วัฒนธรรมโต๊ะจีนกับความล้มเหลวของการสร้างระบบงานที่ดีในสังคมมุสลิม
  จำนวนคนเข้าชม  4942

 

วัฒนธรรมโต๊ะจีนกับความล้มเหลวของการสร้างระบบงานที่ดีในสังคมมุสลิม

 

ทวีศักดิ์ หมัดเนาะ


 

        ในสังคมมุสลิมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นิยมจัดงานออกร้านการกุศลเพื่อหาเงินรายได้มาสนับสนุนกิจกรรมด้านศาสนา เช่น สนับสนุนการก่อสร้าง ต่อเติม ซ่อมแซมบำรุงมัสยิด หรือเพื่อเป็นเงินเดือนให้แก่ครูสอนกุรอานและฟัรดูอีน หรือเพื่อเป็นกองทุนช่วยเหลือคนยากจนหรือผู้ประสบภัยพิบัติ นอกจากการจัดงานออกร้านการกุศลแล้ว ปัจจุบันสังคมมุสลิมได้พัฒนารูปแบบการหารายได้เป็นการจัดงานเลี้ยงโต๊ะจีน ซึ่งสามารถประมาณการรายได้และค่าใช้จ่ายได้แน่นอนกว่าการจัดงานออกร้านการกุศล ดูเหมือนสิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมการหารายได้ของสังคมมุสลิมอันเป็นปกติและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป แต่หากจะหยุดคิดสักนิดว่า อะไรที่ทำให้สังคมของเราต้องจัดงานหารายได้แบบนี้กันทุกระดับทุกองค์กรในประเทศ ตั้งแต่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ลงไปถึงชุมชนมัสยิด ทำกันเป็นแฟชั่น หรือเพราะไม่มีวิธีอื่นที่ดีและสัมฤทธิ์ผลไปกว่านี้อีกแล้ว 

 

       ที่สำคัญคือว่า การที่จะคิดค้นและลงมือทำกิจกรรมอะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่งให้แก่สังคม ควรจะคิดด้วยว่า กิจกรรมหรือสิ่งที่ทำนั้นเกิดความยั่งยืน(Sustainable) แค่ไหน เพียงใด ถ้าทำแล้ว เดี๋ยวเงินก็หมด ต้องทำใหม่ ทำแล้ว ทำอีก จัดแล้ว จัดอีก แสดงว่ากิจกรรมนั้นไม่ยั่งยืน หรือไม่เสถียร (Stable) สังเกตุได้จากการจัดงานครั้งแรกอาจได้รายได้เยอะมาก แต่ถ้าจัดแบบเดิมๆถี่ๆเป็นระยะๆ แนวโน้มจะหารายได้ได้ลดน้อยลงเรื่อยๆ และถ้าไม่อยากให้รายได้ลดลง ผู้จัดงานก็ต้องพลิกแพลงหากลยุทธต่างๆ ที่มีรูปแบบหลากหลายจูงใจผู้บริจาคมากขึ้น กล่าวโดยสรุปก็คือ คนจัดงานยิ่งต้องออกแรงและเหนื่อยยากมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด

 

       นอกจากนั้น ผู้บริจาคเงินให้โต๊ะจีนหรือช่วยเงินออกร้านการกุศล ต้องถามตัวเองด้วยเหมือนกันว่าให้ด้วยความจำใจต้องให้ (เช่น ถูกบังคับให้จ่ายโต๊ะละ 3,500 บาททุกมัสยิด) หรือให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะผลบุญที่ได้รับย่อมแตกต่างกัน

 

        ถ้าจะกล่าวว่า วัฒนธรรมโต๊ะจีนและวัฒนธรรมการจัดงานออกร้านการกุศล คือเครื่องหมายแห่งความล้มเหลวของการสร้างระบบงานที่ดี(System)ในสังคมมุสลิม ใช่หรือไม่? ตัวอย่างต่อไปนี้คือบทพิสูจน์สมมุติฐานข้างต้น


 

ตัวอย่างที่ 1

       ครูสอนกุรอานและฟัรดูอีนในชุมชนหนึ่งๆ ส่วนใหญ่ได้รับเงินเดือนเพียงเดือนละ 3,000-5,000 บาท ทำให้พวกเขาต้องไปประกอบอาชีพเสริมอย่างอื่นเพื่อมาจุนเจือครอบครัว แม้อาชีพบางอย่างจะทำให้ลดเกียรติภูมิศักดิ์ศรีความเป็นครูลงไปก็ตาม เงินเดือนครูที่ได้รับ ส่วนใหญ่ได้มาจากการจัดงานโต๊ะจีนหรือจัดงานออกร้านการกุศลปีละ 1-2 ครั้ง 

       คำถามคือ เพราะสังคมหรือชุมชนไม่ยอมรับให้มีระบบการจัดเก็บค่าเล่าเรียนที่ดีใช่ไหม ชุมชนจึงต้องจัดงานการกุศลหารายได้เป็นเงินเดือนให้ครู  ทำไมผู้ปกครองนักเรียนจึงไม่ยอมจ่ายค่าเล่าเรียนโดยตรง ? เพราะผู้บริหารโรงเรียนไม่มีระบบการจัดเก็บค่าเล่าเรียนที่ดีใช่ไหม ? หรือถึงแม้จะมีระบบการจัดเก็บอยู่บ้าง แต่ผู้ปกครองก็ไม่จ่ายหรือจ่ายไม่ครบ ? หรือผู้บริหารจัดเก็บต่ำกว่าความเป็นจริงมาก แถมจ่ายให้ครูก็แบบเสียมิได้ !

