เตือนไม่ให้เกียจคร้าน
  จำนวนคนเข้าชม  8772

 

เตือนไม่ให้เกียจคร้าน

 

ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

 

           มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสุขความจำเริญและความสันติจงประสบแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใด ๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวและศาสนทูตของพระองค์

 

หนึ่งในลักษณะนิสัยที่ อัลลอฮฺ และเราะสูลของพระองค์รังเกียจ คือ ความเกียจคร้าน
 

          อัรรอฆิบ กล่าวว่า “ความเกียจคร้าน คือการที่บุคคลหนึ่งทำชักช้ายืดยาดในสิ่งที่ไม่ควรจะชักช้า จึงถือเป็นเรื่องที่น่าตำหนิ” (อัลมุฟเราะดาต หน้า 341) เช่น การชักช้าและรู้สึกหนักเมื่อต้องทำละหมาด ญิฮาด ถือศีลอด หรือการงานอื่น ๆ ที่เป็นหน้าที่พึงกระทำ
 

ความเกียจคร้านนั้น เป็นลักษณะนิสัยของพวกกลับกลอก (มุนาฟิกีน) ดังที่อัลลอฮฺตะอาลาได้ตรัสไว้ว่า
 

          “ไม่มีสิ่งใดขัดขวางพวกเขา ในการที่บรรดาสิ่งบริจาคของพวกเขาไม่ถูกรับจากพวกเขา นอกจากพวกเขาปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮฺและต่อเราะสูลของพระองค์เท่านั้น และพวกเขาจะไม่มาละหมาดนอกจากพวกเขาจะมีสภาพเกียจคร้าน และพวกเขาจะไม่บริจาค นอกจากพวกเขาจะมีสภาพฝืนใจ” 

(อัตเตาบะฮฺ: 54)

          และตรัสอีกว่า

         “แท้จริงบรรดามุนาฟิกนั้นกำลังหลอกลวงอัลลอฮ์ อยู่ ขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงหลอกลวงพวกเขา และเมื่อพวกเขาลุกขึ้นไปละหมาด พวกเขาก็ลุกขึ้นในสภาพเกียจคร้านโดยให้ผู้คนเห็นเท่านั้น และพวกเขาจะไม่กล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ นอกจากเล็กน้อยเท่านั้น” 

(อันนิสาอ์: 142)

         และพระองค์ได้ทรงเตือนบ่าวผู้ศรัทธาของพระองค์ให้ห่างไกลจากความเกียจคร้าน และการลุ่มหลงในโลกดุนยา โดยพระองค์ตรัสว่า

“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย มีอะไรเกิดขึ้นแก่พวกเจ้ากระนั้นหรือ? เมื่อมีผู้กล่าวแก่พวกเจ้าว่าจงออกไปต่อสู้ในทางของอัลลอฮฺเถิด

พวกเจ้าก็แนบหนักอยู่กับพื้นดิน พวกเจ้าพึงพอใจในชีวิตความเป็นอยู่แห่งโลกนี้แทนปรโลกหรือ?

สิ่งอำนวยความสุขแห่งชีวิตความเป็นอยู่ในโลกนี้นั้น หากเทียบกับปรโลกแล้ว ไม่มีค่าอะไรนอกจากสิ่งเล็กน้อยเท่านั้น” 

(อัตเตาบะฮฺ : 38)

         ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ได้ขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺให้พ้นจากความเกียจคร้าน ดังที่มีรายงานบันทึกโดยมุสลิม จากหะดีษของท่านอนัส บิน มาลิก ซึ่งเล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

          “โอ้ผู้อภิบาลแห่งข้า ข้าพระองค์ขอความคุ้มครองจากพระองค์ให้ห่างไกลจาก ความอ่อนแอ ความเกียจคร้าน ความขลาดกลัว ความแก่เฒ่าหลงลืม และความตระหนี่ถี่เหนียว และขอความคุ้มครองจากพระองค์ให้พ้นจากการทรมานในหลุมศพ และจากบททดสอบทั้งขณะยังมีชีวิต และหลังความตาย” 

(บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 2706)

อิบนุลก็อยยิม เราะหิมะหุลลอฮฺ กล่าวว่า 

        “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ขอความคุ้มครองให้พ้นจากความอ่อนแอและความเกียจคร้าน ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้เป็นของคู่กัน ทั้งนี้ ความบกพร่องของคนเรานั้นเกิดจากสองส่วน คือ ความบกพร่องที่เกิดจากการไร้ความสามารถที่จะปฏิบัติ กรณีนี้คือความอ่อนแอ ในทางกลับกัน หากมีความสามารถแต่ไม่ต้องการที่จะปฏิบัติ เช่นนี้เรียกว่าเป็นความเกียจคร้าน 

