นิยาม การก่อการร้าย 2
  จำนวนคนเข้าชม  19675

 

นิยาม การก่อการร้าย 2

 

โดย ชัยคฺอับดุลอะซีซ บิน อับดุลลอฮฺ บิน มุหัมหมัด อาลิชัยคฺ
 

มุฟตีย์ (ผู้ชี้ขาดปัญหาศาสนา) สูงสุดแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย


 

          ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ชัดเจน เราไม่สามารถที่จะมากำหนดคำนิยามสำหรับคำศัพท์ที่ไม่มีที่มาแต่เดิมในศาสนา ดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะกำหนดข้อตัดสิน (หุก่ม) ตลอดจนบทลงโทษโดยพลการได้ แต่กระนั้นก็ตามข้อเท็จจริงความหมายทางภาษาของศัพท์นี้ (อัล-อิรฮาบ) ชัดเจนมาก นั้นคือ คือการสร้างความหวาดกลัว หรือความตื่นตระหนก ส่วนทีเหลือคือนิยามตามจารีต ซึ่งเราสามารถเสนอสำหรับบางคำนิยามเท่านั้น

 

        1. พจนานุกรมการเมืองระบุว่า การก่อการร้าย หมายถึง การใช้ความรุนแรงนอกกฎหมาย หรือขมขู่คุกคามด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การลอบสังหาร การทรมาน การทำลายเพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองบางอย่าง เช่นเพื่อให้บุคคลหรือองค์กรเสียขวัญในการต่อต้านในอำนาจ หรือเพื่อเป็นวิธีการเพื่อได้มาซึ่งข้อมูล หรือทรัพย์สิน และอาจกล่าวโดยรวมคือการบังคับขู่เข็ญอีกฝ่ายหนึ่งให้ยอมสวามิภักดิ์ต่ออำนาจของกลุ่มก่อการร้าย

 

2. สารานุกรมอาหรับนานาชาติ ระบุว่า การก่อการร้ายคือการใช้ความรุนแรง หรือขมขู่เพื่อให้เกิดความหวาดกลัว

 

3. พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด ระบุว่าผู้ก่อการร้าย คือผู้ที่ใช้ความรุนแรงอย่างมีระบบเพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าประสงค์ทางการเมือง

 

          เมื่อพิจารณาจากคำนิยามทั้งหลายแล้วพบว่าคำนิยามดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับคำนิยามเชิงภาษาเท่านั้นคือ การเจตนาสร้างความน่ากลัว หรือทำให้เกิดความตื่นตระหนก แต่ทว่ายังมีบางคำในนิยามนั้นยังไม่การจำกัดความที่ชัดเจน เช่นคำว่า นอกกฎหมาย หรือ คำว่า ฝ่ายหนึ่ง


         ในนิยามแรกที่ระบุคำว่า "กฎหมาย" แล้วเราจะใช้กฎหมายฉบับใด กฎหมายของประเทศไหน หากแม้นว่าตรงกับกฎหมายของทุกประเทศ แล้วก่อการร้ายระดับสากลเราต้องใช้กฎหมายฉบับใดมาบังคับ

         ส่วนคำว่า ฝ่ายหนึ่ง บางทีฝ่ายก่อการร้ายอาจกล่าวปฏิเสธว่าพวกเขาไม่ได้เป็นฝ่ายก่อการการร้าย เพราะว่าไม่ใช่ว่าทุกฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับอีกฝ่าย พวกเขาจะคือผู้ก่อการร้ายเสมอ และยังมีคำอื่นๆอีกที่มีได้จำกัดความอย่างชัดเจน


           ในคำนิยามที่สอง ถามว่าทุก ๆ เหตุการณ์ความรุนแรง ถือว่าเป็นก่อการร้ายใช่หรือไม่ แน่นอนคำตอบคือ "ไม่" เพราะการเห็นความรุนแรงสยดสยองที่พบทุกวันก็ไม่ได้เรียกว่าก่อการร้ายเสมอไป ดังนั้นคำนิยามตามที่ปรากฏในพจนานุกรมของออกซ์ฟอร์ดถือว่ายังไม่สมบูรณ์ครอบคุลม เพราะว่าบางครั้งเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น ผู้ก่อการมิได้มีเจตนาเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองก็ได้  

