อัลกุรอ่าน คือคำตอบสุดท้ายของประชาชาติ
โดย : อ.ฮารูน ราโอบ
พี่น้องผู้ร่วมศรัทธาที่รักทั้งหลาย
วันนี้เป็นวันอีดิลฟิฏรี ฮ.ศ.1435 วันนี้คือวันแห่งการตักบีร เครื่องประดับที่สูงส่งและมีค่ามากที่สุดสำหรับมุสลิมในวันนี้ คือการตักบีร
اَللهُ أَكْبَرُ، اَللهُ أَكْبَرُ، اَللهُ أَكْبَرُ ، وَللهِ الْحَمْدُ اَللهُ أَكْبَرُ
คือ สัญลักษณ์ของมุสลิม สำหรับมุสลิมนั้นเมื่อละหมาด 5 เวลาก็ต้องเริ่มด้วยคำที่ยิ่งใหญ่ اَللهُ أَكْبَرُ นี้เช่นกัน อัลลอฮุอักบัร หรือแม้กระทั่งการอาซาน อิกอมะฮ์ การเชือดสัตว์ ก็ต้องเริ่มด้วย อัลลอฮุอักบัร คำนี้เช่นกัน
ฉะนั้น اَللهُ أَكْبَرُ อัลลอฮุอักบัร คือ สัญลักษณ์ ของมุสลิมในทุกๆอิริยาบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งยามออกศึกสงคราม เพราะเสียงดังกล่าวจะทำให้ศัตรูเกิดความหวาดกลัว หวั่นไหว และชัยชนะก็จะเกิดขึ้นแก่ผู้ศรัทธา นี่คือพลังอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงมอบให้เฉพาะผู้ศรัทธาเท่านั้น
พี่น้องชาวอีดิลฟิฏรีที่รัก
สำหรับมุสลิมนั้นมีวันอีดในรอบปี 2 วัน วันอีดิลฟิฏรี และวันอีดิลอัฏฮา โดยทุกๆวันอีดนั้นจะเกิดขึ้นหลังจากการปฏิบัติอิบาดะฮ์ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งวันอีดิลอัฏฮาจะเกิดขึ้นหลังอิบาดะฮ์ฮัจย์ ส่วนวันอีดิลฟิฏรีจะมาหลังจากการถือศิลอด ( الصيام) ดังที่พระองค์ตรัสความว่า
“เดือนรอมฏอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกรุอานได้ถูกประทานลงมาในฐานะเป็นข้อแนะนำสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้น และเกี่ยวกับสิ่งที่จำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ ดังนั้นผู้ใดในหมูพวกเจ้าเข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้น และผู้ใดป่วย หรืออยู่ในการเดินทาง ก็จงถือใช้ในวันอื่นแทน
อัลลอฮ์ทรงประสงค์ให้มีความสะดวกแก่พวกเจ้า และไม่ทรงให้มีความลำบากแก่พวกเจ้าและเพื่อที่พวกเจ้าจะได้ให้ครบถ้วน ซึ่งจำนวนวัน(ของเดือนรอมฏอน) และเพื่อพวกเจ้าจะได้ให้ความเกรียงไกรแด่อัลลอฮ์ในสิ่งที่พระองค์ทรงแนะนำแก่พวกเจ้า และเพื่อพวกเจ้าจะขอบคุณ”
