จงรักษาหน้าที่ของตัวเอง
  จำนวนคนเข้าชม  19376

 

จงรักษาหน้าที่ของตัวเอง

 

เรียบเรียงโดย อิสมาอีล กอเซ็ม

 

มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺผู้อภิบาลแห่งสากลโลก
 

 

         อัลลอฮฺ  ได้สร้างสรรพสิ่งต่างๆ ในโลกใบนี้มีความหลากหลายและแตกต่างกันออกไป ในความแตกต่างเหล่านั้น อัลลอฮฺได้มอบหมายหน้าที่ ที่แตกต่างออกไปด้วยเช่นกัน หากเรามองดูสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัว จะพบว่าแต่ละสิ่งแต่ละอย่างมันดำเนินไปตามระบบ ตามหน้าที่ ด้วยความสมบูรณ์แบบ ไม่เคยมีวันไหนที่ดวงอาทิตย์ไม่ขึ้น และเมื่อมันขึ้นมา ไม่มีวันไหนที่มันไม่ตก และอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่มันทำหน้าที่อย่างไม่บกพร่อง เช่นเดียวกัน มนุษย์ที่อัลลอฮฺสร้างมาให้มีชีวิตอยู่ บนโลกใบนี้ ต่างก็มีหน้าที่ และหน้าที่ของมนุษย์ก็คือ มาอยู่เพื่อทำการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ  ดังคำดำรัสของพระองค์ที่ว่า

 

"และข้ามิได้สร้างญินหรือมนุษย์มาเพื่ออื่นใด เว้นแต่ให้พวกเขาเคารพภักดีต่อข้า"


 

          นี่คือหน้าที่ของมนุษย์ แต่การที่เรามาอยู่ในโลกใบนี้ มีภาระหน้าที่ ที่เราถูกมอบหมายจากอัลลอฮฺ  ดังนั้นจงทำหน้าที่ของเราที่ได้รับมอบหมายให้ครบถ้วนสมบูรณ์ คนเราแต่ละคนมีหน้าที่มากมาย ดั่งหะดีษของท่าน นบี 

 

“ทุกคนในหมู่พวกท่านเป็นผู้รับผิดชอบ และทุกคนในหมู่พวกท่านต้องถูกสอบสวนต่อความรับผิดชอบของเขา  

  ผู้นำเป็นผู้รับผิดชอบและต้องถูกสอบสวนในความรับผิดชอบของเขา  

♦  สามีเป็นผู้รับผิดชอบในครอบครัวของเขา และเขาต้องถูกสอบสวนในความรับผิดชอบของเขา 

♦  ภรรยาเป็นผู้รับผิดชอบในครอบครัวของสามีของนาง และนางต้องถูกสอบสวนในความรับผิดชอบของนาง 

♦  ผู้รับจ้างเป็นผู้รับผิดชอบในทรัพย์สินของผู้จ้าง และเขาต้องถูกสอบสวนในความรับผิดชอบของเขา 

♦  ชายคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านเป็นผู้รับผิดชอบในทรัพย์สมบัติของบิดาของเขา และเขาต้องถูกสอบสวนในความรับผิดชอบของเขา 

ดังนั้น ทุกคนในหมู่พวกท่านเป็นผู้รับผิดชอบ และทุกคนต้องถูกสอบสวนในความรับผิดชอบของเขา”
 

 (บันทึกโดยอิมามบุคอรียฺและมุสลิม)

          จากความเข้าใจในหะดีษข้างต้น คนแต่ละคนต่างมีหน้าที่ ต้องรับผิดชอบดูแล และบางคนมีหน้าที่หลายๆอย่าง หน้าที่ต่อครอบครัว ต่อพ่อแม่ ต่อพี่น้องในสังคม และต่อสังคม ดังนั้นหากคนแต่ละคนตระหนักถึงหน้าที่ของตัวเอง และคิดว่ามันคือ อามานะห์ที่เขาจะต้องรับผิดชอบ และจะได้รับการสอบสวนจากอัลลอฮฺ  โดยละเอียด หากเขาคิดเช่นนั้นเขาจะทำหน้าที่ของเขาโดยสมบูรณ์แบบ การที่คนเราแต่ละคนไม่รู้หน้าที่และบทบาทของตัวเอง หรือคนเราถูกมอบหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใดแล้วกลับไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ฉะนั้นการรักษาหน้าที่เป็นคุณลักษณะของผู้ศรัทธา และเป็นการชี้ถึงการยึดมั่นของคนนั้นต่อคำสอนในศาสนาของเขา

          ปัจจุบันความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในสังคม ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการที่คนบกพร่องในหน้าที่ของตัวเองที่ได้รับการมอบหมาย เช่น หากคนที่เป็นครู ไม่รู้จักหน้าที่ของครูว่าเขาต้องทำอะไรบ้าง หน้าที่ของเขาคืออะไร แน่นอนการที่ครูไม่รู้จักหน้าที่ของตัวเอง มันจะส่งผลต่อเด็กนักเรียนที่เขาสอน นักเรียนอาจจะไม่ได้รับประโยชน์จากความรู้ของครูอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกันหากนักเรียน ไม่รู้จักหน้าที่การเป็นนักเรียน ไม่ทำหน้าที่นักเรียนอย่างสมบูรณ์ ก็จะส่งผลต่อการสอนของครู ส่งผลต่อเพื่อนที่อยู่ร่วมกับเรา และส่งผลต่อระบบของโรงเรียน หรือคนแต่ละอาชีพในมีอยู่ในสังคมไม่ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ หรือคดโกงต่อหน้าที่ของตัวเอง ไม่ปฏิบัติตามนโยบายของหน่วยงานหรือ องค์กรที่ตัวเองทำหน้าที่อยู่ มันก็จะส่งผลเป็นลูกโซ่ ความบกพร่องอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นนั้น สามารถที่จะส่งกระทบกับอีกหลายๆด้าน

ไปดูในอัลกุรอ่านมากมายที่ได้กล่าวถึง การรักษาหน้าที่ของมุสลิม ตามดำรัสของอัลลอฮฺ 

"และบรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้เอาใจใส่ต่อสิ่งที่ได้รับมอบหมายของพวกเขา และสัญญาของพวกเขา"

 (สูเราะห์ อัลมุมินูน)

          จากอายะห์นี่ เป็นส่วนหนึ่งที่ได้กล่าวถึงคุณลักษณะของบรรดาผู้ศรัทธาที่จะได้รับความสำเร็จ คือการได้เข้าไปอยู่ในสวรรค์ อัลฟิรดาวส์ หนึ่งในคุณลักษณะนั้น คือ ผู้ที่รักษาอามานะห์หน้าที่ของตัวเอง 

          การรักษาหน้าที่ มีทั้งที่เกี่ยวข้องกับสิทธิที่เรามีต่ออัลลอฮฺ  ในการปฏิบัติคำสั่งใช้ต่างๆของพระองค์ในเรื่องการประกอบอิบาดะห์ต่อพระองค์ และมีหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ที่เราได้มีหน้าที่ต่อพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการรักษาสัญญาที่ได้ทำการสัญญากับมนุษย์ หรือรักษาหน้าที่ ที่มนุษย์ได้มอบหมายให้แก่เรา เช่น คนทำงานก็ต้องรักษาหน้าที่ ที่หัวหน้างานได้มอบหมายให้  หรือรักษาอามานะห์ที่เป็นของฝากที่มีผู้ฝากผ่านเรามาให้นำสิทธิหรือของฝากนั้นๆ ไปยังเจ้าของสิทธิที่แท้จริง 

          ดังนั้นหากมีใครมอบหมายเราในการนำของฝากผ่านเรามา ให้นำของฝากนั้นไปให้ให้เจ้าของสิทธิ์นั้นๆ จงอย่าได้แสดงความเป็นเจ้าของ ในของฝากนั้นๆ หรือสิทธิบางอย่าง ที่เขาได้ให้เราเป็นตัวแทนให้นำสิทธิไปยังเจ้าของ เช่น มีคนมอบหมาย ให้เรานำเงินซากาตไปแจกจ่ายให้แก่บุคคลที่ยากจน หรือ นำทุนการศึกษา ไปให้นักเรียนที่มีฐานะยากจน หรือให้นักเรียนที่เรียนเก่ง หรืออะไรในทำนองดังกล่าว เราจะต้องทำหน้าที่ให้สุดความสามารถในการนำสิทธินั้น ให้ถึงไปยังเจ้าของสิทธิที่แท้จริง อย่าคิดว่าเงินเหล่านั้น หรือของฝากเหล่านั้น คือของเรา ที่สามารถจะให้ใครก็ได้ตามที่อยากจะให้ ดังนั้นอามานะห์หน้าที่นั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ชี้ถึงความศรัทธาของบุคคล คนหนึ่งด้วย

