รอมาฎอน คือ อะไร ?
  จำนวนคนเข้าชม  13390

 

รอมาฎอน คือ อะไร ?

 

โดย ชัยคฺ มูฮำหมัด บิน ศอลิหฺ อัลมุนัจญิด

 

มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺเพียงพระอค์เดียว

 

          รอมาฎอน เป็นหนึ่งในเดือนของอาหรับ จาก 12 เดือน และมันเป็นเดือนที่ยิ่งใหญ่ในศาสนาอิสลาม มันเป็นเดือนที่แตกต่างจากเดือนอื่นๆ เนื่องจากลักษณะและความประเสริฐบางประการที่มีอยู่ ส่วนหนึ่งคือ


 

     1. อัลลอฮฺ ได้กำหนดให้การถือศีลอด(ในเดือนรอมาฎอน) เป็นหลักปฏิบัติข้อที่ 4 จากหลักปฏิบัติของอิสลาม ดั่งที่พระองค์ตรัสความว่า
 

         “เดือนรอมาฏอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกุรอานถูกประทานลงมา เพื่อเป็นข้อชี้แนะแก่มวลมนุษยชาติ และเป็นหลักฐานอันชัดเเจ้งเกี่ยวกับข้อชี้แนะนั้น และเกี่ยวกับสิ่งที่จำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ ดังนั้นผู้ใดในหมู่พวกเจ้าเข้าอยู่ในเดือนนั้นแล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้นเถิด”

(อัลบะกอเราะฮฺ : 185)
 

          และปรากฏในหนังสือศอหี้หทั้งสอง ศอหี้หบุคอรีย์ หะดีษที่ 8 และศอหี้หมุสลิม หะดีษที่ 16 รายงานจากท่านอุมัร (รอดิยัลลอฮฺอันฮู) ท่านนบี  กล่าวว่า
 

“อิสลามถูกสร้างด้วยหลักการ 5 ประการ คือ

♥ การปฏิญานตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺและมูฮำหมัดคือศาสนทูตของอัลลอฮฺ

♥ การดำรงไว้ซึ่งการละหมาด

♥ การชำระชะกาต

♥ การถือศีลอดในเดือนรอมาฎอน และ

♥ การประกอบพิธีฮัจญ์ ณ บัยตุลลอฮฺ”


 

     2. อัลลอฮฺ  ทรงประทานอัลกุรอานในเดือนรอมาฎอน ดังพระดำรัสของอัลลอฮฺก่อนหน้านี้ ที่ว่า
 

“เดือนรอมาฏอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกุรอานถูกประทานลงมา เพื่อเป็นข้อชี้แนะแก่มวลมนุษยชาติ

และเป็นหลักฐานอันชัดเเจ้งเกี่ยวกับข้อชี้แนะนั้น และเกี่ยวกับสิ่งที่จำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ”
 

 (อัลบะกอเราะฮฺ : 185)
 

และอัลลอฮฺ  ตรัสความว่า
 

“แท้จริงเราได้ประทานมัน (หมายถึง อัลกุรอาน)ในคืนอัลก็อดรฺ” 

(อัลก็อดรฺ : 1)


     3. อัลลอฮฺ  ทรงกำหนดให้คืนอัลก็อดรฺ อยู่ในเดือนนี้ ซึ่งคืนนี้ เป็นคืนนี้ที่ดีกว่าหนึ่งพันเดือน อัลลอฮฺ  ตรัสความว่า

         “แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอัลก็อดรฺ และอะไรเล่าจะทำให้เจ้ารู้ได้ว่าคืนอัลก็อดรฺนั้นคืออะไร คืนอัลก็อดรฺนั้นดียิ่งกว่าหนึ่งพันเดือน บรรดามะลาอิกะฮฺและอัลรูฮฺ (ญิบริล) จะลงมาในคืนนั้น ด้วยการอนุมัติของพระเจ้าของพวกเขาในทุกๆสิ่ง คืนนั้นมีความศานติจนกระทั่งรุ่งอรุณ” 

(อัลก็อดรฺ : 1-5)

และอัลลอฮฺ  ตรัสความว่า

“แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอันจำเริญ แท้จริงเราเป็นผู้ตักเตือน” 

(อัดดุคอน : 3)

