หยุดคิดสักนิด…ก่อนสร้างมัสยิดหลังใหม่
ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ
ปัจจุบัน ความแตกแยกในสังคมมุสลิมค่อนข้างรุนแรง โดยมีสาเหตุสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
1. ความแตกแยกอันเกิดจากความเห็นต่างทางศาสนา
ความแตกแยกจากสาเหตุนี้มักมีผู้รู้เป็นหัวขบวน แต่เป็นผู้รู้ที่ผ่านการศึกษาแบบแยกส่วน จึงทำให้ยึดหลักการอิสลามแบบแยกส่วน ไม่คำนึงถึงความเป็นองค์รวม หรือมีแต่ซุนนะฮฺ แต่ขาดจิตวิญญาณแห่งญะมาอะฮฺไป
ในธรรมชาติที่อัลลอฮฺทรงสร้างนี้ ส่วนย่อยของสรรพสิ่งมักมีแขนงย่อยอยู่มากมาย แต่ทั้งหมดล้วนมาจากรากเหง้าเดียวกัน ครั้นเมื่อผู้รู้เหล่านี้ยึดส่วนย่อยมาเป็นแกน และละทิ้งแก่นสำคัญไป สิ่งที่เกิดเป็นผลตามมาคือการปฏิเสธแขนงย่อยอื่นๆ ที่ล้วนมาจากแก่นเดียวกัน และในที่สุดก็คือ นำไปสู่ความแตกแยกในสังคม ซึ่งแสดงออกโดยการแยกมัสยิดนั่นเอง
ข้ออ้างของผู้แยกมัสยิดส่วนใหญ่อยู่ในประเด็นนี้ พวกเขาเพ่งมองส่วนย่อยของซุนนะฮฺเป็นการเฉพาะ และไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่างในส่วนนี้ จนในที่สุดก็นำไปสู่การแยกมัสยิด ซุนนะฮฺส่วนย่อยที่พวกเขายึดมั่นยังอยู่กับพวกเขาต่อไป แต่ซุนนะฮฺใหญ่ที่กำหนดให้มุสลิมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ ได้ถูกทำลายลง มัสยิดสองแห่งที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน แม้จะกราบกรานพระเจ้าองค์เดียวกัน หันหน้าไปสู่ทิศทางเดียวกัน แต่กลับไม่สามารถทำอิบาดะฮฺร่วมกันได้ อิบาดะฮฺ เช่น ละหมาดญะมาอะฮฺ ซึ่งควรเป็นกรอบหลอมรวมมุสลิมเข้าด้วยกัน กลับเป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อแบ่งแยกคนออกเป็นกลุ่มๆ แทน
อันที่จริง ท่านนบีมุฮัมหมัด ผู้เป็นแหล่งกำเนิดแห่งซุนนะฮฺที่แต่ละฝ่ายอ้างถึง เป็นผู้ตระหนักดีถึงธรรมชาติแห่งมนุษย์ ที่แม้จะมาจากแหล่งเดียวกันก็จริงอยู่ แต่ในส่วนปลีกย่อยของชีวิต มีความแตกต่างอยู่มากมาย ท่านจึงยอมรับความเห็นต่างของเหล่าซอฮาบะฮฺ ที่หลายครั้งได้ตีความคำพูดและการกระทำของท่านไม่ตรงกัน แต่สิ่งที่ท่านเป็นห่วงคือ การปฏิบัติที่ไม่เหมือนกันเหล่านี้จะต้องไม่นำไปสู่การแตกแยกแบ่งฝ่ายอย่างเด็ดขาด กระทั่งถึงกับยกให้การสร้างภราดรภาพและความเป็นเนื้อเดียวกันในหมู่มุสลิม มีฐานะสูงส่งกว่าตัวละหมาดด้วยซ้ำไป เช่น ฮะดิษต่อไปนี้
“เอาไหม ฉันจะบอกให้รู้ว่าอะไรล้ำเลิศกว่าการละหมาด การถือศีลอด และการบริจาคทาน ?