         ดังนั้นทุกคนต่างเห็นพ้องว่า ก่อการร้าย คือ การเจตนาสร้างความหวาดกลัว แต่กระทำถึงระดับไหน วิธีการเป็นเช่นได ยังเป็นข้อถกเถียงกันซึ่งยังไม่สามารถกำหนดคำนิยามร่วมกันที่ทุกฝ่ายยอมรับ

         ส่วนคำว่าก่อการร้ายเริ่มปรากฏเมื่อใดนั้น ตามพจนานุกรมสากลแล้ว คำนี้เกิดขึ้นหลังปฏิวัติในฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ. 1789 -1799 ครั้นเมื่อผู้ประท้วงที่ได้ยึดครองอำนาจในฝรั่งเศส พวกเขาได้ใช้ความรุนแรงกับผู้ที่อยู่ตรงข้ามกับพวกเขา ดังนั้นในสมัยนั้นจึงรู้จักกันว่า สมัยการปกครองของพวกก่อการร้าย หลังจากนั้นก็มีเหตุก่อการร้าย กลุ่มก่อการร้ายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นกลุ่มต่อไปนี้

♣ กลุ่มคูคลักซ์แคลน1 เป็นกลุ่มก่อการร้ายในอเมริกา ที่ใช้ความรุนแรงกับอเมริกันชนผิวสี ตลอดจนผู้ที่ให้ความเห็นใจกับคนผิวสี

♣ กองพลน้อยแดงอิตาลี (Red Brigades) กลุ่มกองทัพแดงในเยอรมันทั้งสองกลุ่มนี่เกิดขึ้นใน ประมาณปี ค.ศ. 1960 ในศตวรรษที่ 20

          ทั้งสองกลุ่มดังกล่าวนั้นมีจุดมุ่งหมายหลักคือทำลายระบบการเมืองการปกครอง ตลอดจนระบบเศรษฐกิจที่มีอยู่ในประเทศของตนเพื่อจะนำระบบใหม่มาแทนที่

          ♣ ชาวยิวเองก็มีองค์กรลับมากมาย ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ก่อตั้งขึ้นก่อนที่ชาวยิวจะเข้ายึดครองปาเลสไตน์ เช่น องค์กรฮาฆอนาฮ์ (Haganah) ฮาโชเมอร์ (Hashomer) ปาลมาค (Palmach) เออร์ฆูน (Irgun) ชิตร็อน หรือเลฮี (Lehi) และกาค (Kach)

         ♣ ส่วนบุคคลที่มีชื่อเสียงในการใช้ความรุนแรงปราบปรามศัตรูทางการเมืองของตน เช่น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์(Adolf Hitler) เบนิโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini) และโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) แห่งสหภาพโซเวียต


จากประวัติศาสตร์ข้างต้นสามารถสรุปได้ดังนี้

       1. คำว่า ก่อการร้ายได้ปรากฏขึ้นในช่วงตอนปลายของศตวรรษที่ 18 ในขณะที่ศาสนาอิสลามถือกำเนิดก่อนการเกิดคำศัพท์มายาวนานถึง 12 ศตวรรษ

       2. ผู้ที่ใช้ศัพท์คำว่าก่อการร้าย คนแรกในประวัติศาสตร์ คือ ชาวตะวันตก(ชาวยุโรป) หาใช่เป็นชาวอาหรับหรือชาวมุสลิมแต่อย่างใด

        3. ประวัติหรือลำดับเหตุการณ์ของการกำเนิดและวิวัฒนาการของศัพท์ ก่อการร้าย นั้นถูกบันทึกว่า ผู้ก่อการร้ายทั้งหมดนั้นมิใช่ชาวมุสลิมเลย และไม่ใช่ชาวอาหรับด้วย

