ครอบครัวมุสลิมกับเดือนเราะมะฎอน
  จำนวนคนเข้าชม  7231

 

ครอบครัวมุสลิมกับเดือนเราะมะฎอน

 

มุหัมมัด ศอลิหฺ อัล-มุนัจญิด


 

คำถาม:

 

      ผมเป็นหัวหน้าครอบครัวและเราะฎอนกำลังจะมาเยือน ผมจะดูแลครอบครัวและหล่อหลอมพวกเขาอย่างไรให้ได้รับความจำเริญในระหว่างเดือนนี้ ?



 

คำตอบ:

 

การสรรเสริญทั้งมวลเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ

 

       สิ่งหนึ่งจากความโปรดปรานของอัลลอฮฺที่ประทานมาให้แก่มุสลิม คือการที่พระองค์ทรงให้พวกเขานั้นได้ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน และใช้เวลาไปกับการละหมาดในยามค่ำคืน มันเป็นเดือนที่ผลบุญของการทำความดีจะทวีคูณและผู้คนจะถูกยกสถานะให้สูงขึ้น ณ เวลานั้นอัลลอฮฺได้ทรงละเว้นพวกเขาจากไฟนรก ดังนั้นในเดือนนี้มุสลิมจะต้องมุ่งมั่นกอบโกยภาคผลอันดีงามให้มากที่สุด เขาต้องรีบเร่งที่จะใช้ชีวิตของเขาไปกับการอิบาดะฮฺ (เคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ) ... กี่ชีวิตแล้วที่ถูกพรากไปจากเดือนนี้ด้วยความเจ็บป่วย ความตาย และความหลงผิด

 

ในช่วงวันแห่งความโปรดปรานนี้ พ่อและแม่มีบทบาทมากที่สุด ฉันจึงขอมอบคำแนะนำแก่ผู้ปกครองทั้งหลายดังนี้

         1. ตรวจสอบการถือศีลอดของลูก ๆ ของท่านและให้กำลังใจกับเด็กที่ยังขาดตกบกพร่องไปในเรื่องนี้


       2. ย้ำเตือนพวกเขาเกี่ยวกับลักษณะที่แท้จริงของการถือศีลอดว่มิใช่เพียงการอดอาหารและเครื่องดื่ม แต่มันเป็นวิธีที่จะนำไปสู่ตักวา (ความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ) และเป็นโอกาสที่ความผิดจะได้รับอภัยและไถ่ถอน


عن أبي هريرة أن رسول الله صلى الله عليه وسلم رقي المنبر فقال : آمين ، آمين ، آمين ، فقيل له : يَا رَسُولَ الله ، ما كُنتَ تَصنَع هذا ؟ فقال : قَالَ لي جِبرِيلُ : أَرغَمَ اللهُ أَنْفَ عَبدٍ أو بَعُدَ دَخلَ رَمَضان فَلمْ يُغفرْ لَهُ ، فقلت : آمين ، ثم قال : رَغمَ أنفُ عَبدٍ أو بَعُدَ أَدْركَ والديهِ أو أَحَدَهُما لم يدخلْه الجنةَ ، فقلت : آمين ، ثم قال : رَغمَ أَنفْ عَبدٍ أو بَعُدَ ذُكِرتَ عندَهُ فَلَم يصلِّ عَليكَ ، فقلت : آمين " [رواه ابن خزيمة برقم  1888  – واللفظ له - ، والترمذي برقم 3545  وأحمد برقم 7444  وابن حبان برقم 908 ، انظر " صحيح الجامع "  3510 ]

มีรายงานจากอบู ฮุรอยเราะฮฺ ว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ขึ้นไปบนมิมบัรและกล่าวว่า "อามีน อามีน  อามีน" 

มีผู้ถามท่านว่า โอ้ เราะสูลของอัลลอฮฺ เหตุใดท่านจึงกล่าวเช่นนั้น 

ท่านเราะสูลได้ตอบว่า 

      "ญิบรีลได้กล่าวกับฉันว่า 'ขออัลลอฮฺทรงทำให้จมูกของเขาแนบลงกับดิน (หมายถึงประสบกับความต่ำต้อยขาดทุน) สำหรับผู้ที่เราะมะฎอนได้มาถึงแต่บาปของเขากลับได้ไม่รับการอภัยโทษ' 

ฉันจึงกล่าวว่า 'อามีน' 

