ฮัจญ์กับเรื่องผลประโยชน์
  จำนวนคนเข้าชม  12622

ฮัจญ์กับเรื่องผลประโยชน์

ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข



وَأَذِّن فِي النَّاسِ بِالْحَجِّ يَأْتُوكَ رِجَالًا وَعَلَىٰ كُلِّ ضَامِرٍ يَأْتِينَ مِن كُلِّ فَجٍّ عَمِيقٍلِّيَشْهَدُوا مَنَافِعَ لَهُمْ وَيَذْكُرُوا اسْمَ اللَّهِ فِي أَيَّامٍ مَّعْلُومَاتٍ عَلَىٰ مَا رَزَقَهُم مِّن بَهِيمَةِ الْأَنْعَامِ ۖ فَكُلُوا مِنْهَا وَأَطْعِمُوا الْبَائِسَ الْفَقِيرَ

 

(ซูเราะฮ์อัลฮัจญ์ อายะฮ์ที่ 27-28)

 

ความหมายโดยสรุป

"และจงประกาศแก่มวลมนุษย์เพื่อการทำฮัจญ์ พวกเขาจะมาหาเจ้า โดยการเดินเท้า และโดยการขี่อูฐเพรียวทุกตัว มาจากทางไกลทุกทิศทาง"

 

"เพื่อพวกเขาจะได้มาร่วมเป็นสักขีพยานในผลประโยชน์ของพวกเขา และกล่าวพระนามอัลลอฮ์ในวันที่รู้กันอยู่แล้ว (เพื่อเชือดสัตว์)

ที่พระองค์ทรงประทานเป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา อันได้แก่ปศุสัตว์ ดังนั้นพวกเจ้าจงกินเนื้อของมันเถิด และจงเลี้ยงอาหารแก่ผู้ยากจนขัดสน"

คำอธิบาย

อัลกุรอาน 2 อายะฮฺข้างต้นมีคำอธิบายแยกเป็นหัวข้อดังนี้

ข้อที่หนึ่ง

        อัลลอฮฺ  ใช้ให้ท่านนบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสสลามประกาศเรียกร้องมวลมนุษยชาติให้มาบำเพ็ญฮัจญ์ ณ บัยตุ้ลลอฮฺ และจากรายงานของท่านอิบนุอับบาส ได้กล่าวว่า อัลลอฮฺ  ได้ใช้ให้ท่านนบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสสลามขึ้นไปบนภูเขาอะบีกุบัยส์ หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า ญะบัลกุบิส และร้องประกาศว่า: 

"โอ้มนุษย์ทั้งหลาย อัลลอฮฺได้ทรงกำหนดการบำเพ็ญฮัจย์ ณ บ้านหลังนี้ (บัยตุ้ลลอฮฺ) แก่พวกท่าน ดังนั้นพวกท่านจงมาบำเพ็ญฮัจย์กันเถิด"

       คำประกาศเรียกร้องของท่านนบีอิบรอฮีม ได้ยินไปถึงมนุษย์ทุกคนด้วยเดชานุภาพของอัลลอฮฺ  ผู้ที่ตอบรับคำเรียกร้องจะกล่าวว่า  لبيك اللهم لبيك หากเขาตอบรับหนึ่งครั้งเขาจะได้ทำฮัจย์หนึ่งครั้ง และหากตอบรับ 2ครั้ง เขาจะได้ทำฮัจย์ 2 ครั้ง และผู้ที่นิ่งเฉยมิได้ตอบรับ เขาจะไม่ได้ทำฮัจย์"

(ดูตัฟซีรอัฎฎอรีย์ และตัฟซีรอิบนุกาษีรในการอธิบายอายะฮฺดังกล่าว)


