อะฮฺลุซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮ์ ไม่เกี่ยวข้องกับ อะชาอิเราะฮ์ (1)
  จำนวนคนเข้าชม  3291

 

อะฮฺลุซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮ์ ไม่เกี่ยวข้องกับ อะชาอิเราะฮ์ (1)

 

เขียนโดย บันดัร อิบนุ ซุลัยมาน อัลคอยบะรีย์
 

แปลและเรียบเรียงโดย อาบีดีณ  โยธาสมุทร


 

          เป็นที่แน่นอนว่าการสังกัดตนเข้ากับชาวอะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺนั้น ถือเป็นการร่วมสังกัดที่มีเกียรติ ซึ่งมุสลิมทุกๆคนที่ปราถนาอัลลอฮฺ  และวันอาคิเราะฮฺต่างพยายามผลักดันตัวเองขึ้นไปให้ถึง แต่ทว่าลำพังการกล่าวอ้างว่าได้ร่วมสังกัดแต่เพียงอย่างเดียวนั้น ยังไม่อาจทำให้ผู้ที่กล่าวอ้างสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชาวอะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺได้แต่อย่างใด  หากแต่เขาผู้นั้นจะต้องยอมจ่ายค่าตอบแทนอันล้ำค่าเพื่อที่จะได้รับเกียรติในการเข้าร่วมสังกัดนี้เสียก่อน ซึ่งนั่นได้แก่การยอมจำนนต่อคัมภีร์ของอัลลอฮฺ  และแนวทางของร่อซู้ลของพระองค์ ตลอดจนการน้อมรับต่อสิ่งทั้งสองนี้ตามวิถีแห่งชาวซะลัฟอย่างก้าวต่อก้าว

 

         แเละการที่พวกอะชาอิเราะฮฺ ได้พยายามอ้างตนตามข้อกล่าวอ้าง และในอีกบางครั้งก็มีบุคคลร่วมสมัยบางคนได้นำพวกเขามาใส่ไว้ให้เป็นส่วนหนึ่งของชาวอะฮลุ้ลซุนนะฮฺ จึงถือเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีการชี้แจงกันให้ทราบว่า ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวนี้ไม่ถูกต้องไม่ว่าจะในแง่มุมใดก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้นชาวซะลัฟได้นับเอาพวกเขาเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่ทำการอุตริและตามอารมณ์

 

ท่านอิบนุ คุวั้ยซ์ มินด้าด ซึ่งเป็นอิหม่ามของชาวมาลิกีย์ได้พูดไว้ว่า
 

          “พวกพ้องของอารมณ์ตามนัยของท่านอิหม่ามมาลิกตลอดจนพวกเราทั้งหมด คือ พวกนิยมตรรกะ (อะฮฺลุ้ลกะลาม) ดังนั้น นักตรรกะทุกคนคือ พวกตามอารมณ์และพวกอุตริ ไม่ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นพวกอะชาอิเราะฮฺหรือไม่ใช่อะชาอิเราะฮฺก็ตาม ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้ การทำหน้าที่เป็นพยานของเขาจะไม่เป็นที่ยอมรับในอิสลามอีกต่อไป และเขายังจะต้องถูกกีดกันไม่ให้ผู้คนเข้าไปสมาคมด้วย ตลอดจนยังต้องถูกสั่งสอนตักเตือนในประเด็นที่เป็นการอุตริของเขา ซึ่งถ้าหากเขายังทำตนเหมือนเดิมอยู่อีกก็จะต้องมีการชี้แจงและเรียกร้องให้เขาสำนึกผิดและกลับตัวเสีย”

 
 (جامع بيان العلم و فضله 2/96 وانظر بيان تلبيس الجهمية 2 / (87

 

ท่านอิบนุ กุ้ดดามะฮฺได้กล่าวไว้ว่า 
 

         “และเราเองก็ไม่ทราบว่าจะมีพวกอุตริกลุ่มใดที่มีพฤติกรรมอำพรางแนวความคิดของตัวเองไว้ และไม่ยอมแสดงตนเปิดเผยแนวคิดของตนออกมาให้ชัดเจน นอกจากพวกซินดี้กและพวกอะชาอิเราะฮฺเท่านั้น”
 

( المناظرة في القرآن  (35)

 

        ซึ่งการพิสูจน์ยืนยันในประเด็นดังกล่าวนี้ได้มาจากบรรดาอุละมาอ์ชั้นนำของชาวซะลัฟ ซึ่งบ่งบอกถึงความห่างไกลกันอย่างมากระหว่างหลักความเชื่อของพวกอะชาอิเราะฮฺและหลักความเชื่อของชาวอะฮฺลุ้ลซุนนะฮฺวั้ลญะมาอะฮฺ ซึ่งจากนี้ไปจะเป็นการบรรยายถึงบางประเด็นที่ผู้คนบางส่วนคิดกันไปเองว่าเป็นประเด็นที่พวกอะชาอิเราะฮฺ มีความคิดเห็นที่สอดคล้องกับอะฮฺลุ้ลซุนนะฮฺในเรื่องราวของหลักความเชื่อ 


ประเด็นที่หนึ่ง 

          แหล่งที่มาในการรับข้อมูลทางศาสนาของพวกอะชาอิเราะฮฺนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับแหล่งที่มาของชาวอะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺ ดังนั้น จะเสมอเหมือนเท่าเทียมกันหรือ ! ระหว่างคนที่วางรากฐานอาคารของตนไว้บนความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ กับคนที่ตั้งรากวางฐานอาคารของตนไว้บนปากเหวที่กำลังจะถล่มลงมา ! มันไม่มีทางเหมือนกันอย่างแน่นอน 