       ญิบรีลได้กล่าวต่อไปว่า 'ขออัลลอฮฺทรงทำให้จมูกของเขาแนบลงกับดิน สำหรับผู้ที่มีชีวิตอยู่กระทั่งพ่อแม่ของเขาหรือหนึ่งจากท่านทั้งสองแก่ชราลง แต่เขาไม่สามารถเข้าไปยังสรวงสวรรค์ได้' 

ฉันจึงกล่าวว่า 'อามีน' 

       ญิบรีลได้กล่าวอีกว่า 'ขออัลลอฮฺทรงทำให้จมูกของเขาแนบลงกับดิน สำหรับผู้ที่เมื่อนามของท่าน (นบีมุฮัมมัด) ถูกกล่าว ณ เขาแล้ว เขาไม่เศาะละวาต (ประสาทพร) แก่ท่าน' 

ฉันจึงกล่าวว่า 'อามีน' 

(บันทึกโดย อิบนุ คุซัยมะฮฺ 1888 อัตติรมีซีย์ 3555 อะหฺมัดม 7444 และอิบนุหิบบาน 908 ดูใน เศาะฮีหฺ อัล-ญามิอฺ 3501)


        3. สอนพวกเขาในเรื่องมารยาทและบทบัญญัติเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร เช่น การรับประทานอาหารด้วยมือขวา และให้ตักอาหารจานที่อยู่ตรงหน้าก่อน ย้ำเตือนพวกเขาว่าการรับประทานอาหารมากเกินไปนั้นเป็นสิ่งหะรอมและเป็นโทษต่อร่างกาย


         4. ไม่ปล่อยให้พวกเขาใช้เวลานานเกินไปในการละศีลอด เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่พลาดการละหมาดมัฆริบพร้อมญะมาอะฮฺ


         5. ย้ำเตือนพวกเขาเกี่ยวกับสภาพของคนยากจนและอดอยากที่ไม่สามารถหาอาหารได้เพียงสักคำเพื่อดับความหิว ย้ำเตือนพวกเขาถึงสภาวการณ์ของผู้อพยพลี้ภัยหรือผู้ที่กำลังต่อสู้ญิฮาดในหนทางของอัลลอฮฺทั่วทุกสถานที่


       6. เป็นโอกาสที่ดีในการพบปะญาติพี่น้องเพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ วิถีปฏิบัติเช่นนี้ยังคงพบได้ในบางประเทศ และมันก็เป็นโอกาสในการคืนดีหรือปรับความเข้าใจในเรื่องที่เคยบาดหมางกันระหว่างเครือญาติอีกด้วย


       7. คอยช่วยแม่ในการปรุงและเตรียมสำรับอาหาร เมื่อรับประทานเสร็จก็ช่วยเก็บล้างจานชาม และเก็บอาหารที่ยังรับประทานได้


       8. ย้ำเตือนให้พวกเขาละหมาดตะรอวีหฺ อย่าให้พวกเขารับประทานอาหารมากจนเกินไป และเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการละหมาดในมัสญิด


       9. ผู้ปกครองควรย้ำเตือนพวกเขาเกี่ยวกับความจำเริญของการรับประทานอาหารสะฮูรฺที่จะช่วยให้พวกเขามีกำลังในการถือศีลอด


       10. ควรเผื่อเวลาระหว่างหลังรับประทานอาหารสะฮูรกับศุบหฺให้เพียงพอ เพื่อให้ผู้ที่ยังไม่ได้ละหมาดวิตรฺสามารถทำการละหมาดได้ และผู้ที่ล่าช้าในการละหมาดก็สามารถละหมาดได้จนกระทั่งช่วงสุดท้ายของค่ำคืน และเพื่อให้แต่ละคนได้ขอดุอาอ์ในสิ่งที่เขาปรารถนาต่อพระผู้เป็นเจ้า


        11. ใส่ใจการละหมาดศุบหฺเป็นญะมาอะฮฺในมัสญิด เราจะเห็นว่าบางคนตื่นขึ้นมาในช่วงท้ายของค่ำคืนเพื่อรับประทานอาหาร แล้วกลับไปยังที่นอนและละเลยที่จะละหมาดศุบหฺ


       12. ในช่วงสิบคืนสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะอยู่ (เพื่อประกอบอิบาดะฮฺ) ในยามค่ำคืนและปลุกครอบครัวของท่านให้ลุกขึ้นด้วย นั่นแสดงให้เห็นว่าครอบครัวควรใส่ใจกับช่วงเวลาแห่งความจำเริญเพื่อกระทำสิ่งที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา ทรงพอพระทัย ดังนั้นสามีควรปลุกภรรยาและลูก ๆ ของเขาเพื่อกระทำในสิ่งที่จะนำพาให้พวกเขาได้ใกล้ชิดกับพระผู้อภิบาลของพวกเขามากยิ่งขึ้น


       13. บางท่านอาจจะมีเด็กเล็ก ๆ ในบ้าน ก็จำเป็นต้องส่งเสริมให้พวกเขาได้ถือศีลอด ผู้เป็นพ่อควรจะเรียกพวกเขาให้ตื่นขึ้นมารับประทานอาหารสะหูรฺ และสร้างแรงจูงใจให้พวกเขาถือศีลอดโดยการกล่าวคำชมและให้รางวัลกับคนที่สามารถถือศีลอดได้ตลอดทั้งเดือนหรือครึ่งเดือน เป็นต้น


عن الربيع بنت معوذ قالت : أرسل النبي صلى الله عليه وسلم غداة عاشوراء إلى قرى الأنصار : مَنْ أَصْبَحَ مُفْطِراً فَلْيُتِمَّ بَقِيَّةَ يَوْمِهِ ، وَمَنْ أَصْبَحَ صَائِماً فَلْيَصُمْ ، قالت : فكنا نصومه بعدُ ونصوِّم صبياننا [ الصغار ونذهب بهم إلى المساجد] ، ونجعل لهم اللعبة من العهن ، فإذا بكى أحدهم على الطعام أعطيناه ذاك حتى يكون عند الإفطار . [رواه البخاري برقم 1859  ومسلم برقم 1136  والزيادة بين المعكوفين له]

        มีรายงานจาก อัล-รุบัยยิอฺ บินติ มุเอาวิซ กล่าวว่า ในช่วงเช้าของวัน 'อาชูรออ์' ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ส่งข่าวไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ ของชาวอันศอรฺว่า 

"ผู้ใดก็ตามที่มิได้เริ่มวันด้วยการถือศีลอดก็ให้เขานั้นถือศีลอดในช่วงเวลาที่เหลือของวัน

และผู้ใดก็ตามที่เริ่มต้นวันด้วยการถือศีลอดก็ให้เขานั้นถือศีลอดต่อไป" 

       นางกล่าวว่า พวกเราจึงได้ถือศีลอดและให้ลูก ๆ ของเราถือศีลอดด้วย (และพาพวกเขาไปยังมัสญิด) โดยเราได้เตรียมของเล่นที่ทำจากขนสัตว์ เมื่อเด็กคนใดร้องไห้เพราะต้องการรับประทานอาหาร เราก็จะให้เขาเล่นของเล่นนั้นจนกระทั่งได้เวลาละศีลอด 

(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ 1859 และ  มุสลิม 1136)

       อันนะวะวีย์ กล่าวว่า หะดีษบทนี้ได้แสดงให้ว่า เราควรฝึกเด็ก ๆ ให้แสดงออกถึงความเคารพภักดีและให้พวกเขาได้คุ้นเคยกับสิ่งนั้น แต่พวกเขาจะยังไม่ถูกคิดบัญชี (หมายถึง สิ่งที่เป็นบทบัญญัติในศาสนาจะยังไม่มีผลบังคับใช้กับพวกเขา เนื่องจากพวกเขายังไม่บรรลุศาสนภาวะ-ผู้แปล) อัล-กอฎีย์ กล่าวว่า มีรายงานจาก อุรวะฮฺ ว่า เมื่อพวกเขา (หมายถึง เด็ก ๆ ที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ-ผู้แปล) มีความสามารถในการถือศีลอดได้ การถือศีลอดก็จะเป็นวาญิบสำหรับพวกเขา แต่นี่เป็นทัศนะที่ผิดพลาดซึ่งขัดกับหะดีษเศาะฮีหฺที่ว่า 

"ปากกา (บันทึกบาปบุญ) จะถูกยกจากบุคคลสามประเภท (หนึ่งในนั้นคือ) จากวัยเด็กจนกระทั่งเข้าสู่วัยบรรลุศาสนภาวะ"

และอัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง (ชัรหฺ มุสลิม 8/14)


        14. หากเป็นไปได้ พ่อและแม่ควรใช้เวลาของครอบครัวสำหรับการทำอุมเราะฮฺในเดือนเราะมะฎอน และนั่นคือสิ่งที่จะเป็นภาคผลที่ดีงามต่อพวกเขาและครอบครัวของพวกเขาในวันปรโลก การทำอุมเราะฮฺในเดือนเราะมะฎอนมีภาคผลเสมือนกับการทำหัจญ์ และเป็นการดีกว่าหากท่านเดินทางไปในช่วงแรก ๆ ของเดือนเพื่อเลี่ยงความวุ่นวายของฝูงชน


        15. สามีไม่ควรให้ภรรยาของเขารับภาระหนักจนเกินไปในการจัดเตรียมอาหารและของหวาน หลายคนใช้เวลาในเดือนนี้เพื่อเตรียมอาหารและเครื่องดื่มที่เลิศหรูและมากเกินไป นี่เป็นการกระทำที่ทำให้ออกห่างจากความหอมหวานของเดือนนี้ และขัดต่อเจตนารมณ์ในการถือศีลอดที่ให้ได้มาซึ่งความตักวา


          16. เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนแห่งอัลกุรอาน ดังนั้นเราจึงขอแนะนำให้แต่ละครอบครัวได้ใช้เวลาในการอ่านอัลกุรอานร่วมกัน ผู้เป็นพ่อควรสอนให้ครอบครัวของเขาอ่านและท่องจำอัลกุรอาน และช่วยให้พวกเขาเข้าใจความหมายของแต่ละโองการ ทั้งยังร่วมกันอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับบทบัญญัติ ข้อวินิจฉัยและมารยาทในการถือศีลอดด้วย ทั้งนี้ อัลลอฮฺได้ให้มีนักวิชาการและนักศึกษาหลายท่านเขียนหนังสือเกี่ยวกับเดือนเราะมะฎอน โดยเรียบเรียงเป็นเนื้อหาจำนวน 30 บท ให้อ่านวันละบท แล้วทุกคนก็จะได้รับความดีกันถ้วนหน้า


          17. ส่งเสริมให้พวกเขาบริจาค และหมั่นสำรวจดูเพื่อนบ้านของพวกเขาและผู้ที่ขัดสน ท่านอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ กล่าวว่า


"كانَ رسولُ اللهِ صلى الله عليه وسلم أَجْوَدَ الناسِ ، وَكانَ أَجود مَا يكونُ في رمضان حينَ يَلْقاهُ جبريلُ، وكانَ يلقاهُ في كلِّ ليلةٍ مِن رمضان فَيُدَارسهُ القرآنَ ، فلَرسولُ اللهِ صلى الله عليه وسلم أجودُ بِالخيرِ مِنَ الريحِ المرْسَلَة " [رواه البخاري برقم  6  ومسلم برقم 2308 ]

          ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม เป็นผู้ที่มีความเอื้อเฟื้อมากที่สุด และท่านจะเอื้อเฟื้อมากยิ่งขึ้นในเดือนเราะมะฎอนเมื่อญิบรีลได้มาพบท่าน โดยญิบรีลจะมาพบท่านในทุกค่ำคืนของเดือนเราะมะฎอนเพื่อทบทวนอัลกุรอานกับท่าน และแท้จริงท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม นั้นเป็นผู้ที่เอื้อเฟื้อยิ่งกว่ากระแสลมที่พัดผ่านเสียอีก 

(บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ 6 และมุสลิม 2308)


          18. ผู้ปกครองควรดูแลไม่ให้ลูก ๆ นั้นนอนดึกและเสียเวลาไปกับสิ่งที่ไร้ประโยชน์ทั้งหลาย ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งหะรอม มารร้ายในหมู่มนุษย์จะกระตือรือร้นมากขึ้นในเดือนนี้ เขาจะคอยยุยงส่งเสริมให้กระทำในสิ่งที่ชั่วร้ายและทำให้ผู้ที่ถือศีลอดนั้นกระทำความผิด โดยเฉพาะในช่วงค่ำคืนของเดือนเราะมะฎอน


          19. พวกเขาต้องตระหนักไว้ว่าครอบครัวของพวกเขาจะได้พบกันอีก ณ สรวงสวรรค์ของอัลลอฮฺในวันปรโลก และจะมีความสุขอย่างมากมายในการที่พวกเขาได้พบกันภายใต้ร่มเงาอะรัชของพระองค์ นี่คือความจำเริญของการได้พบกันในโลกนี้และได้มาอยู่ร่วมกันเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ ด้วยการแสวงหาความรู้ การถือศีลอดและทำการละหมาด นี่เป็นหนทางหนึ่งที่จะนำพาให้เราบรรลุถึงความสุขอย่างที่สุด

 

ที่มา http://islamqa.info/ar/26830
 

แปลโดย : กฤติยา เพศยนาวิน / Islamhouse