ศิลปะที่สำคัญของวิธีการดะอฺวะฮฺ 30 ประการ
เขียนโดย : อาอิฏบินอับดิลลาฮฺอัลก็อรนีย์
แปลและเรียบเรียงโดย : อาจารย์ อับดุลฆอนี บุญมาเลิศ
ศิลปะที่สำคัญของวิธีการดะอฺวะฮฺ ประการที่ 14-15
14. ใช้ความนุ่มนวลในการพูดปราศรัย แสดงความเห็นอกเห็นใจ กล่าวคำสั่งสอนตักเตือนผู้คนด้วยความสุภาพอ่อนโยน
จำเป็นอย่างยิ่งที่นักดะอฺวะฮฺจะต้องใช้คำพูดที่นุ่มนวล เพราะท่านร่อซุล นั้นใช้คำพูดที่นุ่มนวลมีใบหน้าที่ยิ้มแย้ม ท่านเป็นคนที่ไม่ถือตน เป็นคนที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่รัก ท่านจะอยู่กับคนชราและช่วยทำธุระให้ ท่านจะอุ้มเด็ก ท่านไปเยี่ยมคนเจ็บป่วย ท่านจะอยู่ร่วมกับคนยากจน ท่านอดทนต่อความหยาบกระด้างของชาวอาหรับชนบท ท่านยิ้มแย้มแจ่มใสกับแขกที่มาหา เมื่อท่านจับมือใครแล้วท่านจะไม่ปล่อยมือก่อน จนกว่าผู้ที่จับมือด้วยนั้นจะปล่อยก่อน เมื่อยืนคุยกับใคร ท่านจะไม่หันหลังให้จนกว่าจะคุยเสร็จ ท่านจะยิ้มแย้มกับบรรดาศ่อฮาบะฮฺของท่านตลอดเวลา ไม่เคยแสดงกริยาอาการไม่ดีกับใครเลย
อัลลอฮฺ ได้ตรัสว่า
“เนื่องด้วยความเมตตาจากอัลลอฮฺนั้นเอง เจ้า(มูฮัมมัด) จึงได้สุภาพอ่อนโยนแก่พวกเขา และถ้าหากเจ้าเป็นผู้ประพฤติหยาบช้า และมีใจแข็งกระด้างแล้วไซร้ แน่นอนพวกเขาก็ย่อมแยกตัวออกไปจากรอบ ๆ เจ้ากันแล้ว...”
(อาละอิมรอน / 159)
บุคคลใดที่ทำเช่นนั้นได้ เขาก็จะเป็นที่รักยิ่งของผู้คนทั้งหลายมากกว่าคนที่ให้ทั้งเงินและทองพวกเขาเสียอีก
อัลลอฮฺ ได้ทรงใช้ให้มูซาและฮารูน ไปยังฟิรเอาวน์ (ฟาโรห์) ซึ่งเป็นผู้ที่ดื้อดึงที่สุด ตั้งตนเป็นพระเจ้าจอมปลอม ทำตัวยโสโอหัง แต่อัลลอฮฺ ได้ทรงสั่งกำชับทั้งมูซาและฮารูน ให้ใช้ความนุ่มนวลอ่อนโยนกับฟิรเอาวน์ ดังที่อัลลอฮฺ ได้ตรัสว่า
“แล้วเจ้าทั้งสองจงพูดกับเขาด้วยคำพูดที่อ่อนโยน เพื่อว่าเขาอาจจะรำลึกขึ้นมาหรือเกิดความยำเกรงขึ้น”
( ฏอฮา / 44 )
ดังนั้น คำพูดที่นุ่มนวลสุภาพอ่อนโยนเปรียบเสมือนมนต์ขลังซึ่งเป็นมนต์ขลังที่ฮะล้าล นักวิชาการได้ถูกถามว่ามนต์ขลังนั้นคืออะไร?
