การก่อการร้าย 1
โดย ชัยคฺอับดุลอะซีซ บิน อับดุลลอฮฺ บิน มุหัมหมัด อาลิชัยคฺ
มุฟตีย์ (ผู้ชี้ขาดปัญหาศาสนา) สูงสุดแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
คำนำ
มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลสากลโลก พรประเสริฐและความศานติจงประสบแด่ท่านนบีมุหัมหมัด ผู้ประเสริฐยิ่ง ตลอดจนวงศ์วานและมิตรสหายของท่าน
สืบเนื่องจากการประชุมใหญ่ของสภานิติศาสตร์อิสลาม (มัจญ์มะอฺ อัล-ฟิกฮฺ อัล-อิสลามีย์) ในปี ฮ.ศ 1424 ณ เมืองมักกะฮฺ ซึ่งที่ประชุมมีวาระสำคัญอยู่วาระหนึ่ง อันเป็นประเด็นสำคัญที่บรรดามุสลิมต้องร่วมกันหาทางออก นั้นคือปัญหาความท้าทายจากภัยก่อการร้าย ซึ่งจะต้องร่วมกันสืบหาสาเหตุ ผลกระทบ ข้อตัดสินทางศาสนา และแนวทางในการป้องกันภัยดังกล่าว
ในปัจจุบันพบว่าภัยก่อการร้ายเป็นปัญหาที่หนักหน่วงมาก ทุกคนต่างมีความสนใจอยากทราบความเป็นมาและการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนั้นข้าพเจ้าเห็นควรที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับก่อการร้าย พร้อมทั้งอธิบายถึงสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และก่อนที่ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหาก่อการร้าย ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงนิยามของคำว่าก่อการร้าย และกล่าวถึงประเด็นสำคัญที่ควรตักเตือนพี่น้องมุสลิมและผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมให้เกิดความเข้าใจเสียก่อน ความพยายามในการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมด ข้าพเจ้าวิงวอนขอความช่วยเหลือและทางนำจากเอกองค์อัลลอฮฺ
นิยาม การก่อการร้าย
คำว่า “ก่อการร้าย” เพิ่งปรากฏขึ้นในยุคหลังโดยเฉพาะหลังเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 วาทกรรมนี้ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายจากสื่อมวลชนและบุคคลทั่วไปในระดับสากล ต่อมาได้เกิดสงความกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ข้าพเจ้าเห็นว่าความเคลื่อนไหวเพื่อปราบปรามการก่อการร้ายเริ่มต้นจากการจำกัดกลุ่มเป้าหมายในวงแคบก่อน จนในที่สุดพวกเขาได้จำกัดความคำว่าการก่อการร้ายกับอิสลามและพี่น้องมุสลิมเท่านั้น พร้อมทั้งชี้นิ้วกล่าวหาว่ามุสลิมเป็นผู้ก่อการร้าย ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุดในระดับสากล
สำหรับผู้ที่พิจารณาไตร่ตรอง จะพบว่า นิยามของคำว่าก่อการร้ายในปัจจุบันยังไม่มีผู้ใดให้คำนิยามจำกัดความที่สมบูรณ์ ครอบคลุมและชัดเจน ดังนั้นจึงมีการพุ่งโจมตีเป้าหมายอย่างคลุมเครือโดยมิได้กำหนดอย่างชัดเจนว่าอะไรคือการก่อการร้าย พฤติกรรมใดบ้างที่เข้าข่ายการก่อการร้าย และบุคคลใด กลุ่มใด หรือรัฐใดที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายบ้าง โจทย์ทั้งหมดนั้นในระดับนานาชาติเองก็ยังไม่มีคำตอบและคำจำกัดความอย่างชัดเจน มีบางคนกล่าวว่า การละเลยต่อการจำกัดความหมายของคำว่าก่อการร้ายนั้น มีผลประโยชน์บางอย่างแอบแฝงอยู่
อย่างไรก็ตามการสู้รบโจมตีเป้าหมายในระดับสากล โดยไม่มีความชัดเจนนั้น ถือว่าเป็นการสู้รบกับกลุ่มเป้าหมายที่ไร้ตัวตน ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้เรามีข้อสงสัยอย่างมากเกี่ยวกับการก่อสงครามกับก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น บางครั้งมีการโจมตีเป้าหมายผู้บริสุทธิ์ทั้งๆที่พวกเขาไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย ในกรณีนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งกับผู้ที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปกป้องอธิปไตยของตนเอง ในขณะเดียวกันมีการปล่อยปละละเลยให้อีกฝ่ายหนึ่งก่ออาชญากรรม สร้างความเสียหายบนหน้าแผ่นดินโดยไม่มีผู้ใดทักท้วงและคัดค้าน และไม่มีผู้ใดกล้ากล่าวหาพวกเขาคือผู้ก่อการร้าย ทั้งๆที่พวกเขานั้นมีพฤติกรรมเข้าข่ายการก่อการร้ายอย่างชัดเจน
ในศาสนาอิสลามไม่อนุญาตให้เราใช้ศัพท์ที่มีความคลุมเครือ หรือคำที่สามารถตีความได้หลายแง่หลายความหมาย โดยไม่สามารถแยกแยะว่าต้องการสื่อถึงความหมายใดที่แน่นอน เนื่องจากศาสนาอิสลามถูกประทานมาด้วยความชัดเจน ตรงไปตรงมา และสัจจริง ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า
( يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ ٱتَّقُواْ ٱللَّهَ وَكُونُواْ مَعَ ٱلصَّٰدِقِينَ )
“โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย พึงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด และจงอยู่อยู่ร่วมกับบรรดาผู้ที่พูดจริง”
(อัต-เตาบะฮฺ :119)
ศาสนาอิสลามของเราถูกประทานมาด้วยความยุติธรรม ดังนั้นเราไม่สามารถสร้างความเดือดร้อนกับชนนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด โดยเฉพาะใช้คำเรียกขานที่ไม่สอดคล้องกับพวกเขา อัลลอฮฺตรัสว่า
( وَلَا يَجۡرِمَنَّكُمۡ شَنََٔانُ قَوۡمٍ عَلَىٰٓ أَلَّا تَعۡدِلُواْۚ ٱعۡدِلُواْ هُوَ أَقۡرَبُ لِلتَّقۡوَىٰۖ )
