สิทธิของอัลลอฮฺ
  จำนวนคนเข้าชม  5059

 

สิทธิของอัลลอฮฺ

 

อับดุลอะซีซ บิน มัรซูก อัฏ-เฏาะรีฟีย์ 

 

สิทธิของอัลลอฮฺ คือการภักดีต่อพระองค์เพียงพระองค์เดียวในทุกมิติของการภักดี พระองค์ตรัสว่า
 

﴿ وَإِلَٰهُكُمۡ إِلَٰهٞ وَٰحِدٞۖ لَّآ إِلَٰهَ إِلَّا هُوَ ٱلرَّحۡمَٰنُ ٱلرَّحِيمُ ١٦٣ ﴾ [البقرة: ١٦٣]  
 

 “และพระเจ้าของพวกเจ้าคืออัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว ไม่มีพระเจ้าอื่นใดอีกนอกจากพระผู้ทรงกรุณาปรานี ผู้ทรงเมตตาเสมอ”
 

 (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 163)
 

และต้องไม่นำสิ่งอื่นมาเป็นภาคีกับพระองค์ ไม่ว่าด้วยใจ วาจา หรือกาย อัลลอฮฺตรัสว่า
 

﴿ ۞وَٱعۡبُدُواْ ٱللَّهَ وَلَا تُشۡرِكُواْ بِهِۦ شَيۡ‍ٔٗاۖ ﴾ [النساء: ٣٦]  
 

“และจงเคารพสักการะอัลลอฮฺเถิด และอย่านำสิ่งใดมาเป็นภาคีกับพระองค์” 
 

(อัน-นิสาอ์ 36)


การตั้งภาคีใหญ่(ชิริก อักบัรฺ) จะ(ล้างผลาญความดีต่างๆ จน)ไม่เหลือความดีใดๆ เลยสำหรับมนุษย์ อัลลอฮฺตรัสว่า

﴿ وَلَقَدۡ أُوحِيَ إِلَيۡكَ وَإِلَى ٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِكَ لَئِنۡ أَشۡرَكۡتَ لَيَحۡبَطَنَّ عَمَلُكَ وَلَتَكُونَنَّ مِنَ ٱلۡخَٰسِرِينَ ٦٥ ﴾ [الزمر: ٦٥]  

“และแท้จริง ได้มีวะห์ยูแก่เจ้า(โอ้มุหัมมัด)และบรรดานบีก่อนหน้าเจ้าว่า

หากแม้นว่าเจ้าตั้งภาคี (ต่ออัลลอฮฺ) แน่นอนว่าการภักดีของเจ้า(ที่มีต่ออัลลอฮฺ)จะมลายสิ้น แล้วเจ้าก็จะกลายเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ขาดทุนอย่างแน่นอน” 

(อัซ-ซุมัรฺ 65)

          พระดำรัสข้างต้นนั้นพาดพิงถึงศาสนทูตของพระองค์ คือท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วนับประสาอะไรกับผู้ที่มีสถานะต่ำกว่าท่านเล่า ?

          อัลลอฮฺจะไม่ทรงประทานอภัยแก่บ่าวที่ตั้งภาคีกับพระองค์ นอกจากว่าบ่าวของพระองค์จะกลับตัวและเลิกจากการกระทำที่เป็นการตั้งภาคี พระองค์ตรัสว่า

﴿ إِنَّ ٱللَّهَ لَا يَغۡفِرُ أَن يُشۡرَكَ بِهِۦ وَيَغۡفِرُ مَا دُونَ ذَٰلِكَ لِمَن يَشَآءُۚ ﴾ [النساء: ٤٨]  

 “แท้จริง อัลลอฮฺจะไม่ทรงประทานอภัยต่อการตั้งภาคีกับพระองค์

และพระองค์จะทรงประทานอภัยต่อความผิดที่เบากว่านั้นสำหรับผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์” 

(อันนิสาอ์ 48) 