เขาตอบว่า : “การยิ้มแย้มของท่านต่อหน้าผู้คนทั้งหลาย”
มีบางคนกล่าวถึงลักษณะของนักดะอฺวะฮฺที่ดีเด่นจากประชาชาติของมูฮัมมัด ว่า
“พวเขาอ่อนโยนนุ่มนวล สะดวก ง่ายดาย จนท่านต้องบอกว่า เมื่อได้พบหัวหน้าของพวกเขา เหมือนดวงดาวที่ผู้เดินทางใช้เป็นเครื่องหมายบอกทิศทาง”
ขอแนะนำให้นักดะอฺวะฮฺทั้งหลาย สมควรใช้ความสุภาพนุ่มนวลในการพูดและไม่แสดงอาการบึ้งตึงฉุนเฉียว หรือใข้คำพูดและการกระทำที่หยาบกระด้าง อีกทั้งไม่แสดงกริยาอาการกับประชาชนแบบหยิ่งผยอง เพราะว่านักดะอฺวะฮฺทั้งหลายนั้น เป็นผู้เชี่ยวชาญเป็นครู มาพร้อมกับความเมตตากรุณาแก่ประชาชน
“และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด นอกจากเพื่อเป็นความเมตตาแก่ประชาชาติทั้งหลาย”
(อัลอัมบิยาอฺ / 107 )
ท่านร่อซูล นั้น คือความเมตตา บรรดาผู้เป็นสาวกของท่านก็คือ ความเมตตา นักเรียนของท่านก็คือความเมตตา บรรดานักดะอฺวะฮฺสู่หลักการของอัลลอฮฺ ก็คือความเมตตา นักดะอ์วะฮ์ นั้น จะต้องชื่นชมคนดีและจะต้องปรึกษาหารือกับสมัครพรรคพวก โดยจะไม่ถือเอาความคิดของตนเป็นใหญ่ อัลลอฮฺ ได้ตรัสว่า
“...และปรึกษาหารือกับพวกเขาในกิจการทั้งหลาย...”
(อะลิอิมรอน / 159)
และตรัสอีกความว่า
“...และกิจการของพวกเขาคือมีการปรึกษาหารือระหว่างพวกเขา...”
(อัซซูรอ / 38)
ดังนั้นผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์ต้องมีการปรึกษากลุ่มนักศึกษาลูกศิษย์ของตนในห้องเรียน พี่น้องมีการปรึกษาคนที่ดีที่มีอายุสูงกว่า มีการปรึกษากับคนที่มีหลักการศาสนาและถือว่าไม่เป็นสิ่งที่ผิดในการที่จะนำปัญหาต่าง ๆ มาเสนอกับพวกเขา แม้แต่ปัญหาส่วนตัวเพื่อสร้างความมั่นใจ และให้การแนะนำอย่างบริสุทธิ์ใจ เป็นการสร้างความใกล้ชิดสนิทสนมกัน ตลอดจนปรึกษาหารือกับคนในหมู่บ้าน ในตำบลเดียวกัน เพราะท่านร่อซูล นั้น ได้รับความรักจากผู้คนทั้งหลายอันเนื่องจากมีการปรึกษาหารือกัน ท่านเคยปรึกษาหารือกับประชาชน แม้เป็นเรื่องทิ่ยิ่งใหญ่สำคัญกับประชาชาติ เช่น ในเรื่องการทำสงครามบัดรฺ หรือการหารือของท่านกับบรรดาสาวกในเรื่องเชลย และเรื่องของทรัพย์สินสงคราม ตลอดจนกรณีสำคัญอื่น ๆ
นักดะอฺวะฮฺนั้น สวมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปรึกษาหารือกับผู้คนในสังคมส่วนรวม มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในการปรึกษาและข้อเสนอแนะ เมื่อมีการหารือเป็นคณะก็มีการถามความเห็นพวกเขาว่า พวกท่านเห็นเป็นอย่างไรในเรื่องนี้เรื่องนั้น เพื่อให้ได้ข้อสรุปความคิดเห็นตรงกัน สองคนก็ดีกว่าคนเดียว และสามคนก็ดีกว่าสองคน
