ทางสายกลางแท้ และ ทางสายกลางเทียม
โดย... อาบีดีณ โยธาสมุทร
ท่ามกลางกระแสสังคมที่ตะหลบอบอวลไปด้วยฝุ่นควันแห่งความหลงผิด ผู้คนสับสนอลหม่าน มองไม่เห็นเส้นทางข้างหน้าที่เท้าทั้งสองของตนกำลังก้าวย่างไป ไม่รู้และไม่มั่นใจว่า สุดท้ายแล้ว ปลายทางที่ตนกำลังมุ่งสู่นั้นจะนำพาตนสู่ความสำเร็จหรือความหายนะกันแน่ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ยังมีจอมมารตัวร้ายที่คอยฉุดกระชากกีดกัน เรียกร้องและลวงหลอกผู้คนที่กำลังจมปลักอยู่ท่ามกลางความสับสนอันน่าเวทนาให้ตกเป็นทาสและกลายเป็นเหยื่อของมันและเป็นผู้ติดตามพวกมันสู่ขุมนรกญะฮันนัมในที่สุด นอกเสียจากบุคคลที่พระผู้ทรงอภิบาลทรงเมตตาเท่านั้น
วิธีหนึ่งที่เหล่าจอมมารเหล่านั้นเลือกใช้ ซึ่งเป็นวิธีที่มีความแยบยลสูงจนเหยื่อที่ถูกหลอกแทบไม่รู้สึกตัวว่าตนกำลังถูกลวงอยู่เลยนั้น ก็ได้แก่การใช้ถ้อยคำสวยหรูที่หากได้ฟังแต่เพียงผิวเผินแล้ว จะรู้สึกว่ามันช่างงดงามและประเสริฐศรียิ่งนัก แต่หารู้ไม่ว่า ภายใต้เปลือกนอกที่ดูสวยสดนี้ ภายในของมันกลับถูกอาบไว้ด้วยพิษร้ายแห่งความหลงผิดที่จะคอยบ่อนทำลายผู้ตกเป็นเหยื่อให้วอดวายสิ้น ดั่งสำลีที่ถูกเพลิงเผา
หนึ่งในตัวอย่างของการลวงหลอกโดยวิธีดังกล่าวนี้ ได้แก่เรื่องราวที่มหาบริสุทธิ์ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเอกะ ได้ทรงเล่าไว้ให้เราทราบ เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างท่านอาดัม อลัยฮิสซะลาม และศัตรูตัวฉกาจ อิบลีซ เมื่อครั้งที่มันล่อลวงท่านอาดัมให้ละเมิดข้อห้ามและลงมือรับประทานจากต้นไม้ต้องห้าม โดยการเรียกขานต้นไม้นั้นว่ามันคือ ต้นไม้แห่งความอมตะและเรืองอำนาจ จนสุดท้ายท่านอาดัม อลัยฮิสซะลาม ก็พลาดพลั้งและหลงในคารมและการลวงหลอกของจอมมาร (ดู อั้ลกุ้รอาน /ตอฮา/116 - 122)
คำว่า “ทางสายกลาง หรือดุลยภาพ” ซึ่งในภาษาอาหรับใช้คำว่า “วะซะฏียะฮฺ” เป็นอีกคำหนึ่งที่ถูกยกขึ้นมาใช้ตามวิธีการ ในการลวงหลอกเพื่อปลุกปั่นกระแส “หลับตาหนึ่งข้างแล้วจับมือกัน” โดยมีความพยายามที่จะเข้ามาครอบงำความคิดของมุสลิมให้รู้สึกเบาความกับการแยกแยะว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด เบาความกับการยืนหยัดอย่างมั่นคงบนความถูกต้อง และเบาความกับการปกปักษ์รักษาและตอบโต้ต่อสิ่งผิดๆและแนวคิดบิดเบือนต่างๆ โดยยกเอาภาพแห่งความสามัคคีและการรวมกลุ่ม การผนึกตนร่วมกัน ขึ้นมาเป็นที่ตั้งและเป็นจุดประสงค์หลักในการดำเนินศาสนา โดยหารู้ไม่ว่า อันที่จริงแล้ว คำว่า “วะซะตอน” ที่ปรากฏในอัลกุรอ่านนั้น สื่อความหมายไปในทางใดกันแน่
