การเกรงกลัวและความหวัง
  จำนวนคนเข้าชม  6450

 

การเกรงกลัวและความหวัง

 

ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์


ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมิยะฮฺ กล่าวว่า “ความกลัว คือ สิ่งที่หักห้ามใจท่าน มิให้ทำในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้าม” 
 

(มะดาริญุสสาลิกีน เล่ม 1 หน้า 551)

       อิบนุเราะญับ กล่าวว่า “ขอบเขตความเกรงกลัวที่เป็นวาญิบนั้น คือการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ที่เป็นข้อบังคับ (ฟัรฎู) และออกห่างจากสิ่งต้องห้าม (หะรอม) แต่หากผู้ใดสามารถทำได้มากกว่านั้น โดยปฏิบัติสิ่งที่เป็นสุนนะฮฺ และออกห่างจากสิ่งที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) นั่นก็ถือเป็นเรื่องที่น่าสรรเสริญสำหรับเขา” 
 

(อัตตัควีฟ มิน อันนารฺ หน้า 21)

ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า ฉันได้ถามท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ถึงอายะฮฺนี้
 

“และบรรดาผู้ที่บริจาคสิ่งที่พวกเขาได้มา โดยที่จิตใจของเขาเปี่ยมไปด้วยความหวั่นเกรง” 
 

(อัลมุอ์มินูน: 60)
 

ว่ารวมถึงผู้ที่ดื่มสุรา หรือลักขโมยด้วยหรือไม่? ท่านตอบว่า

 

        “โอ้บุตรสาวของอบูบักรฺเอ๋ย มันไม่ใช่เช่นนั้นหรอก แต่หมายถึงบรรดาผู้ที่ถือศีลอด ละหมาด และบริจาคทาน แต่ถึงกระนั้นพวกเขาก็ยังหวั่นเกรงว่าการงานของพวกเขานั้นจะไม่ถูกตอบรับ พวกเขาเหล่านั้นต่างรีบเร่งในการประกอบความดีทั้งหลาย” 
 

(บันทึกโดย อัตติรฺมิซีย์ หะดีษเลขที่ 3127)


       อบูอะลี อัรรูซะบารีย์ กล่าวว่า “ความกลัวและความหวังนั้น เปรียบดังปีกนกสองข้าง เมื่อปีกทั้งสองอยู่ในสภาพที่ดี การทรงตัวของนกก็จะสมบูรณ์ และมันก็จะสามารถบินได้ แต่หากขาดข้างหนึ่งข้างใด มันก็จะไม่สามารถทรงตัวอยู่ได้ และหากขาดทั้งสองข้างไป ก็เท่ากับว่านกตัวนั้นได้สูญสิ้นชีวิตไปแล้ว”

 

     อัลฟุฎ็อยลฺ บิน อิยาฎ กล่าวว่า “ความกลัวดีกว่าความหวังในขณะที่บุคคลหนึ่งมีสุขภาพที่ดี แต่หากเขาใกล้จะตาย ความหวังย่อมดีกว่าสำหรับเขา” 
 

(อัตตัควีฟ มิน อันนารฺ หน้า 16)


     ท่านอนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ไปเยี่ยมชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งใกล้จะเสียชีวิต ท่านได้ถามเขาว่า “ท่านเป็นอย่างไรบ้าง” 

     เขาตอบว่า “โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ แท้จริงฉันหวังในความเมตตาของอัลลอฮฺ แต่ในขณะเดียวกัน ฉันก็เกรงกลัวพระองค์เพราะบาปความผิดที่เคยทำ” 

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงกล่าวว่า

“หากมีสองสิ่งนี้ (ความกลัวและความหวัง) อยู่ในใจของบ่าวคนใดในสถานการณ์เช่นนี้

อัลลอฮฺจะให้ได้รับในสิ่งที่เขาแก่เขา และจะทรงให้เขารอดพ้นจากสิ่งที่เขากลัว” 

(บันทึกโดย อัตติรฺมิซีย์ หะดีษเลขที่ 983)


       ท่านอุมัรฺ กล่าวว่า “หากมีเสียงเรียกจากบนฟากฟ้าว่า โอ้มนุษย์ทั้งหลาย พวกเจ้าทุกคนจะได้เข้าสวรรค์ ยกเว้นเพียงคนเดียวเท่านั้น ฉันก็ยังกลัวว่าคนคนนั้นจะเป็นฉัน”