        4. การที่มีกลุ่มหรือบุคคลที่เป็น ชาวมุสลิม แต่มีพฤติกรรมสอดคล้องกับนิยามก่อการร้ายนั้น ไม่ได้หมายถึงว่าศาสนาของเขาเป็นสาเหตุให้เขากลายเป็นผู้ก่อการร้าย เรื่องนี้เราสามารถยืนยันด้วยประวัติศาสตร์และสติปัญญา เพราะหากเรายอมรับว่าอิสลาม คือสาเหตุของการก่อการร้ายตามที่กล่าวอ้างแล้ว ทั้งๆที่ศาสนาอิสลามมีก่อนการเกิดขึ้นของศัพท์เหล่านี้ประมาณ 1,400 กว่าปี นั้นแสดงว่าโลกนี้เต็มไปด้วยการก่อการ้ายที่ยาวนานมีระยะเวลาถึง 1,400 กว่าปี ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้นับประสาอะไรที่จะไปเชื่อถือเช่นนั้น


         แต่ตามที่เราทราบนั้นศาสนาอิสลามได้กำหนดการกระทำที่เป็นอาชญากรรมรุนแรง และการการกระทำที่เป็นบาปมหันต์มานานกว่า 1,400 ปีมาแล้ว ในขณะที่กฎหมายภายหลังเพิ่งระบุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการก่อการร้าย นั้นแสดงว่า อิสลามได้มีการปราบปรามและป้องการการก่อการร้ายมาก่อนกฎหมายใดๆที่มีอยู่บนโลก และการกระทำดังกล่าวมีดังเช่นต่อไปนี้

        1. การฆ่าผู้บริสุทธิ์โดยเจตนา การกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งต้องห้ามอย่างยิ่งในอิสลาม และการลงโทษสำหรับผู้ก่ออาชญากรรมนี้คือประหารชีวิต ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสในอัลกุรอานว่า

(إِنَّمَا جَزَٰٓؤُاْ ٱلَّذِينَ يُحَارِبُونَ ٱللَّهَ وَرَسُولَهُۥ وَيَسۡعَوۡنَ فِي ٱلۡأَرۡضِ فَسَادًا أَن يُقَتَّلُوٓاْ أَوۡ يُصَلَّبُوٓاْ أَوۡ تُقَطَّعَ أَيۡدِيهِمۡ وَأَرۡجُلُهُم مِّنۡ خِلَٰفٍ أَوۡ يُنفَوۡاْ مِنَ ٱلۡأَرۡضِۚ ذَٰلِكَ لَهُمۡ خِزۡيٞ فِي ٱلدُّنۡيَاۖ وَلَهُمۡ فِي ٱلۡأٓخِرَةِ عَذَابٌ عَظِيمٌ)
 

“เนื่องจากเหตุนั้นแหละ เราจึงได้บัญญัติแก่วงศ์วาน อิสรออีลว่า แท้จริงผู้ใดฆ่าชีวิตหนึ่งโดยมิใช่เป็นการชดเชยอีกชีวิตหนึ่ง

หรือมิใช่เนื่องจากการบ่อนทำลายในแผ่นดินแล้ว ก็ประหนึ่งว่าเขาได้ฆ่ามนุษย์ทั้งมวล”

 

 (อัล-มาอิดะฮฺ :32)

( يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ كُتِبَ عَلَيۡكُمُ ٱلۡقِصَاصُ فِي ٱلۡقَتۡلَىۖ )

“ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! อัล-กิศ็อศ (การประหารฆาตกรให้ตายตามในกรณีที่มีผู้ถูกฆ่าตาย)นั้นได้ถูกกำหนด แก่พวกเจ้าแล้ว” 

(อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 178)

( وَمَن يَقۡتُلۡ مُؤۡمِنٗا مُّتَعَمِّدٗا فَجَزَآؤُهُۥ جَهَنَّمُ خَٰلِدٗا فِيهَا )

“และผู้ใดฆ่าผู้ศรัทธาโดยจงใจ การตอบแทนแก่เขาก็คือ นรกญะฮันนัม โดยที่เขาจะอยู่ในนั้นตลอดกาล” 

