การละหมาดญะนาซะฮฺ
ชัยคฺ มุหัมมัด บิน อับดุลวะฮาบ
เมื่อศพหนึ่งศพใดถูกยกมา ท่านจะสอบถามก่อนว่าผู้ตายมีหนี้สินติดค้างอยู่หรือไม่ ?
ถ้าไม่มี ท่านก็จะละหมาดให้ทันที แต่ถ้าปรากฏว่ามีหนี้สินอยู่ ท่านจะไม่ละหมาดให้ แต่จะใช้ให้เศาะหาบะฮฺละหมาดให้แทน ทั้งนี้ เนื่องจากการที่ท่านละหมาดญะนาซะฮฺให้นั้น ถือเป็นชะฟาอะฮฺ (ความช่วยเหลือ) ซึ่งแน่นอนว่าชะฟาอะฮฺของท่านนั้นย่อมได้รับการตอบรับ ในขณะที่หนี้สินนั้นจะยังคงติดตัวผู้ตาย โดยเขาจะไม่ได้เข้าสวรรค์จนกว่าหนี้ดังกล่าวจะได้รับการชดใช้สะสาง
แต่ภายหลังจากที่อัลลอฮฺได้ทรงให้รัฐอิสลามภายใต้การปกครองของท่านมีความเข็มแข็งมากขึ้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ละหมาดให้แก่ผู้ที่ยังคงมีหนี้สินติดค้างด้วย โดยท่านเป็นผู้รับผิดชอบหนี้สินเหล่านั้นแทน แล้วเก็บทรัพย์สินเงินทองของผู้ตายไว้ให้ทายาทของเขา
เมื่อเริ่มละหมาดญะนาซะฮฺ ท่านนบีกล่าวตักบีรฺ แล้วกล่าวสดุดีสรรเสริญอัลลอฮฺ ครั้งหนึ่ง ท่าน อิบนุ อับบาส ละหมาดญะนาซะฮฺโดยที่ท่านอ่านฟาติหะฮฺเสียงดังหลังจากตักบีรฺครั้งแรก ซึ่งท่านอธิบายว่าที่ทำเช่นนั้น “ก็เพื่อให้ผู้คนทราบว่าการอ่านฟาติหะฮฺนั้นเป็นสุนนะฮฺ”
อาจารย์ของเรา (อิบนุตัยมิยะฮฺ) กล่าวว่า “การอ่านฟาติหะฮฺนั้นไม่วาญิบ แต่เป็นสุนนะฮฺ”
อบูอุมามะฮฺ บิน สะฮัล ได้รายงานจากเศาะหาบะฮฺกลุ่มหนึ่งว่า ส่งเสริมให้กล่าวเศาะละวาตแก่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในละหมาดญะนาซะฮฺ
และมีรายงานว่า อบูฮุร็อยเราะฮฺ ได้ถาม อุบาดะฮฺ บิน อัศศอมิต เกี่ยวกับการละหมาดญะนาซะฮฺ แล้วท่านตอบว่า ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ฉันจะบอกให้ท่านทราบ ท่านจงเริ่มด้วยการตักบีรฺ จากนั้นให้กล่าวเศาะละวาตแก่ทานนบีแล้วกล่าวว่า
«اللهم إِنَّ عَبْدَكَ فُلَانًا كَان لا يُشْرِكُ بِكَ، وَأَنْتَ أَعْلَمُ بِهِ، إِنْ كانَ مُحْسِناً فَزِدْ في إِحْسَانِهِ، وَإِنْ كانَ مُسِيْئًا فَتَجَاوَزْ عَنْهُ، اللهم لا تُحْرِمْنَا أَجْرَهُ وَلا تُضِلَّنَا بَعْدَهُ » [رواه مالك 533]
“โอ้อัลลอฮฺ บ่าวของพระองค์ (เอ่ยชื่อผู้ตาย) ไม่เคยกระทำชิริก (ตั้งภาคี) ต่อพระองค์ ซึ่งพระองค์ก็ทรงรู้ดีที่สุดเกี่ยวกับตัวเขา ถ้าหากเขาเป็นผู้ที่กระทำความดี ก็ขอพระองค์ทรงเพิ่มพูนความดีงามให้แก่เขา แต่ถ้าหากเขาเป็นผู้ที่ไม่ดี ก็ขอพระองค์ทรงอภัยให้แก่เขา โอ้อัลลอฮฺ ขอโปรดอย่าให้ผลบุญ (ที่เราละหมาดญะนาซะฮฺและขอดุอาอ์ให้แก่เขา) ต้องสูญเปล่า และขอพระองค์ทรงอย่าให้เราต้องหลงผิดหลังจากที่เขาได้ตายไปแล้ว”
(บันทึกโดยมาลิก หะดีษเลขที่ 533)