(ซูเราะห์อัล-บากอเราะห์ 185 )
สำหรับวันอีดิลฟิฏรีย์เป็นวันรื่นเริงของพี่น้องมุสลิม เนื่องจากสิ้นสุดการปฏิบัติอิบาดะฮ์ ฝึกความอดทนต่อการถือศีลอดมาตลอดทั้งเดือนรอมาฎอน ซึ่งอัลลอฮ์ ได้ประทานความโปรดปราน ความเมตตาให้กับบ่าวของพระองค์ ดังปรากฏในฮาดิษ ท่านรอซูล กล่าวว่า
’’ لِلصَّائِمِ فَرْحَتَانِ : فَرْحَةٌ عِنْدَ فِطْرِهِ ، وَفَرْحَةٌ عِنْدَ لِقَاءِ رَبِّهِ ‘‘ رواه مسلم
“ผู้ถือศีลอดมีความสุข 2 ครั้งคือ ความสุขขณะละศีลอด และความสุขขณะพบเจอกับพระผู้อภิบาลของเขา”
(บันทึกโดยมุสลิม หมายเลขที่ 1151)
และเมื่อเขาเสร็จภารกิจจากการถือศิลอดเดือนรอมฏอนแล้ว เขาก็จะได้รื่นเริงอีกครั้งคือวันอีดิลฟิฏรี ถือเป็นเนี๊ยะมะฮ์ ความเมตตาที่อัลลอฮ์ ได้ประทานแนวทางที่ดีให้อีกต่างหาก
“จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ด้วยความโปรดปรานของอัลลอฮ์ และด้วยความเมตตาของพระองค์ดังกล่าวนั้นพวกเขาจงดีใจเถิด ซึ่งมันดียิ่งกว่าสิ่งที่พวกเขาสะสมไว้ “
(ซูเราะห์ยูนุส 58 )
ส่วนหนึ่งจากการขอบคุณต่อความโปรดปรานของอัลลอฮ์ มิใช่ว่ามุสลิมจะรื่นเริงกับวันอีดเพียงลำพัง หากแต่เขาจะต้องมีส่วนร่วมกับบ่าวของอัลลอฮ์ ที่เป็นผู้ยากไร้และขัดสน(ฟากีร,มิสกีน) ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงกำหนดให้มีการจ่ายซากาตฟิตเราะฮ์ ซึ่งเป็นซากาตส่วนบุคคลที่จะต้องจ่ายในเดือนรอมฏอนเท่านั้น และเป็นซากาตที่มุสลิมจะต้องจ่ายให้ตัวเองและผู้ที่อยู่ในการปกครอง คือ ภรรยา และลูกๆ
ความจริงอิสลาม ต้องการที่จะสร้างทักษะให้มุสลิมในเรื่องการบริจาค การให้ทั้งในยามสุขหรือทุกข์ และสอนให้มุสลิมเป็นมือบน(ผู้ให้) ถึงแม้ตัวเองจะเป็นผู้ที่ยากไร้ จนกระทั่งบางครั้งเขาเป็นผู้ให้หรือบางเวลาเขาอาจเป็นผู้รับ ฮาดิษบทหนึ่งจากท่านนบี ว่า
أَمَّا غَنِيُّكُمْ فَيُزَكِّيهِ اللَّهُ وَأَمَّا فَقِيرُكُمْ فَيُرَدُّ عَلَيْهِ أَكْثَرُ مِمَّا أُعْطِيَ ‘‘ رواه أحمد ’’
