การอธิบายคำสอนศาสนา
อับดุลอะซีซ บิน มัรซูก อัฏ-เฏาะรีฟีย์
ไม่มีผู้ใดสามารถอธิบายความหมายของอิสลามและชี้แจงถึงจุดประสงค์ของอัลลอฮฺที่มีอยู่ในคำสอนของอิสลาม (ได้อย่างถูกต้องและครอบคลุม) นอกจากอัลลอฮฺ ตามที่พระองค์ได้อธิบายไว้ในอัลกุรอานและในสุนนะฮฺของนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ผู้เป็นศาสนทูตของพระองค์ ดังนั้น จึงไม่มีมนุษย์คนใดจะมีสถานะที่สูงส่งกว่านบีหรือศาสนทูตของอัลลอฮฺ
ถึงแม้นบีจะมีสถานะที่สูงส่ง แต่ภารกิจของท่านเป็นเพียงผู้ป่าวประกาศและเผยแพร่สารจากพระผู้อภิบาลของท่านเท่านั้น อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ ۞يَٰٓأَيُّهَا ٱلرَّسُولُ بَلِّغۡ مَآ أُنزِلَ إِلَيۡكَ مِن رَّبِّكَۖ ﴾ [المائدة: ٦٧]
“เราะสูลเอ๋ย! จงป่าวประกาศสิ่งที่ถูกประทานมาแก่เจ้าจากพระผู้อภิบาลของเจ้าเถิด”
(อัล-มาอิดะฮฺ 67)
ส่วนหน้าที่ของนบีอีกประการหนึ่งคือการให้คำอธิบายควบคู่กับการป่าวประกาศ (สารจากอัลลอฮฺ) พระองค์ตรัสว่า
﴿وَمَا عَلَى ٱلرَّسُولِ إِلَّا ٱلۡبَلَٰغُ ٱلۡمُبِينُ ٥٤ ﴾ [النور: ٥٤]
“และเราะสูลไม่มีหน้าที่อื่นใดนอกจากการป่าวประกาศที่ชัดเจน”
(อัน-นูรฺ 54)
การอธิบายอัลกุรอานเอง มาจากอัลลอฮฺเช่นเดียวกัน พระองค์ตรัสว่า
﴿ فَإِذَا قَرَأۡنَٰهُ فَٱتَّبِعۡ قُرۡءَانَهُۥ ١٨ ثُمَّ إِنَّ عَلَيۡنَا بَيَانَهُۥ ١٩ ﴾ [القيامة: ١٨-١٩]
“ดังนั้น เมื่อเราอ่านอัลกุรอาน เจ้าก็จงอ่านตามนั้น แล้วจากนั้น แท้จริงมันเป็นหน้าที่ของเราที่จะอธิบายอัลกุรอาน(แก่เจ้า)”
(อัล-กิยามะฮฺ 18-19)
ส่วนสุนนะฮฺนั้น ก็เป็นวะห์ยูจากอัลลอฮฺประเภทหนึ่ง ที่ได้ประทานแก่ศาสนทูตของพระองค์ อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ وَمَا يَنطِقُ عَنِ ٱلۡهَوَىٰٓ ٣ إِنۡ هُوَ إِلَّا وَحۡيٞ يُوحَىٰ ٤ ﴾ [النجم: ٣-٤]
“และมุหัมมัดไม่ได้พูดจากอารมณ์ แต่เป็นวะห์ยูที่อัลลอฮฺทรงประทานให้”
(อัน-นัจญ์มุ 3-4)
ดังนั้น ยามใดที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ถูกถามเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งและท่านมีคำตอบอยู่แล้วซึ่งพระผู้อภิบาลของท่านได้ประทานวะห์ยูแก่ท่านก่อนหน้านั้น ท่านก็จะให้คำตอบต่อคำถามดังกล่าว และหากท่านยังไม่มีคำตอบหรือยังไม่ได้รับการประทานวะห์ยูเกี่ยวกับคำถามดังกล่าว ท่านก็จะประวิงคำตอบจนกว่าวะห์ยูจะถูกประทานลงมา
ผู้ที่ใกล้ชิดและเข้าใจท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มากที่สุดคือบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่าน ซึ่งความเข้าใจต่ออัลกุรอาน(คำอธิบาย)ของบรรดาเศาะหาบะฮฺสามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้
ถ้าหากผู้ใดกล่าวว่า มีใครบางคนอื่นจากอัลลอฮฺที่ครอบครองบทบัญญัติเกี่ยวกับศาสนา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่อนุมัติหรือสิ่งต้องห้าม แสดงว่าเขาผู้นั้นได้ตั้งภาคีให้มีหุ้นส่วนกับอัลลอฮฺในด้านการชี้ขาดของพระองค์ ความเชื่อดังกล่าวเท่ากับเป็นการปฏิเสธศรัทธาและตั้งภาคีต่อพระองค์อย่างเป็นเอกฉันท์
อัลลอฮฺจะไม่ทรงประทานคัมภีร์ของพระองค์ นอกจากว่าทุกคำพูดของพระองค์จะมีความหมายที่พระองค์ทรงประสงค์ และความหมายที่พระองค์ทรงประสงค์นั้นจะไม่มีผู้ใดสามารถอธิบายหรือขยายความได้ถูกต้องนอกจากพระองค์เท่านั้น หรือบรรดาผู้ที่พระองค์ทรงอนุมัติเท่านั้น
สำหรับผู้ที่ทำการศึกษาและวิเคราะห์อัลกุรอานต้องคำนึงถึงสองเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1. ต้องไม่ออกจากสำนวนภาษาอาหรับและโครงสร้างของประโยค ทั้งพยางค์เดี่ยวและพยางค์ประสม
2. ต้องไม่ค้านกับความหมายที่มีการยืนยันในอัลกุรอานอย่างชัดเจน
ดังนั้น จึงไม่ใช่ว่า ทุกๆ สิ่งที่ถูกพาดพิงยังอัลลอฮฺจะเป็นสิ่งที่มาจากพระองค์จริง เพราะชาวคัมภีร์ได้หลงทางเนื่องจากพยายามวิเคราะห์จนเลยเถิด บิดเบือนในสิ่งที่ชัดเจน และพยายามลบล้างโองการที่คลุมเครือในทัศนะพวกเขา
อัลลอฮฺตรัสว่า
“และแท้จริง จากหมู่พวกเขานั้น มีกลุ่มหนึ่งบิดลิ้นของพวกเขาในการอ่านคัมภีร์ เพื่อพวกเจ้าจะได้หลงกลคิดว่ามันมาจากคัมภีร์ ทั้งที่มันมิได้มาจากคัมภีร์
และพวกเขากล่าวแอบอ้างว่ามันมาจากที่อัลลอฮฺ ทั้งที่มันมิใช่มาจากอัลลอฮฺ และพวกเขากล่าวอ้างเท็จแก่อัลลอฮฺ ทั้งที่พวกเขาก็รู้กันดีอยู่”
(อาล อิมรอน 78)
พระองค์บอกว่า พวกเขาจะบิดลิ้น “ด้วยคัมภีร์” ไม่ใช่ด้วยสิ่งอื่น เพื่อให้พวกเจ้าหลงกลคิดไปว่ามันมาจากคัมภีร์จริงๆ ทั้งนี้ เพราะความคล้ายกันจนแทบจะแยกไม่ออกนั่นเอง เพื่อที่พวกเขาจะได้หลอกลวงอย่างแนบเนียนลึกซึ้ง
แปลโดย : ทีมงานภาษาไทยเว็บอิสลามเฮ้าส์ / Islamhouse