คำดำรัสของอัลลอฮฺ  ผู้ทรงสูงส่ง


إِنَّ اللَّهَ يَأْمُرُكُمْ أَن تُؤَدُّوا الْأَمَانَاتِ إِلَىٰ أَهْلِهَا وَإِذَا حَكَمْتُم بَيْنَ النَّاسِ أَن تَحْكُمُوا بِالْعَدْلِ إِنَّ اللَّهَ نِعِمَّا يَعِظُكُم بِهِ إِنَّ اللَّهَ كَانَ سَمِيعًا بَصِيرًا ( 58 )

"แท้จริงอัลลอฮฺทรงใช้พวกเจ้าให้มอบคืนบรรดาของฝากแก่เจ้าของของมัน

และเมื่อพวกเจ้าตัดสินระหว่างผู้คน พวกเจ้าก็จะต้องตัดสินด้วยความยุติธรรม

แท้จริงอัลลอฮฺทรงแนะนำพวกเจ้าด้วยสิ่งซึ่งดีจริง ๆ แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงได้ยินและได้เห็น"

          ดังนั้นหน้าที่ของเราที่ได้รับมอบหมายต้องทำให้ดีที่สุด ไม่ว่าหน้าที่เกี่ยวกับการทำอิบาดะห์ต่ออัลลอฮฺ  เช่น การละหมาด การถือศีลอด การจ่ายซากาต และอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับอิบาดะห์ที่เป็นข้อบังคับ และจะต้องทำหน้าที่ ที่มีต่อมนุษย์ใหเป็นไปตามหน้าที่ ที่แต่ละคนได้รับมอบหมาย และอวัยวะในร่างกายก็คืออามานะห์ ที่อัลลอฮฺได้มอบหมายให้เราดูแลรักษา เราไม่มีสิทธิ์จะไปทำลายอวัยวะต่างๆที่อัลลอฮฺ  มอบให้เป็นของฝากไว้ให้ดูแล เช่น การนำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์เข้าสู่ร่างกาย และส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ จนนำมาสู่การเสียสุขภาพ และสุดท้ายก็เป็นเหตุให้เขาต้องเสียชีวิต การกระทำเช่นนั้น ก็ถือว่าเขาไม่มีอามานะห์ต่ออัลลอฮฺ  ในหน้าที่ ที่อัลลอฮฺ  ได้มอบหมายให้แก่เขา และเขามีความผิดในการละเลยหน้าที่ของเขา

          และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลผลประโยชน์ของส่วนรวม เขาจะต้องทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ส่วนรวมให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การถูกมอบหมายให้ดูแลทรัพย์สินส่วนรวม สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆที่เป็นของส่วนรวม เขาจะไม่ฉวยโอกาสในการเอาประโยชน์จากการได้รับดูแลผลประโยชน์ส่วนรวม มาเอื้อประโยชน์ให้แก่ตัวเอง หรือญาติพี่น้อง พวกพ้อง ดังนั้นจงอย่าเป็นบุคคลที่มาลิดรอนสิทธิของผู้อื่น ทำหน้าที่และเอาประโยชน์จากสิ่งที่เป็นสิทธิของเรา โดยไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น หรือใช้ตำแหน่งมายักยอกทรัพย์สินที่เป็นของส่วนรวม 

สำหรับเรื่องนี้อัลลอฮฺ  ได้ตรัสไว้ว่า


وَمَا كَانَ لِنَبِيٍّ أَن يَغُلَّ وَمَن يَغْلُلْ يَأْتِ بِمَا غَلَّ يَوْمَ الْقِيَامَةِ ثُمَّ تُوَفَّىٰ كُلُّ نَفْسٍ مَّا كَسَبَتْ وَهُمْ لَا يُظْلَمُونَ ( 161 )

"และไม่ปรากฏแก่นะบีคนใดที่จะยักยอก(ทรัพย์เชลย) และผู้ใดยักยอกแล้ว เขาก็จะนำสิ่งที่เขายักยอกนั้นมาในวันกิยามะฮ์

แล้วแต่ละคนจะได้รับการตอบแทนอย่างครบถ้วน ตามที่เขาได้แสวงหาไว้ โดยที่พวกเขาจะไม่ได้รับความอยุติธรรม"