“สำหรับผู้บริจาคที่ร่ำรวยนั้น อัลลอฮ์จะตอบแทนความดีงาม ส่วนผู้บริจาคที่ยากจนอัลลอฮ์จะตอบแทนคืนให้กับเขามากยิ่งกว่า”
(อะฮ์หมัด)
ในวันอีดมุสลิมจะต้องแสวงหาผู้ยากจนที่อยู่รอบข้าง พร้อมจ่ายซอดาเกาะฮ์(บริจาค)ให้กับพวกเขา ดังปรากฏในฮาดิษ
’’أغنوهُم عن الطواف في هذا اليوم‘‘أخرجه البيهقي
"จงทำให้คนยากจนมีของกิน พวกเขาจะได้ไม่ต้องเที่ยวเวียนวนขอบริจาคในวันนี้”
(อัล-บัยฮากีย์)
พี่น้องชาวอีดิลฟิฏรีที่เคารพ วันอีดิลฟิฏรีย์ เปรียบเสมือนวันกียามะฮ์ ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า
“สำหรับแต่ละคนในหมู่พวกเขาในวันนั้น มีภาระพอตัวเขาอยู่แล้ว หลายใบหน้าในวันนั้นแจ่มใส หัวเราะดีใจร่าเริง และหลายใบหน้าในวันนั้นมีฝุ่นจับ ความหม่นหมองจะปกคลุมบนใบหน้านั้น “
(ซูเราะห์ อาบาซะ 37-41 )
“เพราะว่าเขาไม่เชื่อมั่น และไม่ละหมาด แต่เขาปฏิเสธและผินหลังกลับ แล้วเขาก็เดินอย่างองอาจไปหาพรรคพวกของเขาอย่างหยิ่งยะโส ความวิบัติจงมีแด่เจ้าเถิด แล้วก็ความวิบัติจงมีแด่เจ้าเถิด แล้วก็ความวิบัติจงมีแด่เจ้าเถิด แล้วก็ความวิบัติจงมีแด่เจ้าเถิด"
(ซูเราะห์ อัลกียามะห์ 31-35 )
พี่น้องอีดิลฟิฏรี วันนี้คือวันอีดของเรา วันอีดมิใช่วันที่สนุกสนานตามอารมณ์นัฟซู เหมือนกับบางศาสนาบางวัฒนธรรม แต่อีดของมุสลิม เริ่มต้นด้วยการตักบีร اَللهُ أَكْبَرُ การละหมาด ซึ่งมีความหมายที่ล้ำลึกถึงพระผู้เป็นเจ้า วันอีดมิใช่มีความหมายว่า เป็นวันแห่งการปลดปล่อยอิสระพ้นจากเงื่อนไขต่างๆ หรือวันที่จะต้องหยุดชะงักจากการติดต่อกับอัลลอฮ์ มีพี่น้องบางคนเข้าใจว่า รอมฏอนจากไป การเดินไปมัสยิด ละหมาดญามาอะฮ์ และการเชื่อฟังอื่นๆก็จะต้องจากไปด้วย ไม่ใช่เช่นนั้นหรอก โอ้พี่น้องมุสลิม
"ผู้ไดที่ยึดกับเดือนรอมฏอน แท้จริงเดือนรอมฏอนมันจะหายไป และผู้ไดที่ยึดมั่นกับอัลลออฮ์ แท้จริงอัลลอฮ์จะอยู่กับเขาตลอดไป"
ดังนั้นจงเป็นบ่าวของอัลลอฮ์ ที่ภักดีต่ออัลลอฮ์ ตลอดไป แต่อย่าเป็นบ่าวของพระองค์แค่เดือนรอมฎอนเท่านั้น
كُنْ عَبْدًا رَبَّانِيًّا وَلَاتَكُنْ رَمَضَانِيًّا) اَللهُ أَكْبَرُ، اَللهُ أَكْبَرُ اَللهُ أَكْبَرُ وَللهِ الْحَمْدُ).
