การแสดงออกถึงความละอาย
ดร.มุฮัมมัด บินมุซัฟฟิรฺ บินฮุเซน อัฏเฏาะวีล อัซซะฮฺรอนี
ความละอายที่แสดงออกให้เห็นได้โดยมนุษย์ สามารถแบ่งออกเป็น 3 สาขา ดังนี้
1) ความละอายต่ออัลลอฮฺ
2) ความละอายต่อคนอื่น
3) ความละอายต่อตนเอง
1) ความละอายต่ออัลลอฮฺ
เป็นความละอายในระดับสูงสุด มันถูกแสดงให้เห็นได้โดยการปฏิบัติตามคำบัญชาของอัลลอฮฺและการละเว้นจากสิ่งที่พระองค์ทรงห้ามและไม่ละทิ้งหน้าที่ใดๆ ที่คนผู้นั้นต้องมีต่อพระองค์ ในบริบทนี้ ฮะยาอ์เป็นข้อพิสูจน์ถึงความศรัทธาที่ถูกต้องดีงามของคนผู้นั้น อิบนุมัสอู๊ด กล่าวถึงท่านนบี ว่า
วันหนึ่งท่านนบี ได้พูดกับบรรดาสาวกของท่านว่า “จงแสดงความเคารพต่ออัลลอฮฺ ตามที่พระองค์ทรงสมควรจะได้รับความเคารพ”
บรรดาสาวกกล่าวว่า “ท่านรอซูลุลลอฮฺ เราแสดงความเคารพต่ออัลลอฮฺ บรรดาการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ ”
ท่านกล่าวว่า
“นั่นไม่ใช่สิ่งที่ฉันหมายถึง แต่คนที่แสดงความเคารพต่ออัลลอฮฺ นั้น ต้องป้องกันหัวใจและสิ่งที่มีอยู่ ต้องป้องกันท้องและสิ่งที่มันบรรจุอยู่ และต้องรักษาความตายและการผุเน่าสลายไว้ในความทรงจำ ใครที่ปรารถนาในโลกหน้าต้องละทิ้งการประดับประดาแห่งโลกนี้ ใครที่ทำเช่นนั้นได้ ก็แสดงความเคารพต่ออัลลอฮฺ ตามที่อัลลอฮฺ ทรงสมควรจะได้รับความเคารพแล้ว”
(บันทึกโดยอัตติรฺมีซี)
เจตนาในฮะดิษนี้ก็คือ เราจะต้องระวังรักษาการมอง การได้ยิน และลิ้นของเรา และใช้มันไปในการเชื่อฟังอัลลอฮฺ เท่านั้น นอกจากนี้แล้ว ปัจจัยของเราต้องได้มาโดยหนทางที่ถูกต้อง (ฮะลาล) ด้วย มีคำบอกเล่าว่า ครั้งหนึ่ง ชายคนหนึ่งเคยหลีกเลี่ยงการละหมาดกับผู้คนในมัสยิด เขาจึงถูกถามถึงเหตุผล และเขาตอบว่า
“ฉันรู้สึกละอาย (ที่จะไปอยู่ต่อหน้าอัลลอฮฺ ) ในการเข้าไปในบ้านของพระองค์ในขณะที่ฉันไม่เชื่อฟังพระองค์”
2) ความละอายต่อคนอื่น
คือ การไม่ทำอันตรายคนเหล่านั้น และการเอาใจใส่ในเรื่องสิทธิ์ของพวกเขา ซึ่งจะทำให้พวกเขารักและไว้วางใจ
3) ความละอายต่อตนเอง
คือ การทำให้ความละอายเป็นผู้ตัดสินการกระทำทุกอย่างของเราเองทั้งในที่ลับและที่แจ้ง การกระทำต้องเป็นไปโดยการเชื่อฟังอัลลอฮฺ และหวังในความพึงพอพระทัยของพระองค์ มิเช่นนั้นแล้ว เราก็ต้องละเว้นจากการทำสิ่งนั้นเสีย
ถ้าความละอายของใครครบถ้วนสมบูรณ์ทั้ง 3 ด้านดังที่กล่าวมาแล้ว สาเหตุทั้งหมดของความดีก็ได้รวมอยู่ในตัวของคนผู้นั้น และสาเหตุทั้งหมดของความชั่วก็จะถูกปฏิเสธ ฮะยาอ์ เป็นเครื่องประดับในตัวมนุษย์และเป็นลักษณะที่น่ายกย่องที่สุดของเขา
