เสรีภาพในอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  8101

 

เสรีภาพในอิสลาม

 

อาบีดีณ   โยธาสมุทร  แปลและเรียบเรียง   


 

         ในระบอบอิสลาม ได้มีการให้เสรีภาพกับมนุษย์ เช่น เสรีภาพในการพูด เสรีภาพทางความคิด เสรีภาพในการเรียนการสอน เสรีภาพในการแสวงหาปัจจัยยังชีพและการใช้จ่าย เสรีภาพในการอยู่อาศัย ในการโยกย้ายหลักแหล่งและในการเดินทาง ตลอดจนเสรีภาพส่วนตัวของปัจเจกบุคคล  ซึ่งเสรีภาพต่างๆเหล่านี้ผู้เลื่อมใสและศรัทธาต่อระบอบของอิสลามทุกคนสามารถดื่มด่ำไปกับมันได้อย่างเสรี

 

         อย่างไรก็ดี ต้องพึงตระหนักไว้ด้วยว่า ในอิสลาม ไม่มีเสรีภาพใดที่ไร้ซึ่งขอบเขต ขีดจำกัดและเงื่อนไข  ทั้งในเสรีภาพข้างต้นที่ได้พูดถึงไป ตลอดจนเสรีภาพในเรื่องอื่นๆ  ด้วย  ทว่า เสรีภาพทั้งหมดทั้งปวงนี้ล้วนถูกจำกัดโดยพันธะแห่งบทบัญญัติอิสลามที่เข้ามาวางระบบการดำเนินชีวิตให้กับผู้คน ทั้งนี้เพื่อให้ชีวิตของพวกเขาต่างออกไปจากชีวิตของสรรพสัตว์ชนิดอื่นๆ

 

        ดังนั้น สมมติว่าคนๆหนึ่ง สามารถที่จะคัดสรรผู้ที่จะมาเป็นคู่ชีวิตของตนได้ เพื่อที่เขาจะร่วมพักพิงอยู่กับนางได้โดยอิสระ ถัดจากนั้นจึงมีการสมรสกันขึ้นอย่างสมบูรณ์ ด้วยความพึงใจของนางและความเห็นชอบของผู้ปกครอง และการสมรสนั้นมีขึ้นอย่างสมบูรณ์ถูกต้อง โดยผู้ปกครองที่ได้รับการรับรองจากบทบัญญัติและอาศัยบรรดาบุคคลผู้เป็นพยาน  แต่อย่างไรก็ดี อิสลามก็ไม่อนุญาตให้เขาไปสมรสกับพี่หรือน้องสาว หรือป้าและน้าสาวของนางร่วมกับนาง ทั้งนี้ เนื่องจากมีข้อห้ามไม่ให้ทำการรวมเอาคู่พี่น้องไว้ด้วยกัน( ภายใต้พันธะสัญญาของสามีคนเดียวกัน -ผู้แปล)  
 

ในพระดำรัสของพระองค์ที่มีความว่า 
 

“และการที่พวกเจ้าจะรวมเอาคู่พี่น้องเข้าไว้ด้วยกัน..” (อันนิสาอฺ/23)  
 

คือ ห้ามไม่ให้พวกท่านรวมเอาคู่พี่น้องเข้าไว้ด้วยกัน เพราะประโยคนี้ถูกผนวกเข้ากับประโยคที่ว่า 
 

“ บรรดามารดาของพวกเจ้าเป็นที่ต้องห้ามแก่พวกเจ้า..” (อันนิสาอฺ/23)  
 

          และมีข้อห้ามไม่ให้รวมสตรีและน้าสาวของนาง ตลอดจนสตรีและป้าของนางเข้าไว้ด้วยกัน ดังเป็นที่ทราบกันสำหรับนักศึกษา และผู้แสวงหาความรู้ โดยอ้างอิงจาก คำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม ที่กล่าวว่า 
 

“ ท่านอย่าได้สมรสกับสตรีนางหนึ่งบนผู้เป็นป้าของนาง และอย่างได้สมรสกับนางบนผู้เป็นน้าสาวของนาง ” 
 

