ซะกาต ทำให้คนรวยมีโอกาสตกนรกมากกว่าคนจน
โดย…ทวีศักดิ์ หมัดเนาะ
“ซะกาต” ทำให้คนรวยมีโอกาสตกนรกมากกว่าคนจน (ตอนที่ 1)
คำว่า โอกาส (Chance) หรือ ความน่าจะเป็น(Probability) หมายถึง ความเป็นไปได้ (Possibility) ที่จะมีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งสามารถวัดค่าได้เป็นตัวเลข (0 ถึง 1) ตัวอย่างเช่น การทอดลูกเต๋าหนึ่งครั้ง มีโอกาสหรือความเป็นไปได้ที่จะออกหมายเลขใดหมายเลขหนึ่ง ตั้งแต่ 1 ถึง 6 เพียง 1 ใน 6 ครั้ง การโยนเหรียญกษาปณ์ มีความเป็นไปได้ทางสถิติที่จะออกหัวหรือก้อยด้วยโอกาสเท่าๆกัน กล่าวคือ มีโอกาสหรือความเป็นไปได้ที่จะออกหัวร้อยละ 50 (หรือมีค่าเท่ากับ 0.5) และมีโอกาสหรือความเป็นไปได้ที่จะออกก้อยร้อยละ 50
กล่าวได้ว่า รุก่นอิสลาม 5 ประการ คือสิ่งที่อัลลอฮ์ พระผู้เป็นเจ้าได้ประทานโอกาสหรือความเป็นไปได้ให้แก่มนุษย์ทุกคนว่าจะเลือก ด้วยการตัดสินใจของตนเอง พวกเขาต้องการสวรรค์หรือนรก เป็นสิ่งตอบแทนในภพหน้า (อาคีเราะฮ์)
สำหรับผู้ปฎิเสธศรัทธา พวกเขาเลือกแล้วและมีโอกาสความเป็นไปได้ทางสถิติ ร้อยละ 100 ที่จะได้รับการตอบแทนด้วยนรก สำหรับการปฏิเสธศรัทธาของพวกเขา
แต่สำหรับมุสลิม(ผู้กล่าวปฏิญาณตนแล้ว) รุก่นอิสลาม คือการได้รับโอกาสหรือความเป็นไปได้ที่มุสลิมคนใดคนหนึ่งเลือกได้ว่า ต้องการสวรรค์หรือนรกเป็นการตอบแทน ขึ้นอยู่กับว่าเขาเลือกที่จะ “ทำ” หรือ “ไม่ทำ” ด้วยการตัดสินใจของเขาเอง ซึ่งมีความเป็นไปได้ทางสถิติร้อยละ 50 เท่าๆกัน เหมือนกับการโยนเหรียญกษาปณ์ที่มีสองด้าน เช่น ถ้าเขาเลือกที่จะทำละหมาด เขาก็จะได้รับสวรรค์เป็นการตอบแทน แต่ถ้าเลือกที่จะไม่ละหมาด เขาก็จะได้รับนรกเป็นการตอบแทน
การถือศีลอด การประกอบพิธีฮัจญ์(เมื่อมีความสามารถ) มุสลิมทุกคนต่างได้รับโอกาสหรือความเป็นไปได้เท่าๆกัน ระหว่างการเลือกที่จะ “ทำ” หรือ “ไม่ทำ” เช่นเดียวกับการละหมาด
แต่สำหรับ “ ซะกาต” มุสลิมที่มีฐานะร่ำรวย กับมุสลิมที่มีฐานะยากจน ได้รับโอกาสความเป็นไปได้ที่แตกต่างกัน โดยมุสลิมที่มีฐานะร่ำรวย มีโอกาสที่จะตกนรกมากกว่ามุสลิมที่มีฐานะยากจนด้วยซ้ำไป
ซะกาตนั้น ถูกบังคับแก่คนร่ำรวยที่ถือครองทรัพย์สินจำนวนหนึ่งอันเป็นส่วนเกินจากความเพียงพอ(Excess of Sufficient) เมื่อครบรอบปี เขาเหล่านั้นต้องจ่ายซะกาตให้แก่คน 8 จำพวก ตามที่ศาสนากำหนด โดยลำดับที่หนึ่งและลำดับที่สองของผู้มีสิทธิรับซะกาตคือ คนยากจน คนขัดสน มูลค่าทรัพย์สินขั้นต่ำที่เป็นส่วนเกินจากความเพียงพอและถึงเกณฑ์ต้องจ่ายซะกาต คำนวณจากราคาทองคำที่มีน้ำหนักเท่ากับ 5.6 บาท
ถ้าอ้างอิงจากราคาทองคำในปัจจุบันเฉลี่ยบาทละ 20,000 บาท ดังนั้น ผู้ที่ถือครองเงินจำนวน 112,000 บาท เมื่อครบรอบปี เขาจะต้องจ่ายซะกาตคิดเป็นจำนวนเงินเท่ากับ 2,800 บาท (อัตราซะกาตเท่ากับ 2.5% ของจำนวนเงินที่ถือครอง)