พระองค์ยังตรัสอีกว่า

﴿ إِنَّ ٱلَّذِينَ كَفَرُواْ وَصَدُّواْ عَن سَبِيلِ ٱللَّهِ ثُمَّ مَاتُواْ وَهُمۡ كُفَّارٞ فَلَن يَغۡفِرَ ٱللَّهُ لَهُمۡ ٣٤ ﴾ [محمد: ٣٤]  

 “แท้จริง บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาและสกัดกั้นจากหนทางของอัลลอฮ แล้วพวกเขาก็เสียชีวิตลงในขณะที่ยังเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาอยู่

ดังนั้น อัลลอฮฺจะไม่ทรงประทานอภัยให้แก่พวกเขาตลอดกาล” 

(มุหัมมัด 34)

และผู้ใดเสียชีวิตในสภาพที่ปฏิเสธศรัทธา เขาก็จะตกนรก อัลลอฮฺตรัสว่า

 

﴿وَمَن يَرۡتَدِدۡ مِنكُمۡ عَن دِينِهِۦ فَيَمُتۡ وَهُوَ كَافِرٞ فَأُوْلَٰٓئِكَ حَبِطَتۡ أَعۡمَٰلُهُمۡ فِي ٱلدُّنۡيَا وَٱلۡأٓخِرَةِۖ وَأُوْلَٰٓئِكَ أَصۡحَٰبُ ٱلنَّارِۖ هُمۡ فِيهَا خَٰلِدُونَ ٢١٧ ﴾ [البقرة: ٢١٧]  

         “และผู้ใดในหมู่พวกเจ้ากลับตัวออกจากศาสนาของเขา แล้วเขาเสียชีวิตลงในสภาพที่เป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาแล้วไซร้ การงานต่างๆ ของชนเหล่านี้จะล่มสลาย ทั้งบนโลกนี้และ ในโลกอาคิเราะฮฺ และชนเหล่านี้แหละคือชาวนรก ซึ่งพวกเขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดกาล” 

(อัล-บะเกาะเราะฮฺ 217)

อัลลอฮฺตรัสว่า


﴿ إِنَّ ٱلَّذِينَ كَفَرُواْ وَمَاتُواْ وَهُمۡ كُفَّارٌ أُوْلَٰٓئِكَ عَلَيۡهِمۡ لَعۡنَةُ ٱللَّهِ وَٱلۡمَلَٰٓئِكَةِ وَٱلنَّاسِ أَجۡمَعِينَ ١٦١ ﴾ [البقرة: ١٦١]  

“แท้จริงบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา แล้วเขาเสียชีวิตลงในสภาพที่เป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา ชนเหล่านี้จะได้รับการสาปแช่งจากอัลลอฮฺ

(ด้วยการทำให้เขาห่างไกลจากความเมตตาของพระองค์) และจะได้รับการสาปแช่งจากมะลาอิกะฮฺและมนุษย์ทั้งมวล” 

(อัล-บะเกาะเราะฮฺ 161)

          บางที ในชีวิตของผู้ปฏิเสธศรัทธานั้น อาจจะทำประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันไว้บ้าง การกระทำที่เป็นประโยชน์ดังกล่าวนั้นเป็นเพียงการแบกรับภาระทางธรรมชาติที่อัลลอฮฺได้มอบให้แก่เขา เสมือนกับที่สรรพสิ่งอื่นๆ ได้แบกรับภาระในการสร้างคุณูปการให้แก่มนุษย์ เช่นดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ลม และก้อนเมฆ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ให้ประโยชน์แก่มนุษย์มากกว่ามนุษย์ด้วยกันเสียอีก 

          เพราะคำว่า “ปฏิเสธศรัทธา” นั้นหมายถึงการปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ไม่ใช่ปฏิเสธต่อสรรพสิ่งตามธรรมชาติ(ที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น) และการลงโทษก็จะเกิดขึ้นจากการปฏิเสธสิทธิแห่งอัลลอฮฺ ไม่ใช่การปฏิเสธสิทธิแห่งสรรพสิ่งตามธรรมชาติ 



 

แปลโดย : ทีมงานภาษาไทยเว็บอิสลามเฮ้าส์ / Islamhouse