การงานที่หวังผลทางโลกอาจเข้าข่ายการตั้งภาคี
  จำนวนคนเข้าชม  5151

 

การงานที่หวังผลทางโลกอาจเข้าข่ายการตั้งภาคี

 

ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์


 

          มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสุขความจำเริญและความสันติจงประสบแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใด ๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ และเป็นศาสนทูตของพระองค์
 

อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า


﴿ مَن كَانَ يُرِيدُ ٱلۡحَيَوٰةَ ٱلدُّنۡيَا وَزِينَتَهَا نُوَفِّ إِلَيۡهِمۡ أَعۡمَٰلَهُمۡ فِيهَا وَهُمۡ فِيهَا لَا يُبۡخَسُونَ ١٥ أُوْلَٰٓئِكَ ٱلَّذِينَ لَيۡسَ لَهُمۡ فِي ٱلۡأٓخِرَةِ إِلَّا ٱلنَّارُۖ وَحَبِطَ مَا صَنَعُواْ فِيهَا وَبَٰطِلٞ مَّا كَانُواْ يَعۡمَلُونَ ١٦ ﴾ [هود: ١٥-١٦]  
 

         “ผู้ใดปรารถนาการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้และความเพริศแพร้วของมัน เราก็จะตอบแทนให้พวกเขาอย่างครบถ้วนซึ่งการงานของพวกเขาในโลกนี้เท่านั้น และพวกเขาจะไม่ถูกลิดรอนในการงานนั้นแต่อย่างใด ชนเหล่านั้นพวกเขาจะไม่ได้รับการตอบแทนอันใดในโลกอาคิเราะฮฺนอกจากไฟนรก และสิ่งที่พวกเขาได้ปฏิบัติไว้ในโลกดุนยาก็จะไร้ผลและสิ่งที่พวกเขาได้กระทำไว้ก็จะสูญเสียไป” 
 

(ฮูด: 15-16)

 

[1]

﴿ مَن كَانَ يُرِيدُ ٱلۡحَيَوٰةَ ٱلدُّنۡيَا وَزِينَتَهَا ﴾

“ผู้ใดปรารถนาการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้และความเพริศแพร้วของมัน”

          กล่าวคือ ผู้ใดปฏิบัติการงานที่เป็นเรื่องอาคิเราะฮฺ แต่เขากลับมุ่งหวังที่จะได้รับผลตอบแทนและความสุขสบายในโลกดุนยา ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง อำนาจลาภผล ลูกหลานทายาท หรืออื่น ๆ

ดังเช่นที่พระองค์ตรัสว่า 

﴿ ٱلۡمَالُ وَٱلۡبَنُونَ زِينَةُ ٱلۡحَيَوٰةِ ٱلدُّنۡيَاۖ  ﴾ [الكهف: ٤٦]

“ทรัพย์สมบัติและลูกหลาน คือเครื่องประดับแห่งการดำรงชีวิตในโลกนี้” 

(อัลกะฮฺฟ: 46)

[2]

﴿ نُوَفِّ إِلَيۡهِمۡ أَعۡمَٰلَهُمۡ فِيهَا وَهُمۡ فِيهَا لَا يُبۡخَسُونَ ١٥ ﴾

“เราก็จะตอบแทนให้พวกเขาอย่างครบถ้วนซึ่งการงานของพวกเขาในโลกนี้เท่านั้น”

         กล่าวคือ เราก็จะให้ความสุขสบายในดุนยาตามที่เขาต้องการอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อประวิงเวลาให้เขาชะล่าใจ ดังที่พระองค์ตรัสในอีกอายะฮฺหนึ่งว่า

﴿ مَّن كَانَ يُرِيدُ ٱلۡعَاجِلَةَ عَجَّلۡنَا لَهُۥ فِيهَا مَا نَشَآءُ لِمَن نُّرِيدُ ﴾ [الإسراء: ١٨]  

“ผู้ใดปรารถนาชีวิตชั่วคราว (ในโลกนี้) เราก็จะเร่งให้เขาได้รับมัน ตามที่เราประสงค์แก่ผู้ที่เราปรารถนา” 