ข้อที่สอง

          ฮัจย์ ในทางภาษาหมายถึงการมุ่งสู่ ในทางศาสนบัญญัติ หมายถึง การมุ่งสู่บัยตุลลอฮ์เพื่อปฎิบัติอิบาดะฮ์เฉพาะ เช่นการครองเอี๊ยะฮ์รอม การตอวาฟ การสะแอ การวุกูฟที่อะเราะฟะฮ์ และการขว้างเสาหินเป็นต้น การปฏิบัติดังกล่าวต้องปฏิบัติในสถานที่ที่ถูกกำหนด และในช่วงเวลาที่ถูกกำหนดไว้ (ดูฟัตฮุลบารี 3/378) ฮัจญ์เป็นศาสนบัญญัติที่มีมาตั้งแต่สมัย ท่านนบีอิบรอฮีมอะลัยฮิสสลาม ครั้นมาถึงสมัยของท่านนบีมูฮัมหมัด  อัลลอฮ์ได้บัญญัติให้ฮัจญ์เป็นหลักการสำคัญหนึ่งในห้าประการ และได้กำหนดรูปแบบและเงื่อนไขต่างๆที่เหมาะสมแตกต่างจากในอดีต อย่างไรก็ตามปรัชญาของฮัจญ์ที่เหมือนกันก็คือ การเป็นสัญลักษณ์ความเป็นเอกภาพทั้งด้านการศรัทธาและการปฏิบัติ รวมถึงการปฏิเสธความเหลื่อมล้ำและวรรณะของมนุษย์


ข้อที่สาม

อัลลอฮฺ  ได้ระบุสภาพของผู้มาบำเพ็ญฮัจย์ว่า มี 2 สภาพ คือ เดินเท้า และขี่ยานพาหนะ

         นักปราชญ์บางท่านมีทัศนะว่า การเดินเท้าประเสริฐกว่าการขี่ยานพาหนะ เนื่องจากอัลกุรอานกล่าวถึงการเดินเท้าเป็นลำดับแรก และการเดินเท้ามีความยากลำบากมากกว่า ท่านอิบนุอับบาสกล่าวว่า: ไม่มีสิ่งใดที่ฉันจะเสียใจยิ่งไปกว่าการที่ฉันมิได้มีโอกาสทำฮัจย์โดยเดินเท้า ทั้งนี้เนื่องจากอัลลอฮฺได้กล่าวว่า يَأْتوكَ رِجاَلاً  และยังมีรายงานอีกว่า ท่านนบีอิบรอฮีมและท่านนบีอีซานั้นได้บำเพ็ญฮัจย์โดยเดินเท้า อย่างไรก็ตามมีทัศนะของนักปราชญ์อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่เห็นว่า การทำฮัจย์โดยขี่ยานพาหนะมีความประเสริฐมากกว่า เพราะมีค่าใช้จ่ายมากกว่า 

        และที่สำคัญคือ ท่านนบี นั้นทำฮัจย์โดยขี่ยานพาหนะ (ขี่อูฐ) ทั้งที่ท่านมีความแข็งแรง มีนักวิชาการหลายท่านอธิบายว่า การที่ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ขี่ยานพาหนะนั้นก็เพื่อเป็นความสะดวกแก่ประชาชาติมุสลิม เพราะหากว่าท่านเดินเท้าก็จะเป็นความยากลำบากแก่ผู้ปฏิบัติ ดังนั้นด้วยความเมตตาสงสารที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมในหัวใจของท่าน ท่านจึงขี่ยานพาหนะ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกและเพื่อที่ผู้คนทั้งหลายจะได้แลเห็นท่านในขณะที่ท่านปฏิบัติภารกิจฮัจย์ (อ้างแล้ว)


ข้อที่สี่

         อัลลอฮฺ  ได้ระบุถึงจุดประสงค์ของการเดินทางมาประกอบพิธีฮัจย์ว่า  لِيَشْهَدُواْ مَناَفِعَ لَهُمْ  แปลว่า เพื่อพวกเขาจะได้ประจักษ์ในคุณประโยชน์อันหลากหลาย ของพวกเขา

