ผู้ศรัทธา กับ ผู้รู้
บทอัลมุญาดะละฮฺ ส่วนหนึ่งของโองการที่ 11
ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข
อัลลอฮฺ ได้ตรัสไว้ในตอนท้ายของโองการที่ 11 บท อัลมุญาดะละฮฺว่า
"يَرْفَعِ اللهُ الَّذِينَ آمَنُوْا مِنْكُمْ وَالََّذِينَ أُوتُواْ العِلْمَ دَرَجَاتٍ"
“อัลลอฮฺจะทรงยกย่องบรรดาผู้ศรัทธาจากพวกเจ้า และบรรดาผู้ได้รับความรู้หลายฐานันดร”
คำอธิบายโดยสรุป อัลลอฮฺได้ระบุถึงบุคคลที่มีคุณลักษณะสองประการคือ
1. ผู้มีความศรัทธา (อีมาน)
2. ผู้มีความรู้ (อิลมฺ)
บุคคลผู้มีลักษณะดังกล่าวจะได้รับการยกย่องและเทิดเกียรติอย่างมากมายจากอัลลอฮฺ
ข้อวิเคราะห์ที่ 1
อัลกุรอานได้ระบุว่าผู้ที่จะได้รับเกียรติและฐานันดรอันสูงส่งจากอัลลอฮฺนั้นต้องมีสองประการคือ
1. อีมาน หมายถึงการเป็นคนดี
2. อิลมฺ หมายถึงการเป็นคนเก่งหรือคนรู้
ดังนั้น การศึกษาในทัศนะของอิสลามจึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้มีศรัทธา (อีมาน) ซึ่งหมายถึงการเป็นคนดีเป็นเบื้องต้น และเป็นผู้มีความรู้ (อิลมฺ) ซึ่งหมายถึงการเป็นคนเก่งในขณะเดียวกัน
ข้อวิเคราะห์ที่ 2
อัลกุรอานได้กล่าวถึงผู้ศรัทธา ( الذين آمنوا ) ก่อนการกล่าวถึงผู้รู้ { والذين أوتوا العلم } แสดงให้เห็นว่า เรื่องของความดีนั้นจะต้องสำคัญและมาก่อนเรื่องของความเก่ง หรือวิชาการ ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงให้ความสำคัญกับเรื่องศรัทธา (อีมาน) เป็นอันดับแรก เพราะถือว่าเป็นบ่อเกิดของคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรมทั้งมวล ดังนั้นปรัชญาการศึกษาในอิสลามจึงถือว่า คุณธรรม จะต้องนำวิชาการอยู่เสมอ หรือกล่าวในอีกสำนวนหนึ่งคือ ความดีจะต้องมาก่อนความเก่งเสมอ
ข้อวิเคราะห์ที่ 3
อัลกุรอานใช้เกณฑ์วัดความดีของบุคคลด้วยศรัทธา (อีมาน) {الذين آمنوا} ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญสามประการคือ
1. การกล่าวด้วยวาจา (قول باللسان)
2. การเชื่อมั่นด้วยจิตใจ (اعتقاد بالجنان)
3. การปฏิบัติด้วยร่างกาย (عمل بالأركان)
ดังนั้นการจัดการศึกษาและเรียนรู้ในอิสลามจำเป็นจะต้องครอบคลุมทั้งสามด้านที่กล่าวมา
ข้อวิเคราะห์ที่ 4
ความรู้ (อิลมฺ) ในทัศนะของอิสลามนั้นนอกจากจะต้องยังประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นแล้ว ความรู้จะต้องไม่ทำให้ผู้รู้หลงตนเอง หรือเกิดความหยิ่งยะโสโอ้อวด มิเช่นนั้นแล้วความรู้นั้นก็จะเป็นโมฆะ (ไม่เป็นที่ยอมรับ ณ อัลลอฮฺ ) ด้วยเหตุนี้อัลกุรอานจึงใช้สำนวนว่า
{ والذين أوتوا العلم } แปลว่า “ผู้ได้รับความรู้”
หมายถึง ผู้รู้ที่มีความนอบน้อมถ่อมตนเพราะตระหนักดีว่าความรู้ที่ได้มานั้นมิใช่ได้มาด้วยตนเอง หากแต่ได้มาด้วยอัลลอฮฺ ดังนั้น ยิ่งเขามีความรู้หรือความเก่งมากเท่าใดก็จะยิ่งทำให้เขานอบน้อมถ่อมตนมากเท่านั้น
ข้อวิเคราะห์ที่ 5
ความรู้ (العلم) ที่อัลกุรอานระบุไว้ หมายถึงความรู้ทุกอย่างที่ยังประโยชน์ อะลีฟลาม (أل) ในที่นี้เป็น أل للجنس หรือ أل للاستغراق ซึ่งหมายถึงความรู้ทุกชนิดหรือศาสตร์ทุกประเภท และทุกสาขาวิชา ดังนั้นผู้ที่มีความรู้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดเขาก็จะได้รับเกียรติและฐานันดรจากอัลลอฮฺไม่มากก็น้อย
