อะฮฺลุซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮ์ ไม่เกี่ยวข้องกับ อะชาอิเราะฮ์ (2)
เขียนโดย บันดัร อิบนุ ซุลัยมาน อัลคอยบะรีย์
แปลและเรียบเรียงโดย อาบีดีณ โยธาสมุทร
ประเด็นที่สอง
แนวทางของพวก อาชาอิเราะฮ์ ในเรื่องการให้เอกภาพในด้านการเป็นเจ้านั้น วางอยู่บนการพิสูจน์และยืนยันในการเป็นรูปธรรมและการเป็นนามธรรม ด้วยเหตุนี้ท่าน อิหม่าม อัลก้อฮฺตอนีย์ อัลอันดะลุซีย์ จึงได้พูดถึงพวกเขาเหล่านี้ไว้ว่า
“การเป็นรูปธรรมและเป็นนามธรรมตามที่พวกคุณได้อ้างกันไว้นี้หรือ ที่จะนำมาใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการรู้จักกับสัจธรรม แล้วคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในดุนยาโดยที่ไม่เคยรู้จักกับทั้งสองเรื่องราวนี้มาก่อนเลย แต่เขาได้ให้การยืนยันและได้ยอมรับในอัลอิสลามและอัลฟุรกอน สำหรับพวกคุณแล้วคนๆนี้จะเป็นมุสลิมหรือเป็นกาฟิรกันครับ หรือคนๆนี้จะเป็นคนมีปัญญาหรือเป็นคนโง่เง่าหรือว่าเป็นคนอ่อนแอดีละครับ”
ภายหลังจากการใช้ความพยายามอันแสนเข็นและความตรากตรำในการครุ่นคิดที่ใช้ไปกับการยืนยันความเป็นพระเจ้าให้กับอัลลอฮฺ ตะอาลา ผ่านทางช่องทางของการพิสูจน์และยืนยันในการเป็นรูปธรรมและและการเป็นนามธรรม แต่เพียงไม่ทันไรพวกอะชาอิเราะฮฺเองกลับทำลายพื้นฐานเหล่านี้ลงเสียหมด พวกเขาทำลายบ้านของพวกเขาด้วยน้ำมือของพวกเขาเอง โดยการเข้าไปยึดถือในแนวคิดซูฟีย์ซึ่งตั้งอยู่บนหลักความเชื่อที่ว่าด้วยการเป็นเอกภาพกันของสรรพสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นหลักความเชื่อที่ขัดกันกับการเชื่อถือในเรื่องของการมีอยู่ของอัลลอฮฺ ตะอาลา โดยสิ้นเชิง
และถ้าหากมีใครซักคนกล่าวแย้งขึ้นมาว่า แล้วข้อมูลปฐมภูมิที่ถูกบรรจุไว้ในตัวของพวกเขาเหล่านี้มันไปอยู่ที่ไหนกัน? เหตุใดข้อมูลดังกล่าวจึงไม่นำพาพวกเขาไปสู่การยืนยันในเรื่องของการมีอยู่ของอัลลอฮฺ ตะอาลา เล่า ?
คำตอบสำหรับคำถามนี้คงเป็นเหมือนกับที่รอซีย์ได้ยืนยันเอาไว้ตามคำพูดของเขาที่ว่า
“และเราขอปิดท้ายบทนี้ไว้ ด้วยข้อมูลที่ได้มีการรายงานมาจากอริสโตเติลที่ว่า ท่านนั้นได้เขียนไว้ในตอนต้นของตำราของท่านที่พูดเกี่ยวกับประเด็นที่ว่าด้วย สิ่งที่ถูกเทิดทูนบูชาว่า ผู้ใดที่ต้องการที่จะเข้ามาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องราวในประเด็นที่ว่าด้วยสิ่งที่ถูกเทิดทูนบูชา เขาก็จงสร้างข้อมูลพื้นฐานอื่น ให้กับตัวเองขึ้นมาใหม่เสีย”
انظر بيان تلبيس الجهمية 1/372
ประเด็นที่สาม
การให้เอกภาพในแง่ของการถือกรรมสิทธ์ในการได้รับการสักการะและภักดี สำหรับพวกอะชาอิเราะฮฺนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการกล่าวถึงประเด็นนี้ไว้เลย ซ้ำพวกเขาเองยังแยกแยะระหว่างเตาฮีดรุบูบียะฮฺกับเตาฮีดอุลูฮียะฮฺไม่ออกเสียอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ คำว่า อัลอิล้าฮฺ สำหรับพวกเขาแล้วก็คือ ผู้ที่มีความสามารถในการสรรสร้างนั้นเอง ซึ่งการให้เอกภาพในประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ฟิรเอาน์เอง ตลอดจนฮามาน อบูญะฮ์ลฺ และพวกมุชริกโดยทั่วไปก็ได้ให้การยอมรับและยืนยันไว้แล้ว