(อัน-นิสาอ์ : 93)

( وَلَا تَقۡتُلُواْ ٱلنَّفۡسَ ٱلَّتِي حَرَّمَ ٱللَّهُ إِلَّا بِٱلۡحَقِّۚ )

 “และอย่าฆ่าชีวิตที่อัลลอฮฺทรงห้ามไว้ นอกจากด้วยสิทธิอันชอบธรรมเท่านั้น”

 (อัล-อันอาม:151 )


        2. การสร้างความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน ด้วยการปล้นสะดม การสร้างความหวาดกลัวแก่ผู้คนที่อยู่อย่างสงบสันติ ซึ่งรวมถึงการวางระเบิด การจี้เครื่องบิน เรือ รถไฟ หรือพาหนะโดยสารชนิดต่างๆ การกระทำเช่นนี้ในอิสลามถือว่าเป็นบาปที่มหันต์ และต้องได้รับโทษอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นการประหารชีวิต การตัดมือ หรือเท้า หรือจำคุก และในวันกิยามะฮฺ เขาผู้นั้นต้องรับโทษจากอัลลอฮฺอีกด้วย ดังที่อัลลอฮตรัสว่า


( إِنَّمَا جَزَٰٓؤُاْ ٱلَّذِينَ يُحَارِبُونَ ٱللَّهَ وَرَسُولَهُۥ وَيَسۡعَوۡنَ فِي ٱلۡأَرۡضِ فَسَادًا أَن يُقَتَّلُوٓاْ أَوۡ يُصَلَّبُوٓاْ أَوۡ تُقَطَّعَ أَيۡدِيهِمۡ وَأَرۡجُلُهُم مِّنۡ خِلَٰفٍ أَوۡ يُنفَوۡاْ مِنَ ٱلۡأَرۡضِۚ ذَٰلِكَ لَهُمۡ خِزۡيٞ فِي ٱلدُّنۡيَاۖ وَلَهُمۡ فِي ٱلۡأٓخِرَةِ عَذَابٌ عَظِيمٌ )

           “แท้จริงการตอบแทนแก่บรรดาผู้ที่ทำสงครามต่ออัลลอฮ์ และศาสนทูตของพระองค์ และพยายามบ่อนทำลายในแผ่นดิน นั้นก็คือการที่พวกเขาจะถูกฆ่า หรือถูกตรึงบนไม่กางเขน หรือมือของพวกเขาและเท้าของพวกเขาจะถูกตัดสลับข้าง หรือถูกเนรเทศออกไปจากแผ่นดิน นั้นก็คือพวกเขาจะได้รับความอัปยศในโลกนี้ และจะได้รับการลงโทษอันใหญ่หลวงในปรโลก” 

(อัล-มาอิดะฮฺ : 33)

         3. ความพยายามเปลี่ยนแปลงอำนาจการปกครองที่มีความชอบธรรมด้วยวิธีการที่รุนแรง การก่อการเช่นนี้ถือเป็นบาปมหันต์อย่างหนึ่งและบทลงโทษ คือการประหารชีวิต ท่านบีมุหัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

((مَنْ أَتَاكُمْ وَأَمْرُكُمْ جَمِيعٌ عَلَى رَجُلٍ وَاحِدٍ يُرِيدُ أَنْ يَشُقَّ عَصَاكُمْ أَوْ يُفَرِّقَ جَمَاعَتَكُمْ فَاقْتُلُوهُ))

“ผู้ใดที่ก่อการอย่างใดอย่างหนึ่ง (เพื่อให้อำนาจพวกท่านกระทบกระเทือน หรือต้องการให้พวกท่านแตกแยกในหมู่คณะ)

ในขณะที่พวกท่านมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันต่อผู้นำคนหนึ่งอยู่แล้ว ก็จงประหารชีวิตผู้ก่อการเช่นนั้น"

 (บันทึกโดยมุสลิม บทว่าด้วย อัล-อิมาเราะฮฺ (การปกครอง) เลขที่หะดีษ 1852 และอะหฺมัด 4/341)