อัลลอฮฺ ตรัสความว่า
( وكذلك جعلناكم أمة وسطا ) “และเช่นนั้นที่เราได้ทำให้พวกเจ้าเป็นประชาชาติที่เป็นกึ่งกลาง”
(ซูเราะฮฺ อั้ลบะกอเราะฮฺ/ 143)
มีรายงานจาก ท่านอบีซะอี้ดอั้ลคุดรีย์ กล่าวว่า ท่านร่อซูลุ่ลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ว่า
( وكذلك جعلناكم أمة وسطا ) ท่านกล่าวว่า "ที่มีความยุติธรรม”
(ดู อั้ตตัฟซี้รุบิ้ลมะอฺซู้ร/1/222)
ท่านอิหม่ามอิบนุกะษีร ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ ได้กล่าวว่า คำว่า เป็นกึ่งกลาง ในที่นี้หมายถึง ดีเลิศและบรรเจิดที่สุด เช่นที่เขากล่าวกันว่า
“พวกกุร้อช เป็นพวกที่เป็นกึ่งกลางที่สุดของชาวอรับในแง่ของเชื้อสายและถิ่นที่พำนัก” ซึ่งหมายถึง ดีที่สุดนั่นเอง
“ท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺ เป็นบุคคลที่เป็นกึ่งกลางที่สุดในหมู่ชนของท่าน” หมายถึง มีเกียรติที่สุดในหมู่พวกเขาทางด้านเชื้อสาย
และจากความหมายนี้ก็ยังมีคำว่า “การละหมาดที่เป็นกึ่งกลาง” ซึ่งหมายถึง การละหมาดที่มีความประเสริฐที่สุดอันได้แก่การละหมาดอัสริ
ดังที่ได้มีการยืนยันไว้ในตำราฮะดี้ษศ่อฮี้ฮฺต่างๆ ตลอดจนตำราอื่นๆ ด้วย และเนื่องจากการที่อัลลอฮฺได้ทรงทำให้ประชาชาตินี้มีลักษณะที่เป็นกึ่งกลางนี้เอง พระองค์จึงทรงเจาะจงมอบบทบัญญัติที่มีความสมบูรณ์แบบที่สุด มอบแนวทางที่มีความเที่ยงตรงที่สุดและมอบวิถีทางที่มีความชัดเจนที่สุดไว้ให้แก่พวกเขา ดังที่พระองค์ ผู้ทรงสูงส่งได้ตรัสไว้ว่า
(هو اجتباكم وما جعل عليكم في الدين من حرج ملة أبيكم إبراهيم هو سماكم المسلمين من قبل وفي هذا ليكون الرسول شهيدا عليكم وتكونوا شهداء على الناس)
“พระองค์ทรงเลือกพวกเจ้ามา และพระองค์ไม่ได้ทรงทำให้ในเรื่องศาสนามีความยากลำบากใดๆ ต่อพวกเจ้าเลย
คือ วิถีแห่งบิดาของพวกเจ้า อิบรอฮีม พระองค์ได้ทรงเรียกขานพวกเจ้าว่า มุสลิมีนมาแต่กาลก่อน
และทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะให้ท่านร่อซู้ลได้เป็นประจักษ์พยานต่อพวกเจ้า และเพื่อพวกเจ้าจะได้เป็นพยานต่อปวงประชา”
(อั้ลฮัจญ์/ 78)