(อัลอิสรออ์: 18)

[3]


﴿ أُوْلَٰٓئِكَ ٱلَّذِينَ لَيۡسَ لَهُمۡ فِي ٱلۡأٓخِرَةِ إِلَّا ٱلنَّارُۖ  ﴾

“ชนเหล่านั้นพวกเขาจะไม่ได้รับการตอบแทนอันใดในโลกอาคิเราะฮฺนอกจากไฟนรก” 

          อายะฮฺนี้ได้กล่าวถึงจุดจบของพวกเขา หลังจากที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าพวกเขาจะได้รับในสิ่งที่พวกเขาต้องการและแสวงหาในโลกดุนยา ส่วนในอาคิเราะฮฺนั้นจะไม่เหลือผลบุญใด ๆ สำหรับพวกเขาอีก เพราะพวกเขามิได้ปฏิบัติการงานเพื่ออาคิเราะฮฺ ดังที่พระองค์ตรัสว่า


﴿ وَمَنۡ أَرَادَ ٱلۡأٓخِرَةَ وَسَعَىٰ لَهَا سَعۡيَهَا وَهُوَ مُؤۡمِنٞ فَأُوْلَٰٓئِكَ كَانَ سَعۡيُهُم مَّشۡكُورٗا ١٩ ﴾ [الإسراء: ١٩]  

“และผู้ใดปรารถนาปรโลก และขวนขวายเพื่อมันอย่างจริงจัง โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา ชนเหล่านั้นการขวนขวายของพวกเขาจะได้รับการชมเชย” 

(อัลอิสรออ์: 19)

[4]


﴿ وَحَبِطَ مَا صَنَعُواْ فِيهَا وَبَٰطِلٞ مَّا كَانُواْ يَعۡمَلُونَ ١٦ ﴾

“และสิ่งที่พวกเขาได้ปฏิบัติไว้ในโลกดุนยาก็จะไร้ผลและสิ่งที่พวกเขาได้กระทำไว้ก็จะสูญเสียไป”

กล่าวคือ การงานของพวกเขาในโลกดุนยาจะเป็นโมฆะ เพราะพวกเขามิได้กระทำอย่างบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺ

เกาะตาดะฮฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า 

          “ผู้ใดที่การกระทำของเขานั้นมุ่งหวังและขวนขวายแต่เพียงโลกดุนยา อัลลอฮฺก็จะทรงตอบแทนความดีของเขาเฉพาะในดุนยาเท่านั้น เมื่อเขากลับสู่อาคิเราะฮฺจะไม่มีส่วนแบ่งความดีหลงเหลืออีกสำหรับพวกเขา ในขณะที่ผู้ศรัทธานั้นจะได้รับผลตอบแทนความดีทั้งในโลกดุนยาและอาคิเราะฮฺ” 

(อัลมิศบาหฺ อัลมุนีรฺ หน้า 632)


อบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า



« إِنَّ أَوَّلَ النَّاسِ يُقْضَى يَوْمَ الْقِيَامَةِ عَلَيْهِ رَجُلٌ اسْتُشْهِدَ، فَأُتِيَ بِهِ فَعَرَّفَهُ نِعَمَهُ فَعَرَفَهَا، قَالَ: فَمَا عَمِلْتَ فِيهَا؟ قَالَ: قَاتَلْتُ فِيكَ حَتَّى اسْتُشْهِدْتُ، قَالَ: كَذَبْتَ، وَلَكِنَّكَ قَاتَلْتَ لِأَنْ يُقَالَ: جَرِيءٌ، فَقَدْ قِيلَ، ثُمَّ أُمِرَ بِهِ فَسُحِبَ عَلَى وَجْهِهِ حَتَّى أُلْقِيَ فِي النَّارِ،