พี่น้องผู้ศรัทธาทุกท่านครับ รอมฏอนคือ ฤดูแห่งการเก็บเกี่ยวของผู้มีความยำเกรง เป็นช่องทางการค้าขายมากขึ้นในฤดูกาลของมัน จะไม่มีการปิดตลาด หลังจากจบฤดูกาล รอมฏอนเป็นฤดู(ช่วง)การชาร์ตแบตเตอรี่ของหัวใจเพื่อเพิ่มพูนอีหม่าน ตักวา และแสวงหาความโปรดปราน ณ อัลลอฮ์ ซุบฮานาฮูวาตาอาลา
สำหรับสัญญาณการถูกตอบรับในรอมฏอนนั้นคือ การที่ผู้ศรัทธาได้ต่อเนื่องกับสายเชือกแห่งอัลลอฮ์ หลังจากรอมฏอนผ่านพ้นไป และจะไม่ตัดขาดความรักระหว่างเขากับพระเจ้า ชาวสลัฟท่านหนึ่งกล่าวว่า
"กลุ่มชนที่ชั่วร้าย คือกลุ่มชนที่รู้จักอัลลอฮ์เฉพาะเดือนรอมฏอน
ท่านจงเป็นคนของพระผู้เป็นเจ้า และท่านจงเป็นคนของเดือนรอมฏอน
อย่าเป็นมนุษย์ตามฤดูกาล รู้จักอัลลอฮ์ เฉพาะหนึ่งเดือนในรอบปีเท่านั้น"
อัลลอฮ์ ตรัสความว่า
“ส่วนผู้ที่ปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้อง พระองค์ทรงเพิ่มแนวทางที่ถูกต้องให้แก่พวกเขา และจะประทานให้แก่พวกเขาซึ่งการยำเกรงของพวกเขา “
(ซูเราะห์ มูฮัมมัด 17)
พี่น้องชาวอีดิลฟิฏรีที่มีเกียรติ ท่านทั้งหลายจงระลึกถึง อัลลอฮ์ ตลอดเวลา อัลลอฮ์ ทรงรักการตออะฮ์ เชื่อฟังในทุกเวลาและทุกสถานที่ และพระองค์ไม่ทรงพอพระทัยต่อมะซียะฮ์ معصية การตั้งภาคีในทุกๆกรณี อัลลอฮ์ คือพระผู้เป็นเจ้าแห่งเดือนเชาว้าล ซุลกออีดะฮ์และทุก ๆ เดือน ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงยำเกรงต่ออัลลอฮ์ มิว่าท่านทั้งหลายจะอยู่ในเดือนใด และที่ไหนก็ตาม
อัลลอฮ์ ตรัสความว่า
“และทิศตะวันออกและทิศตะวันตกนั้นเป็นสิทธิของอัลลอฮ์ ดังนั้นพวกเจ้าจะผินไปทางไหน ที่นั่นแหละคือพระพักตร์ของอัลลอฮ์ แท้จริงอัลลอฮ์คือผู้ทรงกว้างขวาง ผู้ทรงรอบรู้”
(ซูเราะห์ อัลบากอเราะห์ 115)
ศรัทธาชนที่รักและมีเกียรติ เยาวชนมุสลิมในบ้านเราปัจจุบัน ได้ฟื้นฟูรณรงค์ซุนนะห์ที่ถูกลืม นั่นคือการเอี๊ยะติกาฟในช่วง 10 วันสุดท้ายของรอมฏอน การตาดารุสอัลกุรอ่าน พร้อมทำความเข้าใจความหมายในรูปแบบการรวมกลุ่ม ซุนนะห์การรวมตัวเพื่อทำกิจกรรมทางศาสนาเยาวชนเหล่านี้ได้ฟื้นฟูกลับมาอีกครั้ง ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีแก่สังคมของเรา เราจะเห็นเยาวชนได้ถือศิลอดซุนนะห์ในวันจันทร์และวันพฤหัสบดี อ่านหนังสือประวัติศาสตร์อิสลาม ทำความเข้าใจเรื่องศาสนา และช่วยเหลือสังคม แข่งขันกันทำความดี اَللهُ أَكْبَرُ، اَللهُ أَكْبَرُ اَللهُ أَكْبَرُ
