ดนตรีเป็นที่ต้องห้าม
ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์
การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ การสดุดีและความศานติจงมีแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรได้รับการภักดีนอกจากอัลลอฮฺเพียงผู้เดียว โดยไม่มีภาคีหุ้นส่วนอันใดสำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่าท่านนบีมุหัมมัดคือบ่าวของอัลลอฮฺและเป็นศาสนทูตของพระองค์...
อัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา ได้ตรัสไว้ว่า
“และในหมู่มนุษย์นั้นมีผู้ซื้อคำพูดที่ไร้สาระเพื่อทำให้ผู้คนหลงไปจากทางของอัลลอฮฺ
และถือเอาอัลกุรอานเป็นเรื่องขำขัน สำหรับพวกเหล่านี้คือการลงโทษอันอัปยศยิ่ง”
(สูเราะฮฺลุกมาน โองการที่ : 6 )
มีสายรายงานที่ถูกต้องจากอิบนิมัสอูดและอิบนิอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมาว่า ท่านทั้งสองได้อธิบายคำว่า “คำพูดที่ไร้สาระ“ หมายถึง การร้องรำทำเพลง
และท่านอิบนุมัสอูด ยังได้สาบานถึงสามครั้งว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺผู้ซึ่งไม่มีผู้เป็นเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ คำพูดที่ไร้สาระ คือการร้องเพลง“
แล้วยังกล่าวอีกว่า “การร้องเพลงทำให้การกลับกลอกเจริญงอกงามขึ้น ประดุจดั่งน้ำที่ทำให้การเพาะปลูกเจริญงอกงามขึ้นมา”
มีรายงานหะดีษจากอบีมาลิก อัล-อัชอะรียฺ เล่าว่า ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«لَيَكُونَنَّ مِنْ أُمَّتِي أَقْوَامٌ يَسْتَحِلُّونَ الْحِرَ وَالْحَرِيرَ وَالْخَمْرَ وَالْمَعَازِفَ، وَلَيَنْزِلَنَّ أَقْوَامٌ إِلَى جَنْبِ عَلَمٍ يَرُوحُ عَلَيْهِمْ بِسَارِحَةٍ لَهُمْ يَأْتِيهِمْ، يَعْنِي الْفَقِيرَ، لِحَاجَةٍ فَيَقُولُونَ ارْجِعْ إِلَيْنَا غَدًا فَيُبَيِّتُهُمْ اللَّهُ لَيْلًا، وَيَضَعُ الْعَلَمَ عَلَيْهِمْ، وَيَمْسَخُ آخَرِينَ قِرَدَةً وَخَنَازِيرَ إِلَى يَوْمِ الْقِيَامَةِ» [البخاري برقم 5590]
“จะมีกลุ่มหนึ่งจากประชาชาติของฉันโดยที่พวกเขาจะทำให้เรื่องซินา ผ้าไหม สุรา และเครื่องดนตรีกลายเป็นสิ่งถูกอนุมัติ และเมื่อกลุ่มชนต่างๆ ได้รวมตัวกันที่ภูเขา คนเลี้ยงปศุสัตว์ของพวกเขาเดินออกมา (เพื่อนำปศุสัตว์กลับเข้าคอกในตอนเย็น) มีคนยากจนได้มาหาพวกเขาอันเนื่องจากมีความจำเป็น (เพื่อขอความช่วยเหลือ)
พวกเขากลับพูดว่า “ให้กลับมาหาพวกเราใหม่ในวันพรุ่งนี้”
อัลลอฮฺจึงได้ให้พวกเขาพบกับความพินาศในตอนกลางคืน โดยให้ภูเขาพังทลายร่วงลงมาทับพวกเขา และได้สาปคนที่เหลือให้กลายเป็นลิงและสุกรตราบจนถึงวันกิยามะฮฺ”
(บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ หน้า : 1101 หะดีษเลขที่ : 5590)
