การตัดสินเป็นของอัลลอฮฺ
อับดุลอะซีซ บิน มัรซูก อัฏ-เฏาะรีฟีย์
บทบัญญัติข้อกฎหมายทั้งหมดเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ ตะอาลา แต่เพียงผู้เดียว พระองค์จะอนุญาตในสิ่งใดก็ได้ตามที่พระองค์ทรงประสงค์ และพระองค์ทรงห้ามในสิ่งใดก็ได้ตามที่พระองค์ทรงประสงค์เช่นกัน ด้วยความรอบรู้และหิกมะฮฺของพระองค์ การบัญญัติกฎหมายของพระองค์นั้นเพื่อความถูกต้องทั้งในเรื่องของศาสนาและในเรื่องที่เกี่ยวกับทางโลก คำสั่งใช้และข้อห้ามของพระองค์จะไม่ถูกยกเลิกหรือเป็นโมฆะเหนือ บรรดามุกัลลัฟ (คือ ผู้ที่ถูกบังคับใช้ให้ปฏิบัติตามบทบัญญัติหรือข้อกฎหมายของศาสนาเมื่อถึงบรรลุนิติภาวะตามที่ศาสนาได้กำหนด) ในช่วงเวลาหนึ่งและยกเว้นในอีกช่วงเวลาหนึ่ง หรือในพื้นที่แห่งหนึ่งและยกเว้นในอีกพื้นที่อีกแห่งหนึ่ง นอกจากด้วยการอนุญาตจากพระองค์เท่านั้น
เราจะไม่แยกแยะบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทางโลก ทั้งหมดล้วนแล้วเป็นข้อบังคับที่แบ่งออกเป็นสองส่วน นั่นก็คือ ข้อบังคับทางศาสนาและข้อบังคับทางโลก
- ข้อบังคับทางศาสนา อาทิเช่น การละหมาด การถือศีลอด การทำหัจญ์ การรำลึกถึงอัล ลอฮฺ การบูรณะมัสยิด
- ข้อบังคับทางโลก อาทิเช่น การซื้อขาย การแต่งงาน การหย่าร้าง การแบ่งมรดก
ผู้ใดก็ตามที่แยกแยะระหว่างบทบัญญัติทั้งสองส่วน กล่าวคือ ใครที่ยึดหรือถือว่าบทบัญญัติเกี่ยวกับศาสนานั้นสำหรับอัลลอฮฺ และถือว่าบทบัญญัติและข้อกฎหมายเกี่ยวกับทางโลกนั้นสำหรับผู้อื่นไม่ใช่อัลลอฮฺ เขาผู้นั้นก็จะเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา อันเนื่องจากบทบัญญัติหรือข้อกฎหมายทุกอย่างนั้นเป็นสิทธิสำหรับอัลลอฮฺ ตะอาลา แต่เพียงผู้เดียว ใครผู้ใดที่อ้างสิทธิดังกล่าวนี้ให้แก่ผู้อื่นก็เสมือนว่าเขาผู้นั้นได้หยิบยื่นสิทธิในการสุญูดให้แก่ผู้อื่นที่มิใช่อัลลอฮฺ ดังที่พระองค์ได้ตรัสว่า
“ข้อกฎหมายทุกอย่างมิใช่สำหรับผู้อื่นใดนอกจากอัลลอฮฺแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น
พระองค์ได้สั่งว่า จงอย่าได้กราบไหว้แก่ผู้อื่นใดเว้นแต่พระองค์เพียงเท่านั้น”
(ยูสุฟ : 40)
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้เอง ที่ได้ทำให้บรรดาพวกอิสรออีลได้กลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้กล่าวว่า
“พวกเขาได้ยึดเอาบรรดานักปราชญ์ของพวกเขา และบรรดาบาทหลวงของพวกเขาเป็นพระเจ้าอื่นจากอัลลอฮฺ และยึดเอาอัล-มะซีหฺ อีซาบุตรของมัรยัมเป็นพระเจ้าด้วย ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ได้ถูกสั่งนอกจากเพื่อเคารพสักการะพระเจ้าเพียงองค์เดียว ซึ่งไม่มีผู้ใดควรได้รับการเคารพสักการะนอกจากพระองค์เท่านั้น พระองค์ทรงบริสุทธิ์จากสิ่งที่พวกเขาตั้งเป็นภาคี”
(อัต-เตาบะฮฺ : 31)
อัลลอฮฺได้กล่าวถึงการกระทำดังกล่าวในโองการข้างต้นนี้ว่า เป็นการชิริกหรือการตั้งภาคีนั่นเอง
