เมตตาธรรมของท่านเราะสูล ﷺ ต่อผู้อ่อนแอ
อับดุลอาซีซ สุนธารักษ์
ใครหรือคือผู้ที่อ่อนแอ ? “ ในยุคแห่งการเติมโตและพัฒนาทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตส่งผลให้มีเปอร์เซ็นการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นในประเทศญี่ปุ่นในปีหนึ่งมากกว่า 30,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น เป็นเปอร์เซ็นที่สูงที่สุดในโลกปัจจุบัน” (www.news.bbc.co.uk) นี่คือสภาพของคนเหล่านั้น แต่ อิสลามนั้นแตกต่าง!!
มนุษย์อาจคิดว่า คำว่า "ผู้อ่อนแอ" อาจหมายถึงกลุ่มเฉพาะ หรือกลุ่มหนึ่งจากหมู่มุสลิมเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้วหมายถึง มนุษย์ทุกคน เพราะพวกเขาคือผู้อ่อนแอโดยปราศจากการจำแนกใดๆ แต่ละคนย่อมมีส่วนที่อ่อนแอเป็นของตัวเอง ครั้นเมื่อเด็ก และผู้สูงอายุคือผู้อ่อนแอแล้วไซร้ คนหนุ่มที่แข็งแรงก็ย่อมมีส่วนที่อ่อนแอเช่นกัน เขาอาจจะอ่อนแอด้านประสบการณ์ ความคิด หรือด้านทรัพย์พยากรณ์ หรือด้านอื่นๆ และเมื่อคนยากจนเป็นผู้อ่อนแอ คนรวยก็ใช่ว่าเขาคือผู้แข็งแรงเสมอไป เขาอาจจะอ่อนแอด้านสุขภาพ ขาดความรักจากผู้คน หรือมีอีหม่านที่อ่อนแอก็เป็นได้ ดังนั้นโดยรวมแล้วมนุษย์ทุกคนย่อมมีส่วนที่อ่อนแอ และเช่นนี้เอง
พระองค์อัลลอฮฺทรงดำรัสว่า :
“และมนุษย์นั้นถูกบังเกิดขึ้นในสภาพที่อ่อนแอ”
(อัน-นิสาอ์ : 28)
แน่นอนมนุษย์นั้นถูกสร้างขึ้นในสภาพที่อ่อนแอและจะย้อนกลับสู่ความอ่อนแออีกครั้ง แต่ทว่าความอ่อนแอคือสิ่งที่กระจ่างตั้งแต่แรกสร้างมนุษย์ขึ้นมา พระองค์อัลลอฮฺ ได้ดำรัสถึงนะบีอาดัมว่า :
"และโดยแน่นอน เราได้ให้คำมั่นสัญญาแก่อาดัมแต่กาลก่อน แต่เขาได้ลืม และเราไม่พบความมั่นใจอดทนในตัวเขา"
(ตอฮา : 115)
พระองค์อัลลอฮฺทรงดำรัสถึงความอ่อนแอของนะบีอาดัม ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงความอ่อนแอที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนกับลูกหลานของท่าน และขณะที่นะบีมูซา อะลัยฮิสลาม สนทนากับนะบี มุหัมมัด ﷺ ในคำคืน มิอฺรอจญ์นั้น ท่านได้ให้ความกระจ่างถึงความอ่อนแอของประชาชาติอิสลาม เมื่อนะบีมูซาทราบว่าพระองค์อัลลอฮฺทรงบัญญัติการละหมาด 50 เวลาในหนึ่งวันและหนึ่งคืน แก่อุมมะฮฺของนะบี มุหัมมัด ﷺ ท่านจึงกล่าวว่า :
((يا محمد، والله لقد راودتُ بني إسرائيل قومي على أدنى من هذا فضعفوا ، فارجع وتركوه، فأمتك أضعف أجسادًا وقلوبًا وأبدانًا وأبصارًا وأسماعًافليخفِّفْ عنك ربُّك)) (رواه البخاري (
“มุหัมมัดเอ๋ย ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ชาวบะนี อิสรออีลนั้น ถูกบัญญัติการละหมาดแก่พวกเขาน้อยกว่านี้นัก พวกเขายังอ่อนแอและละทิ้งเลย ซึ่งนับประสาอะไรกับอุมมะฮฺของท่านที่พวกเขาอ่อนแอกว่า ทั้งร่างกาย จิตใจ การเห็น และการได้ยิน ดังนั้นจงกลับไปและขอผ่อนปรนจากอัลลอฮฺเถิด”