(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ ในบทการสมรส)

          และเมื่อเขาปราถนาที่จะปกคลุมนาง(มีความสัมพันธ์ทางเพศ) เขาก็ต้องหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่นางมีประจำเดือน และมีเลือดหลังคลอด และต้องหลีกห่างจากการเข้าหานางจากทางด้านหลัง(ทางทวารหนัก) เมื่อใดที่ได้รักษาเงื่อนไขของบทบัญญัติต่างๆ เหล่านี้แล้ว เขาก็เป็นอิสระในการใช้ชีวิตร่วมกับนาง ตลอดจนในการเข้าหานาง(มีความสัมพันธ์ทางเพศ) ทั้งตอนกลางวันและตอนกลางคืน ตราบใดที่เขาไม่ใช่ผู้ที่ถือศีลอด และยังเป็นอิสระในการที่จะเข้าหานางในสภาพใดก็ได้ ในสภาพยืน นั่ง หรือนอน ซึ่งถือเป็นการประพฤติตามพระดำรัสของพระองค์ พระผู้ทรงสูงส่ง ที่มีความว่า 

“บรรดาสตรีของพวกเจ้าคือ แหล่งเพาะปลูกของพวกเจ้า ดังนั้น พวกเจ้าจงเข้าสู่แหล่งเพาะปลูกของพวกเจ้าได้ตามที่พวกเจ้าต้องการเถิด"

( อัลบะกอเราะฮฺ / 223)


          ♦ - ในอิสลาม ถือว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงล้วนมีอิสรภาพในการพูด และแสดงความคิดเห็น โดยมีเงื่อนไขตามพันธะของบทบัญญัติ เขาสามารถสั่งใช้ให้ทำดี ห้ามปรามจากความชั่วช้า พูดกล่าวตักเตือนและเจรจาให้ข้อคิดได้ แต่ไม่อนุญาตให้ใช้คำพูดที่ไม่ดี ด่าทอ สาปแช่ง ใส่ร้าย ทั้งนี้และทั้งนั้น เขาจะต้องรู้จักรักษามารยาทแห่งบทบัญญัติในเรื่องนี้เอาไว้ด้วย โดยให้เป็นไปตามคำกล่าวของท่านนบี มุฮัมมัด  ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม ที่กล่าวไว้ว่า 

“ผู้ใดที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิร เขาก็จงพูดแต่สิ่งดีๆ หรือไม่ก็เงียบเสีย” 

(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์และมุสลิม)

 และคำพูดของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ที่กล่าวไว้ว่า 

“ผู้ศรัทธานั้น ไม่ใช่บุคคลที่ช่างจาบจ้วง ช่างสาปแช่ง ต่ำช้า และหยาบคาย” 

 

(บันทึกโดย อัตติรมิซีย์ อะฮฺหมัด และอัลฮากิมโดยท่านแจ้งไว้ว่า ศ่อฮี้ฮฺ และท่านอั้ซซะฮะบีย์ก์เห็นด้วยกับคำแจ้งของท่าน)

          ส่วนข้อกล่าวอ้างของบางคนที่อ้างว่า ระบอบอิสลามนั้นกีดกันบุคคลจากการมีเสรีภาพในการพูดและการมีความคิด ความเห็น ในขณะที่เสรีภาพดังกล่าวกลับมีอย่างสมบูรณ์ในชาวตะวันตกผู้เป็นคริสเตียน ผู้ที่พูดเช่นนี้เป็นบุคคลที่กำลังเผชิญกับโรคชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า “โง่เขลา” เนื่องจากการที่คิดเอาเองว่าตนนั้นเป็นคนที่มีความรู้ ทั้งๆที่ตนเป็นผู้ที่ไม่มีความรู้ ดังนั้น ผู้ที่กล่าวเช่นนั้นควรจะต้องเข้ามาทำการศึกษาเรียนรู้ระบอบอิสลามให้ละเอียด เพื่อจะได้สามารถแยกแยะข้อแตกต่างระหว่างระบอบอิสลามกับระบอบประชาธิปไตยได้ถูกต้อง ก่อนที่จะมาออกคำตัดสินใดๆ ทั้งนี้ เนื่องจากการออกคำตัดสินในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่จะต้องมองภาพรวมของประเด็นนั้นๆ ให้ออกเสียก่อน