          ดังนั้นเราอยู่ในโลกนี้ สิทธิหลายอย่างที่อยู่ในมือ หรืออยู่ในการดูแล เป็นแค่เพียงของฝาก เราเป็นแค่สื่อกลางที่จะนำของฝากเหล่านั้นไปให้ถึงยังเจ้าของที่แท้จริง หากเราเป็นผู้ที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ โดยยักยอกสิ่งที่ไม่ใช่สิทธิของเรา การกระทำนั้นก็เข้าข่ายการกินทรัพย์สินของบุคคลอื่นโดยปราศจากความชอบธรรม และถือว่าเป็นบาปใหญ่ที่ต้องไปชดใช้ในวันกิยามะห์จากสิ่งที่เราได้เอาไป ที่ไม่ใช่สิทธิของเรา

มีรายงานจากอบี ฮุรอยเราะฮ์ รอฎิยัลลอฮูอันฮู ได้กล่าวว่า  ท่านนบี ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า

          "เราได้พิชิต เมืองคัยบัร เราไม่ยึดทรัพย์เชลย ที่เป็นทอง หรือเงิน แท้จริงเราได้ยึด วัว อูฐ และสิ่งของเครื่องใช้ ฝาผนัง หลังจากนั้นเราได้ออกไปพร้อมกับท่าน รอซูลุลลอฮฺ  ไปยังหุบเขาของหมู่บ้าน โดยที่มีทาสชายคนหนึ่งไปพร้อมกับท่าน เขาถูกเรียกชื่อว่า มุดฮิม ซึงชายคนหนึ่งจากเผ่าบะนี อันนิฎอบได้มอบเป็นของขวัญแก่ท่านนบี 

ในขณะที่เขาได้วางอานม้าของท่านรอซูลุลลอฮฺ ได้มีดอกธนูปริศนาได้พุ่งมายังเขา และโดนไปที่ทาสคนดังกล่าว 

ผู้คนต่างกล่าวว่า เขาได้รับชาฮาดะห์ (เป็นชะฮีด) 

       ท่านรอซูลุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า "ขอสาบานต่อผู้ที่ชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ แท้จริงเทียนไขซึงเขาได้เอาไปจากทรัพย์เชลยในสงคราม คัยบัร ที่ทรัพย์นั้นยังไม่ทันได้แบ่ง มันจะจุดไฟนรกสำหรับเขา" 

       แล้วมีชายคนหนึ่งได้นำเชือกผูกรองเท้า หนึ่งเส้น หรือสองเส้น ขณะที่เขาได้ยินเรื่องดังกล่าวจากท่านนบี  แล้วเขาได้กล่าวว่า "นี่คือสิ่งที่ฉันได้เอามัน (ก่อนการแบ่ง)"

แล้วท่านรอซูลุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า "เชือกผูกรองเท้า หนึ่งเส้น หรือ สองเส้นนั้น มาจากนรก (หมายถึงเป็นสาเหตุให้ต้องเข้านรก)"

          จากหะดีษดังกล่าว ได้ชี้ให้เราเห็นถึงความสำคัญของการรักษาทรัพย์สินของส่วนรวม และการรักษาหน้าที่ของตัวเองที่ได้รับมอบหมาย โดยเฉพาะหน้าที่ในการจัดการดูแลทรัพย์สินของส่วนรวม การไปยักยอกทรัพย์สินส่วนรวมมาเป็นของตัวเองนั้นหรือใช้ทรัพย์สินของส่วนรวมเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ถือว่ามันเป็นบาปใหญ่ และเป็นสาเหตุให้เขาต้องถูกลงโทษในนรก ดั่งที่ชายในหะดีษที่หลายๆคน เข้าใจว่าเขาเป็นชาวสวรรค์ แต่ท่าน นบี  มายืนยันว่าเขาคือชาวนรก เพราะสาเหตุที่เขายักยอกทรัพย์สินส่วนรวมที่เขาอาจจะมองว่ามันเป็นของเล็กๆน้อยๆ แค่เทียนไข หรือ แค่เชือกผูกรองเท้า 

          ดังนั้นผู้ที่ดูแลทรัพย์สินส่วนรวมเขาจะต้องตระหนักให้ดีในสมทรัพย์สินเหล่านั้น เขาจะต้องรักษามันให้ดีที่สุด ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม หรือเขาจะต้องนำสิ่งนั้นให้แก่เจ้าของสิทธิ์อย่างแท้จริง เพื่อเขาจะได้รับความปลอดภัย และความพอพระทัยจากอัลลอฮฺ