หะดีษนี้บ่งบอกถึงเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่ บอกถึงการทำลายล้างชนบางกลุ่มด้วยรูปแบบการทำลายที่หลากหลาย อันเนื่องจากพวกเขาฝ่าฝืนข้อห้ามอันชัดแจ้ง หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ การทำให้เครื่องดนตรีอันต้องห้ามตามบทบัญญัติเป็นสิ่งที่ถูกอนุมัติ เครื่องดนตรีที่มีอยู่ในยุคปัจจุบันอันได้แก่ ไวโอลิน กีตาร์ กลอง เปียโน ซอ ขลุ่ย และอื่นๆ
หลักฐานการห้ามเสียงเพลงจากหะดีษมีอยู่สองแง่สองมุมมอง
ประการที่หนึ่ง วจนะของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่มีความหมายว่าว่า “ทำให้เป็นสิ่งที่ถูกอนุมัติ” คือ ทำสิ่งเหล่านั้นให้เป็นที่ถูกอนุมัติ หลังจากเคยเป็นสิ่งที่ต้องห้าม ความชัดเจนในเรื่องนี้ชี้ชัดว่า สิ่งที่ถูกกล่าวไว้ในหะดีษนั้นเป็นที่ต้องห้ามอย่างไร้ข้อสงสัย หนึ่งในนั้นก็คือเครื่องดนตรี
ประการที่สอง เครื่องดนตรีถูกกล่าวรวมกับการผิดประเวณี การดื่มสุรา และการสวมใส่ผ้าไหม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องห้ามตามความเห็นพ้องกันของมุสลิมทั้งปวง และนั่นคือหลักฐานชี้ชัดด้วยว่าเครื่องดนตรีก็เป็นสิ่งต้องห้ามเช่นกัน
รายงานจากอิมรอน บิน หุศัยนฺ เล่าว่า แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«فِي هَذِهِ الأُمَّةِ قَذْفٌ وَخَسْفٌ وَمَسْخٌ ، فَقَالَ رَجُلٌ مِنَ الْمُسْلِمِيْنَ : مَتَى ذَاْكَ يَا رَسُولَ اللهِ ؟ قَالَ : إَذَا ظَهَرَتْ القَيْنَاتُ وَالْمَعَازِفُ ، وَشُرِبَتِ الْخُمُوْرُ» [رواه الترمذي برقم 2212]
“ในประชาชาตินี้ จะได้รับการลงโทษด้วยก้อนหินที่ถูกขว้างลงมาจากฟากฟ้า การลงโทษด้วยการสาป และการลงโทษด้วยการให้ธรณีสูบ”
ชายคนหนึ่งลุกขึ้นกล่าวว่า “โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ สิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่หรือ?”
ท่านกล่าวว่า “เมื่อเครื่องดนตรีและนักร้องปรากฎตัวให้เห็นอย่างแพร่หลาย และเมื่อมีการดื่มสุรา”
(บันทึกโดยอัต-ติรมิซียฺ ในหนังสือสุนัน หน้า : 367 หมายเลข : 2212 )
อิบนุล ก็อยยิม ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยสรุปได้ดังนี้ “แท้จริงแล้วอัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา ได้คาดโทษผู้ที่ทำให้เครื่องดนตรีเป็นที่อนุมัติ ด้วยสัญญาการลงโทษโดยให้พวกเขาถูกธรณีสูบและสาปพวกเขาให้เป็นลิงและสุกร หากว่าการคาดโทษสำหรับพฤติกรรมที่กล่าวมาทั้งหมด แต่ละคนมีส่วนในการรับโทษตามที่อัลลอฮฺทรงสัญญา "
(อิฆอษะตุลละฮฺฟาน มิน มะศออิดิชชัยฏอน เล่มที่ : 1 หน้า : 220)
นักกวีท่านหนึ่งได้กล่าวว่า
“นี่คือสัจธรรมอันเด่นชัด จงอย่าผูกมัดฉันจากเส้นทางอันมัวหมอง”
ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมิยะฮฺ ได้กล่าวโดยสรุปได้ดังนี้ “เรื่องดังกล่าวนั้นเมื่อพวกเขาทำสิ่งที่ต้องห้ามให้เป็นที่อนุมัติด้วยการตีความผิดๆ หากพวกเขาได้กระทำมันทั้งที่มั่นใจว่าท่านเราะสูลได้ห้ามอย่างชัดเจน แน่นอนพวกเขาก็จะกลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา และไม่ถูกนับว่าเป็นคนหนึ่งจากประชาชาติของท่าน”
(อิฆอษะตุลละฮฺฟาน เล่มที่ : 1 หน้า : 346)
บรรดาอิหม่ามทั้งสี่มัซฮับมีความเห็นพ้องกันว่า เครื่องดนตรีเป็นสิ่งที่ต้องห้าม หากใครได้ทำให้เกิดความเสียหายเขาก็ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแต่อย่างใด อีกทั้งการครอบครองเครื่องดนตรีก็ถือว่าเป็นเรื่องต้องห้าม มีคนมาถามอิหม่ามมาลิก ถึงการขับร้องที่ศาสนาผ่อนผันหรืออนุญาตให้ชาวมะดีนะฮฺสามารถกระทำได้ ท่านตอบว่า “คนที่ทำสิ่งนั้นคือคนชั่วในทัศนะของเรา”
(อิฆอษะตุลละฮฺฟาน เล่มที่ : 1 หน้า : 195)
และมีผู้ถามอิหม่ามอะหฺมัด เกี่ยวกับการร้องเพลง ท่านตอบว่า “การร้องเพลงทำให้การกลับกลอกเจริญงอกงามขึ้นในหัวใจ“
ส่วนทัศนะของอิหม่ามอบูหะนีฟะฮฺ เป็นทัศนะที่หนักหน่วงกว่าทัศนะอื่น ซึ่งสานุศิษย์ของท่านได้ห้ามอย่างชัดเจนถึงการฟังเสียงที่นำมาซึ่งความครื้นเครงทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นขลุ่ย กลอง แม้นกระทั่งการเคาะไม้ กล่าวอย่างชัดเจนว่ามันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติ นับว่าเป็นคนชั่วช้าและจะไม่รับการเป็นพยานของเขา
(อิฆอษะตุลละฮฺฟาน เล่มที่ : 1 หน้า : 229)
เป็นที่น่าเศร้าใจยิ่งนักที่เสียงเพลงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในสังคมของเรา ทั้งในโทรทัศน์ วิทยุ เทป และอื่นๆ อีกมากมาย
ยะซีด อิบนุ อัล-วะลีด ได้กล่าวไว้ว่า “พวกท่านพึงระวังเสียงเพลง เพราะมันทำให้ความละอายลดลง มันมาปลุกเร้าอารมณ์ ลดความเป็นวีรบุรุษ เหมือนกับการดื่มสุรา และจะแสดงพฤติกรรมเช่นคนเมา“
และยังกล่าวต่ออีกว่า “จงให้เสียงเพลงห่างจากสตรี เพราะมันจะเรียกร้องเธอให้ถลำสู่การผิดประเวณี มันเปรียบดั่งคาถาแห่งการผิดประเวณี”
อิบนุลก็อยยิม เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทุกคนที่มีความหึงหวงที่จะให้ครอบครัวของพวกเขาห่างไกลจากเสียงเพลง เหมือนกับการที่เขาให้ห่างไกลจากความสงสัยเคลือบแคลง และใครก็ตามที่เปิดโอกาสให้ครอบครัวของเขาฟังคาถาแห่งการผิดประเวณี เขาเองย่อมรู้ดีถึงความผิดที่เขาควรได้รับ และย่อมเป็นที่รู้กันอย่างแพร่หลายว่า เมื่อภรรยาคนใดที่ไม่ยอมร่วมประเวณีด้วย เขาก็จะกล่อมนางด้วยเสียงเพลงจนนางต้องคล้อยตามในที่สุด”
