กิยามุลลัยลฺ
ชัยคฺ มุหัมมัด บิน อับดุลวะฮาบ
ท่านนบี ไม่เคยละทิ้งการละหมาดในยามค่ำคืน(กิยามุลลัยลฺ)ไม่ว่าท่านจะพำนักอยู่ในถิ่นอาศัยหรืออยู่ระหว่างการเดินทาง คืนใดที่ท่านเผลอหลับลึกไม่ทันตื่นหรือเจ็บป่วยไม่สบาย ท่านก็จะละหมาดในเวลากลางวันจำนวนสิบสองร็อกอัตเป็นการทดแทน
ข้าพเจ้า (อิบนุลก็อยยิม) ได้ยินชัยคุลอิสลามอิบนุ ตัยมิยะฮฺกล่าวว่า“ดังกล่าวนี้เป็นหลักฐานว่าหากพลาดละหมาดวิตรฺไปก็ไม่จำเป็นต้องละหมาดชดแต่อย่างใด เนื่องจากเวลาที่กำหนดไว้สำหรับละหมาดวิตรฺนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว เช่นเดียวกับกรณีของการละหมาดเมื่อแรกเข้ามัสยิด(ตะหิยะตุลมัสยิด)ละหมาดเมื่อเกิดอุปราคาหรือละหมาดขอฝน ทั้งนี้เพราะวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการละหมาดวิตรฺคือการปิดท้ายละหมาดยามค่ำคืน ด้วยละหมาดวิตรฺที่มีร็อกอัตเป็นจำนวนคี่”
ท่านนบี ละหมาดยามค่ำคืนจำนวนสิบเอ็ดหรือสิบสามร็อกอัต โดยประเด็นเรื่องจำนวนร็อกอัตนี้นักวิชาการมีความเห็นตรงกันในส่วนของการละหมาดสิบเอ็ดร็อกอัต ส่วนอีกสองร็อกอัตที่เพิ่มขึ้นมานั้นมีความเห็นแตกต่างกันว่าเป็นสุนัตสองร็อกอัตก่อนละหมาดฟัจญรฺ หรือเป็นละหมาดประเภทอื่น ?
ทั้งนี้เมื่อนับเอาจำนวนร็อกอัตดังกล่าวรวมเข้ากับจำนวนร็อกอัตของละหมาดฟัรฺฎูและละหมาดสุนัตต่างๆที่ท่านปฏิบัติอย่างเป็นประจำทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนแล้วก็จะได้จำนวนสี่สิบร็อกอัต นอกเหนือจากจำนวนดังกล่าวล้วนเป็นการละหมาดที่ท่านมิได้ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ
ดังนั้นจึงจำเป็นที่เราจะต้องรักษาการงานที่ดีนี้ไว้ตลอดไป เพื่อที่คำวิงวอนขอของเราจะได้รับการตอบรับ เปรียบได้กับผู้ที่เคาะประตูเรียกสี่สิบครั้ง ในแต่ละวัน แต่ละคืน ไม่นานก็คงมีผู้เปิดประตูต้อนรับ
ตามแบบฉบับของท่านนั้นเมื่อท่านตื่นขึ้นมาในยามวิกาลท่านจะกล่าวว่า
« لاَ إِلهَ إلا أَنْتَ سُبْحَانَكَ اللهُمَّ أَسْتَغْفِرُكَ لِذَنْبِي، وَأَسْألُكَ رَحْمَتَكَ، اللهمَّ زِدْنِي عِلْماً، ولا تُزِغْ قَلْبي بَعْدَ إِذْ هَدَيْتَنِي، وَهَبْ لِي مِنْ لَدُنْكَ رحمةً إِنَّكَ أَنْتَ الوَهَّابُ»
“ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์
โอ้อัลลอฮฺข้าพระองค์ขออภัยโทษต่อพระองค์สำหรับความผิดของข้าพระองค์ข้าพระองค์หวังในความเมตตาของพระองค์
โอ้อัลลอฮฺขอพระองค์ทรงเพิ่มพูนความรู้แก่ข้าพระองค์
และขอทรงอย่าให้หัวใจของข้าพระองค์ไขว้เขวภายหลังจากที่พระองค์ได้ทรงชี้นำทางแก่ข้าพระองค์
ขอพระองค์ทรงประทานความเมตตาแก่ข้าพระองค์ พระองค์เป็นผู้ทรงมอบสิ่งทั้งหลายทั้งปวง"
เมื่อตื่นจากการนอนท่านยังกล่าวว่า
«الحَمْدُ للهِ الذي أَحْيَانَا بَعْدَمَا أَمَاتَنَا وَإليهِ النُشُورُ»
“มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ ผู้ทรงให้เราได้มีชีวิตขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ทรงให้เราสิ้นชีวิต และยังพระองค์เท่านั้นที่ทุกสิ่งจะถูกนำไป"
หลังจากนั้นท่านแปรงฟัน บางครั้งท่านก็อ่านสิบอายะฮฺสุดท้ายจากสูเราะฮฺอาลอิมรอนด้วย จากนั้นท่านอาบน้ำละหมาดแล้วละหมาดสั้นๆสองร็อกอัตดังปรากฏหลักฐานในหะดีษซึ่งรายงานโดยอบูฮุร็อยเราะฮฺ ทั้งนี้ท่านเริ่มละหมาดกิยามุลลัยลฺเมื่อได้เวลากึ่งหนึ่งของคืนหรืออาจจะก่อนหน้าหรือหลังจากนั้นเล็กน้อย
บางครั้งท่านนบี ยืนละหมาดยามค่ำคืนแบบเว้นช่วง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วท่านจะละหมาดแบบต่อเนื่อง การละหมาดแบบเว้นช่วงนั้นดังที่ท่านอิบนุอับบาสกล่าวว่า “เมื่อท่านละหมาดสองร็อกอัตแล้วท่านจะกลับไปนอนท่านทำสลับอย่างนี้อยู่สามครั้งรวมเป็นหกร็อกอัตโดยท่านแปรงฟันและอาบน้ำละหมาดทุกครั้งที่ลุกขึ้นละหมาด หลังจากนั้นท่านจึงละหมาดวิตรฺจำนวนสามร็อกอัตปิดท้าย”
ซึ่งการละหมาดวิตรฺของท่านนั้นมีหลายลักษณะ ในบางครั้งท่านยืนละหมาดแปดร็อกอัตโดยให้สลามทุกสองร็อกอัต แล้วจึงละหมาดวิตรฺห้าร็อกอัตติดต่อกันโดยนั่งตะชะฮุดในร็อกอัตสุดท้ายก่อนให้สลาม
บางครั้งท่านละหมาดเก้าร็อกอัตโดยละหมาดต่อเนื่องกันแปดร็อกอัตแล้วนั่งตะชะฮุดในร็อกอัตสุดท้าย กล่าวซิกรุลลอฮฺสรรเสริญอัลลอฮฺและวิงวอนขอดุอาอ์ จากนั้นก็ลุกขึ้นยืนละหมาดต่อในร็อกอัตที่เก้า แล้วจึงนั่งลงตะชะฮุดและให้สลาม หลังจากนั้นท่านก็ละหมาดอีกสองร็อกอัตหลังให้สลามบางครั้งท่านละหมาดเจ็ดร็อกอัตในลักษณะเดียวกันกับกรณีที่ท่านละหมาดเก้าร็อกอัต หลังจากนั้นท่านก็ละหมาดต่ออีกสองร็อกอัตในท่านั่ง
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ท่านเคยละหมาดทีละสองร็อกอัต แล้วจึงต่อด้วยวิตรฺจำนวนสามร็อกอัตต่อเนื่องกัน ดังปรากฏในรายงานที่บันทึกโดยอะหฺมัด จากท่านหญิงอาอิชะฮฺ ซึ่งเป็นรายงานที่ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะปรากฏรายงานในเศาะฮีหฺอิบนิหิบบาน จากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺเล่าว่าท่านนบี กล่าวว่า
"พวกท่านอย่าได้ละหมาดวิตรฺจำนวนสามร็อกอัต แต่จงละหมาดห้าหรือเจ็ดร็อกอัต อย่าทำให้การละหมาดวิตรฺคล้ายกับละหมาดมัฆริบ”
อัดดาเราะกุฏนีย์กล่าวว่า: สายรายงานหะดีษบทนี้เชื่อถือได้ทุกคน
อิมามอะหฺมัดได้กล่าวถึงการละหมาดวิตรฺว่า “ควรจะให้สลามเมื่อจบสองร็อกอัต แต่ถ้ายังไม่ให้สลามก็หวังว่าจะไม่ผิดแต่ประการใด เพียงแต่รายงานที่ระบุว่าท่านนบี ให้สลามเมื่อจบสองร็อกอัตนั้นมีความชัดเจนถูกต้องมากกว่า”
ในอีกที่หนึ่งท่านกล่าวว่า “หะดีษส่วนใหญ่และที่มีน้ำหนักมากกว่าระบุว่าละหมาดวิตรฺมีเพียงร็อกอัตเดียว ซึ่งฉันเลือกทัศนะนี้”
