แบบฉบับของท่านเราะสูล ในวันอีด
  จำนวนคนเข้าชม  7659

 

แบบฉบับของท่านเราะสูล ในวันอีด

 

ชัยคฺ มุหัมมัด บิน อับดุลวะฮาบ

 

ข้อปฏิบัติในวันอีด

          ท่านละหมาดอีดทั้งสอง ณ ลานกลางแจ้ง (มุศ็อลลา) ซึ่งอยู่ทางด้านประตูเมืองมะดีนะฮฺฝั่งตะวันออกโดยท่านไม่เคยละหมาดอีดในมัสยิดเลย ยกเว้นเมื่อครั้งที่มีฝนตกหากว่าหะดีษที่ระบุถึงเรื่องนี้ซึ่งปรากฏในสุนันอบูดาวุดมีความถูกต้อง

 

        ในวันอีดท่านจะสวมใส่เครื่องแต่งกายที่สวยที่สุดในบรรดาชุดที่ท่านมีอยู่ โดยในวันอีดฟิฏรฺท่านจะทานอินทผลัมเล็กน้อยเป็นจำนวนคี่ก่อนออกไปละหมาด ส่วนในวันอีดอัฎหาท่านจะไม่ทานอะไรจนกว่าจะกลับมาจากมุศ็อลลาแล้วจึงทานอาหารซึ่งปรุงจากเนื้อที่ได้จากการเชือดกุรบ่าน

 

         เช้าวันอีดท่านจะอาบน้ำก่อนออกไปละหมาด ทั้งนี้มี หะดีษสองบทระบุถึงเรื่องการอาบน้ำในวันอีด แต่หะดีษดังกล่าวล้วนเป็นหะดีษที่เฎาะอีฟ อย่างไรก็ตามมีปรากฏรายงานว่าเป็นสิ่งที่ท่านอิบนุอุมัรฺปฏิบัติ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าท่านนั้นเป็นผู้ที่ยึดมั่นในแบบฉบับของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมอย่างเคร่งครัด

          ท่านนบีเดินเท้าออกไปละหมาดโดยมีผู้ถือหอกสั้นเดินตามท่านไป เมื่อไปถึงมุศ็อลลาก็จะนำหอกดังกล่าวปักลงเพื่อเป็นสิ่งกั้นขณะท่านนำละหมาด ทั้งนี้กลางลานมุศ็อลลานั้นไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ กรณีละหมาดอีดฟิฏรฺท่านจะเริ่มละหมาดล่าช้า ต่างจากอีดอัฎหาซึ่งจะเริ่มเร็ว  แต่ทั้งนี้มีรายงานว่าท่านอิบนุอุมัรฺจะไม่ออกจากบ้านกระทั่งดวงอาทิตย์ขึ้นโดยท่านจะกล่าวตักบีรฺตั้งแต่ออกจากบ้านกระทั่งไปถึงมุศ็อลลา

        เมื่อท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมถึงมุศ็อลลาท่านก็จะเริ่มละหมาดทันทีโดยไม่มีการอะซานหรืออิกอมะฮฺแต่อย่างใดและไม่มีการกล่าวว่า الصلاة جامعة
 

นอกจากนี้เมื่อถึงมุศ็อลลาท่านและเศาะหาบะฮฺก็ไม่เคยละหมาดสุนัตแต่อย่างใดไม่ว่าจะก่อนหรือหลังละหมาดอีด

          ท่านเริ่มด้วยการละหมาด แล้วจึงตามด้วยคุฏบะฮฺโดยท่านละหมาดสองร็อกอัต ในร็อกอัตแรกหลังจากตักบีเราะตุลอิหฺรอมแล้วท่านตักบีรฺเจ็ดครั้งติดต่อกัน โดยเว้นช่วงเล็กน้อยระหว่างตักบีรฺแต่ละครั้ง ทั้งนี้ไม่ปรากฏว่าท่านกล่าวสิ่งใดเป็นการเฉพาะระหว่างตักบีรฺแต่ละครั้ง แต่ก็มีรายงานว่าท่านอิบนุ มัสอูดได้กล่าวสรรเสริญสดุดีอัลลอฮฺและกล่าวเศาะละวาตต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และมีรายงานว่าท่านอิบนุอุมัรยกมือขึ้นพร้อมการกล่าวตักบีรฺทุกครั้ง