“และจงอย่าให้การเกลียดชังพวกหนึ่งพวกใด ทำให้พวกเจ้าไม่ยุติธรรม จงยุติธรรมเถิด มันเป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงยิ่งกว่า”
(อัล-มาอิดะฮฺ : 8)
อิสลามสอนว่า บุคคลหนึ่งไม่สามารถแบกรับบาปแทนกันได้ นั้นหมายถึง เราไม่สามารถลงโทษบุคคลที่ไม่มีความผิดได้ อัลลอฮฺ ตรัสว่า
( وَلَا تَزِرُ وَازِرَةٞ وِزۡرَ أُخۡرَىٰۚ )
“และไม่มีผู้แบกภาระคนใดจะแบกภาระของผู้อื่นได้”
(อัล-อันอาม :164)
ดังนั้นในศาสนาอิสลามมีความชัดเจนมากในเรื่องเหล่านี้ เนื่องจากเราพบว่าหลักศรัทธา หลักปฏิบัติ อิบาดะฮฺ (การประกอบศาสนกิจ) มุอามะลาต (การปฏิสัมพันธ์) และกฎหมายครอบครัว ฯลฯ ในบทบัญญัติอิสลามนั้นมีความชัดเจนอย่างยิ่ง
ด้วยเหตุผลข้างต้น ขอกล่าวว่า ด้วยความศรัทธาอันแรงกล้าของบรรดามุสลิมในศาสนาอิสลาม พวกเขาเรียกร้องให้มีการกำหนดนิยามคำว่า การก่อการร้ายให้ชัดเจน และเป็นไปไม่ได้ที่มุสลิมจะยินยอมปล่อยให้คำนี้มีความคลุมเครืออีกต่อไป เนื่องในศาสนาอิสลามห้ามการกระทำดังกล่าว เราทราบในความเป็นจริงอย่างดีว่า สาเหตุที่มีการจงใจละเลยไม่ให้มีความชัดเจนในการจำกัดความหมายของศัพท์บางคำ และปล่อยให้เกิดความคลุมเครือนั้น จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ในขณะที่ศาสนาอิสลามของเราไม่อนุญาตให้กระทำเช่นนั้นได้ เนื่องจากในอิสลามไม่มีการฉ้อโกง การหักหลัง การโกหก และตลบตะแลง แต่อิสลามคือศาสนาที่ชัดเจน สัจจริง และเป็นเส้นทางที่บริสุทธิ์
หากเราต้องการที่จะให้คำนิยาม คำจำกัดความ ของคำว่าก่อการร้ายในเชิงวิชาการตามมุมมองของอิสลามแล้ว เราจะต้องเริ่มจากการค้นหารากศัพท์ของคำนี้ในเชิงภาษาเสียก่อน เนื่องจากศาสนาอิสลามมาพร้อมกับภาษาอาหรับ เมื่อพิจารณาถึงความหมายเดิมเชิงภาษาแล้ว ให้พิจารณาการนำคำเหล่านั้นไปใช้ในทางศาสนาต่อ โดยอาศัยหลักฐานต่างๆมาประกอบ และสิ่งเราควรคำนึง ในคำศัพท์หนึ่งคำนั้น มีองค์ประกอบอยู่ 3 องค์ประกอบคือ
1) ข้อเท็จจริงทางภาษา
2) ข้อเท็จจริงทางศาสนา
3) ข้อเท็จจริงทางจารีต
ดังนั้นเมื่อเราเมื่อเราต้องการทราบความหมายของคำศัพท์ หรือประโยคหนึ่งเราต้องค้นหาความหมายเชิงภาษาก่อน โดยยึดทัศนะของปราชญ์ภาษาอาหรับเป็นหลัก หากเราต้องการค้นหาความหมายในเชิงวิชาการศาสนา ก็จะต้องยึดทัศนะของปราชญ์ศาสนาเป็นหลัก และหากต้องการค้นหาความหมายทางจารีต ก็ต้องสังเกตจากการที่คนทั่วไปใช้คำเหล่านั้นว่าหมายถึงอะไร
คำว่า “การก่อการร้าย” ในภาษาอาหรับคือ อัล-อิรฮาบ มาจากรากคำ ( ر هـ ب ) เราะอ์ ฮาอ์ บาอ์ อิบนุฟาริสกล่าวว่า คำนี้มีความหมายเดิมอยู่สองความหมายคือ