มีรายงานจากท่านหุซัยฟะฮฺว่าท่านได้เคยละหมาดในเดือนเราะมะฎอนพร้อมกับท่านนบี ซึ่งเมื่อท่านรุกูอฺท่านกล่าวว่า سُبْحَانَ رَبِّي العَظِيم และเมื่อท่านละหมาดได้เพียงสี่ร็อกอัตบิลาลก็มาแจ้งว่าได้เวลาละหมาดศุบหฺแล้ว
สำหรับช่วงเวลาของการละหมาดวิตรฺ บางครั้งท่านละหมาดในช่วงแรกของคืน บางครั้งก็ช่วงกลางๆ และบางครั้งท่านละหมาดในช่วงท้ายของคืน ครั้งหนึ่งท่านเคยยืนละหมาดในยามดึกโดยอ่านซ้ำไปซ้ำมาเพียงอายะฮฺเดียว กระทั่งได้เวลา ศุบหฺนั่นคืออายะฮฺที่ว่า
“หากพระองค์ทรงลงโทษพวกเขา แท้จริงพวกเขาก็เป็นเพียงบ่าวของพระองค์
และถ้าพระองค์ทรงอภัยให้แก่พวกเขาแท้จริงพระองค์คือผู้ทรงเดชานุภาพผู้ทรงปรีชาญาณ”
(อัลมาอิดะฮฺ: 118)
ในการละหมาดยามค่ำคืนนั้นส่วนใหญ่ท่านจะยืนละหมาด แต่บางครั้งท่านก็ละหมาดในท่านั่ง และก็มีบางครั้งที่ท่านเริ่มอ่านในท่านั่งเมื่ออ่านไปจนกระทั่งเหลืออีกเพียงเล็กน้อยท่านก็ยืนขึ้น หลังจากนั้นก็ก้มรุกูอฺขณะที่อยู่ในท่ายืน
และปรากฏรายงานจากท่านระบุว่า ท่านเคยละหมาดต่ออีกสองร็อกอัตหลังเสร็จสิ้นจากการละหมาดวิตรฺ โดยบางครั้งท่านละหมาดในท่านั่ง และบางครั้งท่านเริ่มละหมาดในท่านั่ง เมื่อถึงช่วงรุกูอฺท่านก็ยืนขึ้น แล้วรุกูอฺขณะที่อยู่ในท่ายืน ซึ่งประเด็นนี้ได้สร้างความสับสนแก่คนจำนวนมากโดยพวกเขาเข้าใจว่าหะดีษบทนี้ขัดแย้งกับหะดีษที่ว่า
"พวกท่านจงให้ละหมาดวิตรฺ(ด้วยจำนวนคี่) เป็นการปิดท้ายละหมาดในยามค่ำคืน”
อิมามอะหฺมัดกล่าวว่า “โดยส่วนตัวฉันไม่ยึดถือปฏิบัติ แต่ก็ไม่ห้ามผู้ใดที่จะปฏิบัติเช่นนั้น ซึ่งท่านมาลิกก็ไม่สนับสนุนให้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน”
ทั้งนี้ทัศนะที่น่าจะถูกต้องคือ การละหมาดวิตรฺนั้นถือเป็นอิบาดะฮฺเฉพาะ จึงอาจต่อด้วยการละหมาดสองร็อกอัต เฉกเช่นการละหมาดสุนัตหลังมัฆริบ โดยสองร็อกอัตนั้นถือเป็นการเติมเต็มสำหรับละหมาดวิตรฺนั่นเอง และไม่ปรากฏรายงานว่าท่านนบี อ่านกุนูตในละหมาดวิตรฺยกเว้นหะดีษซึ่งบันทึกโดย อิบนุมาญะฮฺ
อิมามอะหฺมัดกล่าวว่า“ไม่ปรากฏว่ามีรายงานจากท่าน นบี ในเรื่องนี้แต่อย่างใดแต่ท่านอุมัรฺได้เคยกุนูตตลอดทั้งปี”
ทั้งนี้การกุนูตในละหมาดวิตรฺนั้นมีรายงานจากท่านอุมัรฺท่านอุบัยย์และท่านอิบนุมัสอูดและในหะดีษซึ่งบันทึกโดยอบูดาวูดจากอุบัยย์บินกะอฺบ์กล่าวว่า
“ท่านเราะสูล ได้อ่าน สูเราะฮฺ (سبّح اسم ربك الأعلى) สูเราะฮฺ (قل يا أيها الكافرون) และสูเราะฮฺ (قل هو الله أحد)
และหลังจากให้สลามท่านกล่าวว่า “سُبْحَانَ المَلِكِ القُدُّوسِ” จำนวนสามครั้ง โดยในครั้งที่สามท่านกล่าวเสียงดังและลากยาว"