ทั้งนี้ จุดประสงค์หลักของการละหมาดญะนาซะฮฺนั้น คือการขอดุอาอ์ให้แก่ผู้ตาย ดังนั้น จึงพบว่ามีบันทึกรายงานหลายสายระบุถึงตัวบทดุอาอ์ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม อ่าน ต่างจากกรณีของการอ่านฟาติหะฮฺ หรือการกล่าวเศาะละวาต ส่วนหนึ่งจากดุอาอ์ที่ท่านอ่านก็เช่น
«اللهم إِنَّ فُلانَ ابْنَ فُلانٍ في ذِمَّتِكَ، وَحَبْلِ جِوَارِكَ، فَقِهِ فِتْنَةَ القَبْرِ، وَعَذَابَ النَّارِ، وَأَنْتَ أَهْلُ الوَفَاءِ، وَالحَقّ، فَاغْفِرْ لَهُ، وَارْحَمْهُ إِنَّكَ أَنْتَ الغَفُوْرُ الرَّحِيْمُ» [رواه أبو داود برقم 3202]
“โอ้อัลลอฮฺ แท้จริงคนนั้น บุตรของคนนั้น ..... (ระบุชื่อ) ได้กลับคืนสู่พระองค์แล้ว ขอพระองค์ทรงให้เขารอดพ้นจากการลงโทษในหลุมฝังศพและในนรกด้วยเถิด พระองค์คือผู้ทรงรักษาสัญญา และเปี่ยมด้วยสัจธรรม ขอพระองค์ทรงอภัยให้แก่เขา และขอพระองค์ทรงเมตตาเขา แท้จริง พระองค์คือผู้ทรงให้อภัยและเมตตายิ่ง”
(บันทึกโดยอบู ดาวูด หะดีษเลขที่ 3202)
และมีรายงานว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เคยกล่าวดุอาอ์บทต่อไปนี้ด้วยเช่นกัน
«اللهم أَنْتَ رَبُّهَا، وَأَنْتَ خَلَقْتَهَا، وَأَنْتَ رَزَقْتَهَا، وَأَنْتَ هَدَيْتَهَا لِلإِسْلامِ، وَأَنْتَ قَبَضْتَ رُوْحَهَا، تَعْلَمُ سِرَّهَا وَعَلانِيَتَهَا، جِئْنَا شُفَعَاءَ فَاغْفِرْ لَهَا» [رواه أحمد برقم 8545]
“โอ้อัลลอฮฺ พระองค์คือพระผู้อภิบาลของชีวิตนี้ พระองค์ทรงสร้างเขาขึ้นมา ทรงประทานปัจจัยยังชีพ และทรงนำทางเขาสู่อิสลาม บัดนี้ พระองค์ทรงปลิดวิญญาณของเขาไปแล้ว ซึ่งพระองค์ย่อมรู้ดีเกี่ยวกับสิ่งที่เขากระทำ ไม่ว่าจะลับหลังหรือในที่แจ้ง ที่เรามาในวันนี้ก็ในฐานะผู้ขอความช่วยเหลือให้กับเขา ขอพระองค์ทรงอภัยให้แก่เขาด้วยเถิด”
(บันทึกโดยอะหฺมัด หะดีษเลขที่ 8545)
ทั้งนี้ ท่านกำชับให้ขอดุอาอ์แก่ผู้ตายด้วยความบริสุทธิ์ใจ
- ท่านกล่าวตักบีรฺจำนวนสี่ครั้ง แต่ก็มีบางรายงานระบุว่าท่านตักบีรฺห้าครั้ง ในส่วนของเศาะหาบะฮฺนั้น บางท่านตักบีรฺสี่ครั้ง บางท่านตักบีรฺห้าครั้ง และบางท่านตักบีรฺหกครั้ง
อัลเกาะมะฮฺ เล่าว่า ฉันเคยกล่าวแก่ อับดุลลอฮฺ บิน มัสอูด ว่า “สหายของมุอาซบางคนเดินทางมาจากเมืองชาม แล้วฉันพบว่าพวกเขากล่าวตักบีรฺในละหมาดญะนาซะฮฺห้าครั้ง”
ท่านอับดุลลอฮฺจึงกล่าวว่า “การตักบีรฺในละหมาดญะนาซะฮฺนั้นไม่มีกำหนดจำนวนครั้งที่แน่นอน แต่ท่านจงตักบีรฺพร้อม ๆ กับอิหม่าม เมื่ออิหม่ามให้สลามเสร็จสิ้นจากการละหมาด ก็จงให้สลามตาม”
มีคนถามอิมามอะหฺมัดว่า “ท่านเคยพบรายงานใดไหม ที่ระบุว่ามีเศาะหาบะฮฺท่านใดเคยให้สลามสองครั้ง ในละหมาดญะนาซะฮฺ ?”
