ฮุก่มการกล่าวคำอวยพรในวันอีด การจับมือและการสวมกอดหลังจากละหมาดอีด
  จำนวนคนเข้าชม  13148

 

ฮุก่มการกล่าวคำอวยพรในวันอีด การจับมือและการสวมกอดหลังจากละหมาดอีด


แปลและเรียบเรียง  อ.กิสมัต  ปาทาน

 


คำถาม : 

 

ฮุก่ม(ข้อชี้ขาด) การกล่าวคำอวยพรในวันอีด การจับมือและการสวมกอดหลังจากละหมาดอีดมีว่าอย่างไร ?

 

คำตอบ : อัลฮัมดุลิ้ลลาห์

 

          ได้มีปรากฏจากบรรดาเศาะหาบะฮ์ รอฏิยัลลอฮุอันฮุม ในวันอีดพวกเขาได้แสดงความยินดีซึ่งกันและกัน โดยการกล่าวว่า “ตะก็อบบะลัลลอฮุ มินนา วะมินกุม”

 

          จากญุบัยรฺ บิน นุฟัยรฺ กล่าวว่า ปรากฏว่าบรรดาศอฮาบะฮฺของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิวะซัลลัม เมื่อพวกเขาพบป่ะกันในวันอีดจะกล่าวอวยพรซึ่งกันและกันว่า “ตะก็อบบะลัลลอฮุ มินนา วะมินกา”
 

(อัลฮาฟิซกล่าวว่า สายรายงานฮาซัน)

 

          อิหม่ามอะหฺมัด รอฮิมะฮุลลอฮ์ กล่าวว่า ถือว่าไม่เป็นไร กับการที่ชายคนหนึ่ง กล่าวกับอีกคนเนื่องในวันอีด ว่า “ตะก็อบบะลัลลอฮุ มินนา วะมินกา”

(อิบนุ กุดามะฮฺ คัดลอกคำพูดของท่าน(อิหม่ามอะห์หมัด)ไว้ ในหนังสือ อัลมุฆนีย์)


 

         ชัยคุล อิสลามอิบนุ ตัยมียะห์ ถูกถามใน (หนังสือ) “อัลฟะตาวา อัลกุบรอ” (2/228) ว่า อนุญาตให้กล่าวอวยพร ในวันอีด และการกระทำด้วยคำพูดที่เคยชินของคนทั่วไป เช่น “อีดมุบาร็อก” หรือคำพูดทำนองเดียวกันนี้  มีปรากฏในบทบัญญัติหรือไม่ ? และหากว่ามันมีปรากฏในบทบัญญัติ จะกล่าวด้วยประโยคอะไร ?

 

          อิบนุตัยมียะห์ได้ตอบว่า “สำหรับการกล่าวอวยพรเนื่องในวันอีดพวกเขาจะกล่าวซึ่งกันและกันเมื่อพบกันหลังจากละหมาดวันอีด เช่น “ตะก็อบบะลัลลอฮุ มินนา วะมินกุม” และ “อะหาละฮุลลอฮุ อะลัยกะ” และการกล่าวในทำนองเดียวกันนี้ ลักษณะเช่นนี้มีปรากฏว่าบรรดาเศาะหาบะห์กลุ่มหนึ่งได้ปฏิบัติและในเรื่องนี้บรรดาอิหม่ามส่วนหนึ่งมีความเห็นว่า สามารถกระทำได้ เช่น อิหม่ามอะหฺมัดและคนอื่นๆ 

แต่ทว่า ท่านอิหม่ามอะหฺมัดกล่าวว่า

          "ฉันจะไม่เป็นคนเริ่มกล่าว กับใครก่อนและหากมีผู้ใดมาเริ่มกล่าวกับฉันก่อนฉันจะกล่าวตอบ เพราะว่าการกล่าวตอบคำทักทายเป็นสิ่งที่จำเป็น ส่วนการเริ่มกล่าวคำอวยพรไม่ใช่สุนนะฮฺที่ถูกใช้ให้ปฏิบัติแต่ประการใดและเช่นกันไม่มีคำสั่งห้าม ดังนั้น ผู้ใดได้ปฏิบัติเขาก็มีแบบอย่างและผู้ที่ไม่ปฏิบัติเขาก็มีแบบอย่าง วัลลอฮุ อะลัม”


เชคอิบนุ อุษัยมีน ถูกถามเรื่องหุก่มของการกล่าวอวยพรเนื่องในวันอีดมีว่าอย่างไร ? และมีประโยคหรือสำนวนเฉพาะหรือไม่ ?

          เชค อุษัยมีนได้ตอบว่า “การกล่าวอวยพรเนื่องในวันอีดเป็นสิ่งที่อนุญาตให้กระทำ และมันไม่มีประโยคหรือสำนวนของการอวยพรเป็นการเฉพาะ ทว่าเป็นความเคยชินที่ผู้คนถือปฏิบัติกันมา อนุญาติกระทำและไม่มีความผิดบาปแต่ประการใด”

         “การกล่าวอวยพรในวันอีด มีบรรดาเศาะหาบะห์รอฏิยัลลอฮุอันฮุม บางกลุ่มได้ปฏิบัติกันมา และถึงแม้ว่าพวกเขาไม่ได้ปฏิบัติแต่ทว่าในยุคปัจจุบันเป็นประเพณีที่คุ้นเคยของผู้คน จะกล่าวอวยพรซึ่งกันและกันในโอกาสที่กลับมาพบวันอีด และในโอกาสที่การถือศีลอด การละหมาดกิยามครบถ้วนสมบูรณ์”


ท่านเชคอุษัยมีน ยังถูกถามเรื่อง ฮุก่มการจับมือ การสวมกอดและการอวยพรหลังจากการละหมาดอีดมีว่าเช่นใด ?

         เชคอุษัยมีนได้ตอบว่า “การกระทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้นับว่าไม่เป็นไร เพราะบรรดาผู้ปฏิบัติไม่ได้ยึดถือว่ามันเป็นหนทางสู่การเคารพภักดีและเป็นการแสดงถึงความใกล้ชิดต่ออัลลอฮฺ แต่ทว่าพวกเขาได้ปฏิบัติมันเป็นประเพณี  ความเคยชินและเป็นการให้เกียรตินอบน้อม และตราบใดที่ประเพณีปฏิบัติไม่มีบทบัญญัติมาห้าม พื้นฐานเดิมของมันถือว่าเป็นที่อนุญาต” 

(มัจญมัวะฟะตาวา อิบนุ อุษัยมีน 16 / 208 - 210) 


 

ที่มา http://islamqa.info/ar/49021