“และจงปรึกษาหารือกับพวกเขาในกิจการทั้งหลาย”
15. นักดะอฺวะฮฺ ต้องแสดงออกปฎิบัติตนกับผู้คนอย่างดีงามและปกป้องรักษาสถานะของพวกเขาเอาไว้
นักดะอฺวะฮฺที่ดีนั้น จะต้องชมเชยคนทำดีแสดงออกด้วยการขอบคุณผู้ที่หยิบยื่นคุณธรรมให้ เพราะว่านักดะอฺวะฮฺนั้น เมื่อชมเชยคนทำดี พวกเขาก็จะยอมรับว่านักดะอฺวะฮฺคนนั้นให้เกียรติพวกเขายกย่องพวกเขา รู้คุณค่าของพวกเขา ถ้าหากไม่กล่าวถึงคนที่ทำดีเหล่านั้น ไม่เคยชื่นชมพวกเขาเลย ไม่กล่าวขอบคุณพวกเขา ตลอดจนคนที่ทำผิดพลาดก็ไม่มีการตักเตือนเขา ราวกับว่านักดะอฺวะฮฺผู้นั้นมิได้ทำหน้าที่อย่างใดเลย
ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านจะต้องกล่าวชื่นชมคนทำดี ด้วยการบอกว่าท่านทำดีแล้ว และกล่าวตักเตือนคนทำผิดว่า ท่านทำไม่ถูก แต่ต้องพูดด้วยมารยาทที่ดีงามด้วยความสุภาพอ่อนโยน ซึ่งผู้อาวุโสนั้นชอบเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ท่านแสดงการยินดีต้อนรับเขา และชอบที่จะได้สิทธิ์ความอาวุโสด้วย เขาก็ยังได้ทำหน้าที่ไปก่อนท่านแล้วในเรื่องการฏออะฮฺ พวกเขาเช้าอยู่ในร่มเงาอิสลามก่อนท่านเป็นเวลานานหลายปีแล้ว ท่านสมควรให้เกียรติเขา เช่นเดียวกันบรรดาผู้รู้ บรรดาผู้พิพากษา บรรดาผู้คนทั่วไป หัวหน้าเผ่า ผู้นำหมู่บ้าน หรือผู้ที่มีวิชาความรู้ มีการหยิบยื่น ผู้ที่มีผลงาน หรือผู้ที่เป็นกวีมุสลิม นักเขียนมุสลิม พ่อค้าที่ทุ่มเทบริจาคในหนทางของอัลลอฮฺ ท่านจะต้องยกย่องพวกเขา ขอบคุณพวกเขาในเรื่องที่พวกเขาได้ทำการเสียสละทุ่มเท เพื่อให้เขาเหล่านั้นมีกำลังใจและทุ่มเทต่อไปในเรื่องการทำคุณงามความดี ดังเช่น ที่ท่านนบี ได้ให้โอวาทบนมิมบัรว่า
“อัลลอฮฺได้ทรงให้อภัยแก่อุสมาน ทั้งโทษที่ผ่านไปแล้วและที่จะมีมาอีก ที่อุสมานทำหลังจากวันนี้นั้น ไม่เป็นอันตรายกับเขา”
และท่านก็พูดว่า
“พวกท่านจงปล่อยบรรดาศ่อหาบะฮฺของฉันไว้สำหรับฉัน”
ท่านกล่าวถึง อบูบักร อัศศิดดีก และท่านนบี ได้เคยกล่าวขอบคุณอุมัร และสนับสนุนตามความคิดเห็นของอุมัร ท่านจะกล่าวชื่นชมมาก และกล่าวขอบคุณอยู่เสมอ การกระทำดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นวิธีการฝึกสอนอบรมอย่างหนึ่ง ซึ่งมิใช่เป็นการแสดงความยิ่งใหญ่แต่ประการใด
ที่มา อัลอิศลาห์สมาคม