        เพราะเราคุ้นเคยกับคำว่าครูต้องสอนหนังสือเพื่อเอาบุญมากกว่าเอาเงิน(จริงหรือ?) แล้วทำไมเมื่อผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์โดยตรงจากการที่ลูกหลานของตัวเองได้รับวิชาความรู้จึงไม่ยอมจ่ายค่าเล่าเรียนหรือจ่ายต่ำกว่าที่ควรจ่าย แต่กลับโยนภาระการจ่ายค่าเล่าเรียนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยของลูกหลานตนเองให้เป็นภาระของคนอื่นหรือสังคม (ทำให้ฟัรดูอีนกลายเป็นฟัรดูกีฟายะฮ์ ถูกต้องละหรือ?) 

      ทำไมจึงยอมจ่ายค่าเล่าเรียนพิเศษหรือค่าเล่าเรียนวิชาสามัญในระบบโรงเรียนปกติโดยไม่บิดพลิ้ว เพื่อให้ลูกหลานของตนได้เล่าเรียนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ แต่กลับไม่คิดจะจ่ายค่าเล่าเรียนในวิชากุรอานและฟัรดูอีน  ความรู้วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มันสำคัญกว่าวิชาที่สอนให้ลูกหลานไม่ตกนรกกระนั้นหรือ?


ตัวอย่างที่ 2

       มัสยิดหลายแห่งครอบครองที่ดินวากัฟเป็นจำนวนมาก ผู้บริจาคที่ดินวากัฟบริจาคโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มัสยิดนำที่ดินที่ตนบริจาคไปบริหารเพื่อหารายได้มาสนับสนุนกิจกรรมของมัสยิด ทั้งด้านการก่อสร้าง ต่อเติม บำรุงรักษา การจัดการศึกษาศาสนา เป็นต้น แต่ความเป็นจริงที่พบเห็นกันโดยทั่วไปก็คือ มัสยิดยังต้องจัดงานหารายได้มาสนับสนุนกิจกรรมของมัสยิดอยู่เนืองๆ ทั้งๆที่ที่ดินวากัฟที่ครอบครองอยู่นั้น หากผู้บริหารมัสยิดจัดวางระบบการบริหารทรัพย์สินที่ดินวากัฟให้มีประสิทธิภาพ การจัดงานหารายได้อาจไม่มีความจำเป็นเลย อะไรคือความล้มเหลวของการจัดระบบการบริหารทรัพย์สินที่ดินวากัฟ 

     ♣ - การคัดเลือกผู้เช่า ไม่คำนึงถึงคุณภาพและคุณธรรมทางศาสนาของผู้เช่า ทำให้สังคมในที่ดินวากัฟ เต็มไปด้วยปัญหาสังคม ความยากจน ยาเสพติด สังคมมุสลิมต้องทนเจ็บปวดกับความจริงที่กล่าวว่า "มีโดมที่ไหน มียาบ้าที่นั่น"

     ♣ - อัตราค่าเช่าที่ดินวากัฟต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ผู้เช่าไม่สำนึกถึงบุญคุณความดีของเจ้าของทรัพย์ที่ให้โอกาสตนได้อยู่ในที่ดินผืนนี้ เพราะค่าเช่าถูกเสียจนเหมือนไม่มีค่าราคาอะไรเสียเลย

     ♣ - ต่อให้อัตราค่าเช่าถูกขนาดไหน แต่ผู้บริหารก็ไม่สามารถจัดระบบการเก็บเงินที่ดีและมีประสิทธิภาพเพียงพอ ผลที่เกิดขึ้นคือ จัดเก็บค่าเช่าได้ไม่ครบทุกราย ทั้งที่เก็บต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว ผู้เช่าหลายรายลืมนึกไปว่า ตนเองกำลังกินนอนอยู่บนที่ดินของอัลลอฮ์ แต่กลับทึกทักเอาเองว่าเป็นสิทธิของตนที่จะอยู่บนที่ดินผืนนี้โดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่าก็ได้ เพราะอัลลอฮ์ให้ตนเกิดมาจน (?) ผู้บริหารมัสยิดก็ไม่สามารถทำอะไรได้อย่างเด็ดขาดกับคนกลุ่มนี้ มัสยิดกลางใจเมืองบางแห่ง ที่ดินราคาประเมินตารางวาละ 400,000 บาท แต่จัดเก็บค่าเช่าเดือนละ 150 บาท บนที่เช่าขนาด 30 ตารางวายังเก็บไม่ได้ ผิดทั้งสำนึกของคน ผิดทั้งระบบการบริหารทรัพย์สิน

     ♣ - ผู้บริหารทรัพย์สินมีส่วนได้เสียในทรัพย์ที่บริหารนั้น (Conflict of interest) เช่น เป็นผู้เช่าเสียเอง หรือมีลูกหลานญาติโยมเป็นผู้เช่าในที่ดินวากัฟ  ลองคิดดูว่า ถ้าเป็นที่ดินของเอกชน จะเกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นไหม ?