وَرَجُلٌ تَعَلَّمَ الْعِلْمَ، وَعَلَّمَهُ وَقَرَأَ الْقُرْآنَ، فَأُتِيَ بِهِ فَعَرَّفَهُ نِعَمَهُ فَعَرَفَهَا، قَالَ: فَمَا عَمِلْتَ فِيهَا؟ قَالَ: تَعَلَّمْتُ الْعِلْمَ، وَعَلَّمْتُهُ وَقَرَأْتُ فِيكَ الْقُرْآنَ، قَالَ: كَذَبْتَ، وَلَكِنَّكَ تَعَلَّمْتَ الْعِلْمَ لِيُقَالَ: عَالِمٌ، وَقَرَأْتَ الْقُرْآنَ لِيُقَالَ: هُوَ قَارِئٌ، فَقَدْ قِيلَ، ثُمَّ أُمِرَ بِهِ فَسُحِبَ عَلَى وَجْهِهِ حَتَّى أُلْقِيَ فِي النَّارِ،

وَرَجُلٌ وَسَّعَ اللهُ عَلَيْهِ، وَأَعْطَاهُ مِنْ أَصْنَافِ الْمَالِ كُلِّهِ، فَأُتِيَ بِهِ فَعَرَّفَهُ نِعَمَهُ فَعَرَفَهَا، قَالَ: فَمَا عَمِلْتَ فِيهَا؟ قَالَ: مَا تَرَكْتُ مِنْ سَبِيلٍ تُحِبُّ أَنْ يُنْفَقَ فِيهَا إِلَّا أَنْفَقْتُ فِيهَا لَكَ، قَالَ: كَذَبْتَ، وَلَكِنَّكَ فَعَلْتَ لِيُقَالَ: هُوَ جَوَادٌ، فَقَدْ قِيلَ، ثُمَّ أُمِرَ بِهِ فَسُحِبَ عَلَى وَجْهِهِ، ثُمَّ أُلْقِيَ فِي النَّارِ » [رواه مسلم برقم 1905]  

“มนุษย์กลุ่มแรกที่จะถูกพิพากษาในวันกิยามะฮฺ คือ 

          (1) ผู้ที่ตายในสมรภูมิรบ ซึ่งเขาจะถูกนำตัวมา เมื่ออัลลอฮฺทรงแจกแจงความโปรดปรานต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงประทานให้ และเขาได้รับรู้สิ่งเหล่านั้นแล้ว พระองค์ก็จะตรัสถามเขาว่า ‘แล้วเจ้าได้ทำสิ่งใดบ้างเกี่ยวกับความโปรดปรานเหล่านี้?’ เขาตอบว่า ‘ฉันได้ต่อสู้ในหนทางของพระองค์กระทั่งตายชะฮีด’ อัลลอฮฺจึงตรัสว่า ‘เจ้าโกหก ทว่าเจ้าต่อสู้เพื่อให้ผู้คนกล่าวสรรเสริญว่าเจ้าเป็นคนกล้าหาญ ซึ่งเจ้าก็ได้รับการสรรเสริญแล้ว’ จากนั้นก็มีคำสั่งให้ลากเขาด้วยการคะมำหน้าลง จากนั้นเขาถูกจับโยนลงไปในนรก

          (2) ผู้ที่แสวงหาวิชาความรู้ แล้วนำความรู้ดังกล่าวไปสอนแก่ผู้อื่น และได้อ่านอัลกุรอาน ซึ่งเขาจะถูกนำตัวมา เมื่ออัลลอฮฺทรงแจกแจงความโปรดปรานต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงประทานให้ และเขาได้รับรู้สิ่งเหล่านั้นแล้ว พระองค์ก็จะตรัสถามเขาว่า ‘แล้วเจ้าได้ทำสิ่งใดบ้างเกี่ยวกับความโปรดปรานเหล่านี้?’ เขาตอบว่า ‘ฉันได้แสวงหาวิชาความรู้ แล้วฉันก็ได้สอนผู้อื่น และฉันยังได้อ่านอัลกุรอานเพื่อพระองค์’ อัลลอฮฺจึงตรัสว่า ‘เจ้าโกหก ทว่าเจ้าแสวงหาวิชาความรู้ เพื่อให้ผู้คนได้กล่าวยกย่องว่าเจ้าเป็นผู้รู้ และเจ้าได้อ่านอัลกุรอานเพื่อให้ผู้คนกล่าวว่า เจ้าเป็นนักอ่าน ซึ่งเจ้าก็ได้รับการกล่าวขานเช่นนั้นแล้ว’ จากนั้นก็มีคำสั่งให้ลากเขาด้วยการคะมำหน้าลง จากนั้นเขาถูกจับโยนลงไปในนรก