นี่คือกลไกที่อิสลามพยายามพิทักษ์ปกป้องระบบของสังคมมุสลิมโดยรวม


         4. การลักขโมย บทลงโทษในศาสนาอิสลามคือการตัดมือผู้ที่ลักขโมยทรัพย์ผู้อื่น ดังที่ปรากฏในสูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 38

( وَٱلسَّارِقُ وَٱلسَّارِقَةُ فَٱقۡطَعُوٓاْ أَيۡدِيَهُمَا جَزَآءَۢ بِمَا كَسَبَا نَكَٰلٗا مِّنَ ٱللَّهِۗ وَٱللَّهُ عَزِيزٌ حَكِيمٞ )

“และขโมยชายและขโมยหญิงนั้นจงตัดมือของเขา ทั้งสองคน ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบแทนในสิ่งที่ทั้งสองนั้นได้แสวงหาไว้

(และ) เพื่อเป็นเยี่ยงอย่างการลงโทษ จากอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺนั้นทรงเดชานุภาพ ทรงปรีชาญาณ”

          และยังมีสิ่งอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งเราพบว่าบทบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้านั้นเหมาะสมที่จะนำมาใช้กับทั่วพื้นแผ่นดินนี้ กับผู้คนที่แตกต่างทางฐานะ ภูมิประเทศ ภาษาและวัฒนธรรม เมื่อใดที่บทบัญญัติของอัลลอฮฺถูกนำมาใช้ก็จะนำมาซึ่งความสันติสุขแก่มวลมนุษย์ทุกคน



         ด้วยเหตุนี้ที่ประชุมสภานิติศาสตร์อิสลาม จัดโดยองค์กรสันนิบาตโลกอิสลาม ครั้งที่ 16 ปี ฮ.ศ. 1422 ณ เมืองมักกะฮฺ ได้มีมติกำหนดคำนิยามก่อการร้าย คือ 

         “การก่อเหตุร้ายที่กระทำโดยบุคคล กลุ่มองค์กร หรือรัฐ ต่อมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นด้านศาสนา สติปัญญา ทรัพย์สิน หรือเกียรติยศ ซึ่งรวมถึงการก่อให้เกิดความกลัว การข่มขู่ หรือการคร่าชีวิตโดยไม่ชอบธรรม และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความหวาดกลัวบนท้องถนน การปล้นสะดม และทุกการกระทำที่รุนแรง หรือการข่มขู่ที่กระทำโดยตัวบุคคลหรือกลุ่มองค์กร เพื่อให้ผู้คนทั่วไปเกิดความหวาดกลัว สร้างความลำบากในการดำเนินชีวิต ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และทำให้สถานการณ์อยู่ในภาวะอันตราย เช่นเดียวกับการทำลายสิ่งแวดล้อม หรือระบบสาธารณูปโภคของส่วนบุคคล หรือส่วนรวม หรือทำอันตรายต่อทรัพยากรธรรมชาติของชาติ ทั้งหมดเป็นรูปแบบของการบ่อนทำลายบนหน้าแผ่นดิน ที่อัลลอฮฺได้ห้ามมวลมุสลิมกระทำการเช่นนั้น”

        คำนิยามนี้ถือว่าเป็นนิยามของการก่อการร้ายที่สมบูรณ์ครบถ้วนที่สุด และอีกประการหนึ่งที่เราควรระมัดระวัง คือ ความพยายามที่จะลบล้างคำศัพท์เฉพาะของศาสนาอิสลามที่ปรากฏในอัลกุรอาน เช่นคำว่า ญิฮาด (การต่อสู้) ในหนทางของอัลลอฮฺ , อัล-วะลาอ์ (ความรักและภักดีต่อมุสลิม) และ อัล-บะเราะอ์ (การตัดขาดจากผู้ปฏิเสธศรัทธา) และคำอื่นๆอีกมากมาย