ถ้าจะกล่าวว่า เกณฑ์การจ่ายซะกาตข้างต้น คือเส้นแบ่งระหว่างคนยากจนกับคนร่ำรวยก็ย่อมไม่ผิดนัก เพราะถ้าไม่ถึงเกณฑ์ต้องจ่าย เพราะหาได้เท่าใดก็ไม่เหลือ หรือแย่กว่านั้นคือยังไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายสำหรับตนเองและครอบครัวอีก เขาย่อมมีสิทธิได้รับการแบ่งปันทรัพย์สินจากคนร่ำรวย (ซะกาตคือสิทธิของคนยากจนที่อยู่เหนือคนร่ำรวย) และเขาถูกเรียกว่าคนยากจน หรือ”มือล่าง” แต่หากใครคนหนึ่งเมื่อมีเงินมากพอ ขนาดถึงเกณฑ์บังคับว่าต้องจ่ายซะกาตแล้ว ส่วนเกินความเพียงพอที่ต้องนำมาคำนวณตามหลักเกณฑ์การจ่ายซะกาตนั้น ทำให้เขาอยู่ในฐานะที่ต้องเป็น”มือบน” หรือผู้ให้ หรือคนร่ำรวย
สำหรับคนยากจน เมื่อเขาไม่มีทรัพย์สินเงินทองถึงเกณฑ์ที่จะต้องจ่ายซะกาต โอกาสความเป็นไปได้ที่เขาจะตกนรก อันเนื่องมาจากการไม่จ่ายซะกาต จึงมีค่าเท่ากับศูนย์ กล่าวคือ เมื่อไม่ถึงเกณฑ์ถูกบังคับ การเลือกที่จะ”ทำ” หรือ”ไม่ทำ” จึงมีค่าเป็นศูนย์เท่ากัน เขาไม่มีบาปจากการไม่จ่ายซะกาต เพราะไม่ถึงเกณฑ์บังคับให้ต้องจ่าย เขาจึงย่อมไม่ตกนรก จากการไม่จ่ายซะกาต
แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับคนร่ำรวย เมื่อเขาถึงเกณฑ์บังคับต้องจ่ายซะกาต เขาย่อมเลือกที่จะ “จ่าย” หรือ”ไม่จ่าย” ก็ได้ ด้วยการตัดสินใจบนพื้นฐานของความศรัทธาของตน หมายความว่า โอกาสที่จะจ่ายซะกาตกับโอกาสที่จะไม่จ่ายมีค่าเท่ากัน คือร้อยละ 50 ดังนั้น โอกาสที่จะได้รับการตอบแทนด้วยนรก อันเนื่องมาจากการไม่จ่ายซะกาต จึงมีค่าความเป็นไปได้ทางสถิติเท่ากับร้อยละ 50 ในขณะที่คนจน (ไม่ถึงเกณฑ์ต้องจ่ายซะกาต) มีค่าความเป็นไปได้ทางสถิติหรือโอกาสเท่ากับศูนย์
คำอธิบายทั้งหมดข้างต้น จึงเป็นข้อยืนยันคำกล่าวที่ว่า “ซะกาต” ทำให้คนรวยมีโอกาสตกนรกมากกว่าคนจน และเมื่อยิ่งร่ำรวยยิ่งครอบครองทรัพย์สินมากขึ้น โอกาสหรือความเป็นไปได้ที่จะไม่จ่ายซะกาตหรือจ่ายไม่ครบตามเกณฑ์ (ซึ่งจะเพิ่มโอกาสของการตกนรก)ก็มีมากขึ้นไปด้วย อันเนื่องมาจากความตระหนี่อันเป็นกิเลสของมนุษย์นั่นเอง
“ซะกาต” ทำให้คนรวยมีโอกาสตกนรกมากกว่าคนจน (ตอนที่ 2)
ดังได้อธิบายไปแล้วในตอนที่ 1 ว่า รุก่นอิสลาม คือการที่อัลลอฮ์ มอบโอกาสให้แก่มนุษย์ทุกคนบนโลกนี้ ให้พวกเขาเลือกและตัดสินใจด้วยตนเองว่าต้องการสวรรค์หรือนรกเป็นสิ่งตอบแทนในภพหน้า(อาคีเราะฮ์) การตัดสินใจเลือกระหว่าง”ทำ” กับ”ไม่ทำ”ตามรุก่น ถือเป็นโอกาส (Chance) หรือความน่าจะเป็น (Probability) ที่สามารถวัดค่าความเป็นไปได้ (Possibility)เป็นตัวเลขหรือค่าสถิติได้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ปฏิเสธศรัทธา โอกาสความน่าจะเป็นที่จะได้รับการตอบแทนด้วยนรกคือร้อยละ 100 แต่สำหรับมุสลิม(ผู้ปฏิญาณตนแล้ว) รุก่นเรื่องการละหมาด การถือศีลอด และการประกอบพิธีฮัจญ์(เมื่อมีความสามารถ) โอกาสได้รับการตอบแทนด้วยสวรรค์หรือนรก มีค่าความน่าจะเป็นร้อยละ 50 เท่ากันทุกคน กล่าวคือ อยู่ที่การตัดสินใจบนความศรัทธาของตนเองว่าจะเลือกอะไรระหว่าง “ทำ” กับ ”ไม่ทำ”