       วันหนึ่งท่านอุมัรฺเข้าไปในตลาดพร้อมกับอัลญารูด แล้วท่านได้พบกับหญิงชรานางหนึ่ง ท่านจึงกล่าวให้สลามแก่นาง นางรับสลามและกล่าวแก่ท่านว่า 

       “โอ้อุมัรฺ ฉันนั้นได้เคยเห็นท่านตั้งแต่สมัยท่านยังเยาว์วัยวิ่งเล่นกับเด็ก ๆ ในตลาดอุกาซ ซึ่งในสมัยนั้นผู้คนเรียกขานท่านว่าอุมัยรฺ (อุมัรฺตัวน้อย) เมื่อเวลาผ่านไปท่านก็เติบใหญ่เป็นอุมัรฺ และไม่นานท่านก็กลายเป็นอะมีรุลมุอ์มินีนผู้นำของปวงชนผู้ศรัทธา ฉันขอให้ท่านจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺในการปกครองประชาชนของท่านเถิด เพราะผู้ใดเกรงกลัวความตาย เขาจะหวั่นเกรงต่อความบกพร่องของเขา”

เมื่อท่านอุมัรฺได้ฟังคำพูดของนาง ท่านก็ร้องไห้ 

อัลญารูดจึงกล่าวขึ้นว่า “เธอนี่ช่างกล้านัก เธอทำให้อะมีรุลมุอ์มินีน ร้องไห้อย่างนั้นหรือ?”

แต่ท่านอุมัรฺสั่งให้ปล่อยนางไป เมื่อท่านหยุดร้องไห้ท่านก็กล่าวถามเขาว่า “ท่านไม่รู้จักนางหรอกหรือ?” 

เขาตอบว่า “ไม่ครับ” 

ท่านจึงกล่าวว่า “นางคือเคาละฮฺ บุตรี หะกีม นางคือผู้ที่อัลลอฮฺทรงได้ยินคำพูดของนาง ฉะนั้น ก็เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่อุมัรฺจะฟังคำพูดของนาง”

ทั้งนี้ ท่านอุมัรฺหมายถึงพระดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า

      “โดยแน่นอน อัลลอฮฺทรงได้ยินถ้อยคำของสตรีที่กำลังโต้แย้งกับเจ้าในเรื่องสามีของนาง และนางได้ร้องทุกข์ต่ออัลลอฮฺ และอัลลอฮฺนั้นทรงได้ยินการตอบโต้ของเจ้าทั้งสอง แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรู้เห็นเสมอ” 

(อัลมุญาดะละฮฺ: 1)

       และท่านอุมัรฺได้กล่าวขณะที่ท่านถูกแทงว่า “หากว่าฉันมีทองคำจำนวนมากเต็มหน้าแผ่นดิน ฉันจะยอมสละเหล่านั้นเพื่อแลกกับการที่ฉันจะได้รอดพ้นจากการลงโทษของอัลลอฮฺ ก่อนที่ฉันจะได้เห็นมันเสียอีก" 

(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 3692)


       อุมัรฺ บิน อับดุลอะซีซ กล่าวว่า “ผู้ใดเกรงกลัวอัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเกรงกลัวเขา แต่หากผู้ใดไม่เกรงกลัวพระองค์ เขาก็จะเป็นผู้ที่เกรงกลัวทุกสิ่ง”

ขณะที่ท่านหะสันร้องไห้ มีผู้หนึ่งถามท่านว่า “ท่านร้องไห้เพราะเหตุใดหรือ?” 

ท่านตอบว่า “ฉันกลัวว่าวันพรุ่งนี้อัลลอฮฺจะโยนฉันลงในไฟนรก โดยที่พระองค์ไม่ทรงแยแส”


      ยะหฺยา บิน มุอาซ กล่าวว่า “ความรักที่ท่านมีต่ออัลลอฮฺมีมากเท่าใด ผู้คนก็จะรักท่านมากเท่านั้น และเช่นกันความเกรงกลัวที่ท่านมีต่อพระองค์อยู่ในระดับใด ผู้คนก็จะเกรงกลัวท่านเช่นนั้น”


       อิมามอะหฺมัด กล่าวว่า “ความเกรงกลัวนั้นสามารถหักห้ามฉันไม่ให้กินหรือดื่มสิ่งใด โดยที่ฉันไม่รู้สึกหิวหรือกระหายแต่อย่างใดเลย”




 

 

 

แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ / Islamhouse