ฮัจญ์ และผลดีที่เกิดขึ้นในชีวิตของผู้ศรัทธา
  จำนวนคนเข้าชม  6631

 

ฮัจญ์ และผลดีที่เกิดขึ้นในชีวิตของผู้ศรัทธา

 

เรียบเรียงโดย  อบูชีส

 

          ฮัจญ์ คือ อิบาดะห์ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญ พระองค์อัลลอฮ์ทรงกำหนดการประกอบพิธีฮัจญ์ให้เป็นวาญิบ(จำเป็น)ครั้งหนึ่งในชีวิตของผู้ศรัทธา สำหรับผู้ที่มีความสามารถทางด้านทรัพย์สิน และสุขภาพร่างกาย และสำหรับฮัจญ์นั้นมีผลลัพท์ที่ดีงาม ที่น่ายกย่อง ที่ได้เกิดขึ้นในชีวิตของมนุษย์ ดังที่ได้รายงานถึงท่านนบี  ผู้ทรงเกรียติได้กล่าวไว้ว่า :


"العمرة إلى العمرة كفارة لما بينهما والحج المبرور ليس له جزاء إلا الجنة"

 

"อุมเราะห์หนึ่งถึงอีกอุมเราะห์หนึ่งระหว่างมันนั้นได้รับการอภัยโทษ และฮัจญ์ที่ถูกตอบรับ ไม่มีผลตอบแทนใด นอกจาก สวรรค์"
 

 (البخاري 1773)(مسلم 1349(

 

จากอบีฮุร็อยเราะห์ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮู่ ท่านร่อซูล  ถูกถามถึงการงานที่ประเสริฐที่สุด 


عن أبي هريرة رضي الله عنه رضي الله عنه سئل رسول الله صلى الله عليه وسلم عن أفضل الأعمال فقال : الإيمان بالله ورسوله قيل : ثم ماذا؟ قال : الجهاد في سبيل الله قيل : ثم ماذا؟ حج مبرور "

 

ท่านกล่าวว่า : การศรัทธาต่ออัลลอฮ์ และร่อซูล 
 

และมีผู้กล่าวขึ้นอีกว่า : หลังจากนั้นคืออะไรครับ ? 
 

ท่านร่อซูลตอบว่า : การออกรบในสงครามของอัลลอฮ์ 
 

หลังจากนั้นคืออะไรครับ ? “ฮัจญ์ที่ถูกตอบรับ” 
 

(مسلم 83)(البخاري 26)

 

จากอบีฮุร็อยเราะห์ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮู่ จากท่านร่อซูล  กล่าวว่า 


عن أبي هريرة رضي الله عنه قال رسول الله صلى الله عليه وسلم "من حج لله فلم يرفث ولم يفسق رجع كيوم ولدته أمه"

         “ผู้ใดที่ทำฮัจญ์เพื่ออัลลอฮ์ โดยที่เขาไม่กระทำสิ่งที่หยาบคาย และไม่ทำความไม่ดี เขาได้กลับมาเหมือนกับวันที่มารดาได้คลอดเขา(บริสุทธิ์จากบาปเหมือนเด็กทารกที่กำลังคลอด)"

(مسلم 1350)(البخاري 1521)

        ฮัจญ์ที่ถูกตอบรับนั้นก็คือ ฮัจญ์ที่ผู้คนนำสิ่งที่สอดคล้องกับซุนนะห์ของท่านนบี  มาปฏิบัติในฮัจญ์ของเขา และสัญลักษณ์ของฮัจญ์ที่ถูกตอบรับ คือ สภาพของเขาดีขึ้นกว่าก่อนที่จะได้ทำฮัจญ์ ดังนั้นเมื่อสภาพของเขาเปลี่ยนแปลงหลังจากประกอบพิธีฮัจญ์ จากสภาพที่ไม่ดีสู่สภาพที่ดี หรือดีอยู่แล้วไปสู่สภาพที่ดียิ่งขึ้น และนี่แหละคือสัญลักษณ์ที่ชัดเจนที่บ่งชี้ว่าฮัจญ์ของเขาถูกตอบรับ อินชาอัลลอฮ์


        ♦ จากผลดีที่เขาได้รับจากฮัจญ์และอุมเราะห์ คือ เขานั้นได้ใกล้ชิดกับอัลลอฮ์ด้วยกับอิบาดะห์ต่างๆที่ไม่มีการประกอบอิบาดะห์เหล่านี้ที่ใดนอกจากสถานที่แห่งนั้น คือมักกะห์ เช่น การเวียนรอบกะอ์บะห์ และการเวียนรอบกะอ์บะห์เป็นอิบาดะห์ที่พระองค์อัลลอฮ์กำหนดสถานที่ไว้เฉพาะ คือ บ้านของอัลลอฮ์ (กะอ์บะห์) 