ประเด็นที่สี่
เตาฮีดอัลอัสมาอฺวัสสิฟาต ตามนัยของพวกอะชาอิเราะฮฺนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าพวกอะชาอิเราะฮฺ ได้ให้การยืนยันในเจ็ดพระลักษณะของอัลลอฮฺ ตะอาลา โดยวิธีทางปัญญามิใช่โดยบทบัญญัติ จากจุดนี้จึงทำให้คนยุคหลังบางคนเกิดการสับสนคิดเอาว่าพวกอะชาอิเราะฮฺเป็นส่วนหนึ่งของชาวอะฮฺลุซซุนนะฮฺ เนื่องจากการให้การยืนยันในพระลักษณะทั้งเจ็ดประการนี้ของพวกเขา ซึ่งคำกล่าวนี้ไม่ถูกต้องนัก เพราะใช่ว่าทุกคนที่ให้การยืนยันในพระลักษณะของอัลลอฮฺผ่านทางวิธีทางปัญญาจะกลายเป็นผู้ที่มีแนวความคิดสอดคล้องกับชาวอะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺเสียทุกคนไม่ ดูตัวอย่างจาก อัล อัลลาฟ ที่เป็นหนึ่งในแกนนำของพวกมุอฺตะซิละฮฺ ซึ่งอันที่จริงเขามีแนวความคิดที่ใกล้เคียงกับพวกญะฮฺมียะฮฺเป็นอย่างมาก เขาได้ให้การยืนยันในพระลักษณะของอัลลอฮฺ ตะอาลา สามประการด้วยกัน โดยเขาได้กล่าวว่า
“อัลลอฮฺนั้นทรงเป็นผู้ทรงมีความรู้ ด้วยกับความรู้ ซึ่งความรู้ของพระองค์ก็คือ ตัวตนของพระองค์
พระองค์ทรงเป็นผู้ทรงสามารถ ด้วยกับความสามารถ ซึ่งความสามารถของพระองค์ก็คือตัวตนของ
พระองค์ และทรงเป็นผู้ทรงมีชีวิต ด้วยกับชีวิต และชีวิตของพระองค์ก็คือ ตัวตนของพระองค์”
بيان تلبيس الجهمية 1/607
และในทำนองเดียวกันนี้ บางส่วนของพวกมุอฺตะซิละฮฺแห่งเมืองบัศเราะฮฺก็ได้ให้การยืนยันในพระลักษณ์บางประการของอัลลอฮฺเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะให้บอกว่า บางส่วนของพวกมุอฺตะซฺละฮฺก็เป็นส่วนหนึ่งของชาวอะฮฺลุซซุนนะฮฺด้วยอย่างนั้นหรือ ! ถ้ามองจากแง่มุมนี้
ประเด็นที่ห้า
หลักเชื่อมั่นของพวกอะชาอิเราะฮฺเกี่ยวกับการศรัทธา สำหรับในประเด็นนี้ ถือได้ว่าพวกเขาเป็นพวกญะฮฺมียะฮฺขนานแท้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่พบข้อแตกต่างระหว่างหลักเชื่อมั่นของพวกอะชาอิเราะฮฺในประเด็นเรื่องการศรัทธากับหลักเชื่อมั่นของ ญะฮฺม์ อิบนุ ศอฟวาน แต่ประการใด
อั้ลบาก่อลานีย์ ได้พูดไว้ว่า “ และจะต้องทราบว่า การศรัทธาต่ออัลลอฮฺ อั้ซซะวะญั้ล นั้นคือ การเชื่อถือด้วยหัวใจ”
الإنصاف 33
และเจ้าของเญาฮะเราะตุ้ตเตาฮีด ยังได้พูดไว้ว่า “และจงให้การอธิบายการศรัทธาว่าคือ การเชื่อถือ ส่วนการเอ่ยวาจาออกมานั้น เป็นสิ่งที่ตามมาเบื่องหลังเพื่อยืนยันความเป็นจริง”
جوهرة التوحيد 67
อัชชะฮฺริซตานีย์ได้พูดไว้ว่า “การศรัทธานั้นคือ การเชื่อถือด้วยหัวใจ ส่วนคำพูดตลอดจนการกระทำตามกฏเกณฑ์นั้น ถือว่าเป็นแขนงของการศรัทธานั่นเอง”
الملل والنحل 1/100
เมื่อได้ทำการตรวจสอบคำพูดที่กล่าวเกี่ยวกับประเด็นการศรัทธา เราจะพบว่า คนพวกนี้มีความคิดเห็นสอดคล้องกับพวกญะฮฺมียะฮฺในประเด็นนี้ ท่านชัยคุ้ลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ ได้พูดไว้ว่า
“ส่วนอัลอัชอารีย์นั้น เป็นที่ทราบกันเกี่ยวกับเขาและพลพรรคของเขาว่า พวกเขามีความคิดเห็นที่สอดคล้องกันกับ ญะฮฺม์ ในคำพูดของเขาเกี่ยวกับประเด็นการศรัทธาว่าเป็นเรื่องของการเชื่อถือด้วยหัวใจแต่เพียงเท่านั้น หรือเป็นเพียงการได้รู้จักและรับรู้ด้วยหัวใจแต่เพียงอย่างเดียว”
النبوات 1/580