รอมาฎอน สอนให้อดทน
  จำนวนคนเข้าชม  5325

 

รอมาฎอน สอนให้อดทน

 

โดย อุสตาส มูฮำหมัดอับดุฮฺ ตัวสิกัล

 

         เดือนรอมาฎอน สอนให้เรามีความอดทน เพราะผลบุญที่จะได้รับนั้น ไม่สามารถที่จะคิดคำนวณได้ จากท่านอบีฮูร็อยเราะฮฺ (รอดิยัลลอฮฺอันฮู) ท่านรอซูลุลลอฮฺ  กล่าวว่า

“การงานทั้งหมดของลูกหลานอาดัมจะได้รับผลบุญทวีคูณจากสิบเท่าไปจนถึงเจ็ดร้อยเท่า”

โดยที่ อัลลอฮฺ  ตรัสความว่า

“ยกเว้นการถือศีลอด แท้จริงมันเป็นของฉันและฉันจะเป็นผู้ตอบแทนมันด้วยตัวของฉันเอง เขาละเว้นจากอารมณ์ใคร่และอาหารเนื่องจากฉัน 
 

สำหรับผู้ถือศีลอดเขาจะได้รับความสุขสองครั้งด้วยกัน คือ 
 

ครั้งแรก ความสุขขณะที่เขาละศีลอด (ในโลกนี้) 
 

ครั้งที่สอง ความสุขในขณะที่เขาได้พบกับพระผู้อภิบาลของเขา (ในโลกหน้า) 
 

และกลิ่นปากของผู้ถือศีลอดนั้น ณ อัลลอฮฺหอมยิ่งกว่ากลิ่นชะมดเชียงเสียอีก”

(หะดีษศอหี้ห บันทึกโดยมุสลิม หะดีษที่ 1151)

         จากหะดีษข้างต้น เป็นที่ชัดเจนว่า การงานทั้งหลายนั้นจะได้รับผลบุญทวีคุณจากสิบเท่าจนถึงเจ็ดร้อยเท่า แต่การงานที่ถูกยกเว้น คือ การถือศีลอด

         การถือศีลอดจะได้รับผลบุญทวีคูณที่ไม่เหมือนการงานอื่นๆ เพราะฉะนั้นการถือศีลอดจึงได้รับผลบุญทวีคูณจากอัลลอฮฺ อย่างมากมายโดยที่ไม่สามารถคิดคำนวณได้  ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?

     อิมาม อินบุ รอญับ อัลฮัมบาลีย์ (รอฮิมาฮุลลอฮฺ) กล่าวว่า “เพราะการถือศีลอดเป็นส่วนหนึ่งจากความอดทน” ซึ่งผลตอบแทนสำหรับผู้ที่มีความอดทน 

อัลลอฮฺ  ตรัสความว่า

“แท้จริงบรรดาผู้อดทนนั้นจะได้รับการตอบแทนรางวัลของพวกเขาโดยสมบูรณ์อย่างไม่จำกัด” 

(อัซซุมัร : )

การอดทนนั้น มี 3 ประเภท คือ

1. อดทนต่อการเชื่อฟังอัลลอฮฺ

2. อดทนต่อการไม่ปฏิบัติสิ่งที่ต้องห้าม

3. อดทนต่อการเผชิญกับบททดสอบ

          การอดทนทั้ง 3 ประเภทได้ถูกบรรจุไว้ในการถือศีลอด แน่นอนในการถือศีลอดย่อมมีการปฏิบัติที่แสดงให้เห็นถึงการเชื่อฟังอัลลอฮฺ  และการไม่ปฏิบัติในสิ่งที่ต้องห้าม และเช่นเดียวกันในการถือศีลอดย่อมต้องอดทนต่อการเผชิญกับบททดสอบต่างๆ เช่น ความหิว กระหาย ร่างกายเหนื่อยล้า ดังนั้นจึงทำให้การถือศีลอดจะได้รับผลบุญอย่างไม่จำกัด เช่นเดียวกับการอดทน 

(ลาฏออิฟุล มาอาริฟ หน้า 268-269)

        หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์ ขออัลลอฮฺ  ทำให้เรามีความอดทนในทุกสถานการณ์ ทั้งในการทำความดี ละเว้นความชั่ว และเมื่อเผชิญกับบททดสอบ

 

แปลและเรียบเรียง มูฮำหมัดกามัล อัลฟัจรีย์