ท่านอิหม่าม อับดุ้รเราะฮฺมาน อัซซะอฺดี้ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ ได้กล่าวไว้เกี่ยวกับอายะฮฺที่พูดถึงความเป็นกึ่งกลางที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ว่า
“หมายถึง ที่มีความเที่ยงธรรม และที่มีความดีเลิศและสิ่งที่อยู่นอกเหนือไปจากจุดกึ่งกลางนั้น ถือเป็นส่วนปลาย เป็นส่วนที่เป็นขอบซึ่งตกอยู่ในภาวะอันตราย ดังนั้น อัลลอฮฺจึงทรงทำให้ประชาชาตินี้เป็นกึ่งกลางในทุกๆเรื่องราวของศาสนา เป็นกึ่งกลางในประเด็นที่เกี่ยวของกับบรรดานบี อยู่ระหว่างบุคคลที่มีความเลยเถิดในเรื่องของพวกท่านเช่น พวกนะศอรอ (คริสต์) และระหว่างบุคคลที่ละเลย และหยาบช้ากับพวกท่าน เช่นพวกยะฮู้ด (ยิว) โดยได้ทรงให้พวกเขาศรัทธาต่อพวกท่านทั้งหมด ตามรูปแบบที่มีความเหมาะสมและสมควร ทรงทำให้พวกเขาเป็นกึ่งกลางในเรื่องของบทบัญญัติไม่เป็นเช่นการเข้มงวดกวดขันของพวกยะฮู้ดและบรรดาผู้ที่อยู่ในพันธะของพวกเขา และไม่เป็นเช่นการผ่อนปลนและละเลยของพวกนะศอรอ”
(ตัยซีรุ้ลกะรีมิ้รร่อฮฺมานฯ /70)
จากคำอธิบายข้างต้นของบรรดานักวิชาการที่ได้ทำการอธิบายอายะฮฺดังกล่าวไว้ ทำให้พวกเราพอจะเข้าใจได้ว่า อันที่จริงแล้ว การเป็นทางสายกลาง การมีดุลยภาพ หรือที่เรียกว่าอั้ลวะซะฏียะฮฺนั้น คือ คุณลักษณะเฉพาะของประชาชาตินี้ หาใช่ทฤษฎีใหม่ หรือเส้นทางสายใหม่ในการทำงานศาสนาที่คนบางกลุ่มกำลังพยายามปลุกปั่นกันขึ้นมาให้เป็นกระแสและเป็นทางออกสำหรับปัญหาของสังคมมุสลิมยุคใหม่อย่างที่เขาอ้างกัน
ท่านเชค ซอและฮฺ อิบนุ เฟาซาน ฮะฟิซ่อฮุ้ลลอฮฺ ได้เขียนสาส์นฉบับหนึ่งเพื่อตอบโต้และชี้แจงความผิดเพี้ยนของชุดความคิดในทำนองนี้โดยท่านได้ระบุไว้ในสาส์นฉบับดังกล่าวว่า
“ปัจจุบันนี้ ได้มีการพูดคุยถึงเรื่อง อั้ลวะซะฏียะฮฺ (ทางสายกลาง) กันอย่างมากมาย มีการนำประเด็นดังกล่าวมาจัดประชุม และจัดสัมมนา มีการปราศรัยและการบรรยายกันในหัวข้อประเด็นนี้ และบางคนยังได้เสนอให้มีการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับเรื่องราวในประเด็นนี้ตามโรงเรียนและสถาบันต่างๆ รวมไปถึงในมหาวิทยาลัยต่างๆ อีกด้วย ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่เขาได้ไปพบกับกระแสสองกระแสที่มีความขัดแย้งต่อกัน ซึ่งเข้ามามีอิทธิพลต่อบรรดาเยาวชน อันได้แก่ กระแสของความเข้มงวดที่เลยเถิด และกระแสของความเบาความและไม่เอาไหน"
และดูเหมือนกับว่า กลุ่มบุคคลที่กำลังพยายามออกมารณรงค์ในเรื่องวะซะฏียะฮฺนี้ จะไม่เคยรู้กันมาก่อนเลยว่า วิถีทางที่ถูกต้องของอัลวะซะฏียะฮฺนั้น มีอยู่ในอัลกุรอานและในอัซซุนนะฮฺ และยังมีอยู่ในตำหรับตำราของนักวิชาการชาวซะลัฟและในหนังสือต่างๆ ที่มีการประพันธ์ขึ้นและได้รับการกำหนดให้เป็นหลักสูตรที่ใช้ในการเรียนการสอน ตลอดจนยังมีอยู่ในบทเรียนต่างๆ ที่มีการสอนกันตามมัสยิดอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้สภาพของคนกลุ่มนี้ที่กำลังพากันทำการรณรงค์ให้เผยแพร่หลัก อัลวะซะฏียะฮฺ วั้ลเอี้ยะติด้าล (ทางสายกลางและความเที่ยงธรรม) จึงเป็นดังที่กวีท่านหนึ่งได้ว่าเอาไว้ว่า
كالعيس في البيداء يقتلها الظمأ والماء على ظهورها محمول
"เป็นดั่งอูฐกลางทะเลทรายที่ถูกความกระหายคร่าชีวิตลงจนดับสิ้น ทั้งๆ ที่น้ำนั้น ถูกบรรทุกไว้อยู่บนหลังของมันเอง”
(http://www.alfawzan.af.org.sa/node/13241)
ดังนั้น เมื่อทราบแล้วว่า ทางสายกลางหรือ อั้ลวะซะฏียะฮฺ เป็นคุณลักษณะของประชาชาตินี้และเป็นมาตรฐานของบทบัญญัติและข้อมูลต่างๆ ที่ถูกระบุไว้ในอั้ลกุรอานและซุนนะฮฺ ตลอดจนเป็นวิถีทางของบรรดาบรรพชนและบุคคลชั้นนำอยู่แล้ว การที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่งจะลุกขึ้นมากำหนดความเข้าใจและตีความหมายของคำๆ นี้เสียใหม่และอ้างว่ามันคือ ทางออกของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับสังคมมุสลิมในยุคปัจจุบัน จึงเป็นพฤติกรรมที่คลาดเลื่อนจากความถูกต้องอย่างมาก
ท่านเชค อับดุซซลาม อิบนุ บัรญัซ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ ได้เคยพูดเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ว่า
“...ต้องระวังนะครับ ท่านพี่น้องต้องระวังเอาไว้ให้มาก ให้พ้นจากแนวทางอันเลวทราม ให้พ้นจากแนวทางอันเสื่อมเสียแนวทางนี้ ที่ศีรษะของมันกำลังเริ่มโผล่ขึ้นมาหาพวกเราแล้ว ซึ่งนั่นก็คือ แนวทาง อั้ลวะซะฏียะฮฺ (ทางสายกลาง) ที่มีการอ้างกันขึ้นมาโดยไร้ความชอบธรรม เพราะขณะนี้กำลังมีบุคคลที่บอกว่า ผมจะไปหาอะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺหรือจะไปหาพวกที่อยู่ในแนวทางซะลัฟ แล้วผมก็จะเข้าไปคว้าเอาสิ่งที่เป็นความรู้ที่พวกเขามีอยู่ไว้ และผมก็จะไปหาพวกบิดอะฮฺหรือพวกอื่นที่ไม่ได้อยู่ในแนวทางของซะลัฟ แล้วผมก็จะเข้าไปหยิบฉวยเอาสิ่งที่เป็นความรู้ที่พวกเขามีอยู่มา คนประเภทนี้นั้นท่านอิหม่ามท่านหนึ่งจากบรรดาบุคคลชั้นนำของมุสลิมได้เคยถูกไถ่ถามถึงเขามาแล้ว แล้วท่านก็ได้ให้คำตอบที่ครอบคลุมและตรงประเด็นเอาไว้ "