อัลลอฮฺได้ประทานคัมภีร์ของพระองค์ลงมา และได้บัญญัติข้อกฎหมายต่างๆ ซึ่งพระองค์เป็นผู้ที่รอบรู้ในเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นและเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว เสมือนกับพระองค์ทรงรอบรู้และทรงเห็นเหตุการณ์ในช่วงเวลาที่บทบัญญัติและข้อกฎหมายได้ถูกประทานลงมา และความรอบรู้ของพระองค์จะไม่ตกขาดหายไปในเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งอันเนื่องมาจากเหตุการณ์นั้นได้ล่วงเลยมาแล้ว หรือเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า และความรอบรู้ของพระองค์จะไม่เพิ่มมากขึ้นเพราะเหตุที่เหตุการณ์ดังกล่าวนั้นกำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน(ความรอบรู้ของพระองค์ทรงสัมบูรณ์แล้ว) ความรู้ของพระองค์ทั้งความรู้เกี่ยวกับอดีต ความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า ความรู้ในเหตุการณ์ปัจจุบันและความรู้ในสิ่งเร้นลับ ทั้งหมดนั้นสัมบูรณ์เท่ากันสำหรับอัลลอฮฺ
ใครผู้ใดที่เห็นว่า ข้อกฎหมายของอัลลอฮฺ ตะอาลา นั้น เหมาะสมในช่วงเวลาที่ข้อกฎหมายดังกล่าวถูกประทานลงมาเท่านั้น ส่วนในช่วงเวลาอื่นนั้น มนุษย์มีสิทธิในการที่จะกำหนดข้อกฎหมายตามที่มนุษย์เห็นสมควรแม้ว่าข้อกฎหมายดังกล่าวนั้นจะขัดแย้งกับบทบัญญัติและข้อกฎหมายของอัลลอฮฺก็ตาม ดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นการปฏิเสธศรัทธา อันด้วยเหตุผลที่ว่า ผู้ที่กล่าวคำกล่าวนี้เห็นว่า ความรู้ความเข้าใจของมนุษย์มีความแตกต่างระหว่างสิ่งที่มนุษย์เห็นและประจักษ์ด้วยสายตากับสิ่งที่มนุษย์ไม่เห็นและไม่ประจักษ์ด้วยสายตา แล้วเขาก็เอาเปรียบเทียบว่าอัลลอฮฺก็น่าจะเป็นเช่นนั้นด้วย
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ มนุษย์เหล่านั้นจึงให้ความสำคัญแก่ความรู้ของตัวเองเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบันมากกว่าความรู้ของอัลลอฮฺเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อนับมาจากช่วงเวลาที่บทบัญญัติกำลังถูกประทานลงมา เหล่านี้คือการปฏิเสธศรัทธาและการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ความรู้ของอัลลอฮฺนั้นมีความเท่ากันในทุกสิ่งทุกอย่างทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นด้วยสายตา และทุกสิ่งทุกอย่างทั้งที่ยังไม่เกิดขึ้นอยู่เบื้องหน้าและสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและกำลังดำเนินอยู่ในปัจุบัน
อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
“พระองค์ผู้ทรงรอบรู้ในสิ่งพ้นญาณวิสัยและสิ่งที่มองเห็นได้ พระองค์ทรงสูงส่งยิ่งจากสิ่งที่พวกเขาตั้งเป็นภาคี”
(อัล-มุอ์มินูน : 92)