เหล่าซอฮาบะฮฺตอบว่า เอาครับ ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ
ท่านเฉลยว่า คือ การสมานรอยร้าว แท้จริงความสัมพันธ์ที่เสื่อมทรามของผู้คน คือ ตัวทำลายศาสนา”
โดยนัยแห่งคำสอนเช่นนี้ของท่านเราะซูลลุลลอฮ์ เหล่าซอฮาบะฮฺจึงเข้าถึงแก่นแห่งศาสนาได้ แม้พวกท่านเหล่านั้นจะมีความเห็นต่างในประเด็นปลีกย่อยมากมาย เช่น ความเห็นต่างระหว่างอุมัร อัลค็อฏฏอบ กับ อับดุลลอฮฺมัสอูด ซึ่งอิบนุลกัยยิม ระบุในหนังสือเอียะลามุน มุวักกีอีน ว่ามีอยู่ถึง 100 ประเด็นด้วยกัน แต่ทั้งสองคนก็รักใคร่และห่วงใยกันและกัน โดยไม่มีรอยปริแยกใดๆ ให้เห็น
ครั้นเมื่ออุมัรลาลับไป ขณะอิบนุมัสอูดมีชีวิตมาจนถึงยุคสมัยอุสมาน อัฟฟาน ท่านก็เห็นแย้งกับอุสมานในเรื่องการละหมาดที่มินา อุสมานละหมาดเต็มสี่ร็อกอะฮฺ ขณะอิบนุมัสอูดเห็นว่าควรละหมาดเพียงสองตามแบบอย่างแห่งศาสดา แต่เมื่อถึงเวลาละหมาดจริงๆ ท่านกลับละหมาดสี่ร็อกอะฮฺเหมือนอุสมาน มีผู้ถามอิบนุมัสอูดว่า เหตุใดจึงละหมาดสี่ร็อกอะฮฺ ทั้งๆ ที่เคยคัดค้านอย่างแข็งขันมาก่อน ท่านตอบว่า
“ความขัดแย้งเป็นสิ่งชั่วร้าย มันเป็นสัญลักษณ์ของผู้เดินตามอารมณ์มากกว่า”
2. ความแตกแยกอันเนื่องจากการแย่งชิงผลประโยชน์
ที่เห็นบ่อยครั้งที่สุด น่าจะเป็นการแข่งขันชิงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งหากอิหม่ามมัสยิดเข้าไปพัวพันในลักษณะหนึ่งลักษณะใดแล้ว ก็มักทำให้เกิดรอยร้าวในชุมชน และนำไปสู่การแยกมัสยิดได้ นี่นับเป็นความเลวร้ายอย่างหนึ่งของผู้ทำการแยกมัสยิด เพราะการแย่งชิงตำแหน่งทางการเมือง จนสูญเสียความเป็นพี่น้องไปก็นับว่าชั่วช้าอย่างยิ่งแล้ว ผู้กระทำการยังซ้ำเติมสังคมด้วยการเอามัสยิดที่เป็นสถาบันเพื่อการหลอมรวมผู้คนให้เป็นเอกภาพ มาเป็นที่ระบายอารมณ์และเป็นเครื่องมือต่อรองของตน จนสังคมต้องแตกแยกออกเป็นฝักเป็นฝ่ายอีกด้วย การเข้าร่วมกิจกรรมกับมัสยิดเช่นนี้ นับว่าช่วยเพิ่มรอยร้าวในสังคมให้ปริแยกมากขึ้น บุคคลจึงไม่ควรตกเป็นเหยื่อ โดยการเห็นแก่พรรคพวก พี่น้อง จนลืมหลักการแห่งอัลลอฮฺไป
3. ความแตกแยกอันเนื่องจากความไม่พอใจต่อตัวผู้นำ