พี่น้องผู้ศรัทธาทุกท่าน ประชาชาตินี้จะถูกนำด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ด้วยนามของอิสลาม ด้วยนามของอีหม่านเท่านั้น ที่จะพาไปสู่ความสำเร็จ ฉะนั้นกุญแจสำคัญของอุมมะห์คือ อัลกุรอ่าน اَللهُ أَكْبَرُ، اَللهُ أَكْبَرُ اَللهُ أَكْبَرُ
ในยุคปัจจุบันมีสิ่งที่ตรงกันข้ามแล้วได้เกิดขึ้นมาเป็นคู่ขนานก็คือ ในสังคมของเรามีคนไม่ถือศิลอดโดยเจตนากล้าเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยมีร้านค้าขายอาหาร เครื่องดื่ม บุหรี่ ฯลฯ ที่มีมุสลิมเข้าไปใช้บริการอย่างเปิดเผย ไม่ให้เกียรติต่อเดือนอันประเสริฐ ไม่กลัวการลงโทษจากอัลลอฮ์ ถามว่าผู้มีอำนาจ ผู้รู้ ผู้นำอยู่ที่ไหน ทำไมถึงนิ่งเฉย แท้จริงการนิ่งเฉยต่อมุงกัร (สิ่งชั่วร้าย) มันคือความชั่วยิ่งกว่า اَللهُ أَكْبَرُ، اَللهُ أَكْبَرُ اَللهُ أَكْبَرُ
ในอดีตคนที่ละหมาดไม่ครบ ยามเมื่อถึงเดือนรอมฏอน พวกเขาจะละหมาดพร้อมถือศีลอดครบถ้วน ถึงแม้เขาจะทำแย่ขนาดไหน แต่เขายังให้เกียรติเดือนรอมฏอน แม้กระทั่งคนคริสเตียนในบางประเทศ เช่นอียิปต์ ก็ยังให้เกียรติเดือนรอมฏอนด้วยการไม่รับประทานหรือดื่มน้ำชา กาแฟอย่างเปิดเผย แล้วถามว่าเกียรติตรงนี้มันหายไปใหน แท้จริงท่านนบี ได้ย้ำเตือนพวกเราว่า เมื่อถึงยุคสุดท้ายของโลกนี้ จะเกิดฟิตนะห์มากมายเสมือนคลื่นในมหาสมุทร และมันจะมาทำลายอากีดะห์ความเชื่อของมนุษย์ด้วยวัตถุ
ดังปรากฏในฮาดิษ ท่านรอซูล กล่าวว่า
بَادِرُوا بِالْأَعْمَالِ فِتَنًا كَقِطَعِ اللَّيْلِ الْمُظْلِمِ، يُصْبِحُ الرَّجُلُ مُؤْمِنًا وَيُمْسِي كَافِرًا، أَوْ يُمْسِي مُؤْمِنًا وَيُصْبِحُ كَافِرًا، يَبِيعُ دِينَهُ بِعَرَضٍ مِنَ الدُّنْيَا {رواه مسلم برقم 118 }
“พวกท่านจงรีบเร่งปฏิบัติความดี ก่อนที่จะเกิดฟิตนะห์ความวุ่นวายโกลาหล ดังราตรีกาลอันมืดทมิฬ กระทั่งว่าบางคนตื่นเช้ามาในสภาพที่เป็นผู้ศรัทธา แต่เมื่อตกเย็นกลับกลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาไปเสีย หรือบางคนในตอนเย็นยังเป็นผู้ศรัทธา แต่เมื่อตื่นขึ้นมาอีกวันก็กลับกลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา ผู้คนยอมขายศาสนาเพื่อแลกกับความสุขอันจอมปลอมเพียงน้อยนิดในโลกดุนยา”
(บันทึกโดย มุสลิม: 118)
ส่วนหนึงจากฟิตนะห์ที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน คือ ผู้หญิง เยาวชน ยาเสพติด ความอธรรม ฯลฯ แต่ฟิตนะห์ทั้งหมดนั้นมีทางออกทางเดียวที่สามารถแก้ปัญหาได้คือ การกลับสู่อิสลาม กลับสู่อัลกุรอ่าน ธรรมนูญแห่งประชาชาติ