บทบัญญัติและข้อกฎหมายของอัลลอฮฺเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็เหมือนกับบทบัญญัติและข้อกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
“จงกล่าวเถิด(มุหัมมัด) โอ้ อัลลอฮฺ ! ผู้สร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน ผู้ทรงรอบรู้ในสิ่งเร้นลับและสิ่งเปิดเผย
พระองค์จะทรงพิพากษาระหว่างปวงบ่าวของพระองค์ในสิ่งที่พวกเขามีความขัดแย้งกัน”
(อัซ-ซุมัรฺ : 46)
อัลลอฮฺ ตะอาลา คือผู้ตัดสินและกำหนดบัญญัติเหนือมนุษย์ทุกคนทั้งที่อยู่ในช่วงเวลาที่บทบัญญัติถูกประทานลงมา รวมถึงพวกที่มิได้อยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยเหมือนกัน
ใครผู้ใดที่แยกบทบัญญัติทางศาสนาออกจากบทบัญญัติที่เกี่ยวกับทางโลก ถือว่าเขาได้กำหนดให้อัลลอฮฺเป็นผู้กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับศาสนา และให้มนุษย์เป็นผู้กำหนดบทกฎหมายเกี่ยวกับทางโลก (เช่นที่กล่าวอ้างโดยพวกเสรีนิยม) แสดงว่าเขาได้กำหนดให้มีผู้ออกบัญญัติมากมายหลายคน ซึ่งผู้ที่กำหนดบทบัญญัติที่แท้จริงก็คืออัลลอฮฺเพียงผู้เดียวเท่านั้น พระองค์ได้ตรัสว่า
“พวกท่านศรัทธาเพียงบางส่วนของคัมภีร์และปฏิเสธอีกบางส่วนกระนั้นหรือ?”
(อัล-บะเกาะรอฮฺ : 85)
โองการนี้หมายความว่า ใครผู้ใดที่ปฏิเสธศรัทธาในส่วนใดส่วนหนึ่งของคัมภีร์ ก็ถือว่าเขาผู้นั้นได้ปฏิเสธศรัทธาคัมภีร์ของอัลลอฮฺทั้งหมดทุกส่วนแล้ว
อัลลอฮฺ ได้สั่งให้ตัดสินปัญหาต่างๆ ระหว่างมนุษย์ด้วยสิ่งที่พระองค์ทรงประทานลงมาแก่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม จากอัลกุรอานและหะดีษ พระองค์ได้ตรัสว่า
“และเจ้าจงตัดสินระหว่างพวกเขาด้วยสิ่งที่อัลลอฮฺได้ประทานลงมาเถิด และจงอย่าปฏิบัติตามอารมณ์ของพวกเขา
และจงระวังพวกเขาที่จะจูงใจเจ้าให้ออกจากบางสิ่งที่อัลลอฮฺได้ประทานลงมาแก่เจ้า”
(อัล-มาอิดะฮฺ : 49)
ความหมายในการตัดสินปัญหาระหว่างมนุษย์ตรงนี้ก็คือ การตัดสินความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และความหมายของคำว่า ฟิตนะฮฺ ในอายะฮฺนี้ ก็คือ การหันเหบิดเบือนและออกไปจากการที่จะยึดเอาข้อกฎหมายของอัลลอฮฺมาใช้
ส่วนสิ่งใดก็ตามที่อัลลอฮฺมิได้อธิบายข้อกฎหมายในวะห์ยูของพระองค์ การอธิบายตรงนี้ก็เป็นหน้าที่ของบรรดานักวินิจฉัย (อะฮฺลุล อิจญ์ติฮาด) ซึ่งมีเงื่อนไขว่า การอธิบายข้อกฎหมายเหล่านั้นจะต้องไม่ขัดแย้งกับบทบัญญัติของอัลลอฮฺที่มีอยู่เดิมแล้ว และจะต้องไม่ยึดถือกฎหมายมนุษย์ และการเลือกสรรที่บกพร่องของพวกเขามาเป็นลำดับแรก และหากว่ากฎหมายของประชาชนถูกนำมาใช้ก่อนกฎหมายของอัลลอฮฺ นั่นแสดงว่าบรรดานบี ทุกคนก็ได้หลุดออกจากสัจธรรมความถูกต้องไปแล้ว เพราะบรรดานบีเหล่านั้นล้วนใช้ชีวิตท่ามกลางหมู่ชน ซึ่งเสียงของพวกเขาทั้งหมดหรือเสียงส่วนใหญ่ต่างก็เห็นด้วยกับสิ่งที่เป็นความไม่ถูกต้อง
แปลโดย : ทีมงานภาษาไทยเว็บอิสลามเฮ้าส์ / Islamhouse