          (3) และผู้ที่อัลลอฮฺได้ทรงประทานความร่ำรวย และทรัพย์สมบัติอันมากมายให้แก่เขา ซึ่งเขาจะถูกนำตัวมา เมื่ออัลลอฮฺทรงแจกแจงความโปรดปรานต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงประทานให้ และเขาได้รับรู้สิ่งเหล่านั้นแล้ว พระองค์ก็จะตรัสถามเขาว่า ‘แล้วเจ้าได้ทำสิ่งใดบ้างเกี่ยวกับความโปรดปรานเหล่านี้?’ เขาตอบว่า ‘ฉันได้บริจาคใช้จ่ายทรัพย์สินไปในทุกหนทางที่พระองค์ทรงโปรดโดยหวังผลบุญจากพระองค์’ อัลลอฮฺจึงตรัสว่า ‘เจ้าโกหก ทว่าเจ้าได้ทำไปเพื่อที่จะให้ผู้คนแซ่ซ้องว่าเจ้าเป็นคนใจบุญ ซึ่งเจ้าก็ได้รับการกล่าวขานเช่นนั้นแล้ว’ จากนั้นก็มีคำสั่งให้ลากเขาด้วยการคะมำหน้าลง จากนั้นเขาถูกจับโยนลงไปในนรก” 

(บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 1905)


          เมื่อมุอาวิยะฮฺได้ฟังหะดีษข้างต้น ท่านถึงกับร้องไห้อย่างมาก จนเมื่อท่านหายโศกเศร้าท่านก็กล่าวว่า “อัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์กล่าวถูกแล้ว” แล้วท่านก็อ่านอายะฮฺข้างต้น (ฮูด: 15-16) 

(บันทึกโดยอิบนุหิบบาน หะดีษเลขที่ 408)

         บุคคลสามประเภทข้างต้นนี้เป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่จะถูกไฟนรกแผดเผาในวันกิยามะฮฺอาจมีบางคนถามว่า อะไรคือข้อแตกต่างระหว่างผู้ที่ปฏิบัติการงานใด ๆ โดยมุ่งหวังผลตอบแทนในดุนยา กับผู้ที่กระทำเพื่อโอ้อวด (ริยาอ์) ?

        คำตอบ คือ บุคคลทั้งสองประเภทนี้เหมือนกันตรงที่เขาทั้งสองมิได้กระทำความดีเพื่ออัลลอฮฺ และยังเป็นการตั้งภาคีแบบซ่อนเร้นอีกด้วย 

         ส่วนความแตกต่างนั้น คือผู้ที่ปฏิบัติเพื่อโอ้อวดนั้นต้องการความมีเกียรติและชื่อเสียง ส่วนผู้ที่ปฏิบัติเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในดุนยานั้นเป็นผู้ที่มีความละโมบอยากได้ผลตอบแทนอย่างทันท่วงที เช่น ผู้ที่ญิฮาดสู้รบเพียงเพื่อหวังให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินเงินทอง ซึ่งจะว่าไปแล้วผู้ที่ทำความดีโดยหวังในผลตอบแทนในดุนยานั้นก็ยังฉลาดกว่าผู้ที่กระทำเพื่อโอ้อวด เพราะผู้ที่โอ้อวดไม่ได้รับสิ่งใด ๆ เป็นการตอบแทน ส่วนผู้ที่กระทำเพื่อดุนยาอย่างน้อยเขายังได้รับผลประโยชน์จากสิ่งที่เขาทำ แม้จะได้แต่เพียงในดุนยาก็ตาม



 

แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ / Islamhouse