ครั้งหนึ่งท่านรอซูล บอกกับท่านอะลี อิบนุ อะบี ฏอลิบ ว่า “อนาคตจะเกิดฟิตนะห์มากมาย
ท่านอลี ถามว่า อะไรคือทางออกในเรื่องนี้
ท่านรอซูล กล่าวตอบว่า กีตาบุลลอฮ์ (อัลกุรอ่าน)”
อัลกุรอาน คือ ทางออกของประชาชาตินี้ มิใช่กฎหมายของมนุษย์ที่เขียนขึ้นมาด้วยน้ำมือของมนุษย์เอง อัลกุรอานเท่านั้นคือทางออก ดังนั้นประชาชาติทุกคนจะต้องหันกลับคืนสู่พระมหาคัมภีร์เล่มนี้เท่านั้น ปฏิบัติตามทางนำในอัลกุรอ่าน และอัลกุรอานถูกประทานลงมาในเดือนรอมฏอน ดังนั้นรอมฏอนเป็นเดือนแห่งอัลกุรอ่าน พระองค์ตรัสความว่า
“และนี้แหละคือคัมภีร์ ที่มีความจำเริญซึ่งเราได้ให้คัมภีร์ลงมายังเจ้า จงปฏิบัติตามคัมภีร์นั้นเถิด และจงยำเกรง เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความกรุณาเมตตา”
(ซูเราะห์ อัล-อันอาม 155)
ความบารอกะห์ของอัลกุรอ่านคือการปฏิบัติตาม มิใช่การเอาอัลกุรอ่านมาแขวนไว้เพื่อความสวยงามในสถานที่ต่างๆ หรือเพื่ออ่านให้คนตาย หรือเพื่อเอาไว้แขวนคอเด็ก หรือที่อื่นๆ พระองค์ตรัสความว่า
“คัมภีร์ (อัลกุรอาน) เราได้ประทานลงมาให้แก่เจ้าซึ่งมีความจำเริญ เพื่อพวกเขาจะได้พินิจพิจารณาอายาตต่าง ๆของอัลกุรอานและเพื่อปวงผู้มีสติปัญญาจะได้ใคร่ครวญ”
(ซูเราะห์ ศอด 29)
ดังนั้นมุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติตามคำสอนของอัลกุรอาน ไม่ว่าคำสอนนั้นเกี่ยวข้องกับการศรัทธาหรือที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ พยายามเป็นมิตรกับอัลกุรอานให้ใกล้ชิดที่สุดด้วยการอ่านอย่างสม่ำเสมอ พยายามให้เป็นกิจวัตรประจำวันและอ่านให้มากที่สุด เพื่อจะได้รับทางนำและผลบุญมากที่สุดจากอัลลอฮ์
อัลหัมดูลิลละฮ์ ที่เราทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างสุขสบายทั้งในรอมฎอนและวันอีดวันนี้ แต่ถ้าเราหันกลับไปมองถึงประชาชาติอิสลามส่วนหนึ่ง ที่พวกเขากำลังเดือดร้อน ถูกกดขี่ข่มเหง ถูกริดรอนสิทธิ ถูกทารุณโหดร้ายต่าง ๆ นานา พวกเขาเป็นพี่น้องเรา พวกเขาต้องละศีลอดในสมรภูมิรบ พวกเขาละหมาดตารอวีห์ ละหมาดวันศุกร์ ละหมาดอีดท่ามกลางวงล้อมของผู้ไม่หวังดี ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องของเราในซีเรีย อียิปต์ โรฮิงยา อีรัก และ ปาเลสไตน์ พวกเขาทำอะไรผิดถึงได้เป็นแบบนั้น !