แต่สำหรับ”ซะกาต” คนรวยกับคนจนได้รับโอกาสที่แตกต่างกัน โดยที่คนร่ำรวยมีโอกาสตกนรกอันเนื่องมาจากไม่จ่ายซะกาต(หรือจ่ายต่ำกว่าเกณฑ์) คิดเป็นร้อยละ 50 ในขณะที่โอกาสความน่าจะเป็นของคนยากจนที่จะตกนรกเพราะไม่จ่ายซะกาตมีค่าเท่ากับศูนย์ (เพราะไม่ถึงเกณฑ์บังคับว่าต้องจ่าย)
และเมื่อยิ่งร่ำรวยเงินทองถือครองทรัพย์สินมากขึ้นเท่าใด โอกาสที่คนรวยจะไม่จ่ายซะกาตหรือจ่ายต่ำกว่าเกณฑ์ที่ศาสนากำหนด (Under Value) ก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น สาเหตุสำคัญคือความตระหนี่หรือความรู้สึกเสียดายทรัพย์สินอันเป็นกิเลสของมนุษย์นั่นเอง ตารางข้างล่างนี้ จะอธิบายหรือพิสูจน์สมมุติฐานดังกล่าว
ตารางที่ 1
จำนวนเงินที่ถือครองเมื่อครบรอบปี(บาท) |
จำนวนซะกาตที่ต้องจ่าย(บาท) |
ขั้นต่ำสุด 112,000 |
2,800 |
1,000,000 |
25,000 |
10,000,000 |
250,000 |
100,000,000 |
2,500,000 |
1,000,000,000 |
25,000,000 |
จากตารางข้างต้น หากพิจารณาโอกาสตามความเป็นจริง จะพบว่า คนที่จ่ายซะกาตด้วยจำนวนเงินปีละ 2,800-25,000 บาท ยังจะพอพบเห็นได้อย่างไม่ยากเย็น หรือจ่ายซะกาตปีละ 250,000 บาท ก็อาจจะยังพอหาได้ แต่เมื่อต้องจ่ายซะกาตเป็นเงินสูงถึงปีละ 2,500,000 บาท จนถึงปีละ 25,000,000 บาท โอกาสที่จะได้พบเห็นผู้บริจาคเงินขนาดนี้อย่างประจักษ์ชัดเจนมีน้อยลง แปรผกผันกับจำนวนเงินซะกาตที่จำเป็นต้องจ่ายตามเกณฑ์ที่มากขึ้น
ลองจินตนาการดูว่า ถ้าคนร่ำรวยคนหนึ่งจะต้องจ่ายซะกาตด้วยจำนวนเงินปีละ 2,500,000 บาท หมายความว่า เขาต้องหาเงินเพื่อมาจ่ายซะกาตให้แก่คนยากจนเฉลี่ยเดือนละกว่า 20,000 บาท และถ้าต้องจ่ายซะกาตปีละ 25,000,000 บาท ก็หมายความว่า เขาต้องหาเงินเพื่อมาจ่ายให้แก่คนยากจนเฉลี่ยเดือนละกว่า 200,000 บาททีเดียว เขาต้องทำงานหนักขนาดไหน เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนมาจ่ายซะกาตให้แก่คนจนเต็มตามจำนวนที่ศาสนากำหนด หรือเขาจะต้องลงทุนในเครื่องมือทางการเงินชนิดใด จึงจะให้ผลตอบแทนการลงทุน (Return on Investment ) หรือเกิดส่วนเกินมูลค่าทุน (Capital Gain) ที่เพียงพอแก่การจ่ายซะกาตให้แก่คนยากจน
