กุญแจแห่งความดี
  จำนวนคนเข้าชม  5907

 

กุญแจแห่งความดี

 

อ.มุนีร  มูหะหมัด

 

          มนุษย์ทุกคนต่างมีความปราถนา และพยายามขวนขวายให้ได้มาซึ่งความสุขสบาย และสิ่งที่ดี ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมที่จะประสบกับความทุกข์ยาก และสิ่งที่เลวร้าย ในการที่มนุษย์จะมาถึงจุดนี้ได้ย่อมจะต้องอาศัยปัจจัยและองค์ประกอบ ซึ่งปรากฏอยู่ในคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอาน และซุนนะฮ์ของท่านเราะซูลลุลลอฮ์ 

 

สถาพของมนุษย์แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ

ประเภทที่ 1 ผู้ที่เป็นเสมือนกุญแจที่เปิดไปสู่ความดีงาม และเป็นกลอนที่ปิดประตูที่จะนำไปสู่ความชั่ว

ประเภทที่​ 2 ผู้ที่เป็นเสมือนกุญแจที่จะเปิดไปสู่ความชั่ว และเป็นกลอนที่ปิดประตูที่จะนำไปสู่ความดี

 

          การแบ่งเช่นนี้ได้มาจากประเด็นที่ปรากฏอยู่ในหะดิษของท่านนะบีมุฮัมมัด  ซึ่งท่านอิบนุมาญะฮ์ ได้บันทึกหะดิษซึ่งท่านอนัสอิบนุมาลิก รอฏิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านเราะซูลลุลลอฮ์  กล่าวว่า

         "แท้จริง จากบรรดามนุษย์ มีบุคคลที่เป็นกุญแจสำหรับความดี เป็นกลอนประตูสำหรับความชั่ว และบรรดามนุษย์มีบุคคลที่เป็นกุญแจสำหรับความชั่ว และเป็นกลอนประตูสำหรับความดี ดังนั้น โชคดีจงมีแด่ผู้ที่อัลลอฮ์ ทรงทำให้เขาเป็นกุญแจแห่งความดีด้วยมือทั้งสองของเขา และความวิบัติจงมีแด่ผู้ที่อัลลอฮ์ ทรงทำให้เขาเป็นกุญแจแห่งความชั่วด้วยมือทั้งสองของเขา"

 

         ผู้ใดที่ต้องการจะให้ตัวของเขาเป็นเสมือนกุญแจเปิดประตูไปสู่การทำความดี และเป็นกลอนประตูปิดกั้นมิให้นำไปสู่การทำความชั่ว  จำเป็นที่เขาจะต้องดำรงอยู่ในเงื่อนไขต่อไปนี้

     1. จำเป็นต้องมีความอิคลาศ หรือมีความบริสุทธิ์ใจในการพูดและการกระทำ เพื่ออัลลอฮ์องค์เดียว โดยปราศจากเจตนาอื่นแอบแฝง เพราะความอิคลาศ คือ รากฐานแห่งความดีงาม และเป็นการจุดประกายแห่งความประเสริฐทั้งปวง

 

     2. จะต้องขอดูอาอ์ต่ออัลลอฮ์ ด้วยความจริงใจ โดยปราถนาที่จะให้พระองค์ประทานความสำเร็จมาให้ เพราะดูอาอ์ คือ กุญแจแห่งความดีทั้งหลาย อัลลอฮ์จะไม่ทรงทำให้ดูอาอ์ของผู้เป็นบ่าวที่ดีของพระองค์ไร้ผล และไม่ทรงทำให้การวิงวอนขอต่อพระองค์ของผู้ที่เป็นมุมิน(ผู้ศรัทธา)ต้องผิดหวัง

 

     3. มีความตื่นตัวในการแสวงหาวิชาความรู้ เพราะว่าความรู้คือปัจจัยนำไปสู่จริยธรรมที่ดีงาม และเป็นเกราะกำบังในการทำสิ่งที่ชั่วช้า และเลวร้าย

 

     4. ดำรงตนอยู่กับการปฏิบัติอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติในสิ่งที่เป็นฟัรฎู เช่น การละหมาด เพราะการละหมาดจะยับยั้งสิ่งที่ชั่วช้า และความเลวร้าย

 

     5. มีความประพฤติตามจรรยามารยาทที่ดีงาม และห่างไกลจากอุปนิสัยที่เลวทราม

 

     6. คลุกคลีกับผู้ที่มีความเคร่งครัดในศาสนา และอยู่ร่วมกับบรรดาผู้มีความรู้ เพราะมลาอิกะฮ์โอบปีกห้อมล้อม โดยแผ่ความเมตตา และพึงระวังการคลุกคลีกับคนชั่ว และเลวร้าย เพราะพวกเขาคือ พวกพ้องของชัยฏอน

 

     7. ให้คำแนะนำแก่พี่น้องมุสลิมในสิ่งที่ชอบด้วยบัญญัติศาสนา เพื่อแนะนำให้ประกอบความดี และละเว้นการกระทำความชั่ว

 

     8. รำลึกถึงชีวิตในโลกหน้าอยู่เสมอ และการยืนอยู่หน้าพระองค์อัลลอฮ์ เพื่อรับคำพิพากษาการกระทำของเขาในโลกดุนยานี้ พระองค์จะทรงตอบแทนผู้ทำความดีตามความดีที่เขาปฏิบัติ และจะทรงลงโทษผู้ทำความชั่วตามความชั่วที่เขาปฏิบัติ เพราะ อัลลอฮ์ ตรัสความว่า

"ผู้ใดที่ประกอบความดี แม้จะเพียงเท่าผงธุลี เขาก็จะได้เห็น และผู้ใดประกอบความชั่วแม้เท่าผงธุลีเขาก็จะได้เห็น"

(อัซซัลซะละฮ์ 7-8)

 

     9. สิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่จะเป็นกุญแจแห่งความดี คือ การมีความศรัทธาอย่างจริงจังต่ออัลลอฮ์ ว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า ทรงเดชานุภาพ ทรงประทานความเมตตา และความดีงามมาให้แก่ปวงบ่าวของพระองค์ที่มีเจตนาในการประกอบความดี เพื่อพระองค์

 

     10. การมีความยำเกรง(ตักวา) หรือกลัวเกรงอัลลอฮ์ ในทุกสภาพ จิตใจของเขามุ่งสู่อัลลอฮ์ตลอดเวลา อันจะทำให้เขาทุ่มเทการทำความดีต่อพระองค์

 

     11. จำเป็นที่บุคคลจะต้องมีความปราถนาในการประกอบความดีเพื่อประโยชน์แก่ตัวเอง และเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ในเมื่อบุคคลมีความปราถนาอย่างแรงกล้า มีเจตนาอย่างจริงจัง และมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการประกอบความดี และขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮ์ และปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ในการประกอบความดี เขาก็จะเป็นแบบอย่าง และเป็นส่วนหนึ่งจากกุญแจที่ไขไปสู่การประกอบความดี และเป็นกลอนที่ปิดประตูสู่การทำความชั่ว

 

     12. จำเป็นจะต้องตระหนักอยู่เสมอว่า การบริโภคสิ่งที่หาล้าล(อนุมัติ) และห่างไกลจากสิ่งที่หะรอม(ต้องห้าม) คือ ปัจจัยหนึ่งที่อัลลอฮ์ ทรงประทานบารอกัต และความเมตตามาให้

 

 

วารสารสันติสุขสาร มูลนิธิชี้นำสู่สันติสุข