“พวกเขา (บรรดาผู้ศรัทธา) มิได้ถูกทรมานเพราะคดีความผิดอะไรหรอกนอกจากเพราะพวกเขาเป็นผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮ์แค่นั้นเอง”
พี่น้องผู้ร่วมศรัทธาที่รักทุกท่านครับ ท่านรอซูลุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า
“อุปมาบรรดาศรัทธาชนทั้งหลายในเรื่องความรักระหว่างพวกเขา ความเมตตาระหว่างพวกเขา ความโอบอ้อมอารี และความเอื้ออาทร ระหว่างพวกเขาด้วยกันนั้นอุปมัยดั่งเรือนร่างอันเดียวกัน เมื่อส่วนหนึ่งส่วนใดเจ็บส่วนอื่น ๆ ของร่างกายก็เจ็บด้วย จนร่างกายไม่ได้หลับไม่ได้นอนเช่นกันทุกส่วน”
(บันทึกโดยมุสลิม)
พี่น้องครับ เราอาจจะช่วยเหลือพี่น้องของเราได้ไม่มากนัก แต่สิ่งที่ทุกคนทำได้ตอนนี้ ที่ไม่ควรเพิกเฉย คือการขอดุอาอฺจากอัลลอฮ์ ให้พวกเขาได้รับการช่วยเหลือจากอัลลอฮ์ และร่วมกันบริจาคในวันนี้และวันอื่นๆต่อไป อย่าลืมนะครับว่า ทรัพย์ของท่านจะเป็นของท่าน เมื่อท่านได้ใช้จ่ายในหนทางของอัลลอฮ์
พี่น้องผู้ร่วมแนวทางที่รักทั้งหลาย ก่อนที่จะจบคุตบะห์อีดิลฟิฏร์ในวันนี้ ผมขอตักเตือนตัวของผมเองและพี่น้องผู้ร่วมอุดมการณ์อิสลามทุกคนสู่การปฏิบัติความดีงามตามแบบฉบับอิสลามให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะเป้าหมายหลักที่พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์มานี้ ก็เพื่อทำอิบาดะห์ต่อพระองค์ ดังนั้นอีบาดะห์หนึ่ง ที่สำคัญที่ผู้ศรัทธาต้องปฏิบัติ คือการถือศีลอดหกวันในเดือนเชาวาล ซึ่งท่านรอซูล ได้กำชับและเน้นยำกับกับเราทุกคน พร้อมถึงอธิบายคุณค่าอย่างละเอียดว่า
จากท่านอบู อัยยูบ อัล-อันศอรีย์ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ เล่าว่า ได้ฟังท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า
" ’من صام رمضان وأتبعه ستا من شوال كان كصيام الدهر . " رواه مسلم
“ผู้ใดที่ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน หลังจากนั้นได้ถือศีลอดอีกหกวันในเดือนเชาวาล เขาจะได้รับผลบุญประหนึ่งถือศีลอดหนึ่งปี”
(รายงานโดย มุสลิม)
บทเรียนจากหะดีษ
1- การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนเป็นวาญิบและการถือศีลอดในเดือนเชาวาลเป็นสุนัต
2- บ่งบอกถึงความประเสริฐของการถือศีลอดในเดือนเชาวาล
3- การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนและตามด้วยการถือศีลอดหกวันในเดือนเชาวาล อัลลอฮฺ จะทรงให้ผลบุญเสมือนถือศีลอดเป็นเวลาหนึ่งปี
4- หลักทั่วไปเกี่ยวกับการให้ผลตอบแทนต่อการกระทำที่ดี คือ หนึ่งความดี ตอบแทนด้วย10เท่า การถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน 30 วัน พร้อมกับการถือศีลอดเดือนเชาวาล 6 วัน รวมกันเป็น 36 วัน จากนั้นคูณด้วย 10 เท่ากับ 360 วัน ก็เท่ากับว่าถือศีลอดเป็นเวลา 1 ปี
5- ถือศีลอดสุนัตในเดือนเชาวาล ควรเริ่มจากวันที่ 2 ของเดือนเชาวาล และถือศีลอดติดต่อกัน แต่หากไม่ได้เริ่มถือศีลอดตั้งแต่ต้นเดือน และไม่ได้ถือศีลอดติดต่อกันก็ถือว่าทำได้
สุดท้ายขอดุอาจากอัลลอฮ์ โปรดประทานความสามัคคีแก่ประชาชาติมุสลิม ขอพระองค์ประทานอีหม่านที่เข้มแข็งแก่ประชาชาติมุสลิม ขอพระองค์ทรงตอบรับการงานที่ดีของเรา และขอพระองค์ประทานความสำเร็จแก่ประชาชาติอิสลามทั้งดุนยาและอาคีเราะห์ อามีน