         ข้อสังเกตประการที่หนึ่งคืออัลลอฮฺ  ใช้คำที่เป็นพหูพจน์ คือคำว่า مَناَفِع เพื่อต้องการสื่อถึงคุณประโยชน์อันหลากหลายและมากมายมหาศาล ที่อัลลลฮฺ  ได้กำหนดไว้ในการประกอบพิธีฮัจย์ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และศิลปวัฒนธรรม

นักวิชาการได้แบ่งคุณประโยชน์ของฮัจย์ออกเป็น 2 ประเภท คือ
 

1. คุณประโยชน์ดุนยา  منافع دنيوية
 

2. คุณประโยชน์อาคิเราะฮฺ  منافع أخروية

         คุณประโยชน์ดุนยา หมายถึงคุณประโยชน์ที่บังเกิดผลในชีวิตดุนยา ซึ่งผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับฮัจย์ทุกฝ่ายและทุกภาคส่วนได้รับ ทั้งในระดับปัจเจก และระดับกลุ่มบุคคลและหมู่คณะ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนเป็นอันดับแรกได้แก่เม็ดเงินจำนวลมหาศาลที่สะพัดในช่วงเทศกาลฮัจย์ ธุรกิจการค้า การบริการ การเงินการธนาคารเป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูสุดๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งธุรกิจขอทานเศาะดะเกาะฮฺของฟะกีร มิสกีน (คนยากจน) ที่หลั่งไหลไปทำธุรกิจขอเศาะดะเกาะฮฺในช่วงดังกล่าว

        ผลประโยชน์ของฮัจย์ในเชิงธุรกิจเป็นสิ่งที่ควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นผลประโยชน์ที่ผูกพันกับการประกอบพิธีฮัจย์ ซึ่งเป็นอิบาดะฮฺ (ศาสนกิจ) ที่สำคัญที่ต้องอาศัยปัจจัยหลายประการ เพื่อให้ฮัจย์เป็นฮัจย์ที่ถูกต้อง และได้รับการตอบรับ(มับรูรฺ) แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการประกอบธุรกิจบริการฮัจย์ในปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูงมาก ดูเหมือนว่าจะไม่แตกต่างจากธุรกิจการบริการอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกันเท่าใดนัก ทั้งนี้เนื่องจากมีผลประโยชน์ที่เป็นทั้งรูปธรรม (เม็ดเงิน) และนามธรรม (ชื่อเสียง) มาเกี่ยวข้อง กลยุทธ์การตลาดและวิธีการทางธุรกิจบางอย่างที่ไม่ถูกต้อง (ตามศาสนบัญญัติ) มักจะถูกนำมาใช้ในธุรกิจประเภทนี้ จึงทำให้ผลประโยชน์ของฮัจย์ในด้านนี้ถูกมองเป็นภาพลบอย่างช่วยไม่ได้ ฮุจยาจญ์ในคราบนักธุรกิจ หรือนักธุรกิจในคราบฮุจยาจญ์ จึงเป็นศัพท์ที่เกิดขึ้นและมักจะใช้ในด้านลบมากกว่าด้านบวก ทั้งๆ ที่การทำธุรกิจในช่วงฮัจย์เป็นสิ่งฮาลาล และเป็นความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ 

ดูอัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 198 ความว่า:

"และไม่มีโทษใดๆแก่พวกเจ้าที่พวกเจ้าจะแสวงหาความโปรดปราณจากพระผู้อภิบาลของพวกเจ้า หมายถึงทำธุรกิจในช่วงฤดูกาลฮัจย์"

         ข้อสังเกตประการที่สอง คำว่า  لَهُمْ مَناَفِعَ  มีความหมายว่าผลประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะในเชิงธุรกิจจะต้องเป็นธรรมต่อเหล่าฮุดยาจญ์ ไม่เอารัดเอาเปรียบฮุดยาจญ์ และไม่ทำให้ฮุดยาจญ์เดือดร้อน ผลประโยชน์ของฮัจย์ด้านดุนยาอันจะบังเกิดขึ้นกับผู้ทำฮัจย์หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับฮัจย์ จึงต้องป็นผลประโยชน์ที่ฮาลาล และเป็นที่พอพระทัยยัง อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เท่านั้น