(รายงานโดย อัล-บุคอรีย์)
ท่านนะบีมุหัมมัด ﷺ ได้กล่าวถึงความอ่อนแอของเศาะหาบะฮฺของท่าน ทว่ามันไม่ได้ทำให้เกียรติของพวกเขาลดลงแต่อย่างใด ซึ่งท่านนี้คืออะบูซัรรฺ ท่านเป็นเศาะหาบะฮฺอาวุโสและชั้นแนวหน้าด้วยซ้ำ ท่านนะบี ﷺ ได้กล่าวแก่เขาว่า :
((يَا أبا ذر إِنِّي أَرَاكَ ضَعِيفًا وَإِنِّي أُحِبُّ لَكَ مَا أُحِبُّ لِنَفْسِي لا تَأَمَّرَنَّ على اثنين ولا تَوَلَّيَنَّ مال يتيم)) (رواه مسلم )
“อะบูซัรรฺเอ๋ย ฉันเห็นว่าท่านนั้นเป็นผู้ที่อ่อนแอ และฉันก็ปรารถนาที่จะให้ท่านได้รับในสิ่งที่ฉันปรารถนาให้ตนเองได้รับ ดังนั้น ท่านจงอย่าได้เป็นผู้นำ และจงอย่าได้เป็นผู้พิทักษ์คุ้มครองทรัพย์สินของเด็กกำพร้าเลย”
(รายงานโดย มุสลิม)
ความอ่อนแอเป็นสิ่งที่เคียงคู่กับมนุษย์ และใช่ว่ามันจำกัดเพียงที่เราได้นำเสนอเท่านั้น อนึ่งบทนำนี้จะเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความเอาใจใส่ของท่านนะบีมุหัมมัด ﷺ ที่มีต่อผู้อ่อนแอ เพราะ ความอ่อนแอ คือสาเหตุประการหนึ่งของความเจ็บปวด ซึ่งท่านนะบีมุหัมมัด ﷺ เป็นผู้ที่เมตตาต่อผู้ศรัทธาทั้งหลายในทุกๆ สภาพ และยิ่งพวกเขาอ่อนแอมากเท่าไร ท่านนะบีก็จะยิ่งเมตตาพวกเขามากขึ้นอีก ท่านจึงสอนพวกเราให้ขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺให้พ้นจากความอ่อนแอทั้งหลาย ดังเช่นที่ว่า :
((اللهُمَّ إني أعوذ بك من غَلَبَة الدَّيْن وغَلَبَة العدو وشَمَاتَة الأعداء)) )النسائي وقال الشيخ الألباني: صحيح(رواه(
“โอ้อัลลอฮฺ ฉันขอความคุ้มครองจากพระองค์ให้พ้นจากการเป็นหนี้สินท่วมตัว การได้เปรียบของศัตรู และคำดูหมิ่นจากพวกเขา”
(รายงานโดย อัน-นะสาอีย์ เชคอัน-อัลบานีย์กล่าวว่าเป็นหะดีษเศาะหี้หฺ)
ความอ่อนแอที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ในบางครั้งมิใช่สิ่งอื่นเลย เว้นแต่มันคือสาเหตุในการผ่อนปรน และ อนุโลม ในบางหลักการทางศาสนา ดังที่เกิดขึ้นในสงคราม บะดัร พระองค์อัลลอฮฺ ทรงดำรัสถึงพวกเขาว่า :
“บัดนี้อัลลอฮฺได้ทรงผ่อนผันแก่พวกเจ้าแล้ว และทรงรู้ว่า แท้จริงในหมู่พวกเจ้านั้นมีความอ่อนแอ”
(อัน-อันฟาล : 66)
ความอ่อนแอเป็นสาเหตุของการผ่อนปรน มิใช่การลงโทษหรือสิ่งที่น่าตำหนิ โดยที่อัลลอฮฺทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาและทรงรู้ถึงประสิทธิภาพของพวกเขา พระองค์ไม่บังคับในสิ่งที่เกินความสามารถของมนุษย์ มันคือความเมตตาของพระองค์ พระองค์ทรงดำรัสว่า :
“อัลลอฮ์จะไม่ทรงบังคับชีวิตหนึ่งชีวิตใดนอกจากตามความสามารถของชีวิตนั้นเท่านั้น”
(อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 286)
ความอ่อนแอใดๆ ก็ตาม จำเป็นต้องให้ความสำคัญและเอาใจใส่อย่างมาก ดังนั้นสิ่งที่นำเสนอไปข้างต้นเป็นตัวอย่างแห่งเมตตาธรรม ความเอ็นดู ของท่านเราะสูล ﷺ ที่มีต่ออุมมะฮฺของท่าน อย่างมากมาย หาที่เปรียบมิได้