ตัวอย่างที่ 3

        องค์กรการกุศลทั่วไป เช่น มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง มูลนิธิร่วมกตัญญู องค์กรสหประชาติเพื่อการช่วยเหลือเด็กผู้ด้อยโอกาส (UNICEF) องค์กรสหประชาชาติเพื่อการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย (UNHCR) เราจะไม่มีโอกาสเห็นว่าองค์กรเหล่านี้จัดงานหารายได้เป็นครั้งคราวเป็นระยะๆแบบที่สังคมมุสลิมทำ แต่เขาสามารถระดมเงินบริจาคได้ปีละนับสิบล้านร้อยล้านได้ทุกปีอย่างต่อเนื่องเพราะอะไร ถ้าไม่ใช่เพราะเขามีระบบการบริหารการจัดเก็บเงินบริจาคที่มีประสิทธิภาพ 

       ถ้าสังคมมุสลิมต้องการเริ่มต้นจัดวางระบบการบริหารทรัพย์บริจาค(ซะกาต ซอดะเกาะฮ์ ที่ดินวากัฟ และศาสนสมบัติอื่นๆ) ที่มีประสิทธิภาพ ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ (Key Success Factors) อย่างน้อยที่สุดจะต้องประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้

1. องค์กรบริหารต้องเป็นที่ยอมรับเชื่อถือของสังคมทั้งโดยกฎหมายและศาสนา (Creditable Organization)

2. มีผู้บริหารที่มีฝีมือทำหน้าที่บริหาร (Best people run the organization)

3. เรียนรู้แนวการปฏิบัติที่ดีจากองค์กรอื่นที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว (Learn the best practice from other)

4. ผู้บริหารต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต (Honesty) 

โดยที่ปัจจัยที่ 1-3 สังคมอาจสร้างได้โดยไม่ยากเย็นนัก แต่ความซื่อสัตย์สุจริต (Honesty)คือสิ่งที่สร้างได้ยากที่สุด

         นอกจาการจัดงานเลี้ยงโต๊ะจีนและจัดงานออกร้านการกุศล จะเป็นเครื่องหมายแห่งความล้มเหลวของการสร้างระบบงานที่ดีในสังคมมุสลิมดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว สิ่งที่พบเห็นอย่างหนึ่งในบรรยากาศของการจัดงานก็คือ มีการกินการดื่มหรือการใช้ทรัพยากรของสังคมกันอย่างสิ้นเปลืองเกินสมควร จนถึงขั้นที่อาจเรียกได้ว่า ฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย(มุบัรซิร)

อัลลอฮ์(ตาอาลา)ทรงตรัสว่า

“และบรรดาผู้ที่เมื่อพวกเขาใช้จ่าย พวกเขาก็ไม่สุรุ่ยสุร่าย และไม่ตระหนี่(1) และระหว่างทั้งสองสภาพนั้น พวกเขาอยู่สายกลาง”

 (ซูเราะฮ์อัลฟุรกอน อายะฮ์ 67)

 (1) คือพวกเขามิได้เป็นคนสุรุ่ยสุร่ายในการใช้จ่ายเพื่อการกินการดื่มและการแต่งกาย และมิได้เป็นคนบกพร่องและหวงแหนจนกระทั่งกลายเป็นคนตระหนี่

การกระทำสิ่งใดที่ผิดต่อหลักการของศาสนา สังคมจะคาดหวังผลบุญกุศล(บารอกัต) จากการกระทำสิ่งนั้นได้อย่างไร

       

         อย่างไรก็ตาม การจัดงานโต๊ะจีนกับการจัดงานออกร้านการกุศลหาใช่สิ่งเลวร้ายในสังคมเสียทั้งหมดไม่ ผลดีประการหนึ่งก็คือการได้สร้างโอกาสหรือบรรยากาศให้ผู้คนในสังคมหรือชุมชนได้มาพบปะสังสรรกัน หรือทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อความสนิทสนมและความสามัคคีภายในสังคมหรือชุมชนนั้น แต่นั่นคือผลพลอยได้ในเชิงสังคมจิตวิทยา แต่ในความเป็นจริงก็ยังคงเห็นความแตกแยกสามัคคี ในทุกสังคมชุมชนของมุสลิมอยู่ดี

         ดังนั้นการจัดเลี้ยงโต๊ะจีนกับการออกงานจัดร้านการกุศลจึงเป็นคนละประเด็นกับการจัดระบบงานที่ดีเพื่อการบริหารทรัพย์บริจาค และศาสนสมบัติที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนให้แก่สังคมมุสลิมของเรา