♥ ท่านอิหม่ามอัลเอาซาอีย์ (เสียชีวิตเมื่อ ฮ.ศ.157) เราะฮฺมะตุ้ลลอฮิอลัยฮฺ ได้เคยถูกไตร่ถามถึงคนๆ หนึ่งที่บอกว่า “ผมจะนั่งร่วมกับอะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺและก็จะนั่งร่วมกับพวกบิดอะฮฺ”
♥ ท่านอัลเอาซาอีย์จึงพูดขึ้นว่า “คนๆ นี้ ต้องการที่จะสร้างความเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้น ระหว่างความจริงและความเท็จ”
♥ ท่านอิบนุบัฏเฏาะฮฺ ได้กล่าวไว้ใน อัลอิบานะฮฺ-ในการวิจารญ์คำพูดนี้ของท่าน อัลเอาซาอีย์- ว่า "อัลเอาซาอีย์พูดได้ถูกต้องแล้ว ผมขอเรียนว่า บุคคลคนดังกล่าวนี้ แยกแยะความจริงกับความเท็จไม่ออก และแยกแยะการปฏิเสธกับการศรัทธาไม่ออก”
อัลลอฮฺ ได้ตรัสเกี่ยวกับลักษณะประการหนึ่งของพวกมุนาฟิกไว้ว่า
( مذبذبين بين ذلك لا إلى هؤلاء ولا إلى هؤلاء ومن يضلل الله فلن تجد له سبيلا )
“พวกเขาอยู่ในสภาวะลังเลในระหว่างเรื่องราวดังกล่าว โดยมิได้ไปทางพวกนั้นและมิได้ไปทางพวกนี้
และใครก็ตามที่อัลลอฮฺทรงให้เขาหลงทาง ดังนั้น เจ้าก็จะไม่พบหนทางใดๆ สำหรับเขาอีกแล้ว”
(อันนิสาอฺ/143)
ท่านร่อซู้ล ได้กล่าวไว้ในฮะดีษที่รายงานโดยท่านอิบนุ อุมัร ร่อดิยัลลอฮุอันฮุ ความว่า
“อุปมาบุคคลผู้เป็นมุนาฟิกนั้น อุปไมยดังแกะที่สับสนตัวหนึ่ง ที่อยู่ระหว่างแกะสองตัว โดยมันจะเข้าไปหาตัวนั้นทีและเข้าไปหาตัวนี้ที”
ในอีกกระแสรายงานหนึ่งได้ใช้ถ้อยคำดังความหมายที่ว่า “มันจะเข้าไปคลุกคลีกับตัวนั้นทีและคลุกคลีกับตัวนี้ที”
(ดู ศ่อฮี้ฮุมุสลิม เลขที่ 2784,อั้ซซุนนะฮฺ)
และในการบันทึกของนักวิชาการท่านอื่นๆ นอกเหนือจากท่านมุสลิมได้มีการระบุข้อความเพิ่มเติมไว้ความว่า “มันเองก็ไม่รู้ว่าจะไปตามตัวไหนดี”
(ดู มุซนัด อะฮฺหมัด เลขที่ 6298)
ดังนั้น ทางสายกลางที่เที่ยงแท้จึงไม่ใช่ทฤษฎี หรือความเข้าใจ ตลอดจนวิธีการใหม่ที่ใครบางคนพยายามผลักดันและอ้างว่ามันคือทางรอดของประชาชาติอิสลาม หากแต่ทางสายกลางที่แท้จริงนั้น เป็นลักษณะเฉพาะของประชาชาติอิสลาม ซึ่งอิสลามก็คือ ซุนนะฮฺ และซุนนะฮฺก็คืออิสลาม หนึ่งในสองประการนี้ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ถ้าขาดอีกประการหนึ่งไป (อั้ลบั้รบะฮารี/เลขที่1) จึงสามารถสรุปได้ว่า ทางสายกลางก็คือ การดำรงมั่นอยู่ในแนวทางของท่านนบี อันเที่ยงตรงนั่นเอง
สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮ์ ทรงปิดผนึกชีวิตของเราและท่านด้วยความดีด้วยเถิด- ขอเรียนให้ทุกท่านทราบโดยทั่วกันว่า การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชาติอิสลาม ตลอดจนการพัฒนาสถานะของประชากรมุสลิมให้มีคุณภาพและมีฐานะที่สูงส่งขึ้นนั้น ไม่สามารถมีขึ้นได้โดยอาศัยทฤษฎีและวิธีการอื่นใดทั้งสิ้น นอกจากวิธีที่ทำให้บรรพชนยุคแรกได้เคยมีเกียรติและมีคุณภาพกันมาก่อนแล้วเท่านั้น ซึ่งก็ได้แก่การหันกลับมาสู่วิถีทางแห่งอิสลามที่แท้จริง กลับมาสู่กิตาบุ้ลลอฮฺ สู่ซุนนะฮฺของร่อซูลิลลาฮฺ ตามข้อมูลและความเข้าใจที่บรรดาสะลัฟแห่งอุมมะฮฺได้ถ่ายทอดกันเอาไว้เท่านั้น (คำพูดของท่านอิหม่ามมาลิก ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ (เสียชีวิตเมื่อ ฮ.ศ.179) ดู อั้รร้อดดุอะลั้ลอั้คนาอีย์ หน้าที่138)
ท่านเชค อับดุลอะซี้ซ อิบนุ อับดิ้ลลาฮฺ อิบนุ บ้าซ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ว่า
“ใครก็ตามที่ประสงค์จะทำการพัฒนาสังคมอิสลาม หรือสังคมอื่นใดในดุนยานี้ ด้วยวิถีทางและช่องทางหรือด้วยตัวแปรอื่นที่ไม่ใช่สิ่งที่บรรดาบรรพชนยุคแรกได้รุ่งเรืองกันมาได้เนื่องด้วยสิ่งนั้นแล้ว ก็เท่ากับว่าเขาทำผิด และพูดไม่ถูกต้อง เพราะไม่มีทางสายอื่นใดอีกแล้วที่จะเป็นวีถีทางสำหรับการนี้ได้ นอกจากเส้นทางสายนี้เท่านั้น
วิถีทางที่จะนำพาไปสู่การพัฒนาผู้คน และนำพาให้พวกเขามีความมั่นคงบนแนวทางที่เที่ยงตรงนั้น ก็คือ วิถีทางที่ท่านนบี ของพวกเราได้ดำเนินไว้ และเป็นวิถีที่บรรดาศ่อฮาบะฮฺผู้มีเกียรติของท่าน ตลอดจนบรรดาบุคคลผู้ที่ดำเนินรอยตามพวกท่านเหล่านั้นอย่างดี จนกระทั่งถึงยุคของพวกเรานี้ได้ดำเนินไว้ ซึ่งได้แก่การใส่ใจต่ออัลกุรอานอันทรงเกียรติ ใส่ใจต่อซุนนะฮฺของท่านร่อซูลุลลอฮฺ และเชิญชวนผู้คนสู่ทั้งสองสิ่งนี้ พยายามทำความเข้าใจในอัลกุรอานและซุนนะฮฺ และแผยแผ่ส่งต่อข้อมูลดังกล่าวสู่ผู้คน ด้วยความรู้และด้วยความชัดเจน ตลอดจนพยายามชี้แจงให้ทราบถึงสิ่งที่รากฐานทั้งสองนี้ได้บ่งชี้ไว้ ซึ่งได้แก่ หลักเกณฑ์แห่งหลักเชื่อมั่นขั้นพื้นฐานอันถูกต้องต่างๆ นั่นเอง”
(http://www.binbaz.org.sa/mat/8160)
ขออัลลอฮ์ ทรงตอบรับจากเราและจากท่านและโปรดทรงอภัยโทษและเมตตาเราและท่านทั้งหมดด้วยเถิด อามีนญารอบบัลอาลามีน