด  ที่ฝากไว้ให้แก่บรรดาผู้ปกครอง

ท่านนบีมุฮัมมัด  กล่าวว่า

“ท่านจงสั่งใช้บรรดาลูกหลานของท่านในเรื่องของการละหมาด เมื่อลูกหลายของท่านนั้นมีอายุได้เจ็ดขวบ

และให้ทำโทษเฆี่ยนตีได้เมื่อลูกหลานมีอายุได้สิบขวบและไม่ละหมาด”

        อิสลามไม่ได้ปฏิเสธที่จะให้ผู้ปกครองนำเด็ก ๆ มาละหมาดที่มัสยิดแต่แนวทางของท่านนบี บอกว่า เด็กอายุเจ็ดขวบจะรู้เรื่องก็ให้สอนการละหมาด เวลาสอนก็จะเข้าใจแล้วก็ทำตาม แต่การที่จะนำเด็กที่อายุต่ำกว่าเจ็ดขวบมาที่มัสยิด ก็ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ปกครอง เพราะถ้าเด็กมาทำเสียงดังหนวกหู มันจะกลายเป็นการรบกวน ซึ่งผู้ปกครองก็ต้องรับผิดชอบตรงนี้


ส่วนเรื่องของการละทิ้งละหมาดโดยมีเจตนาละทิ้งหรือละเลยฮุก่มนั้นมีดังต่อไปนี้

ฮะดีษรายงานจากญาบิร บันทึกโดยอิมามอะหฺมัด มุสลิม อบีดาวูด อัตติรมิซีย์ อิบนุมาญะฮฺ ว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  กล่าวว่า

“ระหว่างคน ๆ หนึ่งในความเป็นมุสลิมกับคน ๆ เดียวกันในการเป็นกุฟร ก็คือการละทิ้งละหมาด”

ฮะดีษต่อมาจากรายงานของอับดุลลอฮฺ อิบนุบุรอยดะฮฺ บันทึกโดยอิมามอะหฺมัด และเจ้าของสุนันต่างๆ ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  กล่าวว่า

“พันธะสัญญา ระหว่างเรากับพวกเขาในศาสนาอิสลามนั่นก็คือ การละหมาด ดังนั้นใครที่ละทิ้งการละหมาดแล้วเขาผู้นั้นเป็นปฏิเสธ”

ฮะดีษ บันทึกโดยอิมามอะหฺมัด อัฏฏ็อบรอนีย์ อิบนุฮิบบาน ว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  กล่าวว่า

          “ใครที่รักษาการละหมาดในวันกิยามะฮฺ การละหมาดจะมาเป็นรัศมี การละหมาดจะมาเป็นพยานยืนยัน และการละหมาดจะมาเป็นเครื่องช่วยให้เขารอดพ้นในวันกิยามะฮฺ

         ส่วนใครที่ไม่รักษาการละหมาด (ไม่ดำรงไว้ซึ่งการละหมาด) บุคคลนั้นก็จะไม่มีรัศมีในวันกิยามะฮฺ จะไม่มีหลักฐาน จะไม่มีพยาน แต่กลับจะมีแต่สิ่งมาปรักปรำเขา แล้วเขาก็จะไม่มีเครื่องช่วยให้เขารอดพ้นในวันกิยามะฮฺ

          และในวันกิยามะฮฺ (บุคคลที่ทิ้งละหมาด) ก็จะต้องไปอยู่กับกอรูน อยู่กับฟิรอูน อยู่กับฮามาน และอยู่กับอุบัยอิบนิค่อลัฟ”

          ท่านอิบนุลก็อยยิม ได้อธิบายฮะดีษนี้ว่า

       ♣ บุคคลที่ละทิ้งการละหมาดอันเนื่องมาจากหลงทรัพย์สิน ไม่มีเวลามาละหมาด อันเนื่องมาจากมัวแต่ทำมาหากินจนลืมละหมาด หรือว่าประวิงเวลาละหมาด หรือนำละหมาดแต่ละเวลามารวมอยู่ในเวลาเดียวกัน ในวันกิยามะฮฺบุคคลเหล่านี้ จะถูกนำมารวมอยู่กับพวกของ กอรูน 

