อะฮฺลุซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮ์ ไม่เกี่ยวข้องกับ อะชาอิเราะฮ์ (3)
เขียนโดย บันดัร อิบนุ ซุลัยมาน อัลคอยบะรีย์
แปลและเรียบเรียงโดย อาบีดีณ โยธาสมุทร
ประเด็นที่หก
หลักเชื่อมั่นของพวกอะชาอิเราะฮฺในเรื่องของการกบฏต่อบรรดาผู้นำ เป็นที่ทราบกันดีว่าแนวคิดของพวกอะชาอิเราะฮฺในเรื่องการศรัทธานั้น คือ แนวคิดอัลอิรญาอฺ(แนวความคิดที่เชื่อว่าไม่มีความข้องเกี่ยวใดๆระหว่างการศรัทธากับคำพูดและการกระทำ -ผู้แปล) ซึ่งพวกมุรญิอะฮฺ(ผู้ที่มีความคิด อัลอิรญาอฺ-ผู้แปล) ต่างมีความเห็นกันว่า ให้มีการออกมาโค่นล้มผู้ปกครองโดยใช้อาวุธได้
ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ ตอเฮ็ร ได้พูดถึงพวกมุรญิอะฮฺไว้ว่า “พวกท่านโกรธเคืองคนกลุ่มนี้อย่างไม่มีข้อมูล แต่ผมโกรธเคืองพวกเขาเพราะรู้ว่าพวกเขานั้น ไม่เห็นว่าจะต้องมีการเชื่อฟังใดๆต่อผู้มีอำนาจปกครอง”
عقيدة السلف وأصحاب الحديث للصابوني 68
ท่านอิหม่าม ซุฟยาน อัซเซารีย์ ได้กล่าวเกี่ยวกับพวกมุรญิอะฮฺไว้ว่า “คนพวกนี้เขามองกันว่า การจับอาวุธขึ้นมาประหัตประหารชาวกิบละฮฺเป็นเรื่องที่ทำได้ และถ้าหากมีใครมาแย้งถามคุณว่า ใครกันที่เป็นต้นแบบของคุณในการให้ข้อมูลเช่นนี้ ก็จงตอบเขาไปว่า ซุฟยาน อัซเซารีย์”
الشريعة للآجري 2062
ซึ่งบางส่วนบางประการที่ได้ให้การยืนยันว่า พวกอะชาอิเราะฮฺมีทรรศนะเกี่ยวกับประเด็นของการจับอาวุธและทำการกบฏว่าทำได้นั้น ก็ได้แก่ คำพูดของอิมามุลฮะร่อมัยน์ อัลญุวัยนีย์ อัลอัชอะรีย์ที่ได้พูดไว้ว่า
“และเมื่อผู้ปกครองในยุคนั้นๆ ก่ออธรรม และความอธรรมต่ำช้าของเขาได้เผยออกมาจนเป็นที่ประจักษ์ อีกทั้ง เขายังไม่รู้สึกสำนึกเมื่อมีการเตือนให้รู้สึกสำนึกในความชั่วช้าของการกระทำของตนโดยการพูดเจรจาแล้ว ก็ถือเป็นสิทธ์สำหรับอะฮฺลุลฮิลวัลอักด์ ที่จะร่วมมือกันถอดถอนเขาผู้นั้นออกจากตำแหน่งเสีย แม้ว่าจะต้องดำเนินการโดยการหยิบจับอาวุธออกมาต่อต้าน หรือแม้แต่จะด้วยกับการก่อสงครามก็ตาม”
شرح المقاصد في علم الكلام التفتازاني، 2 / 272
ประเด็นที่เจ็ด
หลักเชื่อมั่นของพวกเขาเกี่ยวกับบรรดาศ่อฮาบะฮฺ ผู้คนหลายคนคิดกันไปว่า พวกอะชาอิเราะฮฺนั้นมีความคิดเห็นที่สอดคล้องกับชาวอะฮฺลุสซุนนะฮฺในเรื่องศ่อฮาบะฮฺ แต่อันที่จริงแล้วมันตรงกันข้ามกับความนึกคิดดังกล่าว เพราะส่วนมากของพวกอะชาอิเราะฮฺเขาจะมองว่า พวกตนนั้นมีความรู้มากกว่าท่านอบูบักร ท่านอุมัร ตลอดจนศ่อฮาบะฮฺท่านอื่นๆ ที่เหลือ โดยอาศัยหลักฐานที่ให้ยืนยันจากคำพูดของพวกเขาที่ว่า “วิถีทางของค่อลัฟนั้นมีความรู้และมีเหตุผลมากกว่า”
ยิ่งไปกว่านั้น ท่านชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ ยังได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า พวกอะชาอิเราะฮฺคือ ประเภทหนึ่งของพวกค่อวาริจและพวกรอฟิเดาะฮฺ ในประเด็นๆนี้ โดยท่าน ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ ได้พูดกับพวกอะชาอิเราะฮฺว่า
“พวกคุณเป็นพวกที่กล่าวตำหนิชาวซะลัฟที่บรรดามุสลิมต่างมีมติเอกฉันฑ์กันในการเป็นบุคคลต้นแบบของพวกท่าน ทั้งๆที่ตัวของพวกคุณนั้น สำหรับชาวซะลัฟและบรรดาบุคคลชั้นนำของศาสนาแล้ว ถือว่าเป็นบุคคลที่ถูกตำหนิ และจากพฤติกรรมนี้ของพวกคุณ พวกคุณจึงเป็นประเภทหนึ่งของพวกรอฟิเดาะฮฺและพวกค่อวาริจ ตลอดจนพวกอื่นๆที่มีความคิดเห็นไปในทำนองนี้ จากกลุ่มบุคคลที่ออกมากระทำการจาบจ้วงต่อบรรดาซะลัฟและบรรดาบุคคลชั้นนำของอุมมะฮฺ”