          อัลลอฮฺ  ทรงทำให้รอมาฎอนมีความประเสริฐด้วยคืนอัลก็อดรฺ และเพื่ออธิบายถึงความประเสริฐของคืนนี้ อัลลอฮฺ  จึงประทานซูเราะห์อัลก็อดรฺ และยังมีหะดีษอีกหลายบทที่กล่าวถึงมัน ส่วนหนึ่ง คือ ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ (รอยิอัลลอฮฺอันฮู) กล่าวว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺ  กล่าวว่า

          “รอมาฎอน ได้มาถึงพวกท่านแล้ว เดือนแห่งความจำเริญ อัลลอฮฺทรงสั่งใช้แก่พวกท่านซึ่งการถือศีลอด ในเดือนนี้บรรดาประตูแห่งชั้นฟ้าจะถูกเปิด และบรรดาประตูนรกจะถูกปิด และบรรดาชัยตอน (มารร้าย) จะถูกล่ามโซ่ ในเดือนนี้อัลลอฮฺ ทรงทำให้มีค่ำคืนหนึ่งที่ดีกว่าหนึ่งพันเดือน ผู้ใดที่ถูกห้ามจากความดีงามของมัน เขาก็ได้ถูกห้าม (จากความดีงามที่มากมาย-ผู้แปล)

(หะดีษศอหี้ห บันทึกโดยนซาอีย์ หะดีษที่ 2106 และอะหมัด หะดีษที่ 8769 และชัยคฺอัลอัลบานีย์ กล่าวว่าศอหี้ห ในหนังสือ ศอหี้ห อัตตัรฆีบ)

และรายงานจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ (รอยิอัลลอฮฺอันฮู) กล่าวว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺ  กล่าวว่า

“ผู้ใดลุกขึ้นมา(เพื่อประกอบความดีงาม)ในคืนอัลก็อดรฺ ด้วยความศรัทธามั่น และหวังในผลตอบแทน เขาจะได้รับการอภัยโทษซึ่งบาปที่ผ่านมา”

(หะดีษศอหี้ห บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 1910 และมุสลิม หะดีษที่ 760)


     4. อัลลอฮฺ  ทรงทำให้การถือศีลอดและการลุกขึ้นมาในยามค่ำคืน (ในเดือนรอมาฎอน) ที่ถูกปฏิบัติด้วยความศรัทธามั่น และหวังในผลตอบแทน เป็นสาเหตุที่ทำให้ได้รับการอภัยโทษ ดั่งที่ปรากฏในหนังสือศอหี้หทั้งสอง ศอหี้หบุคอรีย์ หะดีษที่ 2014 และศอหี้หมุสลิม หะดีษที่ 760 จากหะดีษอบูฮูร็อยเราะฮฺ (รอดิยัลลอฮฺอันฮู) แท้จริงท่านนบี  กล่าวว่า

“ผู้ใดถือศีลอด ในเดือนรอมาฎอนด้วยความศรัทธามั่น และหวังในผลตอบแทน เขาจะได้รับการอภัยโทษซึ่งบาปที่ผ่านมา”

 

และปรากฏในหนังสือศอหี้หบุคอรีย์ หะดีษที่ 2008 และศอหี้หมุสลิม หะดีษที่ 174 ท่านนบี  กล่าวว่า

“ผู้ใดลุกขึ้นมา(เพื่อประกอบความดีงาม)ในเดือนรอมาฎอนด้วยความศรัทธามั่น และหวังในผลตอบแทน เขาจะได้รับการอภัยโทษซึ่งบาปที่ผ่านมา”

 

         ประชาชาติอิสลามได้มีมติเอกฉันท์ ถึงการส่งเสริมให้ลุกขึ้นในยามค่ำคืนในเดือนรอมาฎอน ท่านอิมามนวาวีย์ ได้พูดถึงการลุกขึ้นในยามค่ำคืนในเดือนรอมาฎอนว่า คือ การละหมาดตะรอวีหฺ นั่นคือ จะได้รับผลตอบแทนของการลุกขึ้นในยามค่ำคืน ด้วยการละหมาดตะรอวีหฺ


     5. ในเดือนรอมาฎอน อัลลอฮฺ  ทรงเปิดบรรดาประตูสวรรค์ และปิดบรรดาประตูนรก และเหล่าชัยตอน(มารร้าย)จะถูกล่ามโซ่ ดั่งที่ปรากฏในหนังสือศอหี้หทั้งสอง ศอหี้หบุคอรีย์ หะดีษที่ 1898 ศอหี้หมุสลิม หะดีษที่ 1079 จากท่านอบูฮูร็อยเราะฮฺ (รอดิยัลลอฮฺอันฮู) ท่านรอซูลุลลอฮฺ  กล่าวว่า

