การแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย
  จำนวนคนเข้าชม  19550

 

การแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย

 

แปลและเรียบเรียง  อันวา  สะอุ

 

การแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายสามารถกระทำได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
 

 

         1. การทำงานอย่างขันแข็งเพื่อให้หลักคำสอนของอิสลามเข้าถึงไปยังทุกคนพร้อมกับนำคำสอนอิสลามมาปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยการนำเสนอคำสอนอิสลามอย่างง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมืองการปกครอง การทหาร เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งอื่นๆ เผยแพร่ไปยังทุกคนพร้อมกับส่งเสริมให้ทุกคนนำคำสอนอิสลามมาประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ เนื่องจากอิสลามเป็นหลักประกันว่าสังคมจะได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง และขจัดความชั่วร้ายในทุกรูปแบบ ผู้ที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบงานนี้อย่างหนัก คือ บรรดาปราชญ์ นักวิชาการ และนักสื่อสารมวลชนในโลกมุสลิมทุกคน ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวต้องกระทำเพื่อเป็นการภักดีและเพื่อแสวงหาความพอพระทัยจากอัลลอฮฺ


          2. การให้ความรู้ศาสนาที่ถูกต้องบนบรรทัดฐานของคัมภีร์อัลกุรอาน จริยวัตรของท่านนบี ตามความเข้าใจของชาวสะลัฟ (บรรพชนยุคแรกของอิสลาม) เมื่อเรายอมรับว่าการเดินตามแนวทางสายกลางคือหนทางแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายในทุกรูปแบบทั้งที่เราทราบและรูปแบบที่เราไม่ล่วงรู้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องหาหนทางสายกลางว่ามันเป็นเช่นใด หนทางสายกลางที่แท้จริง ที่รับประกันว่าเป็นหนทางที่มันคงและยั่งยืนนั่นคือ การยึดมั่นกับหลักคำสอนของอัลกุรอานและอัสสุนนะฮฺอย่างครบถ้วนสมบูรณ์บนบรรทัดฐานความเข้าใจของชาว สะลัฟ (บรรพชนรุ่นแรกของอิสลาม) เนื่องจากพวกเขามีชีวิตทันกับสมัยที่อัลกุรอานถูกประทานลงมา และพวกเขาคือ ผู้ที่เข้าใจเจตนารมณ์ของบทบัญญัติของอัลลอฮฺและคำสอนของศาสนทูตของพระองค์เป็นอย่างดีมากกว่าบุคคลอื่นๆ อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

“และแท้จริงนี้คือทางของข้าอันเที่ยงตรงพวกเจ้าจงปฏิบัติตามมันเถิด และอย่าปฏิบัติตามหลาย ๆ ทาง

เพราะมันจะทำให้พวกเจ้าแยกออกไปจากทางของพระองค์” 

(อัล-อันอาม :153)

        เส้นทางที่ทอดยาวให้มวลมนุษย์ตัดสินใจเดินนั้นมีสองสายด้วยกัน คือ หนทางอันเที่ยงตรง กับหนทางที่หลงผิดและหายนะ อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสในสูเราะฮฺ อัน-นิสาอ์ อายะฮฺ ที่ 115

“และผู้ใดที่ฝ่าฝืนศาสนทูตของอัลลอฮฺ หลังจากที่คำแนะนำอันถูกต้องได้ประจักษ์แก่เขาแล้ว และเขายังปฏิบัติตามที่มิใช่ทางของบรรดาผู้ศรัทธานั้น

เราก็จะให้เขาหันไปตามที่เขาได้หันไป และเราจะให้เขาเข้านรกญะฮันนัม และมันเป็นที่กลับอันชั่วร้าย” 

(อัน-นิสาอ์ : 115)