         ดังนั้นเมื่อเขาไปยังมักกะห์ เขาก็จึงจะได้ทำการเวียนรอบกะอ์บะห์ และทำการใกล้ชิดต่ออัลลอฮ์ ด้วยกับอิบาดะห์นั้น หากเขามาไม่ถึงกะอ์บะห์ เขาก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะทำความใกล้ชิดต่ออัลลอฮ์ด้วยกับอิบาดะห์ชนิดนี้เป็นอันขาด เพราะไม่มีสถานที่ใดที่ได้รับอนุญาตให้ทำการเวียนรอบ เว้นแต่กะอ์บะห์เท่านั้น และเพื่อให้เขาได้จดจำ และรำลึกอยู่ตลอดเวลาว่า แท้จริงการเวียนรอบใดๆก็ตาม ที่เกิดขึ้นในสถานที่ใดๆ ก็ตามในโลกใบนี้ ถ้าไม่ใช่สิ่งที่อัลลอฮ์ทรงวางบทบัญญัติเอาไว้ จึงไม่เป็นที่อนุญาตแก่บุคคลใดที่เขาจะเวียนรอบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ใดๆ นอกจากกะอ์บะห์


        ♦ จากผลดีของการทำฮัจญ์ คือ การจูบ และสัมผัสหินดำ และการสัมผัสรุกนุนยะมานี (มุมก่อนถึงหินดำ) แท้จริงอัลลอฮ์ ตะอาลา มิทรงวางบทบัญญัติให้แก่บรรดามุสลิมในการที่เขาจะทำความใกล้ชิดพระองค์ ด้วยกับการจูบ หรือสัมผัสหินใดๆ นอกจากสองสถานที่นี้เท่านั้น ดังที่ได้มีคำพูดยืนยันของท่านอุมัร บิน ค็อฏฏ็อบ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮู่ เมื่อท่านเข้าไปเพื่อที่จะจูบหินดำว่า

"إني أعلم أنك حجر لا تضر ولا تنفع ولولا أني رأيت رسول الله صلى الله عليه وسلم يقبلك ما قبلتك"

"แท้จริงฉันรู้ว่าเจ้าคือก้อนหินธรรมดาก้อนหนึ่ง ไม่ให้โทษ ไม่ให้คุณ หากแม้นว่าฉันไม่เห็นว่าท่านร่อซูล  จูบเจ้า ฉันก็จะไม่จูบเจ้า"

 (مسلم 1270)(البخاري 1597)

          ♦ จากผลดีของการทำฮัจญ์และอุมเราะห์ ก็คือ ผู้ที่ครองเอียะห์รอม เมื่อเขาได้เปลื้องชุดของเขาเพื่อที่จะสวมใส่เอียะห์รอม สวมเพียงผ้าสองชิ้น ซึ่งมีความเท่าเทียมกันระหว่างคนรวยและคนจน ให้เขาได้รำลึกถึงสิ่งที่เขาได้สวมใส่นี้ ถึงการสวมใส่ผ้ากะฝั่น ในยามที่เขาเสียชีวิตไป เพื่อที่จะได้เตรียมตัวด้วยกับการงานที่ดีงาม ซึ่งเป็นเสบียงที่ดีเลิศที่สุด ดังที่อัลลอฮ์ตะอาลาตรัสไว้ว่า


“وتزودوا فإن خير الزاد التقوى”

"และพวกเจ้าจงเตรียมเสบียงเถิด แท้จริงเสบียงที่ดีที่สุดนั้นคือความยำเกรง"

(อัลบะกอเราะห์ 197)


        ♦ จากผลดีที่ได้จากการทำฮัจญ์และอุมเราะห์ ก็คือ การรวมตัวของบรรดาฮุจญาจที่ทุ่งอะรอฟะห์ นับว่าเป็นการเตือนใจให้นึกถึงการรวมตัวครั้งยิ่งใหญ่ในวันกิยามะห์ และเป็นการกระตุ้นให้เขาเตรียมตัวสำหรับวันนั้นด้วยการงานที่ดี

          ในการทำฮัจญ์นั้นบรรดามุสลิมทั่วทุกมุมโลกต่างได้พบปะกัน ได้ทำความรู้จักกัน ตักเตือนซึ่งกันและกัน ได้รับรู้ถึงสภาพของกันและกัน และได้ร่วมแสดงความปลื้มปิติยินดีซึ่งกันและกัน เฉกเช่นที่เขาได้ช่วยเหลือกันในยามเจ็บปวด และได้ชี้แจงกันในสิ่งที่สมควรจะทำให้พิธีฮัจญ์ ช่วยเหลือกันในเรื่องความดีและความยำเกรง ดังที่อัลลอฮ์ทรงกำชับเราไว้

 


          ทิ้งท้ายให้ข้อคิดไว้ว่า : อิบาดะห์ทั้งหลายที่พระองค์อัลลอฮ์ได้วางบทบัญญัติให้แก่เราล้วนแล้วแต่มีผลดีแก่ชีวิตของเราทั้งสิ้น เพียงแต่เราจะพินิจพิจารณาหรือไม่? เพราะผลดีทีเกิดขึ้นในอิบาดะห์ของเราในดุนยา ล้วนแล้วแต่จะส่งผลถึงอาคิเราะห์ของเราอย่างแน่นอน วัลลอฮุอะอ์ลัม