       ทั้งนี้ เนื่องจากแหล่งที่เป็นที่มาที่ไปของข้อมูลทางศาสนาของชาวอะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺนั้นได้แก่ อัลกุรอาน อัซซุนนะฮฺที่ศ่อฮี้ฮฺ และแนวทางของชาวซะลัฟ ส่วนแหล่งที่มาของพวกอะชาอิเราะที่พวกเขาใช้ในการยืนยันข้อมูลเรื่องศาสนานั้นได้แก่ สติปัญญา ส่วนสิ่งอื่นที่นอกเหนือไปจากสติปัญญานั้นเป็นเพียงผู้ตามของสติปัญญาเท่านั้นเอง

           อับดุ้ลกอดิ้ร อั้ลบั้ฆดาดี้ ได้พูดไว้ว่า “ส่วนหนึ่งจากเงื่อนไขของการที่จะทำให้การศรัทธาเป็นสิ่งที่ถูกต้องและใช้ได้ ตามนัยของพวกเรานั้นก็คือ การที่จะต้องมีความรู้เรื่องหลักพื้นฐานในการใช้ปัญญาเป็นทุนเดิมไว้ก่อน”

 
(   أصول الدين 269 )


        ดังนั้นอัลกุรอ่านจึงไม่ใช่แหล่งที่มาของหลักเชื่อมันตามนัยของพวกอะชาอิเราะอฺ แต่ทว่าพวกเขาได้สถาปนาหลักเกณฑ์ที่ใช้เป็นบรรทัดฐานขึ้นมา เพื่อทำลายข้อมูลที่เป็นการบ่งชี้ของอัลกุรอ่านลงเสีย 


        อั้รรอซีย์ได้พูดไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ อะซาซุ้ตตักดี้ซ ว่า “ ตอนที่สามสิบสองว่าด้วยกรณีที่หลักฐานทางปัญญา เมื่อเกิดการขัดแย้งกับข้อมูลในด้านที่ประจักษ์ออกมาจากหลักฐานอันนักลียะฮฺ (อัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺ) ว่าจะต้องวางท่าทีอย่างไรในกรณีนี้ ” แล้วเขาก็กล่าวถึง หลักเกณ์มาตรฐานที่ได้สถาปนากันขึ้นมา  ยังไม่เพียงเท่านี้ พวกอะชาอิเราะฮฺเองยังเลยเถิดไปถึงขั้นที่ ออกมาตัดสินการยึดถือตามข้อมูลในด้านที่ประจักษ์ออกมาจากอัลกุ้รอ่านและอัซซุนนะฮฺว่าเป็นการปฏิเสธศรัทธา

        มุฮัมหมัด บิน ยูซุฟ อั้ซซะนูซีย์ อั้ตติ้ลมิซานีย์ได้พูดไว้ว่า “พื้นฐานของการปฏิเสธศรัทธามีด้วยกันหกประการ” แล้วเขาก็กล่าวว่า “ประการที่หก การยึดถือในประเด็นที่เป็นรากฐานของการศรัทธาโดยยึดถือมาจากเพียงสิ่งที่เป็นด้านที่ประจักษ์ออกมาจากอัลกุ้รอ่านและอัซซุนะฮฺโดยไม่ได้นำไปพิสูจน์กับหลักฐานทางสติปัญญาและมาตราฐานทางบทบัญญัติเสียก่อน”

 
 (شرح عقيدة أهل التوحيد الكبرى (502

 

         อัศศอวีย์ อั้ลอัชอะรีย์ ได้พูดไว้ว่า “การยึดถือตามข้อมูลในด้านที่ปรากฏออกมาของอัลกุรอ่านและอัซซุนนะฮฺนั้น เป็นส่วนหนึ่งของพื้นฐานของการปฏิเสธศรัทธา”

(   حاشية تفسير الجلالين (3/9 )

          ส่วนในด้านที่เกี่ยวกับแบบฉบับของท่านนบี  อันมีเกียรตินั้น พวกเขาเองได้ทำการปฏิเสธไม่ยอมรับสามในสี่ของอัซซุนนะฮฺไปเรียบร้อยแล้ว โดยให้เหตุผลว่า ซุนนะฮฺดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ถ่ายทอดมาโดยสายรายงานที่เป็นสายรายงานเดี่ยว ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับในเรื่องราวที่เกี่ยวกับหลักเชื่อมั่น  


        อั้รรอซีย์ ได้พูดไว้ว่า “ส่วนการยึดถือตามข้อมูลที่เป็นข้อมูลชนิดสายรายงานแบบสายรายงานเดี่ยว ในเรื่องการทำความรู้จักเกี่ยวกับอัลลอฮฺ ตะอาลานั้น ไม่ถือเป็นที่อนุมัติ”

 
(أساس التقديس (168

          สำหรับในประเด็นที่เกี่ยวกับท่าทีของคนกลุ่มนี้ต่อความรู้ความเข้าใจของชาวซะลัฟ มีหลักเกณฑ์หนึ่งของพวกเขาที่เป็นที่รู้จักกันดีในประเด็นนี้อยู่ นั่นคือ “วิถีของชาวซะลัฟนั้นปลอดภัยกว่า ส่วนวิถีของชาวค่อลัฟนั้นมีความรู้มากกว่าและมีเหตุผลมากกว่า” ซึ่งจะทำการชี้แจงเพิ่มเติมต่อไปเมื่อจะพูดถึงท่าทีของคนกลุ่มนี้ต่อบรรดาศ่อฮาบะฮฺ