ขอสาบานด้วยกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺว่า มากต่อมากแล้วที่หญิงบริสุทธิ์กลายเป็นโสเภณีด้วยกับเสียงเพลง และมากต่อมากแล้วที่ชายบริสุทธิ์กลายเป็นทาสของเกย์ มีจำนวนมากที่ผู้หึงหวงศาสนาต้องเปลี่ยนไปใช้ชื่ออันอัปยศท่ามกลางหมู่ชนด้วยกับเสียงเพลง มีจำนวนมากที่ผู้มีความเป็นอยู่ที่ดีกลับกลายเป็นผู้ที่ประสบทุกข์ภัยต่างๆ นานา และมีอีกมากที่เสียงเพลงทำให้ต้องกล้ำกลืนความเศร้าโศกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความโปรดปรานต้องสูญสิ้นจนเป็นเหตุแห่งภัยพิบัติ และมีอีกจำนวนมากได้เตรียมความเจ็บปวดอันทรมานแก่ครอบครัวของเขา ตระเตรียมความทุกข์ที่คาดว่าต้องมีขึ้นจริง เตรียมซึ่งความลำบากใจที่จะมาถึง”
(อิฆอษะตุลละฮฺฟาน มิน วะสาอิลิชชัยฏอน เล่มที่ : 1 หน้า : 209 – 210)
หลักฐานจากอัลกุรอาน อัลหะดีษ และถ้อยคำของบรรดาปวงปราชญ์ที่กล่าวมาข้างต้น ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการห้ามการขับร้องเพลง และมันคือบาปใหญ่ที่บรรดามุอฺมินพึงหลีกห่าง และแน่นอนยิ่งที่คำดำรัสแห่งอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาจะไม่รวมอยู่กับเสียงขลุ่ยแห่งชัยฏอนมารร้ายมาปรากฏอยู่ในหัวใจของคนเราเป็นอันขาด
คำเตือน
ในปัจจุบันนี้มีสิ่งหนึ่งที่นักผลิตแผ่นเสียงได้เรียกกันอย่างแพร่หลายว่า “อัลอนาชีดอัลอิสลามียะฮฺ“ เชคนาศิรุดดีน อัล-อัลบานียฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือของท่าน ว่าด้วยการห้ามเครื่องดนตรี หลังจากที่ได้ยกหลักฐานที่ห้ามการร้องเพลงแล้วว่า
“ในเมื่อเป็นที่ปรากฏชัดแล้วว่า ไม่อนุญาตให้ทำความใกล้ชิดต่ออัลลอฮฺ (การอิบาดะฮฺ) เว้นแต่ด้วยกับสิ่งที่พระองค์ได้บัญญัติลงมาเท่านั้น แล้วจะใกล้ชิดกับพระองค์ด้วยกับสิ่งที่พระองค์ต้องห้ามได้เช่นไร ดังกล่าวนี้เองที่บรรดาปวงปราชญ์ได้ห้ามการขับร้องเพลงของพวกศูฟีย์ และได้โต้แย้งอย่างรุนแรงต่อผู้บอกว่าเสียงดนตรีเป็นที่อนุมัติ เมื่อผู้อ่านได้รำลึกถึงกฎเกณฑ์ที่ชัดแจ้งอันนี้ในสามัญสำนึกของเขา ก็จะมีความชัดเจนเลยทีเดียวว่า ไม่มีข้อแตกต่างอันใดระหว่างการขับร้องของศูฟีย์และอัลอนาชีดอัลอิสลามียะฮฺ มิหนำซ้ำมันอาจเป็นสิ่งที่ร้ายแรงยิ่งกว่า เพราะในบางครั้งอาจเล่นท่วงทำนองดั่งเสียงเพลงที่ปลุกเร้าอารมณ์ใฝ่ต่ำ ตรงตามท่วงทำนองเสียงดนตรีของประเทศทางฝั่งตะวันออกและตะวันตก ซึ่งทำให้ผู้ฟังเกิดอาการอยากโลดเต้นและเปลี่ยนท่าทาง มีเป้าหมายในการขับร้องและบรรเลงเสียงเพลงไม่ใช่อนาชีดแต่อย่างใด ซึ่งเป็นลักษณะการฝ่าฝืนอีกรูปแบบหนึ่งที่ลอกเลียนแบบมาจากพวกปฏิเสธศรัทธาและกลุ่มชนที่ใช้ชีวิตอย่างไร้สาระ แล้วอาจเป็นเหตุทำให้เกิดการฝ่าฝืนเป็นรูปแบบอื่นอีก
กล่าวคือการเลียนแบบพวกที่ผินหลังและหลีกห่างจากอัลกุรอาน สุดท้ายก็ตกอยู่ภายใต้สิ่งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เคยถูกร้องทุกข์จากกลุ่มชนของท่าน ดังที่ปรากฏในดำรัสของอัลลอฮฺตะอาลา ว่า
“และเราะสูลได้กล่าวว่า ข้าแด่พระเจ้าของข้าพระองค์ แท้จริงกลุ่มชนของข้าพระองค์ได้ทอดทิ้งอัลกรุอานเสียแล้ว”
(สูเราะฮฺอัล-ฟุรกอน โองการที่ : 30)
แปลโดย : อิสมาอีล ซุลก็อรนัยน์ / Islamhouse