“เมื่อรอมาฎอนมาถึง บรรดาประตูสวรรค์จะถูกเปิด และบรรดาประตูนรกจะถูกปิด และเหล่าชัยตอน(มารร้าย)จะถูกล่ามโซ่”


     6. ทุกๆค่ำคืนของเดือนรอมาฎอน อัลลอฮฺ  จะทรงทำให้ปลดปล่อยจากนรก ในบันทึกของอิมามอะหมัด จากท่านอบู อูมามะฮฺ ท่านนบี  กล่าวว่า

“ในทุกๆเวลาที่ถูกเปิดจะมีมนุษย์ที่อัลลอฮฺทำให้เขาถูกปลดปล่อย(จากนรก)” 

(ท่านอัลมุนซีรีย์ กล่าวว่า สายรายงานนี้ ไม่มีปัญหาอะไร และชัยคฺ อัลอัลบานีย์ กล่าวว่า ศอหี้ห ในหนังสือ ศอหี้หอัตตัรฆีบ หะดีษที่ 987 )

รายงานจาก บัซซาร (กัชฟฺ หะดีษที่ 962) จากท่านอบีสะอีด ท่านรอซูลุลลอฮฺ  กล่าวว่า

“แท้จริงแล้วอัลลอฮฺ ผู้ทรงจำเริญและสูงส่ง ได้ปลดปล่อยจากนรก ในทุกๆคืน (หมายถึง ในเดือนรอมาฎอน)

และสำหรับมุสลิม ในทุกวันและค่ำคืน จะมีดุอาอฺที่จะถูกตอบรับ”


     7. การถือศีลอดในเดือนรอมาฎอน เป็นสาเหตุที่ทำให้บาปต่างๆที่กระทำมาก่อนรอมาฎอนถูกลบล้าง ตราบใดที่ไม่มีการทำบาปใหญ่ (เพราะบาปใหญ่จะถูกลบล้างด้วยการเตาบะฮฺตัวเท่านั้น-ผู้แปล) ดังที่ปรากฏในหนังสือศอหี้หมุสลิม หะดีษที่ 233 ท่านนบี  กล่าวว่า

“การละหมาด 5 เวลา และวันศุกร์ถึงวันศุกร์ และรอมาฎอนถึงรอมาฎอน ช่วงเวลาทั้งหมดจะสามารถลบล้างบาปต่างๆ ตราบใดที่ยังออกห่างจากบาปใหญ่”


     8. การถือศีลอดในเดือนรอมาฎอน เสมือนกับการถือศีลอด เป็นเวลา 10 เดือน ซึ่งมีหลักฐานในเรื่องดังกล่าว ในหนังสือศอหี้หมุสลิม หะดีษที่ 1164 รายงานจากท่านอบูอัยยูบ อัลอันศอรีย์ ท่านรอซูลุลลอฮฺ  กล่าวว่า

“ผู้ใดถือศีลอดในเดือนรอมาฎอน หลังจากนั้นเขาได้ถือศีลอดต่อ 6 วันในเดือนเชาวาล เสมือนกับเขาได้ถือศีลอดหนึ่งปี”

และได้ถูกบันทึกโดยอิมาม อะหมัด หะดีษที่ 21906 ท่านนบี  กล่าวว่า

“ผู้ใดที่ถือศีลอดในเดือนรอมาฎอนหนึ่งเดือน หนึ่งเดือนจะเสมือนการถือศีลอดสิบเดือน

และผู้ใดต่อด้วยการถือศีลอดหกวัน หลังจากอีด (หมายถึง ในเดือนเชาวาล) เสมือนเขาได้ถือศีลอดตลอดทั้งปี”


     9. ผู้ใดที่ลุกขึ้นละหมาด ในเดือนรอมาฎอน พร้อมกับอิมาม จนกระทั่งเสร็จสิ้น เสมือนเขาได้ละหมาดทั้งคืน ดั่งที่ถูกบันทึกโดยอบูดาวูด หะดีษที่ 1370 และท่านอื่นๆ จากท่านอบีซัร (รอดิยัลลอฮฺอันฮู) กล่าวว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺ  กล่าวว่า

“ผู้ใดลุกขึ้นละหมาดพร้อมกับอิมาม จนกระทั่งเสร็จสิ้น เสมือนว่าเขาได้ละหมาดตลอดทั้งคืน”

 (ชัยคฺอัลอัลบานีย์ กล่าวว่า ศอหี้ห ในหนังสือ ศอลาหฺตะรอวีหฺ หน้าที่ 15)


     10. การประกอบอุมเราะฮฺในเดือนรอมาฎอน ผลบุญจะเสมือนกับการฮัจญ์ ในการบันทึกของบุคอรีย์ หะดีษที่ 1782 และมุสลิม หะดีษที่ 1256 จากท่านอิบนุ อับบาส (รอดิยัลลอฮอันฮูมา) กล่าวว่า

ท่านรอซูลุลลอฮฺ  กล่าวแก่ผู้หญิงท่านหนึ่งจากอันศอร ว่า “เพราะเหตุใดเธอจึงไม่ประกอบพิธีฮัจญ์พร้อมกับเรา ?” 

เธอตอบว่า “เรามีเพียงอูฐ สองตัว พ่อและลูก ใช้อูฐหนึ่งตัวเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ และได้ทิ้งแก่เราอูฐหนึ่งตัวเพื่อดูแลพืชผลทางการเกตษร” 

ท่านรอซูลุลลอฮฺ  จึงตอบว่า “เมื่อรอมาฎอนมาถึง เธอจงประกอบอุมเราะฮฺเถิด เพราะการประกอบอุมเราะฮฺในเดือนรอมาฎอน จะเสมือนการประกอบพิธีฮัจญ์”


     11. ส่งเสริมให้มีการเอียะติกาฟ (พำนักอยู่ในมัสยิด) ในเดือนรอมาฎอน เพราะท่านนบี  ปฏิบัติอยู่เสมอ ดั่งที่หะดีษจากท่านหญิงอาอีชะฮฺ (รอดิยัลลอฮฺอันฮา) รายงานว่า

“ท่านนบี  จะเอียะติกาฟในสิบคืนสุดท้ายของเดือนรอมาฎอน จนกระทั่งท่านได้เสียชีวิต หลังจากนั้นก็ถูกสืบทอดโดยบรรดาภรรยาของท่าน”

(หะดีษศอหี้ห บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 1922 และมุสลิม หะดีษที่ 1172)


     12. ส่งเสริมอย่างยิ่งในเดือนรอมาฎอนในศึกษาเรียนรู้และทบทวนอัลกุรอาน วิธีการศึกษาและทบทวน คือ การอ่านอัลกุรอานต่อหน้าคนอีกคนหนึ่ง และให้คนนั้นอ่านอัลกุรอานต่อหน้าเรา (อ่านกันเป็นคู่-ผู้แปล) หลักฐานคือ

“แท้จริงท่านญิบรีล จะมาพบกับท่านนบี  ในทุกๆคืนของเดือนรอมาฎอน และทบทวนอัลกรุอานแก่ท่าน”

(หะดีษศอหี้ห บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 6 และมุสลิม หะดีษที่ 2308)

การอ่านอัลกุรอานเป็นสิ่งที่ส่งเสริมในทุกๆช่วงเวลา แต่สำหรับเดือนรอมาฎอน เป็นสิ่งที่ส่งเสริมเป็นพิเศษ


     13. ในเดือนรอมาฎอน ส่งเสริมให้เลี้ยงอาหารละศีลอดแก่ผู้ที่ถือศีลอด รายงานจากท่านซัยด บิน คอลิด อัลญุฮานีย์ (รอดิยัลลอฮฺอันฮู) กล่าวว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺ  กล่าวว่า

 

“ผู้ใดที่เลี้ยงอาหารละศีลอด แก่ผู้ถือศีลอด เขาจะได้รับผลบุญเท่ากับผู้ถือศีลอด โดยที่ผลบุญนั้นมิได้ลดน้อยไปจากผู้ถือศีลอดแต่อย่างใด” 

(หะดีษศอหี้ห บันทึกโดยติรมีซีย์ หะดีษที่ 807 อิบนุมาญะฮฺ หะดีษที่ 1746 และชัยคฺ อัลอัลบานีย์ กล่าวว่า ศอหี้ห ในหนังสือ ศอหี้ห ติรมีซีย์ หะดีษที่ 647)



 

แปลและเรียบเรียง มูฮำหมัดกามัล อัลฟัจรีย์