คิดอย่างมด
ดร. ซามีย์ ตัยซีรฺ ซัลมาน
อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสในสูเราะฮฺอันนัมลฺ ว่า
( وَحُشِرَ لِسُلَيۡمَٰنَ جُنُودُهُۥ مِنَ ٱلۡجِنِّ وَٱلۡإِنسِ وَٱلطَّيۡرِ فَهُمۡ يُوزَعُونَ ١٧ حَتَّىٰٓ إِذَآ أَتَوۡاْ عَلَىٰ وَادِ ٱلنَّمۡلِ قَالَتۡ نَمۡلَةٞ يَٰٓأَيُّهَا ٱلنَّمۡلُ ٱدۡخُلُواْ مَسَٰكِنَكُمۡ لَا يَحۡطِمَنَّكُمۡ سُلَيۡمَٰنُ وَجُنُودُهُۥ وَهُمۡ لَا يَشۡعُرُونَ ١٨ فَتَبَسَّمَ ضَاحِكٗا..( [النمل : ١٧-١٩]
“และไพร่พลของสุลัยมานที่เป็นญิน มนุษย์ และนก ได้ถูกนำมาชุมนุมต่อหน้าเขา และพวกเขาถูกจัดให้เป็นระเบียบ จนกระทั่งพวกเขาได้มาถึงทุ่งที่มีมดมาก มดตัวหนึ่งได้พูดว่า โอ้พวกมดเอ๋ย พวกเจ้าจงเข้าไปในรังของพวกเจ้าเถิด เพื่อว่าสุลัยมานและไพร่พลของเขาจะได้ไม่บดขยี้พวกเจ้า โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว เขา (สุลัยมาน) ยิ้มแกมหัวเราะต่อคำพูดของมัน..”
(อันนัมลฺ: 17-19)
จากเหตุการณ์ข้างต้น มีข้อคิดสำคัญหลายประการที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตการทำงานและการอยู่ร่วมกันในสังคมได้ดังนี้
1. การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
จะเห็นว่ามดตัวดังกล่าวป่าวประกาศให้สมาชิกมดทั้งหมดรับรู้ถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมและคนหมู่มาก โดยมิได้จำกัดเฉพาะผู้ที่อยู่รอบข้างหรือญาติพี่น้องที่ใกล้ชิดของตนทั้งนี้ เป็นไปได้ว่ามดตัวนี้อาจจะเคยมีความขัดแย้งกับสมาชิกบางตัวในกลุ่มอยู่บ้างไม่มากก็น้อย แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นเหตุผลให้มันเลือกประกาศเตือนเฉพาะญาติสนิทมิตรสหายที่ชอบพอกันเท่านั้น แต่มันเตือนสมาชิกทั้งหมดโดยไม่คิดเลือกที่รักมักที่ชัง ดังจะเห็นได้จากการที่มันประกาศว่า
( يَٰٓأَيُّهَا ٱلنَّمۡلُ ) “โอ้พวกมดเอ๋ย”
2. การมีความเชื่อมั่นในตนเอง
มดตัวนี้ไม่คิดดูถูกตัวเอง มันไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นเพียงมดตัวน้อย ๆ จะอาจหาญไปยืนป่าวประกาศแจ้งข่าวสำคัญแก่สาธารณชนได้อย่างไรกัน แต่มันกลับยืนผงาดขึ้นเพื่อปฏิบัติภารกิจสำคัญในการป่าวประกาศเรียกสมาชิกมด ด้วยความตระหนักว่าตนมีหน้าที่ความรับผิดที่จำเป็นต้องดำเนินการให้ลุล่วง มันจึงทำหน้าที่นี้อย่างไม่เกรงกลัวหรือกังวลใจ
3. มีความรับผิดชอบ
การแสดงออกดังกล่าวบ่งบอกถึงการมีความรับผิดชอบอย่างสูงของมด ดังจะเห็นว่ามดตัวนี้ไม่ได้เป็นผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่สำคัญ และอาจเป็นเพียงมดตัวน้อย ๆ ที่อยู่ในระดับฐานพีระมิดของโครงสร้างทางสังคมในอาณาจักรมดเสียด้วยซ้ำ แต่ถึงกระนั้น มดตัวน้อยก็ได้ทำหน้าที่อย่างเด็ดเดี่ยวประหนึ่งว่ามันเป็นผู้มีอำนาจและความรับผิดชอบสูงสุดในอาณาจักร
4. ความคิดริเริ่ม
เราจะเห็นว่ามดตัวนี้กระโจนเข้าทำหน้าที่อย่างทันท่วงที โดยไม่ชักช้ารอผู้อื่น หรือประวิงเวลารอให้มีคำสั่งอนุญาต ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนั้นคับขันและน่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง หากรีรอชักช้าไปจะไม่ทันการ
5. ลงมือปฏิบัติ