         การปลูกฝังหลักคำสอนดั้งเดิมอิสลามที่ถูกต้องนั้น จำเป็นต้องดำเนินการโดยผ่านกระบวนการปรับหลักสูตรการศึกษา เช่นเดียวกับการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ จำเป็นต้องดำเนินการอย่างจริงจังและเข็มข้น และควรดำเนินการโดยบรรดานักปราชญ์ นักวิชาการ นักเผยแพร่ และบุคคลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจำเป็นต้องดึงพวกเขาเหล่านั้นให้มาอาสาดำเนินการ โดยหวังผลตอบแทนจากอัลลอฮฺ เมื่อนั้นสังคมของเราทุกย้อมหญ้าจะมีแต่ความผาสุก สงบและสันติ


          3. ความชัดเจนและโปร่งใสในการแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย โดยดำเนินการผ่านสื่อประชาสัมพันธ์และกระบวนการเชิญชวนเผยแพร่ ไม่เปิดโอกาสสำหรับการใช้สำนวนที่คลุมเครือ มีความหมายไม่ชัดเจนในการต่อสู้กับโรคร้ายที่รุกคืบเข้ามาในสังคมมุสลิม เราจะยืนหยัดอย่างเด็ดขาดโดยตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อพระพักตร์ อัลลอฮฺ หรือว่าเราจะปล่อยปละละเลยปัญหาดังกล่าว จนทำให้เกิดสิ่งที่เราไม่พึ่งประสงค์ ซึ่งในที่สุดเราทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อการปล่อยปละละเลยต่อพระพักตร์ อัลลอฮฺ

 

"และจงรำลึกถึงขณะที่อัลลอฮฺทรงเอาคำมั่นสัญญา จากบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์ว่า

แน่นอนยิ่งพวกเจ้าจะต้องแจกแจงคัมภีร์นั้นให้แจ่มแจ้งแก่ประชาชนทั้งหลาย และพวกเจ้าจะต้องไม่ปิดบังมัน

แล้วพวกเขาก็เหวี่ยงมันไว้เบื้องหลังของพวกเขา และได้แลกเปลี่ยนมันกับราคาอันเล็กน้อย ช่างเลวแท้ๆ สิ่งที่พวกเขาแลกเปลี่ยนมา" 

(อาล อิมรอน :187 )


         4. ดำเนินการบัญญัติศัพท์ทางศาสนาด้วยกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการฉกฉวยโอกาสจากบุคคลที่ประสงค์ร้ายนำไปใช้ในทางที่ผิดและสร้างความเสียหาย เช่น นิยามของคำว่า อัล-ญิฮาด (การต่อสู้) ดารฺ อัล-หัรบฺ (รัฐที่เป็นคู่สงคราม) ดารฺ อัลอิสลาม (รัฐอิสลาม) วะลีย์ อัล-อัมรฺ (ผู้ปกครอง) หน้าที่ของผู้ปกครอง การทำสนธิสัญญา การละเมิดสนธิสัญญา ข้อกำหนดเกี่ยวกับการก่อกบฏ และศัพท์อื่นๆ ที่แพร่หลายและเป็นคำที่อ่อนไหว และมีผลกระทบอย่างกว้างขวางในสังคมมุสลิมปัจจุบันเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งทีเราต้องกำหนดคำนิยามศัพท์ทางศาสนาเหล่านั้นให้ชัดเจน

          ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอเรียกร้องสภาศาสนาบัญญัติจัดการประชุมวาระพิเศษ โดยให้นักปราชญ์และนักวิชาการมุสลิมมาถกและเสนอข้อคิดเห็นในการกำหนดศัพท์ทางศาสนาเหล่านั้นให้ชัดเจนเพื่อป้องกันการฉกฉวยโอกาสจากบุคคลที่ประสงค์ร้ายนำไปใช้ในทางที่ผิด

        และก่อนที่จะจบการกล่าวปาฐกถานี้ ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภัยการก่อการร้ายในสังคม นั้นคือ บาปและอบายมุขที่เกิดขึ้นและแพร่หลายในสังคม อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสในสูเราะฮฺ อัร-รูม อายะฮฺที่ 41

“การบ่อนทำลาย ได้เกิดขึ้นทั้งทางบกและทางน้ำ เนื่องจากสิ่งที่มือของมนุษย์ได้ขวนขวายไว้

เพื่อที่พระองค์จะให้พวกเขาลิ้มรสบางส่วนที่พวกเขาประกอบไว้ โดยที่หวังจะให้พวกเขากลับเนื้อกลับตัว”

และพระองค์ตรัสว่า

“และเคราะห์กรรมอันใดที่ประสบแก่พวกเจ้า ก็เนื่องด้วยน้ำมือของพวกเจ้าได้ขวนขวายได้ และพระองค์ทรงอภัย (ความผิดให้) มากต่อมากแล้ว” 

(อัช-ชูรอ :30)

       ส่วนวิธีแก้ไขของปัญหานี้คือ การเตาบะฮฺ (กลับตัวสู่อัลลอฮฺ) เนื่องจากอัลลอฮฺจะไม่ทรงทดสอบหรือลงโทษผู้ใด นอกจากเขาผู้นั้นมีประพฤติผิดกับพระองค์ และพระองค์จะไม่ทรงปลดเปลื้องบททดสอบนั้น ยกเว้นด้วยการเตาบะฮฺของบ่าวผู้นั้น

         ข้าพเจ้าขอวิงวอนต่ออัลลอฮฺเพื่อให้พระองค์ประทานทางนำแก่ทุกคนสู่การกลับตัวที่แท้จริง ขอพระองค์ทรงปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของมวลมุสลิมทุกคน และขอพระองค์ทรงปกป้องมวลมุสลิมจากความชั่วร้ายและบททดสอบต่างๆ แท้จริงพระองค์ทรงเป็นผู้ควบคุมและพระองค์ทรงเดชานุภาพในการจัดการในเรื่องดังกล่าว


บทสรุป

     1. คำว่า การก่อการร้าย เป็นศัพท์ที่บัญญัติขึ้นเพื่อทำสงความทั้งด้านสื่อและความมั่นคงจากบางประเทศ แต่มิได้กำหนดคำจำกัดความอย่างชัดเจนจวบจนปัจจุบัน


     2. คำว่า การก่อการร้าย เชิงภาษาหมายถึง พฤติการณ์รุนแรงซึ่งมีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความกลัวและหวาดผวา


     3. คำว่า การก่อร้าย ไม่ปรากฏในหลักฐานทางศาสนาแต่มีบางคำที่รากศัพท์คล้ายกัน


     4. คำว่า การก่อร้าย ยังไม่มีคำนิยามในทางศาสนา เนื่องจากเป็นคำที่ไม่มีหลักฐานทางศาสนา


     5. คำว่า การก่อร้าย เกิดขึ้นครั้งแรกระหว่างปี ค.ศ. 1789 - 1799 ในหมู่ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเรียกยุคนั้นว่าเป็น ยุคแห่งการก่อการร้าย


     6. อิสลามกับก่อการร้ายไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ซึ่งสามารถยืนยันได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หลักฐานทางศาสนาและหลักฐานทางปัญญา


     7. ในประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่าอิสลามได้มีมาตรการการป้องการและปราบปรามปัญหาดังกล่าวมานานแล้ว


     8. มีความพยายามกำหนดคำนิยามของคำว่าการก่อร้ายอย่างมากมาย แต่คำนิยามที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์ คือ คำนิยามที่กำหนดโดยสภานิติศาสตร์อิสลาม ภายใต้องค์กรสันนิบาตรโลกมุสลิม เมื่อครั้งการประชุมสามัญครั้งที่ 16 ปี ฮ.ศ. 1422 ณ เมืองมักกะฮฺ ซึ่งได้มีมติกำหนดคำนิยามก่อการร้าย คือ 