       ส่วนคุณประโยชน์ด้านอาคิเราะฮฺนั้น คือคุณประโยชน์ที่มนุษย์จะได้รับในอาคิเราะฮฺจากการประกอบพิธีฮัจย์ และจากความดีต่างๆที่ได้กระทำ อันได้แก่การอภัยโทษและผลบุญอันมากมายเป็นรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮ์  ซึ่งทั้งหมดรวมอยู่ในฮะดีษของท่านนบี  ที่กล่าวว่า

" اَلْحَجُّ الْمَبْرُوْرُ لَيْسَ لَه جَزاَءٌ إلاّ الْجَنَّة "

"ไม่มีการตอบแทนใดๆ สำหรับฮัจย์มับรูรฺ นอกจากสวนสวรรค์"

 (มุสลิม หมายเลข 1349)

คำว่าฮัจย์มับรูร์ในที่นี้หมายถึงฮัจย์ที่ไม่มีการฝ่าฝืนบัญญัติของอัลลอฮฺ และไม่มีความผิดบาปปะปนอยู่แม้แต่น้อย


ข้อที่ห้า

 

          ในอายะฮฺข้างต้นนั้นอัลลอฮฺ  ยังได้กล่าวถึงอีกจุดประสงค์หนึ่งของการประกอบพิธีฮัจย์ ในคำที่ว่า  وَيَذْكُرُوا اسْمَ الله فِيْ أَياَّمٍ مَعْلُوْماَتٍ   และเพื่อให้พวกเขาได้รำลึกและกล่าวพระนามของอัลลอฮฺในช่วง 10 วันของเดือนซุลฮิจยะฮฺ และวันตัชรีก อีก 3 วัน การกล่าวพระนามของอัลลอฮฺ ในที่นี้ยังหมายถึงการกล่าวพระนามของอัลลอฮฺขณะเชือดสัตว์ ฮัจย์และอุฎฮียะฮฺ(อันได้แก่อูฐ วัว แพะ แกะ) ในช่วงวันตรุสอีดิ้ลอัฎฮา(วันที่ 10) และวันตัชรีกอีก 3 วัน(วันที่11,12,13)  ซึ่งถือเป็นอิบาดะฮฺ(ศาสนกิจ)ที่สำคัญ อัลลอฮฺ  บัญญัติให้ทำในช่วงดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อเป็นการขอบคุณในความโปรดปรานของพระองค์ที่ได้ประทานปัจจัยริสกีในรูปของสัตว์สี่เท้า เพื่อได้เชือดและรับประทานส่วนหนึ่งของเนื้อมัน และให้ทานในส่วนที่เหลือแก่ผู้ยากจนขัดสน


สรุปบทเรียนจากอายะฮ์

     1 - ฮัจญ์มิได้เป็นศาสนกิจที่เพิ่งมีในสมัยของนบีมูฮัมมัด  แต่เป็นศาสนกิจที่มีมาตั้งแต่สมัยนบีอิบรอฮีมอะลัยฮิสสลาม

     2 - เป้าหมายสำคัญของฮัจญ์คือการได้ประจักษ์ซึ่งคุณประโยชน์อันมากมายทั้งรูปธรรมและนามธรรม ทั้งด้านดุนยาและอาคิเราะฮ์

     3 - ผลประโยชน์ของฮัจญ์ในเชิงธุรกิจจะต้องเป็นผลประโยชน์ที่ฮะลาลและชอบธรรม และจะต้องไม่อยู่บนความเดือดร้อนของฮุดยาจญ์(ผู้รับบริการ)

     4 - การกล่าวนามอัลลอฮ์  และสดุดีในความยิ่งใหญ่ของพระองค์ เป็นสัญลักษณ์สำคัญของวันอีดิลอัฎฮาและวันตัชรีก รวมถึงการเชือดสัตว์พลีเพื่อขอบคุณพระองค์โดยให้รับประทานส่วนหนึ่ง และแจกจ่ายส่วนหนึ่งแก่คนยากจน