       มีบางประเทศและบางคนที่เรียกร้องให้มีการลบล้างคำศัพท์เหล่านั้นในหลักสูตรการศึกษาและการใช้ชีวิตประจำวัน พวกเขาพยายามกดดันให้มีการลบศัพท์เหล่านั้นด้วยเหตุผลเพื่อปราบปรามการก่อการร้ายและเผยแพร่ความเอื้ออาทรต่อกัน แต่พวกเขาหารู้ไม่ว่าการกระทำของเขาเป็นสาเหตุสำคัญที่จะให้การก่อการร้ายเผยแพร่มากยิ่งขึ้น เนื่องด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

       1. การกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการแทรกแซงในศาสนาที่อัลลอฮฺได้ประทานลงมาแก่มวลมนุษยชาติ พระองค์ทรงพอพระทัยและยินยอมให้อิสลามเป็นศาสนา การแทรกแซงเช่นนี้ถือเป็นการก่อร้ายทางความคิดและความเชื่ออย่างรุนแรงที่สุด

       2. คำศัพท์เฉพาะทางศาสนาเหล่านี้แม้นว่าจะพยายามสุดความสามารถในการที่จะลบล้าง แต่ทว่าคำเหล่านั้นจะคงอยู่อย่างนิจนิรันดร์ เนื่องจากเป็นคำที่ชาวมุสลิมและผู้ปฏิเสธศรัทธารู้จักกัน เนื่องจากศาสนาอิสลามและคัมภีร์อัลกุรอานคือสิ่งที่อัลลอฮฺรับประกันว่าพระองค์จะปกปักษ์รักษาชั่วกาลนาน

(إِنَّا نَحۡنُ نَزَّلۡنَا ٱلذِّكۡرَ وَإِنَّا لَهُۥ لَحَٰفِظُونَ﴾ (الحجر : 9)

 “แท้จริงเราได้ให้ข้อตักเตือน (อัลกุรอาน) ลงมา และแท้จริงเราเป็นผู้รักษามันอย่างแน่นอน” 

(อัล-หิจญ์รฺ : 9)


         ความพยายามที่จะลบล้างคำศัพท์ทางศาสนาและอิบาดะฮฺ จะไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากจะต้องบรรลุผลขั้นหนึ่งคือ พยายามกีดกั้นไม่ให้มีการศึกษาเกี่ยวกับคำเหล่านี้โดยตรง ทั้งๆที่ทราบกันดีว่าคำเหล่านี้จะคงอยู่ในอัลกุรอานและในใจของชาวมุสลิมอย่างถาวร ซึ่งเป็นความเชื่อมั่นที่ชาวมุสลิมยึดถือ นั้นหมายความว่า การกล่าวถึงคำเหล่านี้จะคงมีอยู่ต่อไป 

         แต่จะมีคนบางกลุ่มฉวยโอกาสนี้ห้ามไม่ให้มีการศึกษาคำศัพท์เฉพาะเหล่านี้โดยข้ออ้างต่างๆนานา ในที่สุดพวกเขาจะตีความคำศัพท์เหล่านี้ตามแนวคิดหรืออารมณ์ที่พวกเขาต้องการ ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะมุสลิมไม่สามารถที่จะปฏิเสธคำศัพท์ที่ถูกต้องตามที่ปรากฏในคัมภีร์ของอัลลอฮฺ อันเป็นพจนารถที่สัจจริงที่สุดและเป็นคัมภีร์ที่เที่ยงตรงที่สุด

         ส่วนที่เหลือคือความหมายของคำศัพท์เหล่านั้น เมื่อมีการกีดกั้นไม่ให้อธิบายด้วยความหมายที่ถูกต้อง ความหมายที่เป็นเท็จก็จะปรากฏแทนที่ และเมื่อนั้นแหละมวลมนุษย์จะถูกคุกคามโดยก่อการร้ายอย่างยาวนานจนกว่าพวกเขาจะหันกลับจากจุดยืนอันเลวร้ายนั้น จุดยืนที่นำพาซึ่งความหายนะและความเสียหาย นี้คือสิ่งที่กล่าวถึงคำศัพท์เหล่านี้และสิ่งที่เกี่ยวข้อง

 

แปลและเรียบเรียง  อันวา สะอุ