สาเหตุของการฆ่า
  จำนวนคนเข้าชม  4353

 

สาเหตุของการฆ่า

 

ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์

 

การฆ่ากันนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังเช่น

 

          (1) ♥ การทะเลาะวิวาทที่เกิดขึ้นระหว่างสองฝ่าย ซึ่งจบลงด้วยการฆ่าฟันกัน ทั้งนี้ ชัยฏอนคือผู้ที่คอยยุยงอยู่เบื้องหลัง อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
 

﴿ وَقُل لِّعِبَادِي يَقُولُواْ ٱلَّتِي هِيَ أَحۡسَنُۚ إِنَّ ٱلشَّيۡطَٰنَ يَنزَغُ بَيۡنَهُمۡۚ إِنَّ ٱلشَّيۡطَٰنَ كَانَ لِلۡإِنسَٰنِ عَدُوّٗا مُّبِينٗا ٥٣ ﴾ [الإسراء: ٥٣]  
 

“และจงบอกปวงบ่าวของข้าให้พวกเขากล่าวแต่คำพูดที่ดียิ่ง เพราะแท้จริงชัยฏอนนั้นจะยุแหย่ระหว่างพวกเขา

แท้จริง ชัยฏอนนั้นเป็นศัตรูที่เปิดเผยของมนุษย์” 
 

(อัลอิสรออ์: 53)
 

ญาบิรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
 

« إِنَّ الشَّيْطَانَ قَدْ أَيِسَ أَنْ يَعْبُدَهُ الْمُصَلُّونَ فِي جَزِيرَةِ الْعَرَبِ، وَلَكِنْ فِي التَّحْرِيشِ بَيْنَهُمْ » [رواه مسلم برقم 2812]  

“แท้จริงชัยฏอนนั้นได้สิ้นหวังที่จะทำให้บรรดาผู้ทำการละหมาดในคาบสมุทรอาหรับกราบไหว้มัน

มันจึงหันสร้างความแตกแยกระหว่างพวกเขาแทน” 
 

(บันทึกโดย มุสลิม หะดีษเลขที่ 2812)

ในหะดีษอีกบทหนึ่ง อิบนุ มัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

« سِبَابُ المُسْلِمِ فُسُوقٌ، وَقِتَالُهُ كُفْرٌ » [رواه البخاري برقم 48 ومسلم برقم 116]  

“การด่าทอมุสลิมนั้นถือเป็นสิ่งชั่วร้าย ส่วนการฆ่ามุสลิมด้วยกันถือเป็นการปฏิเสธศรัทธา

(ถ้าคิดว่าการฆ่านั้นเป็นสิ่งที่ศาสนาอนุญาตให้ทำได้ตามใจชอบ – ผู้แปล)” 

(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 48 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 116)


          (2) ♥ ความต้องการในทรัพย์สิน ไม่ว่าจะได้มาด้วยวิธีใดก็ตาม จะเห็นว่ามีเหตุการณ์ฆ่า ลักพาตัว หรือจี้ปล้นเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งล้วนแต่มีสาเหตุมาจากทรัพย์สินเงินทอง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

« إِنَّ لِكُلِّ أُمَّةٍ فِتْنَةً وَفِتْنَةُ أُمَّتِي المَالُ » [رواه الترمذي برقم 2336]  

“แต่ละประชาชาติจะพบเจอกับบททดสอบ ซึ่งบททดสอบประชาชาติของฉัน ก็คือทรัพย์สินเงินทอง” 

(บันทึกโดย อัตติรฺมิซีย์ หะดีษเลขที่ 2336)


          (3) ♥  การดื่มสุรา และการใช้สารเสพติด เพราะเมื่อบุคคลหนึ่งขาดสติแล้ว ย่อมกล้าที่จะกระทำการละเมิดต่อผู้อื่นด้วยการทำร้ายร่างกาย ฆ่าฟัน หรือข่มขืนโดยไม่มีความรู้สึกเกรงกลัว ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า 

﴿ يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُوٓاْ إِنَّمَا ٱلۡخَمۡرُ وَٱلۡمَيۡسِرُ وَٱلۡأَنصَابُ وَٱلۡأَزۡلَٰمُ رِجۡسٞ مِّنۡ عَمَلِ ٱلشَّيۡطَٰنِ فَٱجۡتَنِبُوهُ لَعَلَّكُمۡ تُفۡلِحُونَ ٩٠ ﴾ [المائ‍دة: ٩٠]  

         “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ที่จริงสุรา การพนัน แท่นหินสำหรับเชือดสัตว์บูชายันต์ และการเสี่ยงติ้วนั้น เป็นสิ่งโสมมอันเกิดจากการกระทำของชัยฏอน ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลจากมันเสียเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ” 

(อัลมาอิดะฮฺ: 90)

          (4) ♥ ขาดความเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺ ทั้งนี้ ความยำเกรงอัลลอฮฺนั้น จะเป็นแรงผลักดันให้ปฏิบัติแต่ความดี หลีกห่างจากความชั่วไม่ว่าจะเป็นบาปเล็กหรือบาปใหญ่ ซึ่งการฆ่าผู้อื่นนั้นถือเป็นบาปใหญ่มาก ผู้ที่มีความยำเกรงอย่างแท้จริงย่อมต้องหลีกห่าง

อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

﴿ قُلۡ إِنِّيٓ أَخَافُ إِنۡ عَصَيۡتُ رَبِّي عَذَابَ يَوۡمٍ عَظِيمٖ ١٥ ﴾ [الأنعام: ١٥]  

“จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ว่า แท้จริงฉันกลัวการลงโทษในวันอันยิ่งใหญ่ หากฉันฝ่าฝืนพระเจ้าของฉัน” 

(อัลอันอาม: 15)

และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

« اجْتَنِبُوا السَّبْعَ المُوبِقَاتِ » : - وذكر منها - : « وَقَتْلُ النَّفْسِ الَّتِي حَرَّمَ اللَّهُ إِلَّا بِالحَقِّ » [رواه البخاري برقم 6857 ومسلم برقم 89]  

“พวกท่านทั้งหลายจงหลีกห่างจากสิ่งที่ทำให้พินาศเจ็ดประการ

(และหนึ่งในนั้นคือ) การฆ่าชีวิตผู้อื่นที่อัลลอฮฺทรงห้ามฆ่านอกจากด้วยสิทธิอันชอบธรรม” 

(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 6857 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 89)


(5) ♥ การรับเอาแนวคิดที่หลงผิด ซึ่งปลูกฝังให้เชื่อว่าการเข่นฆ่าพี่น้องมุสลิมนั้นเป็นสิ่งที่กระทำได้ อัลลอฮฺ ตรัสว่า 

﴿ أَفَمَن زُيِّنَ لَهُۥ سُوٓءُ عَمَلِهِۦ فَرَءَاهُ حَسَنٗاۖ  ﴾ [فاطر: ٨]

“ดังนั้น ผู้ที่การงานอันชั่วช้าของเขาได้ถูกทำให้เพริศแพร้วแก่เขา แล้วเขาเห็นว่ามันเป็นสิ่งดีกระนั้นหรือ ?” 

(ฟาฏิรฺ: 8)

และพระองค์ตรัสว่า

﴿ ۞يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ لَا تَتَّبِعُواْ خُطُوَٰتِ ٱلشَّيۡطَٰنِۚ ﴾ [النور : ٢١]

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย พวกเจ้าอย่าได้ติดตามทางเดินของชัยฏอน” 

(อันนูรฺ: 21)


          นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน ที่นำไปสู่การเข่นฆ่ากัน  โดยสรุปแล้ว ผู้ศรัทธาควรที่จะตระหนักอยู่เสมอว่า การฆ่าผู้อื่นนั้นถือเป็นบาปหนักที่สุดประการหนึ่ง และแน่นอนว่าผู้ที่ฆ่าผู้อื่นนั้นจะไม่มีทางรอดพ้นจากบทลงโทษของอัลลอฮฺไปได้ ไม่ว่าจะในดุนยาหรืออาคิเราะฮฺ 

อัลลอฮฺ ตรัสว่า

﴿ وَلَا تَقۡتُلُواْ ٱلنَّفۡسَ ٱلَّتِي حَرَّمَ ٱللَّهُ إِلَّا بِٱلۡحَقِّۗ وَمَن قُتِلَ مَظۡلُومٗا فَقَدۡ جَعَلۡنَا لِوَلِيِّهِۦ سُلۡطَٰنٗا فَلَا يُسۡرِف فِّي ٱلۡقَتۡلِۖ إِنَّهُۥ كَانَ مَنصُورٗا ٣٣ ﴾ [الإسراء: ٣٣]   

“และพวกเจ้าอย่าฆ่าชีวิตที่อัลลอฮฺทรงห้ามไว้ เว้นแต่ด้วยความเที่ยงธรรม และผู้ใดถูกฆ่าอย่างอยุติธรรม

ดังนั้น เราได้ให้อำนาจแก่ผู้ปกครองของเขา

ฉะนั้น อย่าได้ล่วงเกินขอบเขตในเรื่องการฆ่า แท้จริงเขา (ผู้ถูกอธรรม) จะได้รับความช่วยเหลือ” 

(อัลอิสรออ์: 33)

อิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

« يَجِيءُ الْمَقْتُولُ بِالقَاتِلِ يَوْمَ القِيَامَةِ نَاصِيَتُهُ وَرَأْسُهُ بِيَدِهِ وَأَوْدَاجُهُ تَشْخَبُ دَمًا، يَقُولُ: يَا رَبِّ، قَتَلَنِي هَذَا، حَتَّى يُدْنِيَهُ مِنَ العَرْشِ » [رواه الترمذي برقم 3029]  

              “ในวันกิยามะฮฺ ผู้ที่ถูกฆ่าจะฉุดลากตัวผู้ที่ฆ่าเขาด้วยการดึงกระชากเส้นผมและศีรษะของเขา ในสภาพที่คอของเขา (ผู้ถูกฆ่า) เต็มไปด้วยเลือดที่ไหลไม่หยุด 
 

จากนั้นเขาก็กล่าวขึ้นว่า ‘โอ้ พระผู้อภิบาลของฉัน คน คนนี้ ฆ่าฉัน’ 

กระทั่งเขาได้ลากตัวผู้ฆ่าเข้าไปหยุดอยู่ใกล้อะรัช (เพื่อให้อัลลอฮฺทรงพิพากษา)” 

(บันทึกโดย อัตติรฺมิซีย์ หะดีษเลขที่ 3029) 



 

 

แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ / islamhouse