ท่านจะอ่านแต่ละสูเราะฮฺช้าๆอย่างชัดถ้อยชัดคำ ทั้งนี้เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของการอ่านอัลกุรอาน คือการคิดใคร่ครวญ ทำความเข้าใจในความหมายของสิ่งที่อ่าน และปฏิบัติตามหลักคำสอนที่ปรากฏ ซึ่งการอ่านและการท่องจำนั้นเป็นเพียงสื่อกลางที่นำไปสู่ความเข้าใจอัลกุรอาน
ดังที่ชาวสลัฟบางท่านกล่าวไว้ว่า “อัลกุรอานถูกประทานลงมาเพื่อให้เรายึดถือปฏิบัติเป็นธรรมนูญชีวิต แต่ผู้คนกลับยึดเอาการอ่านเป็นสาระสำคัญมากกว่า"
อบูญัมเราะฮฺ ได้เคยปรารภกับ ท่านอิบนุอับบาสว่า “ฉันเป็นคนอ่านเร็วบางครั้งฉันอ่านอัลกุรอานจบทั้งเล่มหนึ่งหรือสองครั้งในคืนเดียว”
ท่านจึงกล่าวแก่เขาว่า “ ในความคิดของฉันให้ฉันอ่านเพียงสูเราะฮฺเดียว(อย่างใคร่ครวญ) ยังจะดีกว่าสิ่งที่ท่านทำ ถ้าท่านอยากจะอ่านเร็วจริงๆ ก็ขอให้อ่านโดยที่หูของท่านได้ยิน และหัวใจของท่านได้คิดใคร่ครวญในสิ่งที่อ่านเถิด”
อิบรอฮีมกล่าวว่า "อัลเกาะมะฮฺได้เคยอ่านอัลกุรอานให้ท่านอับดุลลอฮฺฟังแล้วท่านก็กล่าวว่าท่านจงอ่านช้าๆอย่างชัดถ้อยชัดคำเถิด เพราะนั่นคือความสวยงามของอัลกุรอาน”
อับดุลลอฮฺ กล่าวอีกว่า "พวกท่านอย่าอ่านอัลกุรอานด้วยท่วงทำนองการอ่านบทกลอน และอย่าได้อ่านอย่างไร้ชีวิตชีวาเหมือนดังผลอินทผลัมแห้งที่ร่วงหล่นจากต้น แต่พวกท่านจงอ่านโดยคิดไตร่ตรอง ใคร่ครวญ ไปด้วยให้หัวใจของพวกท่านได้ตื่นตัวและตอบสนองต่อสิ่งที่อ่าน อย่าให้เป้าหมายของพวกท่านอยู่ที่สูเราะฮฺสุดท้ายเท่านั้น(คือเอาแต่เร่งให้จบ)”
ท่านยังกล่าวอีกว่า “เมื่อใดที่ท่านได้ยิน อัลลอฮฺตรัสว่า (يَا أيُّها الذِينَ آمَنُوا) – โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย– ก็จงสดับฟังให้ดีเพราะนั่นหมายความว่าสิ่งที่พระองค์จะตรัสบอกหลังจากนั้นคือความดีที่ท่านถูกสั่งใช้ให้ปฏิบัติ หรือความชั่วที่ท่านถูกสั่งใช้ให้ออกห่าง"
อับดุรฺเราะหฺมาน บินอบีลัยลา กล่าวว่า "สตรีนางหนึ่งเข้ามาหาฉันขณะที่ฉันกำลังอ่านสูเราะฮฺฮูด นางจึงกล่าวแก่ฉันว่าโอ้อับดุรฺเราะหฺมานท่านอ่านสูเราะฮฺฮูดอย่างนี้หรอกหรือ ? ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ แท้จริงฉันได้เริ่มอ่านสูเราะฮฺนี้มาตั้งแต่เมื่อหกเดือนที่แล้ว กระทั่งทุกวันนี้ฉันก็ยังอ่านมันไม่จบ (เพราะนางอ่านโดยครุ่นคิดและใคร่ครวญความหมาย-ผู้แปล)”
ในการละหมาดยามค่ำคืนนั้นบางครั้งท่านเราะสูล อ่านเสียงค่อย บางครั้งท่านอ่านเสียงดัง บางครั้งท่านยืนละหมาดนาน บางครั้งท่านยืนสั้นๆโดยปกติแล้วขณะที่อยู่ในระหว่างการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางคืนหรือกลางวัน ท่านจะนั่งละหมาดสุนัตบนสัตว์พาหนะของท่านไม่ว่ามันจะเดินมุ่งหน้าไปทิศทางใดก็ตาม ท่านรุกูอฺและสุญูดด้วยการก้มลงโดยให้การก้มขณะสุญูดนั้นลงต่ำกว่าขณะรุกูอฺ
แปลโดย:อัสรัน นิยมเดชา / Islamhouse