       ♣ ส่วนผู้ที่มีอำนาจ หลงในอำนาจ ว่าได้ตำแหน่งนั้น ตำแหน่งนี้มา แล้วลืมศาสนาของอัลลอฮฺ ละทิ้งละหมาดไม่ดำรงการละหมาด บุคคลประเภทนี้จะถูกจัดอยู่ในพวกของฟาโรห์หรือฟิรอูน 

 ส่วนบุคคลที่หลงอยู่ในฐานะ ในตำแหน่งในดุนยา ละทิ้งละหมาด ไม่สนใจศาสนา พวกเขาจะถูกรวมอยู่กับพวกของฮามาน 

       ♣ ส่วนบุคคลที่มัวแต่ยุ่งอยู่กับธุรกิจการค้า ไม่มีเวลาเข้าเฝ้าพระเจ้า ยุ่งกับการค้าขายทั้งวัน ไม่ยอมละหมาด ในวันกิยามะฮฺ กลุ่มนี้ก็จะถูกรวมอยู่กับพวกของอุบัยอิบนิค่อลัฟ


         จากหลักฐานที่ผมได้นำเสนอข้างต้น บรรดาอุละมาอฺ มีการขัดแย้งกัน ในเรื่องที่ว่าการละทิ้งการละหมาดนั้นตกอยู่ในสภาพของกุฟรฺหรือไม่กุฟรฺ ซึ่งทัศนะที่ถือว่าดีที่สุดคือทัศนะที่ว่า ใครที่ละทิ้งการละหมาดโดยเจตนา ปฏิเสธในหลักการ บุคคลคนนั้นจะกลายเป็นกาเฟร และอนุญาตในเลือดและทรัพย์สินของเขา คืออนุญาตให้ฆ่าได้ ส่วนบุคคลที่ประวิงเวลาละหมาด ถึงเวลาแล้วไม่ยอมละหมาด ปล่อยเวลาให้ผ่านไปแล้วมาละหมาดในช่วงท้ายของเวลา ก็ขอให้พิจารณาในอัลกุรอานซูเราะฮฺมัรยัม อายะฮฺที่ 59 อัลลอฮฺ  ตรัสว่า

“ภายหลังจากพวกเขา (บรรดาผู้ยำเกรงเหล่านั้น) ชนรุ่นชั่วก็ได้สืบต่อมา

พวกเขาได้ทิ้งละหมาด และปฏิบัติตามความใคร่ ต่อมาพวกเขาก็จะประสบความหายนะ”

         หลังจากมีคนดีมาตลอด คือ หลังจากคนในยุคอดีต คนในยุคท่านนบี คนในยุคสลัฟซึ่งดำรงการละหมาด ให้ความสำคัญกับการละหมาด เมื่อถึงเวลาก็ละหมาด จะมีคนกลุ่มหนึ่งละทิ้งการละหมาด ไม่ให้ความสำคัญกับการละหมาด เมื่อได้ยินเสียงอะซานก็เฉย ไม่รีบเร่งไปละหมาดปฏิบัติตามหรือทำตามอารมณ์ของตนเอง สุดท้ายบุคคลที่ทิ้งละหมาดแบบนี้จะต้องประสบกับฆ็อยยา

นักตัฟซรีบอกว่า คำนี้ หมายถึง ตกอยู่ในความชั่ว ตกอยู่ในความหายนะ ตกอยู่ในความขาดทุน 

         แต่อิบนุอับบาสบอกว่า คำนี้ หมายถึง ทุ่ง ๆ หนึ่งในนรก ถ้าเรายึดคำพูดของอิบนุอับบาส ก็หมายความว่า “ในวันกิยามะฮฺใครที่ละหมาดแบบนี้ ก็จะถูกทิ้งอยู่ในทุ่งหนึ่งของไฟนรก”

 

เพราะฉะนั้นขอให้เราทุกคนทบทวนตัวเรา ลูกหลานของเราในบ้านลูกหลานสมาชิกในสังคมว่า ได้ให้ความสำคัญกับการละหมาดหรือเปล่า



 

คุตบะฮฺวันศุกร์  มัสยิด (หลวง) อันซอริซซุนนะห์ บางกอกน้อย

 

ที่มา อัลอิศลาห์ สมาคม