ข้อวิเคราะห์ที่ 6
การยกเกียรติหรือฐานันดรของอัลลอฮฺ นั้น แท้ที่จริงแล้วคือ การประเมินคุณภาพจากอัลลอฮฺ ผู้ยิ่งใหญ่ เป็นการประเมินคุณภาพทั้งจากภายใน คือ ศรัทธา (อีมาน) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และจากภายนอกคือความรู้ (อิลมฺ) ซึ่งเป็นส่วนที่จะทำให้เกิดความสมบูรณ์ และทำให้ศรัทธามีความเข้มแข็ง
ในอีกแง่หนึ่งอาจอธิบายได้ว่าการยกเกียรติและฐานันดรดังกล่าวนั้นหมายถึงการพัฒนา ทั้งนี้เพื่อต้องการจะบอกว่าคนที่จะได้รับการพัฒนานั้นจะต้องมีสองลักษณะดังกล่าว
ข้อวิเคราะห์ที่ 7
การยกเกียรติและฐานันดรของอัลลอฮฺ นั้นเกิดขึ้นทั้งในโลกนี้ (ดุนยา) และโลกหน้า (อาคิเราะฮฺ) ดังนั้นคนที่มีทั้งความดี (อีมาน) และความเก่ง (อิลมฺ) รวมกันจึงได้รับฐานันดรจากอัลลอฮฺ ทั้งในโลกนี้ (ดุนยา) และโลกหน้า (อาคิเราะฮฺ) เป้าหมายของกระบวนทัศน์อิสลามเพื่อการพัฒนาด้านการศึกษาจึงมิได้จำกัดอยู่เฉพาะชีวิตในโลกนี้เพียงอย่างเดียว แต่ได้รวมถึงชีวิตในโลกหน้า(อาคิเราะฮฺ)อันอมตะถาวรอีกด้วย
ข้อวิเคราะห์ที่ 8
เกียรติและฐานันดรของอัลลอฮฺ นั้นมีหลากหลาย มีทั้งส่วนที่ประทานให้กับมนุษย์ในโลกนี้ (ดุนยา) ทั้งที่เป็นรูปธรรม เช่น การมีความก้าวหน้าในชีวิต มีตำแหน่ง มีหน้าที่การงานที่สูงขึ้น และที่เป็นนามธรรม เช่น การมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีอำนาจ และได้รับความเชื่อถือจากสังคม และส่วนที่ประทานให้กับมนุษย์ในโลกหน้า (อาคิเราะฮฺ) ในแง่ของผลบุญ ด้วยเหตุนี้อัลกุรอานจึงใช้คำที่เป็นพหูพจน์ คือ "درجات" เพื่อบอกถึงความหลากหลายข้างต้น
ข้อวิเคราะห์ที่ 9
อัลกุรอานพูดถึงการยกเกียรติและฐานันดรของผู้มีศรัทธา (คนดี) และผู้รู้ (คนเก่ง) โดยใช้คำกริยาปัจจุบันกาล และอนาคตกาล (فعل مضارع) คือคำว่า (يرفع) ซึ่งมีนัยของความสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อต้องการจะบอกว่า คนที่มีทั้งความดี (อีมาน) และความเก่ง (อิลมฺ) นั้นจะได้รับเกียรติและฐานันดรในชีวิตของเขาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
ข้อวิเคราะห์ที่ 10
จากความเข้าใจในมุมกลับ (مفهوم مخالفة) ก็คือ ผู้ไม่ศรัทธา (อีมาน) และไม่พัฒนาด้านความรู้ (อิลมฺ) เขาจะไม่ได้รับเกียรติและฐานันดรใดๆ จากอัลลอฮฺ แต่อัลลอฮฺ จะให้เขาตกต่ำ และมีชีวิตอย่างไร้เกียรติทั้งในโลกนี้และโลกอาคิเราะฮฺ
บทสรุป
การเน้นการพัฒนาด้านจิตใจเป็นหลัก ด้านอื่นๆ เป็นรอง เป็นหลักการพัฒนาในอิสลามที่สำคัญยิ่ง การละเลยต่อหลักการดังกล่าวนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ มากมาย ตั้งแต่ระดับปัจเจกชน ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ จนถึงประชาคมโลก การกำหนดยุทธ์ศาสตร์และแนวทางการปฏิรูปการศึกษา ทั้งด้านอุดมศึกษา อาชีวะศึกษา การศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ไม่ควรละเลยต่อหลักการดังกล่าว เพราะมิเช่นนั้นแล้ว เราก็มิอาจคาดหวังได้เลยว่ากระบวนการปฏิรูปการศึกษาจะสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ของสังคมนี้ได้