          เมื่อเสร็จสิ้นจากการตักบีรฺในร็อกอัตแรกท่านจะอ่าน ฟาติหะฮฺกับสูเราะฮฺ “กอฟ” ส่วนในร็อกอัตที่สองหลังจากอ่านฟาติหะฮฺแล้วท่านจะอ่านสูเราะฮฺ “อัล-เกาะมัรฺ” ในบางครั้งท่านจะอ่านสูเราะฮฺ “อัล-อะอฺลา” ในร็อกอัตแรก และสูเราะฮฺ “อัล-ฆอชิยะฮฺ” ในร็อกอัตที่สอง ทั้งนี้ไม่มีหลักฐานที่ถูกต้องระบุว่าท่านอ่านสูเราะฮฺอื่นใดนอกเหนือไปจากที่กล่าวมานี้ เมื่ออ่านเสร็จท่านกล่าวตักบีรฺและก้มรุกูอฺ ในร็อกอัตที่สองท่านตักบีรฺจำนวนห้าครั้งติดต่อกันแล้วจึงเริ่มอ่าน

 

          เมื่อท่านเสร็จสิ้นจากการละหมาดท่านยืนหันหน้าเข้าหาบรรดามะอ์มูมซึ่งยังคงนั่งอยู่ในแถวละหมาด แล้วท่านก็กล่าวตักเตือนพวกเขาสั่งใช้ให้กระทำความดีและห้ามปรามมิให้กระทำความชั่ว
 

          ถ้าหากท่านประสงค์จะส่งทัพไปยังที่ใดท่านก็จะสั่งในระหว่างนั้น หรือถ้าหากท่านประสงค์จะสั่งการในเรื่องใดท่านก็จะสั่ง  ท่านยืนคุฏบะฮฺอีดบนพื้นดินมิได้ยืนบนมินบัรฺ

          ส่วนที่ปรากฏในหะดีษซึ่งบันทึกในหนังสือเศาะฮีหฺอัล-บุคอรียฺและเศาะฮีหฺมุสลิมว่า “..จากนั้นท่านก็ลงไปหากลุ่มสตรี” จนจบหะดีษนั้น เป็นไปได้ว่าขณะคุฏบะฮฺท่านยืนอยู่บนที่เนินซึ่งสูงขึ้นจากพื้น ส่วนมินบัรฺที่อยู่ในมัสยิดมะดีนะฮฺนั้นบุคคลแรกที่นำออกมาวาง(ในละหมาดอีด) คือมัรวานบินอัลหะกัมซึ่งก็มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว ส่วนมินบัรฺที่ทำมาจากอิฐและดินเหนียวนั้นคนแรกที่สร้างขึ้นคือกะษีรฺบินอัศศ็อลตฺในสมัยที่มัรวานปกครองมะดีนะฮฺ

          ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้อนุโลมให้ผู้ที่มาละหมาดอีดนั่งอยู่ต่อเพื่อฟังคุฏบะฮฺ หรือจะกลับไปก่อนโดยไม่ฟังก็ได้ นอกจากนี้ท่านยังอนุโลมให้ผู้ที่ละหมาดอีดแล้วไม่ต้องละหมาดวันศุกร์อีก และขากลับจากละหมาดอีดท่านจะเดินกลับทางอื่นซึ่งเป็นคนละทางกับขาไป

          และมีรายงานว่าท่านกล่าวตักบีรฺตั้งแต่หลังละหมาดฟัจญรฺในเช้าวันอะเราะฟะฮฺกระทั่งถึงเวลาอัศรฺของวันตัชรีกวันสุดท้ายโดยสำนวนตักบีรฺคือ

 

اللهُ أَكبَرُ، اللهُ أكبرُ، لاإلهَ إلا الله، وَاللهُ أكبر، اللهُ أكبرُ، وَللهِ الحَمْدُ



 

 

แปลโดย:อัสรัน นิยมเดชา  / Islamhouse