การทำงานแสวงหารายได้หรือการลงทุนเพื่อหวังผลผลตอบแทนทางการเงินให้เพียงพอแก่การจ่ายซะกาตตามอัตราที่ศาสนากำหนดนั้น เป็นเพียงแค่ทำให้เงินต้นไม่ลดลงไปจากเดิมเท่านั้น แต่ถ้าหารายได้หรือผลตอบแทนทางการเงินได้น้อยกว่าจำนวนเงินซะกาตที่ต้องจ่ายตามเกณฑ์แล้ว เงินต้นก็จะต้องลดลง เพื่อนำส่วนหนึ่งไปจ่ายซะกาตเพิ่มเติมจากส่วนที่จ่ายจากรายได้หรือผลตอบแทนทางการเงินจากการลงทุนที่ยังไม่เพียงพอแก่การจ่ายตามเกณฑ์ที่กำหนด
ถ้าคนร่ำรวยมีความคิดอย่างที่กล่าวข้างต้นแล้ว เขาก็จะเกิดความตระหนี่ และรู้สึกเสียดายเงินเพราะกว่าจะหามาได้ขนาดนี้ก็แสนยากแล้วทำไมต้องจ่ายซะกาตมากมายขนาดนั้น ดังนั้นการตัดสินใจของคนรวยที่ถือครองทรัพย์สินจำนวนมากจะเกิดความขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรงระหว่างทางเลือกที่จะจ่ายซะกาต อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย(แม้รู้สึกเสียดาย) หรือเลือกที่จะจ่ายเพียงบางส่วนไม่เต็มจำนวนที่ต้องจ่ายตามเกณฑ์ ที่ร้ายที่สุด คือ เขาเลือกที่จะไม่จ่ายซะกาตเสียเลย เพราะทนยอมให้ตนเองเกิดความรู้สึกว่าเสียดายทรัพย์ที่ตนเองแสวงหามาอย่างเหนื่อยยากไม่ได้ และนั่นคือทางเลือกของการแสวงหาการตอบแทนด้วยนรกนั่นเอง
ถ้าเช่นนั้นแล้ว สังคมจะสามารถรวบรวมเงินซะกาตได้จากคนกลุ่มใด และจำนวนเงินซะกาตที่จะสามารถรวบรวมได้นั้นจะมีปริมาณสักเท่าใด
อัลลอฮ์ ทรงตรัสว่า
“และบรรดาผู้ที่เมื่อพวกเขาใช้จ่าย พวกเขาก็ไม่สุรุ่ยสุร่าย และไม่ตระหนี่ ¹ และระหว่างทั้งสองสภาพนั้น พวกเขาอยู่สายกลาง”
(ซูเราะฮ์อัลฟุรกอน อายะฮ์ 67)
(1) คือพวกเขามิได้เป็นคนสุรุ่ยสุร่ายในการใช้จ่ายเพื่อการกินการดื่มและการแต่งกาย และมิได้เป็นคนบกพร่องและหวงแหนจนกระทั่งกลายเป็นคนตระหนี่
ความหมายของอายะฮ์ข้างต้น แสดงด้วยกราฟได้ดังนี้
อธิบายความหมายได้ดังต่อไปนี้
1. การจ่ายซะกาตกับความตระหนี่เป็นปัจจัยที่แปรผกผันกัน(Inversely) กล่าวคือ เมื่อความตระหนี่เพิ่มขึ้น การจ่ายซะกาตจะลดลง
2. ทรัพย์สินกับความตระหนี่ เป็นปัจจัยที่แปรผันกัน(Variation) กล่าวคือ เมื่อทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้น ความตระหนี่ก็จะเพิ่มมากขึ้น(อธิบายแล้ว ในตารางที่ 1) ส่งผลให้โอกาสของการจ่ายซะกาตลดลง
3. จำนวนเงินซะกาตที่จัดเก็บได้ มีปริมาณเท่ากับพื้นที่ใต้จุดตัดสมดุล (Equilibrium) ระหว่างเส้นการจ่ายซะกาตกับเส้นความตระหนี่ (พื้นที่สีเทาที่ปรากฎในรูปกราฟ)
4. ปริมาณซะกาตที่จัดเก็บได้จะสามารถรวบรวมได้จากผู้มีฐานะและครอบครองทรัพย์สินระดับต้นจนถึงระดับกลางหรือที่เรียกว่าชนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะจ่ายซะกาตเต็มจำนวนตามหลักเกณฑ์ที่ศาสนากำหนด กับซะกาตอีกบางส่วนจะเก็บได้จากผู้มีฐานะร่ำรวยระดับบนที่จ่ายซะกาตต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่ศาสนากำหนด
คำตรัสของอัลลอฮ์ เป็นจริงเสมอ