ท่านตอบว่า “ไม่เคย แต่ที่พบคือมีรายงานจากเศาะหาบะฮฺหกท่าน ระบุว่าพวกท่านให้สลามสั้น ๆ ทางขวาเพียงครั้งเดียว”
ในบรรดาเศาะหาบะฮฺที่อิมามอะหฺมัดกล่าวถึงนั้น มี อิบนุ อุมัรฺ, อิบนุ อับบาส และอบู ฮุร็อยเราะฮฺ รวมอยู่ด้วย
- ส่วนการยกมือขณะกล่าวตักบีรฺนั้น อิมามชาฟิอีย์มีทัศนะให้ยก โดยอ้างอิงรายงานที่ปรากฏในอะษัรฺ และการกิยาส (เทียบ) กับสุนนะฮฺในการละหมาดทั่วไป อะษัรฺที่ว่านี้ หมายถึงรายงานที่บันทึกจากอิบนุอุมัรฺ และอนัส ซึ่งระบุว่าทั้งสองท่านได้ยกมือขึ้นทุกครั้งขณะกล่าวตักบีรฺในละหมาดญะนาซะฮฺ
- ในกรณีที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่ทันละหมาดญะนาซะฮฺพร้อมคนอื่น ท่านจะไปละหมาดให้ที่หลุมศพ ครั้งหนึ่งท่านละหมาดที่หลุมศพหลังจากผู้ตายเสียชีวิตไปแล้วหนึ่งคืน บางรายก็เสียชีวิตไปแล้วสามคืน และก็มีกรณีที่ท่านละหมาดที่หลุมศพหลังจากผ่านไปแล้วหนึ่งเดือน ทั้งนี้ ท่านไม่ได้กำหนดช่วงเวลาของการละหมาดที่หลุมศพแต่อย่างใด
ในประเด็นนี้อิมามมาลิกมีทัศนะว่า ไม่อนุญาตให้ละหมาดที่หลุมศพเช่นนั้น ยกเว้นผู้ปกครองของผู้ตายซึ่งไม่ได้อยู่ร่วมในขณะที่มีการละหมาดญะนาซะฮฺ
- กรณีที่ผู้ตายเป็นผู้ชาย ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะยืนละหมาดบริเวณจุดที่ตรงกับศีรษะของผู้ตาย หากเป็นผู้หญิง ท่านจะยืนประมาณช่วงลำตัว
ทั้งนี้ ท่านละหมาดญะนาซะฮฺให้เด็กด้วยเช่นกัน แต่จะไม่ละหมาดให้ผู้ที่ฆ่าตัวตาย หรือผู้ที่ยักยอกทรัพย์สินส่วนกลางที่ได้จากศึกสงครามไปเป็นของตน
- ส่วนผู้ที่ตายด้วยโทษประหารชีวิตในความผิดฐานกระทำซินานั้น มีรายงานที่แตกต่างกันว่าท่านละหมาดให้หรือไม่?