          โดยสรุปแล้ว เสรีภาพทุกชนิดที่ระบอบประชาธิบไตยได้วางไว้โดยไร้ซึ่งกรอบและขีดจำกัด  แต่ในระบอบของอิสลามได้ให้การยอมรับในจำนวนมากของเสรีภาพดังกล่าวแล้ว ซึ่งให้เป็นไปตามเงื่อนไขของพันธะทางบทบัญญัติ จึงไม่พบว่าในอิสลาม จะมีความเป็นอิสระภาพที่เสรีโดยเป็นเอกเทศจากพันธะทางบทบัญญัติอยู่เลย ดังที่ได้กล่าวไป


          ♦ - ส่วนทางด้านเสรีภาพในการเรียนการสอน ก็ถือเป็นเสรีภาพที่ได้รับการเปิดกว้างไว้ในอิสลาม สำหรับมุสลิมที่มีความเคร่งครัด อิสลามไม่ได้กีดกันจากการเรียนและการสอนในเรื่องราวต่างๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับตนเองและสังคม ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา หรือที่เกี่ยวกับชีวิตทางโลก ตราบใดที่เรื่องนั้นๆ ไม่ส่งผลเสียและก่ออันตราย เช่น การเรียนไสยศาตร์ โหราศาสตร์ และวิชาอื่นๆ ในทำนองนี้


          ♦ - ส่วนเสรีภาพในการแสวงหาปัจจัยเลี้ยงชีพตลอดจนการจับจ่ายใช้สอย เป็นประเด็นที่ได้รับการเปิดกว้างและมีการส่งเสริมให้กระทำกัน โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นการทำมาหากินโดยวิถีทางที่สุจริตและทรัพย์สินที่ขวนขวายมาต้องเป็นของที่ฮะล้าล จากนั้นก็ให้ใช้จ่ายทรัพย์สินดังกล่าวไปในเรื่องที่อัลลอฮฺทรงพอพระทัย เรื่องที่เป็นพันธะจำเป็นต่างๆ ทางทรัพย์สิน หรือแม้กระทั้งในเรื่องที่เป็นการส่งเสริมให้กระทำก็ตาม


        ♦ - ส่วนเสรีภาพในการลงหลักปักฐานนั้น ผู้คนสามารถที่จะไปอาศัยอยู่ที่ใดก็ได้ตามที่ต้องการ ในประเทศอิสลามประเทศใดก็ได้ ในตำบลไหนก็ได้ จะเป็นที่พักที่ถือครองเป็นกรรมสิทธ์ หรือเป็นที่พักที่ไปเช่าหามาโดยทรัพย์สินของตนเองก็ตาม แต่ต้องไม่ใช่ที่อยู่อาศัยด้วยการไปแก่งแย่งมาถือครองโดยมิชอบ หรือโดยเล่ห์เพทุบายของไชตอน


        ♦ - ส่วนทางด้านอิสรภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานและการเดินทาง ทุกคนมีเสรีภาพตราบใดที่การเดินทางนั้น เป็นการเดินทางในเรื่องที่เป็นการเชื่อฟัง หรือเป็นการเดินทางในเรื่องที่ได้รับการอนุมัติไว้ และไม่ใช่การเดินทางที่เป็นไปในการฝ่าฝืน โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องเป็นไปตามช่องทางที่ได้รับการอนุมัติเอาไว้ 

