รับประทานอย่างมุสลิม
  จำนวนคนเข้าชม  7432

รับประทานอย่างมุสลิม

โดย อ.มูฮัมมัด สืบสันติวรพงศ์

 

         ในวันหนึ่งๆ เราต้องรับประทานอาหารกันหลายมื้อ ทั้งมื้อเล็กมื้อใหญ่ อาหารหลัก อาหารว่าง หลากหลายประเภท ตามรสนิยมและวัฒนธรรมการบริโภคของแต่ละคน  อาหารที่เราประกอบหรือปรุงแต่งเองอาจจะไม่มีปัญหาในด้านความถูกต้องตามหลักการศาสนา เพราะเพียงแค่เรามีความเข้าใจในกฏกติกาของศาสนาในเรื่องอาหารฮาลาล เราก็สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องไม่ยาก

        แต่ที่น่าจะเป็นปัญหาหรือเป็นสิ่งที่มุสลิมไม่ควรมองข้าม คือ อาหารที่มิได้ประกอบเอง ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานนอกบ้าน หรือที่ซื้อกลับเข้ามารับประทานที่บ้าน เพราะอาหารที่มุสลิมสามารถบริโภคได้ ไม่ใช่แค่ต้องสะอาด ถูกสุขลักษณะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องถูกต้องตามหลักศาสนบัญญัติด้วย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผู้รับประทานนอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นคนทำงาน นักศึกษา นักท่องเที่ยว นักเรียนที่เป็นมุสลิมต้องคำนึงถึง

 

        มุสลิมที่ดีจะต้องพิถีพิถันกับอาหารที่ตนรับประทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่นอกบ้าน ซึ่งก็คงไม่ใช่สิ่งที่ยากลำบากจนเกินไป เพราะมีอาหารหลากหลายชนิดให้เราเลือกรับประทาน และเราคงไม่เลือกรับประทานอาหารเพียงเพราะว่ามันเป็นไก่ หรือเนื้อวัวเท่านั้น แต่จะต้องพิจารณาถึงเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง คือ ต้องผ่านการเชือดอย่างถูกต้องตามหลักการอิสลาม และต้องชำระล้างให้สะอาดตามอย่างอิสลาม รวมถึงภาชนะที่ใช้ก็ต้องสะอาด และเครื่องปรุงต่างๆ ก็ต้องถูกต้องตามหลักฮาลาล ดังนั้นการเลือกรับประทานอาหารที่เป็นร้านของมุสลิมย่อมเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

 

        อิสลามไม่อนุญาตให้เรารับประทานอาหารที่ไม่แน่ใจในความถูกต้อง เพราะว่าเราไม่ได้อยู่ในภาวะคับขัน ที่หาสิ่งที่ดีกว่ารับประทานไม่ได้ หากเราสามารถจะเลือกสรรรับประทานได้อย่างมากมาย แต่ถ้าหากเราอยู่ในภาวะคับขันหรือหิวโหยจนสุดจะทน หรืออาจจะเป็นอันตรายต่อร่างกายของเราถ้าไม่ได้รับประทาน ก็จะอนุญาตให้เรารับประทานสิ่งนั้น หรือสิ่งที่เราไม่ได้รับอนุญาตให้รับประทานยามปกติ แต่ต้องในปริมาณเพียงแค่ทำให้เรายังชีพอยู่ได้เท่านั้น มิใช่รับประทานจนอิ่มเลยทีเดียว

 

"ผู้ใดอยู่ในภาวะคับขัน(ไม่มีอะไรจะบริโภค)

และไม่ใช่ผู้ละเมิด(บริโภคเกินปริมาณที่จำเป็นในการประทังชีวิต)

ก็ไม่เป็นบาปใดๆแก่เขา(ในการบริโภคสิ่งต้องห้าม)"

(อัลบะเกาะเราะฮ์ : 172)

         เราไม่ควรรับประทานอาหารที่คลุมเครือ เช่น ไม่ทราบแน่ชัดว่า สิ่งที่จะรับประทานนั้นเป็นอะไร มีส่วนผสมอย่างไร หรือในกรณีที่ผู้ประกอบอาหารไม่ใช่มุสลิม ถึงแม้วัตถุดิบ ส่วนประกอบอาหารและเครื่องปรุง รวมทั้งภาชนะต่างๆ สะอาดถูกต้องตามหลักการอิสลามก็ตาม เพราะสำนึกความรับผิดชอบของผู้ประกอบอาหารที่ที่เป็นมุสลิม และที่ไม่ใช่มุสลิมต่อผู้บริโภคนั้นแตกต่างกัน

 

         นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ปัจจุบันมุสลิมมีอาหารหลากหลาย คล้ายกับต่างศาสนิก แต่มีผู้ประกอบการที่เป็นมุสลิม และมีผู้ควบคุมดูแลที่เป็นมุสลิม และได้รับการตรวจสอบจากผู้รับผิดชอบที่เป็นมุสลิม อย่างไรก็ดีหากไม่มีความมั่นใจในอาหารนั้น และมีอาหารอื่นที่เรามีความมั่นใจแม้จะด้อยด้านรสชาติ หรือคุณค่าทางโภชนาการไปบ้างก็ตาม เราก็ควรจะละทิ้งสิ่งที่คลุมเครือเสีย 

ท่านเราะซูล  กล่าวว่า

"แท้จริง สิ่งที่ฮาลาลนั้นชัดเจน และสิ่งที่ฮะรอมก็ชัดเจน

และระหว่างทั้งสองนั้นมีสิ่งต่างๆ ที่คลุมเครือ ที่ผู้คนจำนวนมากไม่ทราบ

ดังนั้น ผู้ใดที่ทิ้งมัน(สิ่งคลุมเครือ)เขาก็ได้ทำให้ศาสนาของเขา เกียรติของเขาบริสุทธิ์

และผู้ใดตกอยู่ในสิ่งคลุมเครือ เขาก็ตกอยู่ในสิ่งที่ฮะรอม"

(บันทึกโดย บุคอรีย์ และมุสลิม)

        เพื่อให้การรับประทานแบบมุสลิมของเราเป็นไปอย่างสมบูรณ์ขึ้น ก่อนลงมือทานอาหารทุกครั้งควรกล่าวพระนามของอัลลอฮ์ 

"บิสมิลลาฮิลเราะมานิลเราะฮีม" (ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงกรุณาปรานี ผู้ทรงเมตตาเสมอ)

และเมื่อเราเสร็จจากการรับประทานอาหารทุกครั้ง เราควรกล่าวสรรเสริญพระองค์ว่า

(การสรรเสริญ เป็นสิทธิ์ของอัลลอฮ์ ผู้ทรงประทานอาหารและเครื่องดื่มแก่เรา และทรงบันดาลให้เราเป็นมุสลิม)

 

 

 

วารสาร สันติสุขสาร มูลนิธิ ชีนำสู่สันติสุข