ถ้าหากว่าการมีความคิดริเริ่มคือการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวไปสู่การสานต่อความคิดหรือปฏิบัติภารกิจใดภารกิจหนึ่งแล้วไซร้ การลงมือทำก็เป็นขั้นตอนที่จะทำให้ภารกิจนั้นสำเร็จลุล่วงอย่างเสร็จสมบูรณ์ไปได้นั่นเอง ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ (ความคิดริเริ่มและการลงมือปฏิบัติ) ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จ และนี่ก็คือสิ่งที่มดตัวน้อยทำ มันมีความคิดริเริ่ม แล้วมันก็ลงมือทำเพื่อให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
6. เสนอแนะทางออก
แม้ว่าเหตุการณ์ที่กำลังเผชิญจะเป็นสถานการณ์เฉพาะหน้าซึ่งเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครคาดคิดและไม่ทันตั้งตัว แต่เจ้ามดตัวนี้ก็ไม่ได้เอาแต่ร้องโหวกเหวกโวยวาย กลับเลือกที่จะประกาศเตือนพวกพ้องอย่างมีสติ แม้ว่าสถานการณ์จะวิกฤตเพียงใดก็ตาม พร้อมกันนี้ยังเสนอแนะทางออกที่เหมาะสม ซึ่งบ่งบอกถึงการมีสติปัญญาอันหลักแหลมและมีความเข้าใจ โดยแนวทางการแก้ปัญหาที่มดตัวนี้เสนอแนะอย่างไม่ลังเลคือ
( ٱدۡخُلُواْ مَسَٰكِنَكُمۡ ) “พวกเจ้าจงเข้าไปในรังของพวกเจ้าเถิด”
7. มองการณ์ไกล
มดตัวนี้เป็นผู้ที่มองการณ์ไกลและสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ตลอดจนความเป็นไปที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างเฉียบคม เห็นได้จากการที่มันกล่าวว่า
( لَا يَحۡطِمَنَّكُمۡ سُلَيۡمَٰنُ وَجُنُودُهُۥ ) “เพื่อว่าสุลัยมานและไพร่พลของเขาจะได้ไม่บดขยี้พวกเจ้า”
ซึ่งการที่พวกเจ้ายังยืนอยู่กับที่ไม่รีบหนีไปนั้น ย่อมหมายความว่าหายนะและความพินาศกำลังมาเยือนพวกเจ้าในไม่ช้า
8. การมีความตื่นตัว
ทั้งนี้ การละเลยบกพร่องของสมาชิกคนหนึ่งคนใดในสังคมแม้แต่เพียงชั่วขณะ อาจนำมาซึ่งความสูญเสียและหายนะอันใหญ่หลวงแก่สมาชิกทั้งหมดได้ ในขณะเดียวกันการตื่นตัวและเอาใจใส่ของสมาชิก ก็อาจมีส่วนปกป้องสังคมให้รอดพ้นจากภยันตรายต่าง ๆ ได้เช่นกันดังนั้น สมาชิกทุกคนจึงต้องทำหน้าที่ของตนที่ได้รับมอบหมายอด้วยความตื่นตัวและตระหนักในความสำคัญของหน้าที่อยู่เสมอ
9. มองโลกในแง่ดี
ในเหตุการณ์นี้มดได้มอบบทเรียนสำคัญแก่บรรดาผู้ที่ชื่นชอบการกล่าวหาและมองผู้อื่นในแง่ร้าย ตลอดจนผู้ที่ถนัดเรื่องการล้วงลึกส่องเจตนาของผู้อื่น ผ่านคำพูดของมันที่ว่า
( وَهُمۡ لَا يَشۡعُرُونَ ) “โดยที่พวกเขา(กองทัพของสุลัยมาน)นั้นไม่รู้ตัว”
เป็นการตบท้ายเพื่อขยายความคำพูดก่อนหน้านี้ ที่อาจส่อให้เข้าใจผิดได้ว่าท่านนบีสุลัยมานเป็นผู้ที่อธรรมและรังแกผู้อื่น
10. การยิ้ม
การที่ผู้แข็งแกร่งกว่ายิ้มให้ผู้ที่อ่อนแอ ผู้ยิ่งใหญ่ยิ้มให้ผู้ต่ำต้อย หรือผู้นำยิ้มให้ผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครองในสถานการณ์คับขัน และยามที่เกิดวิกฤตนั้น ช่างเป็นสิ่งที่งดงามอย่างยิ่ง
ด้วยเหตุนี้ รอยยิ้มที่ท่านนบีสุลัยมานมีให้แก่มดตัวนั้นจึงเป็นรอยยิ้มที่แฝงไปด้วยความเมตตาเอ็นดู และเป็นรอยยิ้มที่สื่อถึงความประทับใจต่อปฏิกิริยาและการแสดงออกของมดตัวน้อย ซึ่งมีผลทำให้สถานการณ์ผ่อนคลายลง นำมาซึ่งความสงบและความปลอดภัยของพวกพ้องนั่นเอง
(ที่มา: http://www.drsamisalman.com/content/viewtype/271)
แปลโดย : อัสรัน นิยมเดชา / Islamhouse