อนัส บินมาลิก รายงานว่า ท่านนบี ได้กล่าวว่า
“ความหยาบโลนทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเสียหาย และความละอายทำให้ทุกสิ่งมีเสน่ห์ยิ่งขึ้น”
(บันทึกโดยอัตติรฺมีซี และอิบนุมาญะฮฺ)
เมื่อใครหมดความละอาย เขาก็สูญเสียความสำนึกในเรื่องเกียรติ ความศรัทธาของเขาจะอ่อนแอ เขาจะไม่รู้สึกละอายในการทำความชั่ว และคนอื่นๆ จะไม่ไว้วางใจเขาให้ดูแลเรื่องเงินหรือเรื่องที่มีความสำคัญหรือความลับ มันจะทำให้อัลลอฮฺ และมนุษย์ไม่ชอบเขา ความหมายนี้เป็นที่ชัดเจนโดยคำพูดของท่านนบีมุฮัมหมัด ที่ว่า
“เมื่ออัลลอฮฺทรงไม่ชอบผู้ใด พระองค์จะทรงเอาความรู้สึกเรื่องความละอายทั้งหมดออกไปจากเขา”
ฮะยาอฺ(ความละอาย) ต้องแสดงออกให้เห็นในคำพูดและการปฏิบัติของมนุษย์ เราต้องขัดเกลาลิ้นของเราให้สะอาดจากการพูดสิ่งลามก เพราะการใช้คำพูดหยาบโลนเป็นลักษณะที่ไม่ดีงาม เป็นการไม่คำนึงถึงปฏิกิริยาของคนอื่นที่อาจดูถูกเขา
ในฐานะที่ฮะยาอฺ(ความละอาย) เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง เราต้องระวังในการรักษาชื่อเสียงของเรา เราต้องไม่พูดหรือทำอะไรก็ตามที่อาจทำให้มันเสียหายหรือทำให้คนอื่นดุด่าว่ากล่าวและหัวเราะเยาะ มันเป็นเรื่องดีสำหรับเราเองที่ชื่อเสียงของเรายังคงสะอาดและมีเกียรติ ปลอดพ้นจากข่าวลือที่เสียหายและความอคติ
กวีคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ใครก็ตามที่เสื้อผ้าของเขาคือความละอาย คนอื่นก็จะไม่เห็นข้อบกพร่องของเขา”
อนัส บินมาลิก รายงานว่า ท่านนบี ได้กล่าวว่า
“ถ้าคำพูดหยาบโลนมาสู่สิ่งใดก็จะทำให้สิ่งนั้นเสื่อมเสีย แต่ถ้าความละอายมาสู่สิ่งใดก็จะทำให้สิ่งนั้นสวยงาม”
(บันทึกโดยอัตติรฺมีซี)
ดังนั้น เราต้องมีความละอายในการมีความสัมพันธ์กับครอบครัวของตัวเอง กับเพื่อนๆ และผู้คนในสังคม เราจะต้องพูดและทำแต่สิ่งที่จะทำให้อัลลอฮฺ และรอซูล ของพระองค์ทรงพึงพอใจ
ต่อไปนี้ เป็นบางคำพูดที่ให้ข้อคิดดีๆ เกี่ยวกับเรื่องความละอาย
♣* ไม่มีความดีใดๆ ในคนที่ไม่มีความสำนึกในเรื่องความละอาย
♣* ความพึงพอใจในสิ่งที่มี เป็นข้อพิสูจน์ถึงความซื่อสัตย์ ความซื่อสัตย์เป็นข้อพิสูจน์ถึงความกตัญญู ความกตัญญูเป็นข้อพิสูจน์ถึงส่วนเกิน ส่วนเกินเป็นข้อพิสูจน์ถึงความโปรดปรานที่ยาวนาน ในขณะที่ความละอายเป็นข้อพิสูจน์ถึงความดีทั้งหมด
♣* ไม่มีความซื่อสัตย์จงรักภักดีในผู้ที่ไม่มีความละอาย
♣* ฮะยาอฺ นำไปสู่ความมั่นคง
♣* ฮะยาอฺ นำไปสู่ความสงบสุข
ที่มา : Healing of the heart (การเยียวยาหัวใจ)
บรรจง บินกาซัน, ผู้แปล