         ทั้งนี้ นอกเหนือจากเงื่อนไขที่ได้กล่าวไปข้างต้นนี้แล้ว สำหรับการเดินทางของสุภาพสตรี จะต้องมีสามีหรือญาติที่เป็นที่ห้ามไม่ให้แต่งงานกับนางได้อย่างถาวรร่วมเดินทางไปกับนางด้วย เช่น บิดาของนาง พี่ชายหรือน้องชายของนาง ตลอดจนลุงหรืออาของนาง (ซึ่งบุคคลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลที่แทบจะไม่ยอมให้แม้แต่สุนัขป่าตัวใดเข้าถึงตัวของนางได้ นอกจากจะต้องข้ามศพของพวกเขาไปเสียก่อน)  เงื่อนไขนี้ได้ถูกวางไว้สำหรับการเดินทางในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะโดยรถยนต์ เรือ หรือเครื่องบิน ตลอดจนการโดยสารบนหลังอูฐและลา หรือโดยการเดินเท้าก็เช่นกัน

        แท้จริงแล้ว เงื่อนไขและพันธะต่างๆ เหล่านี้นับเป็นการให้เกียรติกับผู้เป็นสตรีอย่างยิ่ง  ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการยกฐานะของเธออีกด้วย และเป็นการช่วยพิทักษ์และรักษาเกียรติยศและศักดิ์ศรีของเธอไว้ ซึ่งต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคญาฮิลียะฮฺแรกก่อนอัลอิสลาม อันได้แก่ การดูถูกและการไม่ใยดีต่อสตรี หรือแม้กระทั่งสิ่งที่ยุคญาฮิลียะฮฺสมัยใหม่พยายามเรียกร้องกัน ซึ่งได้แก่ ความปั่นป่วนที่กำลังแพร่สะพัดอยู่ มันได้พยายามที่จะทำให้ผู้หญิงหลุดพ้นออกมาจากความละอายของนาง ด้วยการปฏิเสธเรื่อง ฮิญาบ และต่อต้านเรื่องการมีความละอาย


        ♦ - ส่วนในด้านของเสรีภาพทางความเชื่อ และการที่บุคคลเลือกที่จะนับถือศาสนาหรือลัทธิตลอดจนแนวความคิดใดๆ นั้น ท่าทีของอัลอิสลามต่อประเด็นนี้เป็นท่าทีที่ชัดเจนและเด็ดขาดอย่างยิ่ง โดยท่านผู้เป็นทูตแห่งทางนำ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม ได้กล่าวไว้ว่า

 “ใครก็ตามที่เปลี่ยนศาสนาของตน(อิสลามเป็นศาสนาอื่น) พวกท่านก็จงสังหารเขาเสีย” 

(บันทึกโดย ท่านอัลบุคอรีย์และมุสลิม)

        ดังนั้น ความพยายามที่จะไม่ยึดถือระบอบของอิสลาม และความรู้สึกไม่พอใจกับบทบัญญัติของอัลลอฮ์ ยิ่งไปกว่านั้นต้องการที่จะปลดพันธะและเงื่อนไขต่างๆ ให้ออกไปจากการนับถือศาสนาอิสลาม คงไม่สามารถอธิบายความหมายให้เป็นอย่างอื่นที่นอกเหนือไปจากการปฏิเสธต่ออัลลอฮฺได้ (อั้ลกุฟรุ บิ้ลลาฮฺ) ซึ่งพระองค์ คือ พระผู้ทรงประทานบทบัญญัตินี้  ทรงสร้างระเบียบและจัดแบบแผนให้กับชีวิตของมนุษยชาติ โดยการวางเงื่อนไขและพันธะต่างๆไว้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้เกียรติและยกสถานะของพวกเขา โดยการจำแนกพวกเขาออกจากจำพวกของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ด้วยกับบทบัญญัตินี้นี่เอง

 

 

         ที่มาจาก บางตอนในหนังสือ ฮะกีก่อตุ้ดดีมุกรอตียะฮฺ โดย เชค มุฮัมหมัด อะมาน อิบนุ อะลี อั้ลญามีย์ อดีตคณบดี คณะอั้ลฮะดี้ษฯ แห่งมหาวิทยาลัยอิสลาม มะดีนะฮฺ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