ความไม่พอใจต่อตัวผู้นำเกิดได้ ทั้งเมื่อผู้นำปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ หรือเมื่อผู้นำบกพร่องต่อหน้าที่ของตนเอง หากปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อตรงตามอมานะฮฺ ก็สร้างความไม่พอใจต่อผู้สูญเสียผลประโยชน์จากการทำหน้าที่นั้น และหากปฏิบัติหน้าที่อย่างขาดตกบกพร่อง ก็สร้างความไม่พอใจแก่ผู้ประสงค์จะเห็นชุมชนเจริญก้าวหน้า
แต่จะไม่พอใจผู้นำด้วยเหตุผลใดก็ตาม มุสลิมย่อมไม่อาจแบ่งแยกสังคมให้แตกเป็นเสี่ยงด้วการแยกมัสยิดแยกละหมาดได้ เพราะการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการเช่นนั้น จะยิ่งทำให้สังคมอ่อนแอและเปราะบางมากขึ้น จากความห่างเหินระหว่างกัน และความป็นพี่น้องที่ขาดหายไป มัสยิดและการละหมาดที่นำสู่ภาวะเช่นนี้ จึงย้อนแย้งกับเจตนารมณ์ในการสร้างมัสยิดของท่านนบีมุฮัมหมัด อย่างแน่นอน ดังนั้น จึงไม่สมควรเกิดขึ้นเลย
หากมัสยิดใหม่ที่เกิดขึ้นโดยกลุ่มผู้ที่ไม่พอใจที่มีอิหม่ามปฏิบัติหน้าที่จริงจังตามหลักศาสนา จนกระทบผลประโยชน์ของพวกเขา ก็สมควรที่มัสยิดซึ่งพวกเขาสร้างขึ้นจะถูกทำลายโดยคนส่วนใหญ่ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ควรได้รับการเมินเฉยจากมวลชน เพราะการเข้าไปสนับสนุนเท่ากับไปส่งเสริมความชั่ว นั่นเอง ส่วนหากมัสยิดใหม่ ถูกสร้างขึ้นเพราะผู้นำในมัสยิดเดิมย่อหย่อนต่อหน้าที่ หรือทำอะไรที่ผู้สร้างเห็นว่าผิดพลาดบกพร่อง ก็ควรที่ผู้สร้างมัสยิดจะได้ตระหนักถึงคำสอนของรอซูลแห่งอัลลอฮฺ ที่ว่า
“ผู้ใดเห็นสิ่งที่น่ารังเกียจจากผู้นำของตน ก็จงอดทนไว้เถิด (อย่าได้ทำการแยกตัวไปตั้งกลุ่มใหม่)
เพราะใครก็ตามแยกตัวไปจากญะมาอะฮฺแม้เพียงคืบหนึ่ง แล้วตายไปในลักษณะนั้น สภาพของเขาก็คือ ชาวญาฮิลียะฮฺไม่มีอื่น”
คำว่า “ญะฮิลียะฮฺ” สะท้อนบอกการทำอะไรตามใจตนเอง โดยไม่เคารพกฎระเบียบ ไม่ให้ความสำคัญกับผู้นำ การตายแบบญาฮิลียะฮฺ จึงถือเป็นการตายของคนทรยศต่ออัลลอฮฺแบบหนึ่ง เพราะแม้ผู้นำจะเลวร้าย แต่มุสลิมถูกสอนให้ตักเตือนผู้นำด้วยความอดทน ไม่สามารถแยกตัวเป็นอิสระโดยไม่ขึ้นกับญะมาอะฮฺได้ ยกเว้น หากผู้นำนั้นกระทำการอันส่อแสดงความเป็นมุรตัดชัดเจนเท่านั้น
ความแตกแยกในสังคม เลวร้ายและอาจนำความเสียหายมาสู่ชีวิต มากกว่าการที่ผู้นำมีความพฤติกรรมชั่วเสียอีก
ที่มา: วารสาร “ที่นี่สำนักจุฬาราชมนตรี”