التسعينية 2/694
และในทำนองเดียวกันนี้ สิ่งที่ซัยยิด กุฏบฺ ได้ทำการขียนเอาไว้ ในประเด็นที่ถือเป็นการจาบจ้วงอย่างโจ่งแจ้งที่มีต่อศ่อฮาบะฮฺบางท่าน ซึ่งตัวเขาเองนี้ก็คือ พวกอะชาอิเราะฮฺขนานแท้คนหนึ่งนั้นเอง
ประเด็นที่แปด
หลักความเชื่อของพวกอะชาอิเราะฮฺในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวันอาคิเราะฮฺ สำหรับในประเด็นนี้ ถือได้ว่าเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่คนยุคหลังหลายคนเข้าใจผิด โดยคิดกันไปว่าพวกอะชาอิเราะฮฺนั้นมีแนวความคิดที่สอดคล้องกับชาวอะฮฺลุสซุนนะฮฺ แต่เมื่อได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแจกแจงข้อมูลแล้ว ปรากฏว่า พวกอะชาอิเราะฮฺจะมีความศรัทธาต่อสิ่งที่บัญญัติศาสนาได้ถ่ายทอดไว้ในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องที่เร้นลับต่างๆ แต่มีเงื่อนไขว่า ประเด็นที่กล่าวถึงนั้นจะต้องไม่ขัดแย้งกับหลักฐานทางปัญญา
อบุลมะอาลี อั้ลญุวัยนีย์ได้กล่าวไว้ในบทที่ว่าด้วย บางส่วนบางประการสำหรับกฏเกณฑ์ต่างๆ ของโลกอาคิเราะฮฺ ที่เกี่ยวข้องกับหลักฐานทางบทบัญญัติว่า “และทุกเรื่องราวที่ได้รับการยอมรับโดยสติปัญญา และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มข้อมูลที่เป็นหลักฐานทางบทบัญญัติซึ่งทำหน้าที่ในการสนับสนุนและยืนยันนั้น ถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องตัดสินและชี้ชัดเลยว่า เป็นข้อมูลที่ได้รับการยอมรับ”
الإرشاد إلى قواطع الأدلة في أصول الاعتقاد 375
ส่วนในกรณีที่มีข้อขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้นตามคำกล่าวอ้างของพวกเขา จุดยุติสำหรับตัวบทต่างๆเหล่านี้ก็คือ การปฏิเสธและตีความตัวบทดังกล่าวนั่นเอง อัลฆอซาลีย์ ได้พูดไว้ว่า “และเมื่อถึงคราวจำเป็นที่จะต้องเชื่อสติปัญญาแล้ว ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะต้องมาสงสัยและลังเลในการปฏิเสธทิศทางออกจากอัลลอฮฺ และในการปฏิเสธรูปร่าง และเมื่อมีใครมากล่าวแย้งคุณว่า การงานนั้นจะถูกชั่ง ท่านเองก็ทราบมาแล้วว่า การงานนั้นเป็นเรื่องนามธรรมซึ่งนำมาชั่งไม่ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการตีความหมาย”
قانون التأويل 21
ในจำนวนเรื่องราวที่พวกอะชาอิเราะฮฺทำการปฏิเสธในประเด็นที่เกี่ยวกับวันอาคิเราะฮฺ ได้แก่ เรื่องที่ผิดไปจากสภาวะปกติที่จะเกิดขึ้นโดยน้ำมือของดัจญาล ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการสอดรับกับหลักเกณ์อันอุตริที่พวกเขาได้วางเอาไว้ ในประเด็นที่เกี่ยวกับบรรดานบี ซึ่งพวกเขาเองก็มีแนวคิดที่ขัดกับชาวอะฮฺลุสซุนนะฮฺในประเด็นดังกล่าวด้วยเช่นกัน และในทำนองเดียวกันนี้ เรื่องการปฏิเสธการได้เห็นอัลลอฮฺ ในวันกิยามะฮฺ ตลอดจนความเชื่อที่ว่าอัลลอฮฺ จะไม่ทรงตรัสกับพวกมนุษย์และญินในวันแห่งการนำเสนอ ซึ่งล้วนวางอยู่บนหลักความเชื่อของพวกเขา ในประเด็นเรื่องพระลักษณะ ก็เช่นกัน แล้วคนกลุ่มนี้จะมีความเห็นที่สอดคล้องกับชาวอะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺในเรื่องราวประเด็นดังกล่าวนี้ได้อย่างไร ?
ประเด็นที่เก้า
หลักความเชื่อของพวกอะชาอิเราะฮฺในเรื่องของกฎสภาวการณ์ พวกเขาเชื่อในทฤษฎีเรื่องการขวนขวาย ซึ่งตัว พวกเขาเองก็ขัดแย้งกันในการให้คำจำกัดความแก่คำว่า การขวนขวาย จนกระจายออกมาเป็นทรรศนะที่มีจำนวนมากกว่าสิบเอ็ดทรรศนะ ทำให้สุดท้ายแล้วบทสรุปของประเด็นนี้ถูกลากเข้าไปสู่ทฤษฎีเรื่อง การถูกกำหนดไว้อย่างตายตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับ อัลญะฮฺม์ เจ้าของเญาฮะเราะตุตเตาฮีดได้พูดไว้ว่า “และเรื่องการกระทำนั้น การมีอิทธิพลต่อเรื่องนี้ ไม่สามารถเป็นอื่นใดไปได้นอกจากจะเป็นของพระผู้ทรงเอกะ พระผู้ทรงอำนาจเบ็ดเสร็จ ญัลละวะอะลา แต่เพียงเท่านั้น”
และสุดท้ายนี้ ถือได้ว่าเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ท่านผู้อ่านแล้วว่า พวกอะชาอิเราะฮฺนั้น มีความคิดเห็นที่ไม่สอดคล้องกับชาวอะฮฺลุสซุนนะฮฺในส่วนใหญ่ของประเด็นเรื่องอะกีดะฮฺ ส่วนสิ่งที่บางท่านคิดกันไปเองว่า พวกเขามีความสอดคล้องกับชาวอะฮฺลุสซุนนะฮฺในบางเรื่องบางประเด็นนั้น เนื่องมาจากการไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรากเง่าและต้นตอของประเด็นนั้นๆ ที่ภาพข้างนอกแลดูแล้วว่าเป็นเรื่องที่มีความสอดคล้องกันกับชาวอะฮฺลุสซุนนะฮฺ แต่ภายในกลับมีการขัดแย้งต่อกัน
อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะเป็นเช่นนี้ แต่เราเองก็ยังไม่ได้ทำการขับพวกอะชาอิเราะฮฺให้พ้นสภาพออกไปจากกรอบสังเวียนแห่งอิสลามแต่ประการใด ดังเช่นที่พวก อัลฮัดดาดียะฮฺ จอมเกินเลย ได้ตาลีตาเหลือกกระทำกัน และในขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้นับรวมพวกเขาไว้ในกรอบสังเวียนแห่งอะฮ์ลุสซุนนะฮฺ เฉกเช่นที่พวก ฮิซบีย์ ตลอดจนพวกที่ได้รับอิธิพลมาจากพวกเขา จากกลุ่มคนที่เป็นพวก อัมมุมัยยี่อะฮฺ (กลุ่มคนที่มีแนวความคิดสงวนท่าทีไม่ออกมาชี้ถูกชี้ผิดให้ชัดเจน ทั้งๆที่ตนก็รู้ดีว่า อะไรเป็นอะไร -ผู้แปล) หากแต่เราจะกล่าวว่า พวกเขาเป็นหนึ่งในชาวกิบละฮฺซึ่งในขณะเดียวกัน พวกเขาเองก็เป็นพวกแห่งอารมณ์และการอุตริด้วยนั่นเอง
อัลลอฮฺ ทรงมีความรู้ที่สุด
وصلى الله وسلم على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين