ศิลปะในการพูดของนักดะวะฮ์ 16-19
  จำนวนคนเข้าชม  4506

 

ศิลปะที่สำคัญของวิธีการดะอฺวะฮฺ  30 ประการ 

 

เขียนโดย : อาอิฏบินอับดิลลาฮฺอัลก็อรนีย์

 

แปลและเรียบเรียงโดย : อาจารย์ อับดุลฆอนี บุญมาเลิศ

 

ศิลปะที่สำคัญของวิธีการดะอฺวะฮฺ ประการที่ 16-19

 

16. จะต้องทำการเผยแพร่เพื่อให้เกิดประโยชน์และดำเนินต่อไปอย่างเปิดเผย แต่บางเรื่องถ้ามีการดำเนินการอย่างเงียบ ๆ เป็นการส่วนตัวแล้วได้รับประโยชน์กว่าก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี

          ดังนั้น ถ้านักดะอฺวะฮฺเผยแพร่อย่างเปิดเผย แล้วได้รับประโยชน์มากก็ถือว่าเป็นการดี เช่น ทำการปราศรัยในที่ชุมชนหรือตามหมู่บ้านหรือในเมือง แต่ถ้าจะกล่าวตักเตือนสั่งสอนใครสักคนก็ต้องทำแบบเงียบ ๆ เป็นการส่วนตัว และค่อยเป็นค่อยไปใช่ความสุขุมในการพูดตักเตือน และเก็บไว้เป็นเรื่องระหว่างเขาทั้งสองเท่านั้น

          อิมามชาฟิอี กล่าวไว้ว่า “ท่านจงตักเตือนฉันตามลำพัง อย่าบอกกล่าวตักเตือนฉันต่อหน้าสาธารณชน เพราะการตักเตือนกันต่อหน้าสาธารณชนนั้น เป็นการประจานอย่างหนึ่ง ฉันไม่ชอบฟังหากท่านไม่เชื่อที่ฉันบอก ท่านก็อย่าตกใจถ้าท่านไม่ได้รับการเชื่อฟัง”

          หมายความว่า เมื่อท่านไม่เห็นด้วยกับฉัน ได้ทำการตักเตือนคนหนึ่งคนใดต่อหน้าสาธารณชนแล้ว ท่านอย่าได้ตกใจนะว่าจะต้องมีการตอบโต้กับท่านเกิดขึ้นแน่ และผู้ถูกตักเตือนก็จะปกป้องตัวเอง หรือบางทีก็จะอยู่ในการทำผิดนั้น เพราะการถือเกียรติยศศักดิ์ศรี 
 

          มีหลายคนได้มาบ่นว่ามีผู้ส่วนหนึ่งได้แสดงปฏิกิริยาต่อหน้าชุมชน เมื่อถูกตักเตือนแล้วทำให้เกิดความบาดหมางเคืองแค้นอยู่ในใจ ถือว่าไม่เป็นประโยชน์เลย


 

17. ต้องพยายามติดตามสถานการณ์ของปัญหาที่เกิดปัจจุบันและทางด้านวิชาการที่เกิดขึ้นใหม่

          มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่นักดะอฺวะฮฺจะต้องติดตามข่าวสารในปัจจุบัน และพยายามศึกษาถึงแนวคิดที่เกิดขึ้นใหม่ โดยการอ่านข้อเขียนรุ่นใหม่ ๆ และที่มีคนพูดว่าไม่ต้องอ่าน ไม่ต้องสนใจอ่านหนังสือต่าง ๆ เหล่านั้น ความคิดและการพูดดังกล่าวนี้ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะถ้าเราไม่อ่านหนังสือเหล่านั้นซึ่งมีแนวคิดที่หลากหลาย เราก็จะไม่ทันต่อเหตุการณ์ และจะไม่รู้ว่าเราสมควรดำเนินการอย่างไร ? และอยู่ที่ไหน ? และไม่รู้จะปฏิบัติตนต่อผู้คนทั้งหลายอย่างไร ?

          ดังนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า นักดะอฺวะฮฺทั้งหลายนั้น จะต้องอ่านทั้งหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ตลอดจนบรรดาวารสารทั้งหลาย ต้องระมัดระวังให้ดีกับแนวความคิดบิดเบือนที่นำมาตีพิมพ์เผยแพร่นั้น เพื่อทำการปกป้องผู้ที่มีความรู้น้อยมิให้ได้รับผลกระทบจากความผิดอันตราย จากข้อความที่บิดเบือนเหล่านั้น อาจจะมีการทำให้จิตใจไขว้เขวหลงเชื่อถือได้ เพราะฉะนั้นจะต้องรอบคอบและรู้ทันต่อวัตถุประสงค์ของพวกบ่อนทำลายเหล่านั้นเพื่อจะนำมาป้องกันและแก้ไขต่อไป
 

 

ฉันรู้เรื่องความชั่วมิใช่เพื่อทำชั่ว หากแต่ทว่าเพื่อป้องกัน ใครที่ไม่รู้จักความชั่ว ก็จะตกอยู่ในการทำชั่วอย่างง่ายดาย
 

 

อุมัร บิน ค็อฏฏ็อบ กล่าวว่า
 

“แท้จริงห่วงของอิสลามจะถูกแก้ออกที่ละห่วงละปม จนหมดไปจากกลุ่มชนที่เกิดมาในยุคของอิสลาม ที่เขาไม่มีความรู้เรื่องญาฮิลียะฮฺ”
 

ดังนั้น ผู้ที่ไม่รู้เรื่องของญาฮิลียะฮฺ เขาก็ไม่รู้เรื่องของอิสลาม 

 

          จำเป็นอย่างยิ่งที่นักดะอฺวะฮฺ จะต้องรับทราบรู้เห็นเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ถ้าพบว่าหนังสือที่มีข้อความที่ไม่ถูกต้องหรือพบความผิดสังเกตใด ๆ ก็รีบนำเสนอต่อผู้เชี่ยวชาญผู้ทรงความรู้ เพื่อจะได้เข้าไปแก้ไขให้พ้นจากความไม่ประสงค์ดีนั้น ด้วยการหาทางออกที่ดีและว่ากล่าวตักเตือนได้


 

18. ใช้วิธีพูดจาปราศรัยให้เหมาะสมกับสติปัญญาของผู้ฟัง

          นักดะอฺวะฮฺที่ดีนั้น ต้องมีความรอบคอบหมั่นสังเกต และมีความชำนาญในการพูดจาปราศรัย สามารถเลือกคำพูดและเนื้อหาที่มีความเหมาะสม ในการพูดอบรมสั่งสอนให้ผู้ฟังที่พอดีเหมาะสมกับสติปัญญาของพวกเขา เมื่อพูดจาปราศรัยกับผู้คนในสังคม เช่นพูดปราศรัยสิ่งที่เหมาะสมและสำคัญกับผู้คนในชนบท ที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาของพวกเขา ในขณะที่พวกเขากำลังเผชิญชีวิตอยู่นั้น เมื่อพูดในกลุ่มนักศึกษาที่อยู่ตามมหาวิทยาลัย ก็พูดเรื่องที่เกี่ยวกับพวกเขา โดยใช้คำสอนที่เหมาะสมตามสถานภาพความรู้ของเขา และเมื่อพูดกับคนระดับล่าง ก็เริ่มต้นการให้การเรียนรู้ โดยปรับระดับความยากง่ายของการให้ความรู้ให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ฟัง พูดให้ตรงประเด็นและต้องปรับในบางเรื่องให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ฟังที่หลากหลาย

     ♦ ดังเช่น ประเด็นที่พบและพูดของผู้คนชนบท : จะมีประเด็นเรื่องการทำชิริก การทำไสยศาสตร์ เรื่องดูหมอ การขาดละหมาด การพนัน หรืออื่นๆ 

     ♦ ประเด็นของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เช่น แนวความคิดแทรกแซงจากพวกบิดเบือน พวกไม่มีศาสนา พวกที่ลุ่มหลงทางวัตถุ และข้อเคลือบแคลงต่าง ๆ มากมาย ตลอดจนปัญหาเรื่องเพศ

     ♦ และประเด็นต่าง ๆ ที่อยู่ในขั้นพื้นฐาน เช่น การคบหาสมาคม การทำดีต่อบิดามารดา สิทธิของผู้อาวุโส การรักษาเวลา การอ่านอัลกุรอาน หรือ อื่น ๆ 

          นักดะอฺวะฮฺ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพูดจาปราศรัยกับผู้คนให้เหมาะสมกับสภาพความรู้และสติปัญญาตามสถานภาพของพวกเขา ตามความพร้อมของพวกเขา จงพิจารณาดูท่านนบี  ที่ได้พูดกับ มุอ๊าซ บิน ญะบัล ด้วยเรื่องของวิชาการและผลลัพธ์ของวิชาความรู้ พูดถึงเรื่องการพิทักษ์รักษา เรื่องราวของอัลลอฮฺ  เรื่องของขอบเขตอัลลอฮฺ  แต่เมื่อท่านพูดกับชาวอาหรับชนบทก็พูดถึงเรื่องเตาฮีด และเรื่องอื่น ๆ ที่จะนำพาไปสู่สวรรค์ที่มีความกว้างใหญ่ไพศาลท่วมฟ้าหน้าแผ่นดิน


19. ต้องมีความรอบคอบระมัดระวังในการพูดสั่งสอนโดยมิให้ไปตำหนิผู้อื่น

          จำเป็นที่นักดะอฺวะฮฺจะต้องระมัดระวังให้มาก ก็คือการพูดโจมตีคนอื่นเพื่อยกตนเองให้โดดเด่นขึ้นมา หรือเป็นนักวิชาการหักล้าง หรือที่เรียกในเรื่องการอบรมฝึกฝนว่า การทำให้คนอื่นตกต่ำเพื่อยกตัวเองขึ้นแทนที่ ซึ่งมีบางคนยังใช้วิธีนี้อยู่จากพวกที่ชอบแสดงความโดดเด่น ชอบความโด่งดัง -วัลอิยาซุบิลลาฮฺ- เช่น พวกที่ชอบอวดโชว์ ชอบสร้างชื่อเสียง เมื่อการกล่าวถึงผู้รู้คนอื่นต่อหน้า เขาก็จะรีบกล่าวตำหนิผู้รู้คนนั้นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ !!! หรือเมื่อมีการกล่าวถึงชื่อนักเผยแพร่คนอื่น เขาก็จะค้านทันทีที่ฉันไม่เห็นด้วยในระบบการเผยแพร่อย่างนั้น !! หรือเมื่อกล่าวถึงนักเขียนคนหนึ่งเขาก็จะรีบตำหนิหรือวิจารณ์ทันที 

         ดังเช่นที่ชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ – สะกอฮุลลอฮุมินซัลซะบีลิลญันนะฮฺ – ได้กล่าวว่า “คนบางคนนั้นเหมือนแมลงวัน มันจะไม่ตอมอะไร นอกจากที่แผล”

          ดังนั้น แมลงวันมันไม่ชอบที่สะอาดในร่างกายของท่าน เมื่อท่านสวมใส่เสื้อผ้าขาวสะอาด พร้อมปะพรมเครื่องหอม แมลงวันก็ไม่บินมาตอมแต่ว่าเมื่อใดที่มีบาดแผลที่นิ้วของท่าน มันก็จะมาตอมทันที

 

          บางครั้งเราจะพบว่า มีสำนวนการพูดแบบมีเลศนัย ที่ชัยฏอนมาเสี้ยมสอนให้แก่นักดะอฺวะฮฺบางคน เช่น เขาทำการเรียกร้องเชิญชวนในรูปของการแนะนำสั่งสอนแบบของนักดะอฺวะฮฺ แต่เบื้องหลังคือการโจมตี การตำหนิ เช่น 

 

เมื่อถูกบอกว่ามีนักดะอฺวะฮฺคนนั้นคนนี้ เขาก็กล่าวว่า “ขออัลลอฮฺ  ทรงนำทางให้แก่เขาด้วย” 

ท่านก็ถามว่า “เพราะเหตุใด?” 

เขาก็บอกว่า “ฉันขอต่ออัลลอฮฺ  ทรงโปรดให้ทางนำแก่เขาด้วยเถิด พอแล้ว ! " 

เมื่อเขาพูดเช่นนี้ ท่านสามารถทราบได้ทันทีว่า เบื้องหลังการพูดขอดุอาอฺนี้มีอะไรแอบแฝงอยู่ ! การขออุอาอฺอย่างนี้ไม่ได้ผลบุญ ! 

 

อิบนุบมุบาร็อก กล่าวว่า “บางครั้งผู้ที่ขอลุแก่โทษนั้น ยิ่งทำบาปด้วยการขอลุแก่โทษของตน” 

พวกเขาถามว่ามันเป็นอย่างไรกัน? 

        เขาตอบว่า “เมื่อถูกกล่าวถึงบรรดาคนดีบางคน เขาก็จะกล่าวว่า “อัสตัฆฟิรุลลอฮฺ” ซึงมีความหมายว่า เขาผู้นั้นกำลังตำหนิคนที่ถูกกล่าวถึงอยู่นั้น ดังนั้นจึงไม่ถูกบันทึกผลบุญให้แก่เขาในการขออิสติฆฟารนี้ แต่ทว่าจะถูกบันทึกให้เขามีความผิดประการหนึ่ง”  

 

ที่มา อัลอิศลาห์สมาคม