          ซึ่งผลที่จะตามมาของลักษณะทั้งสองนั้น คือการพลาดโอกาสที่จะทำคุณงามความดี และประสบพบเจอแต่สิ่งที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นการไม่ใช้ร่างกายให้เป็นประโยชน์ ซึ่งก็คือลักษณะของความขี้ขลาด หรืองดเว้นการทำประโยชน์จากทรัพย์สินที่มี ซึ่งนั่นก็คือลักษณะของความตระหนี่ถี่เหนียว ซึ่งผลที่จะตามมาก็คือ การมีหนี้สินล้นพ้นตัว และการถูกรังแกข่มเหง ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากความอ่อนแอและความเกียจคร้านนั่นเอง” 

(ซาดุลมะอาด เล่ม 2 หน้า 362-364)

และท่านยังได้กล่าวไว้ในอีกบทหนึ่งว่า 

         “บ่อเกิดของความชั่วร้ายต่าง ๆ ล้วนมาจากความอ่อนแอทั้งสิ้น เพราะหากคนเราบกพร่องไร้ความสามารถที่จะกระทำความดี และไม่สามารถหลีกห่างจากความชั่วได้ เขาย่อมตกอยู่ในความชั่วร้ายและการฝ่าฝืน ดังนั้น คำกล่าวขอความคุ้มครองของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในหะดีษบทนี้จึงครอบคลุมบ่อกำเนิดของความชั่วร้ายทั้งหลาย และผลเสียต่าง ๆ ที่จะตามมา”

 (ซาดุลมะอาด เล่ม 2 หน้า 358)

กวีคนหนึ่งกล่าวว่า

   وَاحَسْرَتَـاهُ تَقَضَّى العُمُرُ وَانْصَرَمَتْ    سَاعَـاتُـهُ بَيْـنَ الـعَجْزِ وَالـكَسلِ   وَالْقَومُ قَدْ أَخَذُوا دَرْبَ النَّجَاةِ وَقَدْ     سَارُوا إِلى المَطْلَبِ الأَعْلى عَلى مَهْلِ

 

ชีวิตเรา.. หมดไปกับความอ่อนแอและความเกียจคร้าน    ในขณะที่คนอื่นเขาไปไกลถึงไหนต่อไหน.. น่าเศร้าจริง

 

          ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ส่งเสริมให้ประชาชาติของท่านมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ และรีบเร่งเก็บเกี่ยวความดีต่าง ๆ พร้อมทั้งหลีกห่างจากความอ่อนแอ และความเกียจคร้าน ดังมีรายจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ซึ่งเล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า


« الْمُؤْمِنُ الْقَوِيُّ خَيْرٌ وَأَحَبُّ إِلَى اللَّهِ مِنْ الْمُؤْمِنِ الضَّعِيفِ، وَفِي كُلٍّ خَيْرٌ، احْرِصْ عَلَى مَا يَنْفَعُكَ، وَاسْتَعِنْ بِاللَّهِ وَلَا تَعْجَزْ ، وَإِنْ أَصَابَكَ شَيْءٌ فَلَا تَقُلْ لَوْ أَنِّي فَعَلْتُ كَانَ كَذَا وَكَذَا، وَلَكِنْ: قُلْ قَدَرُ اللَّهِ وَمَا شَاءَ فَعَلَ، فَإِنَّ لَوْ تَفْتَحُ عَمَلَ الشَّيْطَانِ » [رواه مسلم برقم 2664]  

          “ผู้ศรัทธาที่เข้มแข็งย่อมดีและเป็นที่รัก ณ อัลลอฮฺ มากกว่าผู้ศรัทธาที่อ่อนแอ แต่ทั้งหมดก็มีความดีงามอยู่ จงมุ่งมั่นในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวท่าน พร้อมกับขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ และอย่าได้รู้สึกอ่อนแอ เมื่อท่านประสบพบเจอปัญหาใด ก็อย่าได้กล่าวว่า หากฉันทำอย่างนั้นก็คงไม่เป็นอย่างนี้ แต่จงกล่าวว่า อัลลอฮฺได้ทรงกำหนดมาแล้ว สิ่งใดที่พระองค์ทรงประสงค์ ก็จะทรงทำ เพราะคำว่า ‘ถ้า’ นั้นจะเป็นการเปิดช่องให้ชัยฏอนทำงาน” 

 (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 2664)

อันนะวะวีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า 

         “ความแข็งแรงในที่นี้ หมายถึง การมีจิตใจที่เข้มแข็งและแน่วแน่ในการปฏิบัติภารกิจเพื่ออาคิเราะฮฺ  โดยผู้ที่มีลักษณะดังกล่าว จะมีความฮึกเหิมและตั้งใจในการออกไปเผชิญหน้ากับข้าศึกศัตรูโดยไม่เกรงกลัวสิ่งใด มีความมุงมั่นในการกำชับใช้ให้ทำความดี และห้ามปรามความชั่วร้าย มีความอดทนต่อบททดสอบต่าง ๆ ไม่ว่าจะยากลำเค็ญสักเพียงใด มีความหมั่นเพียรและตื่นตัวในการดำรงรักษาการละหมาด การถือศีลอด การรำลึกถึงอัลลอฮฺ รวมถึงอิบาดะฮฺอื่น ๆ"

           ส่วนคำพูดของท่านที่ว่า “จงมุ่งมั่นในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวท่าน พร้อมกับขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ และอย่าได้รู้สึกอ่อนแอ” นั้นหมายถึง จงมุ่งมั่นและหนักแน่นในการเคารพเชื่อฟัง อัลลอฮฺ และจงหมั่นขอให้พระองค์ทรงช่วยเหลือ อย่าได้รู้สึกอ่อนแอไร้กำลัง หรือเกียจคร้านในการทำความดี และการขอความช่วยเหลือจากพระองค์”

 (ชัรหฺ เศาะฮีหฺมุสลิม เล่ม 6 หน้า 215)

อัลรอฆิบ อัลอัศฟะฮานียฺ กล่าวว่า 

          “ถ้าลองใคร่ครวญเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนางมัรยัม จะเห็นว่าแม้อัลลอฮฺได้ทรงเตรียมอินทผลัมที่สุกน่ากินให้นางได้ประทังชีวิตอย่างไม่ลำบาก ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่มหัศจรรย์ยิ่ง แต่ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังทรงใช้ให้นางเขย่าต้นอินทผลัม ดังที่พระองค์ได้ตรัสความว่า

“และจงเขย่าต้นอินทผลัมให้มันเอนมาทางตัวเธอ มันจะหล่นลงมาที่ตัวเธอเป็นอินทผลัมที่สุกน่ากิน” 

(มัรยัม: 25)” (อัซซะรีอะฮฺ อิลา มะการิมิชชะรีอะฮฺ หน้า 383)

ยะซีด บิน อัลมุฮัลลับ กล่าวว่า 

         “สำหรับฉันแล้ว มันไม่ใช่เรื่องน่ายินดีอะไร หากฉันจะได้รับความสะดวกสบายทุกอย่างในเรื่องดุนยา เพราะฉันไม่อยากจะเป็นผู้ที่เคยชินกับความอ่อนแอไร้ความสามารถ จนไม่อาจทำอะไรด้วยตัวเองได้” (หนังสือเล่มเดียวกัน)


 ความเกียจคร้านแบ่งได้เป็นสองประเภท ดังนี้ 

        หนึ่ง ความเกียจคร้านของสติปัญญา คือการที่บุคคลหนึ่งไม่ใช้สมองไตร่ตรองใคร่ครวญในความยิ่งใหญ่และความโปรดปรานของอัลลอฮฺ  ดังที่พระองค์ได้ตรัสความว่า

“คือบรรดาผู้ที่รำลึกถึงอัลลอฮฺ ทั้งในสภาพยืน และนั่ง และในสภาพที่นอนตะแคง และพวกเขาพินิจพิจารณาการสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน” 

(อาล อิมรอน: 191)

และตรัสอีกว่า

“จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ว่า พวกท่านจงเดินไปในแผ่นดินเถิด แล้วจงดูว่าจุดจบสุดท้ายของบรรดาผู้ปฏิเสธนั้นเป็นอย่างไร” 

(อัล อันอาม: 11)

       ผลของความเกียจคร้านนี้ ทำให้เขาไม่คิดที่จะทำอะไรให้สังคมเจริญก้าวหน้าไปในทางที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรกรรม การค้าขาย การทำอุตสาหกรรม หรือการพัฒนาในด้านอื่น ๆ ทั้งนี้ ความล้าหลังของประชาชาติใดประชาติหนึ่งนั้น ก็ล้วนสืบเนื่องมาจากความเกียจคร้านของผู้ที่มีสติปัญญา และการไม่ใช้พลังสมองที่อัลลอฮฺทรงประทานให้ในทางที่สร้างสรรค์และเกิดประโยชน์


        สอง ความเกียจคร้านของร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งผลของความเกียจคร้านนี้ ทำให้บางคนบกพร่องในการทำอิบาดะฮฺ ไม่ว่าจะเป็นการไปละหมาดที่มัสยิด การเรียกร้องเชิญชวนไปสู่อัลลอฮฺ การแสวงหาความรู้ศาสนา และการงานอื่น ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ

          ท่านอับดุลลอฮฺ บิน มัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า มีคนเล่าให้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ฟังว่า ชายคนหนึ่งเข้านอนในตอนกลางคืนแล้วไม่ลุกขึ้น (เพื่อละหมาดตะฮัจญุด) จนกระทั่งรุ่งสาง ท่านจึงกล่าวว่า

« ذَاكَ رَجُلٌ بَالَ الشَّيْطَانُ فِي أُذُنَيْهِ » [رواه البخاري برقم 3270 ومسلم برقم 774]  

“ชายคนนี้ชัยฏอนฉี่ใส่หูของเขา” 

(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 3270 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 774)


 วิธีขจัดความเกียจคร้านมีดังนี้ 

     หนึ่ง การขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺผู้ซึ่งเป็นผู้ช่วยเหลือที่ดีที่สุด ดังปรากฏในหะดีษที่กล่าวถึงข้างต้นว่า

« وَاسْتَعِنْ بِاللَّهِ وَلَا تَعْجَزْ »      “จงขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ และอย่าได้รู้สึกอ่อนแอ”


     สอง การขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺให้ห่างไกลจากความเกียจคร้าน ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ได้ขอความคุ้มครองจากพระองค์เช่นกัน


     สาม การอาบน้ำละหมาด การรำลึกถึงอัลลอฮฺ และการละหมาด ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า


« يَعْقِدُ الشَّيْطَانُ عَلَى قَافِيَةِ رَأْسِ أَحَدِكُمْ ثَلَاثَ عُقَدٍ إِذَا نَامَ بِكُلِّ عُقْدَةٍ يَضْرِبُ: عَلَيْكَ لَيْلًا طَوِيلًا، فَإِذَا اسْتَيْقَظَ فَذَكَرَ اللَّهَ انْحَلَّتْ عُقْدَةٌ، وَإِذَا تَوَضَّأَ انْحَلَّتْ عَنْهُ عُقْدَتَانِ، فَإِذَا صَلَّى انْحَلَّتْ الْعُقَدُ فَأَصْبَحَ نَشِيطًا طَيِّبَ النَّفْسِ، وَإِلَّا أَصْبَحَ خَبِيثَ النَّفْسِ كَسْلَانَ » [رواه البخاري برقم 1142 ومسلم برقم 776]  

“ชัยฏอนจะสะกดจุดที่ต้นคอของคนหนึ่งคนใดเมื่อเขานอนหลับ สามจุดด้วยกัน

แต่ละจุดจะมีการย้ำคำกล่าวว่า ‘ท่านยังมีเวลาหลับอีกยาวนาน ฉะนั้นจงหลับต่อไป’ 
 

   ♥ หากเขาตื่นแล้วรำลึกถึงอัลลอฮฺ จุดหนึ่งก็จะถูกคลายไป 
 

       ♥ และหากเขาอาบน้ำละหมาด อีกจุดหนึ่งก็จะถูกคลายไป 
 

           ♥ และเมื่อเขาได้ละหมาด จุดสุดท้ายก็จะถูกคลายไปในที่สุด 
 

และเขาก็จะมีความกระฉับกระเฉง และรู้สึกสบายใจ มิเช่นนั้นแล้ว เขาจะรู้สึกแย่และเกียจคร้าน” 
 

(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 1142 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 776)


     สี่ ควรรำลึกอยู่เสมอว่า อัลลอฮฺทรงส่งเสริมให้พวกเรามีความหมั่นเพียรและรีบเร่งในการทำความดี พระองค์ตรัสว่า 

“และพวกเจ้าจงรีบเร่งกันไปสู่การอภัยโทษจากพระเจ้าของพวกเจ้า

และไปสู่สวรรค์ซึ่งความกว้างของมันนั้น คือบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน โดยที่มันถูกเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ที่ยำเกรง” 

(อาล อิมรอน: 133)

และตรัสถึงคำพูดของท่านนบีมูซา อะลัยฮิสลาม ว่า

 “และข้าพระองค์ได้รีบเร่งมายังพระองค์เท่านั้น โอ้พระเจ้าของข้าพระองค์ ก็เพื่อให้พระองค์ทรงพอพระทัยเท่านั้น” 

(ฏอฮา: 84)

และพระองค์ตรัสแก่ท่านนบียะหฺยาว่า 

“โอ้ ยะหฺยาเอ๋ย เจ้าจงยึดมั่นในคัมภีร์ (เตารอต) อย่างมั่นคง” 

(มัรยัม: 12)


     ห้า จงตระหนักไว้เถิดว่า ความเกียจคร้านนั้นเป็นนิสัยที่น่าตำหนิ และเป็นลักษณะของพวกมุนาฟิกีน


والحمد لله رب العالمين،

وصلى الله وسلم على نبينا محمد، وعلى آله وصحبه أجمعين

 

แปลโดย : อุศนา  พ่วงศิริ / Islamhouse