         “การก่อเหตุร้ายที่กระทำโดยบุคคล กลุ่มองค์กร หรือรัฐ ต่อมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นด้านศาสนา สติปัญญา ทรัพย์สิน หรือเกียรติยศ รวมถึงการก่อให้เกิดความกลัว การข่มขู่ หรือการคร่าชีวิตโดยไม่ชอบธรรม และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความหวาดกลัวบนท้องถนน การปล้นสะดม และทุกการกระทำที่รุนแรง หรือการข่มขู่ที่กระทำโดยตัวบุคคลหรือกลุ่มองค์กร เพื่อให้ผู้คนทั่วไปเกิดความหวาดกลัว สร้างความลำบากในการดำเนินชีวิต ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แลทำให้สถานการณ์อยู่ในภาวะอันตราย เช่นเดียวกับการทำลายสิ่งแวดล้อม หรือระบบสาธารณูปโภคของส่วนบุคคล หรือส่วนรวม หรือทำอันตรายต่อทรัพยากรธรรมชาติของชาติ ทั้งหมดเป็นรูปแบบของการบ่อนทำลายบนหน้าแผ่นดินที่อัลลอฮฺได้ห้ามมวลมุสลิมกระทำการเช่นนั้น”


     9. การขัดขว้างสัญลักษณ์ทางศาสนา โดยอ้างเหตุผลเพื่อทำสงครามกับการก่อการร้ายนั้น ถือว่าเป็นการก่อการร้ายทางความคิดนั้นเอง และเป็นเหตุให้ภัยก่อการร้ายยิ่งเจริญเติบโตและแพร่ขยายในทุกรูปแบบมากขึ้น


     10. มูลเหตุที่ทำให้เกิดการก่อการร้ายมีมากมาย ส่วนหนึ่งก็คือ การไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติหรือกฎหมายของอัลลอฮฺบนหน้าแผ่นดิน ความสุดโต่งและความเกินเลยขอบเขตของศาสนา การมีทัศนคติที่ผิด และอุปสรรคที่ขัดขว้างการเผยแพร่สัจธรรม


     11. การแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายสามารถกระทำได้หลายวิธี ส่วนหนึ่งคือ การนำบทบัญญัติหรือกฎหมายทางศาสนามาปฏิบัติ การปลูกฝังความรู้ทางศาสนาที่แท้จริง ความชัดเจนและโปร่งใสในการป้องกันและแก้ปัญหานี้ และการกำหนดคำนิยามของศัพท์ทางศาสนาที่ชัดเจน


     12. เรียกร้องให้มีการจัดเวทีสัมมนาระดมความคิดที่ประกอบด้วยบรรดานักปราชญ์ และนักวิชาการอิสลาม มาร่วมถกประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดศัพท์เฉพาะทางศาสนาที่มีความสำคัญในยุคปัจจุบัน ตลอดจนถึงการกำหนดกฎเกณฑ์ตามกรอบของศาสนาอย่างชัดเจน


     13. ส่วนหนึ่งจากสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดการก่อการร้ายในรูปแบบที่หลากหลาย นั่นคือ การกระทำบาป การประพฤติชั่ว และความเสื่อมเสียที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในสังคม แต่ทว่าไม่มีผู้ใดที่อาสาจะลุกขึ้นมาคัดค้านหรือต่อต้านปรากฏการณ์เหล่านั้น ดังนั้นวิธีแก้ไขที่สำคัญที่สุดของปัญหานี้คือ การเตาบะฮฺ (กลับตัวสู่อัลลอฮฺ)


          ท้ายนี้ข้าพเจ้าขอวิงวอนต่ออัลลอฮฺให้พระองค์ประทานประโยชน์ให้กับความอุตสาหะของผู้เขียน และผู้อ่าน ขอให้พระองค์ได้ทรงปกป้องประชาชาติอิสลามจากไฟแห่งฟิตนะฮฺ (บททดสอบ) ที่เกิดขึ้นทุกย้อมหญ้า ตลอดจนขอให้พระองค์ให้เราได้มองสิ่งที่เป็นสัจธรรมเป็นสัจธรรมอย่างแท้จริง และให้เราได้ทำตามสัจธรรมนั้นด้วย และให้เราได้มองเห็นความเท็จว่าเป็นความเท็จอย่างแท้จริง และให้เราได้หลีกห่างจากความเท็จอันนั้น แท้จริงพระองค์คือผู้ทรงดูแลและทรงเดชานุภาพในการนั้น



وصلى الله وسلم وبارك على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين