ขโมย... ตัองตัดมือ
อาจารย์ อะห์ซันนุดดีน มั่งมี
พี่น้องผู้มีศรัทธา เราท่านทั้งหลาย จะต้องมีความยำเกรงต่อ อัลลอฮ์ อยู่เสมอ มนุษย์เราทุกคนตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค ความเท่าเทียมกัน ไม่มีการแบ่งแยกด้วยกับสีผิว ไม่มีการแบ่งแยกด้วยกับรูปร่างหน้าตา ไม่มีการแบ่งแยกด้วยกับฐานะ ตำแหน่งหน้าที่การงาน ยิ่งไปกว่านี้ เรายังมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่าเทียมกัน แต่มวลมนุษย์ จะแตกต่างระดับชั้นกันนั้น ขึ้นอยู่กับการทำความดี ขึ้นอยู่กับการตักวา การยำเกรงต่อ อัลลอฮ์ โดยประพฤติปฏิบัติตามในสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงใช้ หลีกเลี่ยงห่างไกลจากสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงห้าม
และการยำเกรงนี้เอง เป็นตราชั่งที่ดีที่สุด เป็นสื่อกลางที่ดีที่สุด ที่เราจะต้องนำเสนอต่อ อัลลอฮ์ ในวันกียามะห์ ซึ่งเป็นวันที่บุคคลหนึ่งจะหนีจากพ่อแม่ของเขา หนีจาก พี่น้องของเขา หนีจากภรรยาและบุตรของเขา เงินทอง อำนาจและเกียรติยศ บุตรบริวาร ไม่สามารถอำนวยประโยชน์ใดๆได้เลย
พี่น้องที่เคารพรักทั้งหลาย การลักขโมยนั้น เป็นเรื่องที่สังคมประณาม สังคมรังเกียจ เป็นบาปใหญ่ การลักขโมย หมายถึง การเอาทรัพย์มีค่าของผู้อื่น โดนวิธีการแบบลับๆ ขโมยจากสถานที่เฉพาะ ด้วยปริมาณที่เฉพาะ โดยที่ไม่มีข้อคลุมเครือใดๆ ตามเงื่อนไขเฉพาะที่ถูกกำหนดไว้ การลักขโมยนั้น จะต้องถูกตัดมือ ถ้าเราอ่านอัลกุรอาน เราจะพบคำดำรัสของพระองค์อัลลอฮ์ ความว่า
وَالسَّارِقُ وَالسَّارِقَةُ فَاقْطَعُوا أَيْدِيَهُمَا جَزَاءً بِمَا كَسَبَا نَكَالًا مِنَ اللَّهِ وَاللَّهُ عَزِيزٌ حَكِيمٌ (38 سورة المائدة)
"ชายผู้เป็นขโมย หญิงผู้เป็นขโมย พวกเจ้าจงตัดข้อมือขวาของเขาทั้งสอง เพื่อตอบแทนสิ่งที่เขาทั้งสองได้กระทำไว้
อีกทั้งเพื่อเป็นบทลงโทษให้หลาบจำจากพระองค์อัลลอฮ์"
นี่คือบทลงโทษ ของผู้ที่ลักขโมย คือจะต้องโดนตัดข้อมือขวา ถ้าขโมยอีกเป็นครั้งที่สอง ก็ให้ตัดที่ข้อเท้าซ้าย ถ้าขโมยอีกเป็นครั้งที่สาม ก็ให้ตัดที่ข้อมือซ้าย แต่ถ้าไม่เข็ด ขโมยอีกเป็นครั้งที่สี่ ก็ให้ตัดที่ข้อเท้าขวา เป็นการตัดสลับข้าง แต่ถ้าหากยังขโมยอีก ดื้อเป็นสันดาน เขาจะถูกลงโทษตามดุลยพินิจของผู้พิพากษา เช่น ขังคุก เป็นต้น
สำหรับเรื่องที่ศาสนาใช้ให้ตัดข้อมือขวา ถัดมาให้ตัดข้อเท้าซ้าย ไม่ได้ใช้ให้ตัดมือทั้งสองข้าง เพื่อให้ผู้ขโมยนั้น จะได้ใช้ประโยชน์จากมืออีกข้างหนึ่ง และตัดข้อเท้าซ้ายนั้น เพราะเท้านั้นเป็นผู้พาหนี
การมีบทลงโทษให้ตัดมือนั้น มีผลประโยชน์มากมาย
ประการแรก มือที่ถูกตัดนั้น คือมือที่ทรยศ เปรียบเสมือน อวัยวะที่เป็นโรคติดต่อ จำเป็นจะต้องตัดทิ้ง เพื่อให้อวัยวะส่วนอื่นๆปลอดภัย
ประการที่สอง การมีบทลงโทษให้ตัดมือนั้น เป็นการป้องกันรักษามือของผู้ขโมย และเป็นการป้องกันรักษาทรัพย์สินของผู้ที่ถูกขโมย เพราะผู้ขโมยนั้น จะกลัวการตัดมือ ไม่กล้ากระทำ
ประการที่สาม เป็นข้อเตือนใจ เตือนสติ แก่ผู้ที่จะคิดขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น
ประการที่สี่ เป็นการขจัดฟิตตนะห์ การทะเลาะโต้เถียงกัน เมื่อทรัพย์ที่ถูกขโมยนั้น หาคนขโมยไม่ได้ ก็จะโทษกันไปโทษกันมา ด่ากันไปด่ากันมา ทำให้ครอบครัวทะเลาะกัน และสังคมแตกแยก
ประการที่ห้า การมีบทลงโทษให้ตัดมือนั้น เป็นการห้ามอย่างเด็ดขาด และเป็นรากฐานสำคัญ ที่จะนำไปสู่ความปลอดภัย และสันติสุข
นี่คือหลักการของอิสลาม เพื่อไม่ให้มีการลักขโมยเกิดขึ้น ซึ่งต่างกับกฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้น กฎหมายอ่อนแอ เห็นแก่สิทธิมนุษยชน ลดโทษให้ผู้กระทำผิด ซึ่งบางทีบุคคลหนึ่งทำความผิดบาป ข่มขืน ลักขโมย แล้วถูกจับ ถูกปรับ และติดคุก เมื่อออกมาจากคุกวิชามารก็เพิ่มมากขึ้นอีก ถึงขั้นเซียน เต็มบ้านเต็มเมือง ตรงนี้เราควรจะต้องคิด เปรียบเทียบกฎหมายของพระองค์อัลลอฮ์ ทั้งด้านกว้างและด้านลึก
พี่น้องที่เคารพรักทั้งหลาย มือจะถูกตัด เมื่อทรัพย์สินที่ถูกขโมยถึงพิกัด หากเป็นทองคำต้องมีน้ำหนัก ¼ ดีนารฺ ขึ้นไป หรือทรัพย์สินอื่นก็ต้องมีมูลค่า ¼ ดีนารฺ ขึ้นไปเช่นเดียวกัน ซึ่งท่านนบีมูฮัมมัด ได้กล่าวว่า
لاتقطع يدالسارق الا في ربع دنار فصاعدا
"มือของขโมยจะไม่ถูกตัด นอกจากทรัพย์นั้นมีมูลค่าถึง ¼ ดีนารฺ ขึ้นไป"
หรือถ้าคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,332 บาท ซึ่งวิธีคิดก็คือ ให้คิดจากราคาขายของทองปัจจุบัน เช่น ถ้าทอง 1 บาท หนัก 15.16 กรัม เป็นเงินปัจจุบัน 19,000 บาท นำจำนวนเงิน 19,000 บาท หารด้วยน้ำหนักทองคือ 15.16 กรัม จะได้ราคาทอง 1 กรัม เป็นจำนวนเงิน 1,253.30 บาท หลังจากนั้น หาราคาทอง 1 ดีนาร ซึ่งมีน้ำหนัก 4.25 กรัม นำจำนวนเงิน 1253.30 บาท x 4.25 กรัม เป็นจำนวนเงิน 5.326.50 บาท ตั้ง หารด้วย 4 เป็นจำนวนเงิน 1,332 บาท ดังนั้นผู้ที่ขโมย ทอง เงิน หรือของมีค่า มีจำนวนเงิน 1,332 บาท จะต้องถูกตัดมือ
วิธีตัดมือ ซึ่งถูกกล่าวไว้ในหนังสือ مطلع البدرين ومجمع الجرين ว่า:
จะต้องใช้เชือกผูกมือ แล้วดึงให้ตึง ให้เห็นข้อมืออย่างชัดเจน และตัดด้วยของมีคม ทีเดียวให้ขาด และมีสุนัต ให้เอามือที่ถูกตัด แขวนคอผู้เป็นขโมย 1 ชั่วโมง เป็นการปลุกจิตสำนึก
- และมีบางประเทศ จะตัดแค่ฝ่ามือ ฝ่าเท้าเท่านั้น
- และบางประเทศจะใช้ขวานตัดเฉพาะนิ้วมือทั้ง 5 นิ้ว เท่านั้น
- และในบางประเทศจะทุบมือให้แตก
เงื่อนไขของการตัดมือนั้นมีหลายประการ
1. ผู้ขโมยนั้น จะต้องบรรลุศาสนนิติภาวะ สมัครใจขโมย ไม่มีใครบังคับ
2. ต้องเป็นทรัพย์ที่มีมูลค่าตามศาสนากำหนด ถ้าขโมยของฮารอม เหล้า เบียร์ ยาเสพย์ติด เป็นต้น จะไม่ถูกตัดมือ
3. ทรัพย์สิน ต้องถึงพิกัด ¼ ดีนารฺ หรือประมาณ 1,332 บาท
4. ทรัพย์สินที่ถูกขโมยนั้นจะต้องถูกเก็บอย่างมิดชิด เก็บในที่ที่ควรเก็บ
5. ทรัพย์ที่ถูกขโมยนั้น ไม่มีการคลุมเครือ ถ้ามีการคลุมเครือ จะไม่มีการตัด เช่นพ่อแม่ขโมยของลูก ลูกขโมยของพ่อแม่ สามีภรรยา ขโมยซึ่งกันและกัน หรือขโมยเนื่องจาก อดอยาก หิวโหย ไม่มีการตัด
6. มีหลักฐานยืนยัน 1 จาก 2 ประการ 1) ยอมรับว่าขโมยจริง 2) มีชาย 2 คนยืนยันว่า เขาขโมยจริง และในกรณีที่เจ้าของทรัพย์ อภัยให้แก่ผู้ขโมย และเรื่องยังไม่เป็นคดีความในชั้นศาล ก็จะไม่มีการตัด แต่ถ้าหากเป็นคดีความในชั้นศาลแล้ว ก็จำเป็นจะต้องตัด
พี่น้องที่เคารพรัก ถ้าพิจารณาดูตามเงื่อนไขแล้ว จะเห็นได้ว่า การตัดนั้น เกิดขึ้นยาก นอกจากผู้ที่เลวจริงๆ นี่คือบทลงโทษ ในดุนยา โลกนี้ ส่วนการลงโทษในวันอาคิเราะฮ์ จะหนักหนากว่าโลกดุนยา นี้อย่างแน่นอน คือ ในโลกอาคิเราะฮ์ จะต้องยกความดีให้กับเจ้าของทรัพย์ 70-700 เท่า ถ้าไม่มีความดีเลย หรือความดีหมด ก็จะต้องรับเอาบาปของเขามาใส่ตัว เป็นการแลกเปลี่ยนชดเชย และความร้อนแรงของไฟในโลกอาคิเราะฮ์ จะร้องแรงกว่าไฟในโลกนี้ถึง 70 เท่า ดังนั้น คนที่คิดหรือจ้องจะขโมยในขณะที่เจ้าของไม่อยู่ ลองเอามือวางบนเตาแก๊สแล้วเปิดไฟหนึ่งนาที ถ้าไม่ร้อนอย่างนี้ขโมยได้ ไม่มีปัญหา ลองทำดู
สุดท้ายนี้ เป็นความจำเป็นเป็น วาญิบ สำหรับผู้ที่ขโมยจะต้องนำสิ่งของที่ขโมยส่งคืนเจ้าของทรัพย์โดยเร็ว ถ้าหากเจ้าของทรัพย์ได้เสียชีวิตไปแล้ว จะต้องส่งคืนให้กับทายาท ที่มีสิทธิ์รับมรดกได้ แม้ว่าการส่งคืนนั้น จะสร้างความลำบากใจ สร้างความเสียหายให้กับตนเองอย่างมากมายก็ตาม เช่น ไปสอยเสื้อผ้า สอยกางเกง ขโมยโทรศัพท์มือถือ ขโมยนกกรงหัวจุก ขโมยรถจักรยาน ฯลฯ เลวมาก ขโมยรองเท้า น่าเจ็บใจมาก และของที่มีค่าอื่นๆ จะต้องรีบส่งคืนโดยด่วน และถ้าหากของที่ขโมยเกิดชำรุด เสียหาย ต้องจ่ายเงินหรือสิ่งมีค่าอย่างอื่นเป็นการตอบแทน ถ้าผู้เป็นขโมยไม่ปฏิบัติตามนี้ ก็จะต้องถูกลงโทษตามที่กล่าวมา วัลลอฮุอะลัม
คุตบะฮ์วันศุกร์ ณ มัสยิดท่าอิฐ