1) สิ่งที่ชี้ถึงความกลัว
2) สิ่งที่ชี้ถึงความละเอียดอ่อนและซ่อนเร้น
ความหมายแรก คือ ความกลัว เช่น คำกล่าว (رهبت الشيء رهبا ورهبا ورهبة) -ฉันกลัวต่อสิ่งหนึ่ง- คำว่า (التَرَهُّب) -อัต-ตะร็อฮฮุบ- หมายถึง การประกอบศาสนกิจ และส่วนหนึ่งของคำว่า (الإِرْهَاب) -อัล-อิรฮาบ- คือ การกันอูฐให้ออกจากแอ่งน้ำ
ในหนังสือลิสาน อัล-อะร็อบ (พจนานุกรมภาษาอาหรับ) คำว่า (رَهِبَ) –เราะฮิบะ- โดยพยัญชนะฮาอ์ มีสระกัสเราะฮฺข้างล่าง คือ ความกลัว
คำว่า (ورهب الشيء) -ร็อฮฮิบะ อัช-ชัยอฺ- คือ ทำให้หวาดกลัวต่อสิ่งหนึ่ง
คำว่า (أَرْهَبَهُ) -อัรฮะบะฮุ- คือ สร้างความตื่นตระหนกแก่เขา
สรุปแล้วรากศัพท์ของคำว่า อัล-อิรฮาบ มีความหายเกี่ยวข้องกับความกลัว หรือสร้างความหวาดกลัว ซึ่งความหมายของคำนี้ไม่ได้ชี้ว่าเป็นสิ่งที่ดี หรือเลวแต่อย่างใด ความกลัวหรือการสร้างความหวาดกลัวไม่ได้เป็นพฤติกรรมที่น่าตำหนิหรือน่าชมเชยแต่อย่างใด เพราะเมื่อใดที่มนุษย์เกิดอาการกลัวต่อสัตว์ดุร้าย นั้นคือความกลัวที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ซึ่งไม่สมควรตำหนิในความกลัวดังกล่าว เช่นเดียวกัน มนุษย์มีความกลัวเมื่อมีผู้อื่นจะทำร้ายร่างกายของเขา เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นสัญชาติญาณของมนุษย์และสัตว์ อัลลอฮฺได้ให้ทุกสรรพสิ่งมีความรู้สึกโดยสัญชาติญาณที่จะปกป้องตนเองจากภยันตรายที่ตนเองประสบ ดังที่พระองค์ได้ตรัสว่า
( ٱلَّذِيٓ أَعۡطَىٰ كُلَّ شَيۡءٍ خَلۡقَهُۥ ثُمَّ هَدَىٰ )
“(อัลลอฮฺ) คือ ผู้ทรงประทานทุกอย่างแก่สิ่งที่พระองค์ทรงสร้างแล้วพระองค์ก็ทรงชี้แนะแนวทางให้”
(ฏอฮา :50)
พฤติกกรมกลัวจะแสดงออกมาเมื่อเกิดอยู่ภาวะอันตราย ซึ่งเราไม่สามารถที่จะไปตำหนิได้
ส่วนความหมายเชิงวิชาการศาสนานั้น เราพบว่าคำนี้ (อัล-อิรฮาบ) มีไม่ปรากฏในหลักฐานทางศาสนา นอกจากรากคำที่มีพยัญชนะสามตัวอักษร และคำที่ผันมาจากคำเดิมที่มีพยัญชนะสี่ตัวอักษร ดังคำดำรัสของอัลลอฮฺ
( وَأَوۡفُواْ بِعَهۡدِيٓ أُوفِ بِعَهۡدِكُمۡ وَإِيَّٰيَ فَٱرۡهَبُونِ )
“และจงปฏิบัติ ตามสัญญาของฉันให้ครบ ส่วนฉัน จะปฏิบัติตามสัญญาของฉันที่ทำกับพวกสูเจ้าให้ครบด้วย
และเฉพาะฉันเท่านั้น ที่พวกสูเจ้าต้องเกรงกลัว”
(อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 40 )
( وَلَمَّا سَكَتَ عَن مُّوسَى ٱلۡغَضَبُ أَخَذَ ٱلۡأَلۡوَاحَۖ وَفِي نُسۡخَتِهَا هُدٗى وَرَحۡمَةٞ لِّلَّذِينَ هُمۡ لِرَبِّهِمۡ يَرۡهَبُونَ )
“และเมื่อความกริ้วโกรธได้สงบลงจากมูซา เขาก็เอาบรรดาแผ่นจารึกนั้นไป
และในสิ่งที่ถูกจารึกไว้ในมันนั้น มีคำแนะนำและความเอ็นดูเมตตาแก่บรรดาผู้ที่เกรงกลัวพระเจ้าของพวกเขา”
(อัล-อะอฺร็อฟ :154 )
( وَقَالَ ٱللَّهُ لَا تَتَّخِذُوٓاْ إِلَٰهَيۡنِ ٱثۡنَيۡنِۖ إِنَّمَا هُوَ إِلَٰهٞ وَٰحِدٞ فَإِيَّٰيَ فَٱرۡهَبُونِ )
“และอัลลอฮฺตรัสว่า พวกเจ้าอย่ายึดถือพระเจ้าสององค์ แท้จริงพระองค์คือพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวเท่านั้น ดังนั้น เฉพาะข้าเท่านั้นที่พวกเจ้าต้องเกรงกลัว”
(อัน-นะหฺล : 51)
( إِنَّهُمۡ كَانُواْ يُسَٰرِعُونَ فِي ٱلۡخَيۡرَٰتِ وَيَدۡعُونَنَا رَغَبٗا وَرَهَبٗاۖ )
“แท้จริงพวกเขา แข่งขันกันในการทำความดีและพวกเขาวิงวอนเราด้วยความหวังในการลงโทษของเรา และพวกเขาเป็นผู้ถ่อมตัวเกรงกลัวต่อเรา”
(อัล-อันบิยาอ์ : 90 )
ทั้งหมดคือหลักฐานที่ชี้ถึงการให้ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ และเป็นการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการกระทำเช่นนั้นเนื่องจากเป็นการภักดีประเภทหนึ่ง ส่วนคำที่ใกล้เคียงกับคำว่า อัล-อิรฮาบ มากที่สุด คือคำในอายะฮฺต่อไปนี้
( وَأَعِدُّواْ لَهُم مَّا ٱسۡتَطَعۡتُم مِّن قُوَّةٖ وَمِن رِّبَاطِ ٱلۡخَيۡلِ تُرۡهِبُونَ بِهِۦ عَدُوَّ ٱللَّهِ وَعَدُوَّكُمۡ )
“และพวกเจ้าจงเตรียมไว้สำหรับ (ป้องกัน) พวกเขา สิ่งที่พวกเจ้าสามารถ อันได้แก่กำลังอย่างหนึ่งอย่างใด
และการผูกม้าไว้ โดยที่พวกเจ้าทำให้ศัตรูของอัลลอฮฺ และศัตรูของพวกเจ้าหวั่นเกรงด้วยสิ่งนั้น”
(อัล-อันฟาล : 60 )
อิบนุญะรีรฺ อัฏ-เฏาะบะรีย์ (เราะหิมะฮุลลอฮฺ) กล่าวว่า คำนี้มีการไปใช้โดยกล่าวว่า
أَرْهَبْت الْعَدُوّ وَرَهَّبْته ، فَأَنَا أُرْهِبهُ وَأُرَهِّبهُ إِرْهَابًا وَتَرْهِيبًا ، وَهُوَ الرَّهَب وَالرُّهْب "ฉันได้ทำให้ศัตรูเกิดความหวาดกลัว"
มีนักกวีอาหรับท่านหนึ่งนามว่า ฏุฟัยลฺ อัล-เฆาะนะวีย์ กล่าวว่า
وَيْل أمّ حَيّ دَفَعْتُمْ فِي نُحُورهمْ بَنِي كِلَاب غَدَاة الرُّعْب وَالرَّهَب
"ความพินาศย่อมประสบแก่กลุ่มชนใดก็ตาม ที่ถูกชนเผ่ากิลาบบุกเข้าโจมตีในเช้าแห่งความตื่นตระหนกและหวาดกลัว"
(กวีผู้นี้ได้ชื่นชมชนเผ่ากิลาบที่มีความกล้าหาญในการทำสงคราม เป็นที่หวาดกลัวของผู้คน)
และท่านได้อธิบายความหมายของอายะฮฺอัลกุรอานข้างต้นว่า "และพวกเจ้าจงตระเตรียมสรรพกำลังเต็มความสามารถสำหรับต่อสู้กับผู้ปฏิเสธศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งระหว่างพวกเจ้ากับพวกเขาเหล่านั้นมีพันธะสัญญา และเกรงว่าพวกเขาอาจจะบิดพลิ้วสัญญานั้น”
คำว่า "เต็มความสามารถที่จะตระเตรียมได้" ก็คือ การเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ สัตว์พาหนะ เช่น ม้า เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อสร้างความหวาดกลัวแก่ศัตรูของพวกท่านและศัตรูของอัลลอฮฺ อีกนัยหนึ่งหมายถึง การสร้างหวาดกลัวแก่พวกที่เป็นศัตรูกับพวกเจ้าและอัลลอฮฺจากบรรดาผู้ตั้งภาคีกับพระองค์ ด้วยการที่พวกเจ้าตระเตรียมกองกำลังให้พร้อมอยู่เสมอ จากจุดนี้จะเห็นว่าวัตถุประสงค์หลักของการตระเตรียมสรรพกำลังและการแสดงแสนยานุภาพทางทหารก็คือการสร้างความหวาดกลัวแก่บรรดาศัตรูที่คิดจะมาทำร้ายเรา หรือบิดพลิ้วสนธิสัญญาของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ศาสนากำหนดไว้ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่มีประเทศใดในโลกนี้ที่จะละเลยในเรื่องการเตรียมความพร้อมด้านทหาร เพราะหากละเลยในเรื่องดังกล่าวแล้วนั้นหมายถึงการยอมสวามิภักดิ์ต่ออริราชศัตรูที่จะมาบุกรุกอธิปไตยประเทศของตน ในที่สุดประเทศนั้นอาจจะตกอยู่ใต้อาณัติของประเทศอื่นอย่างง่ายดาย
สำหรับบทบัญญัติของอิสลามแล้ว การละเลยในประเด็นนี้ถือเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะเป็นการกระทำที่ขัดกับปัญญาที่สมบูรณ์ และขัดกับระเบียบปฏิบัติของนานาประเทศ ที่ระบุถึงการปกป้องชีวิตจากภัยคุกคาม สิ่งนี้ชี้ว่าเป็นจารีตปฏิบัติของทุกประชาชาติบนโลกใบนี้ ในกฎบัตรสหประชาชาติ หมวดที่ 7 มาตรา 51 ระบุว่า
"ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับปัจจุบันจะรอนสิทธิประจำตัวในการป้องกันตนเองโดยลำพังหรือโดยร่วมกัน หากการโจมตีด้วยกำลังอาวุธบังเกิดแก่สมาชิกของสหประชาชาติ..."
นั้นหมายถึง สิทธินี้ไม่มีผู้ใดสามารถที่จะคัดค้านได้ และจากนี้เองทำให้รู้ได้ว่าคำว่า อัล-อิรฮาบ (การก่อการร้าย) ไม่มีที่มาตั้งแต่แรกในศาสนาอิสลาม แต่เป็นคำที่ใช้กันโดยผันจากรากศัพท์เดิม ดังนั้นจึงไม่พบนิยามก่อการร้ายเชิงวิชาการของอิสลาม แม้ว่าความหมายเชิงภาษาจะมีความชัดเจนก็ตาม คือ การสร้างความหวาดกลัว และการที่ศัพท์นี้ไม่มีนิยามในเชิงวิชาการศาสนานั้น มิได้หมายถึงศาสนาของเรามีความบกพร่องในการอธิบายปัญหาหาการก่อการร้ายแต่อย่างใด แท้จริงแล้วศาสนาอิสลามได้อธิบายในเรื่องนี้อย่างชัดเจน ซึ่งเราจะได้อธิบายต่อไป อินชาอัลลอฮฺ
แปลและเรียบเรียง อันวา สะอุ