โดยในกรณีของสตรีคนหนึ่งจากเผ่า “ญุฮัยนะฮฺ” ซึ่งท่านลงโทษนางด้วยการขว้างด้วยก้อนหินจนเสียชีวิตนั้น มีรายงานถูกต้องยืนยันว่าท่านละหมาดให้นาง แต่ในกรณีของชายที่ชื่อ “มาอิซ” นั้นมีรายงานที่แตกต่างกันว่าท่านละหมาดญะนาซะฮฺให้เขาหรือไม่ ทั้งนี้ อาจอธิบายได้ว่าในความเป็นจริงแล้วรายงานเหล่านั้นไม่ได้ขัดแย้งกัน กล่าวคือ รายงานที่ระบุว่าท่านไม่ได้ละหมาดให้นั้น หมายถึงท่านไม่ได้ขอดุอาอ์ให้ เพราะคำว่า “อัศเศาะลาฮฺ” (الصلاة) นอกจากจะหมายถึงการละหมาดแล้ว ยังหมายถึงการขอดุอาอ์อีกด้วย
ซึ่งตามความเข้าใจนี้ สรุปได้ว่าท่านละหมาดญะนาซะฮฺให้มาอิซ แต่ท่านละเว้นการขอดุอาอ์ให้แก่เขาขณะยืนละหมาด เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของบาปความผิดดังกล่าว และเตือนสติผู้อื่นไม่ให้เอาเป็นเยี่ยงอย่างนั่นเอง หรือถ้าจะมองว่ารายงานเหล่านั้นขัดแย้งกัน เราก็สามารถยึดหะดีษอีกบทหนึ่งที่ระบุชัดว่าท่านละหมาดให้แก่ผู้ที่ตายด้วยโทษประหารชีวิตเนื่องจากกระทำซินาเป็นหลักฐานแทนได้
เมื่อเสร็จสิ้นจากการละหมาดญะนาซะฮฺแล้ว ท่านจะเดินนำหน้าศพไปยังสุสาน โดยท่านแนะนำให้ผู้ที่ขี่พาหนะอยู่ในตำแหน่งข้างหลังศพ และให้ผู้ที่เดินเท้าอยู่ใกล้ ๆ กับศพ ไม่ว่าจะเป็นข้างหลัง ข้างหน้า ข้างซ้าย หรือข้างชวา ทั้งนี้ ท่านใช้ให้รีบเร่งหามศพไปยังสุสานกระทั่งว่าผู้คนแทบจะกึ่งเดินกึ่งวิ่ง
- เวลาท่านติดตามศพไปยังสุสานท่านมักจะเดินเท้าไป โดยท่านกล่าวว่า
« لَمْ أَكُنْ لِأَرْكَبَ وَالمَلائِكَةُ يَمْشُوْنَ » [رواه أبو داود برقم 3177]
“ฉันไม่อยากขี่พาหนะ ในขณะที่บรรดามลาอิกะฮฺต่างเดินเท้ากัน”
(บันทึกโดยอบูดาวูด หะดีษเลขที่ 3177)
แต่ขากลับจากสุสานท่านก็อาจจะขี่พาหนะบ้างเป็นบางครั้ง
- ท่านจะไม่นั่งจนกว่าศพจะถูกวางลง โดยท่านกล่าวว่า
« إِذَا تَبِعْتُمُ الجَنَازَةَ فَلا تَجْلِسُوا حَتّى تُوْضَعَ » [رواه الترمذي برقم 1043]
“หากพวกท่านติดตามญะนาซะฮฺ (ไปยังสุสาน) ก็อย่าได้นั่งจนกว่าศพจะถูกวางลงในหลุม”
(บันทึกโดยอัตติรมิซีย์ หะดีษเลขที่ 1043)
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่ได้ละหมาด ฆออิบ (กรณีที่ผู้ละหมาดอยู่คนละที่กับผู้ตาย) ให้ทุกคนที่เสียชีวิต โดยมีรายงานที่ถูกต้องระบุว่าท่านเคยละหมาดฆออิบให้อันนะญาชีย์ (กษัตริย์อบิสิเนียที่เข้ารับอิสลามก่อนเสียชีวิต) ซึ่งการละหมาดฆออิบนั้นเป็นสุนนะฮฺ แต่การงดเว้นไม่กระทำก็ถือเป็นสุนนะฮฺเช่นกัน โดยอาจสรุปได้ว่า ถ้าเป็นกรณีที่ผู้ตายเสียชีวิต ณ สถานที่ซึ่งไม่มีผู้ใดละหมาดญะนาซะฮฺให้ เช่นนี้ก็ควรละหมาดฆออิบให้ ดังกรณีของอันนะญาชีย์ซึ่งเสียชีวิตท่ามกลางบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา
และมีรายงานที่ถูกต้องระบุว่า ท่านสั่งใช้ให้ยืนขึ้นขณะที่ศพถูกยกผ่านต่อหน้า แต่ก็มีรายงานที่ถูกต้องอีกเช่นกันระบุว่าท่านนั่งอยู่กับที่ไม่ได้ยืนขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งก็มีการวิเคราะห์กันว่า คำสั่งใช้ให้ยืนขึ้นนั้นถูกยกเลิกไปแล้ว บ้างก็เข้าใจว่า การกระทำทั้งสองแบบล้วนเป็นที่อนุญาต โดยการที่ท่านยืนขึ้นนั้นก็เพื่อที่จะบอกว่าการยืนให้เกียรติศพเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้กระทำ ส่วนกรณีที่ท่านไม่ได้ยืนขึ้นนั้น ก็เพื่อที่จะบอกว่าการนั่งขณะที่ศพผ่านต่อหน้าเป็นสิ่งที่กระทำได้ ซึ่งการอธิบายเช่นนี้น่าจะเหมาะสมกว่า
แปลโดย : อัสรัน นิยมเดชา / Islamhouse