การเกรงกลัวอัลลอฮฺ
ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์
มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอความสุขความจำเริญและความสันติจงประสบแด่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ฉันขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว ไม่มีภาคีใด ๆ สำหรับพระองค์ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ และเป็นศาสนทูตของพระองค์
การเกรงกลัวอัลลอฮฺนั้นถือเป็นระดับขั้นหนึ่งของความศรัทธา ที่มีความสำคัญและมีความประเสริฐมากที่สุด และเป็นการงานที่จำเป็นต้องมีความอิคลาศบริสุทธิ์ใจเป็นเงื่อนไขสำคัญ อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสถึงชาวสวรรค์ว่า
“พวกเขากล่าวว่า แท้จริง แต่ก่อนนี้ (ในโลกดุนยา) พวกเราอยู่กับครอบครัวของเราเป็นผู้วิตกกังวล
ดังนั้น อัลลอฮฺได้ทรงโปรดปรานแก่เรา และได้ทรงปกป้องเราให้พ้นจากการลงโทษแห่งลมร้อน”
(อัฏฏูรฺ: 26-27)
และพระองค์ตรัสว่า
“และสำหรับผู้ที่ยำเกรงต่อการยืนหน้าพระพักตร์แห่งพระเจ้า (เขาจะได้) สวนสวรรค์สองแห่ง”
(อัรเราะหฺมาน: 46)
พระองค์ตรัสอีกว่า
“และผู้ที่หวาดหวั่นต่อการยืนเบื้องหน้าพระเจ้าของเขา และได้หน่วงเหนี่ยวจิตใจจากกิเลสใฝ่ต่ำ ดังนั้นสวนสวรรค์ก็จะเป็นที่พำนักของเขา”
(อันนาซิอาต: 40-41)
ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
“มีคนเจ็ดประเภทที่พระองค์อัลลอฮฺจะทรงให้พวกเขาได้อยู่ภายใต้ร่มเงาของพระองค์ ในวันที่ไม่มีร่มเงาใดๆนอกจากร่มเงาของพระองค์... (และหนึ่งในเจ็ดกลุ่มที่ท่านกล่าวถึงก็คือ) ชายซึ่งได้รับการเชิญชวนจากหญิงสาวที่เพียบพร้อมด้วยฐานะและความงามให้กระทำสิ่งที่ผิด แต่เขากลับตอบนางว่า ฉันเกรงกลัวพระเจ้าของฉัน”
(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 1423 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 1031)
ชัยคฺ อับดุรเราะหฺมาน บิน หะสัน อาลัชชัยคฺ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า ความกลัวนั้นแบ่งออกเป็นหลายประเภท
ประเภทแรก การกลัวอำนาจเร้นลับ หมายถึงการกลัวสิ่งอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ ไม่ว่าจะเป็นเจว็ด หรือรูปบูชา โดยกลัวว่าสิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสถึงคำพูดของกลุ่มชนนบีฮูดว่า
“เราจะไม่กล่าวอย่างใด เว้นแต่พระเจ้าบางองค์ของเราได้นำความชั่วเข้าไปสิงในตัวท่าน เขา (ฮูด) กล่าวว่า แท้จริงฉันให้อัลลอฮฺทรงเป็นพยาน แล้วพวกท่านจงเป็นพยานด้วยว่า แท้จริงฉันปลีกตัวออกจากสิ่งที่พวกท่านตั้งภาคีอื่นจากพระองค์ ดังนั้น พวกท่านทั้งหมดจงวางแผนทำร้ายฉันเถิด แล้วพวกท่านอย่าได้ให้ฉันต้องรอคอยเลย”
(ฮูด: 54-55)
และพระองค์ตรัสว่า
“และพวกเขายังขู่เจ้าให้กลัวด้วยเจว็ดต่าง ๆ อื่นจากพระองค์”
(อัซซุมัรฺ: 36)
และนี่คือสภาพความเป็นจริงของพวกที่กราบไหว้หลุมศพ หรือรูปบูชาอื่น ๆ พวกเขาเกรงกลัวต่อสิ่งเหล่านั้น และยังขู่ให้ผู้ศรัทธาซึ่งห้ามปรามพวกเขามิให้กราบไหว้บูชาสิ่งเหล่านั้นและให้เคารพภักดีอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียวเกรงกลัวด้วย ความกลัวประเภทนี้เป็นเรื่องที่ขัดกับหลักศรัทธาโดยสิ้นเชิง
ประเภทที่สอง กลัวผู้คน การที่บุคคลหนึ่งละทิ้งสิ่งที่เป็นวาญิบสำหรับเขา เพราะเกรงกลัวผู้หนึ่งผู้ใด และแน่นอนว่าความกลัวเช่นนี้เป็นสิ่งต้องห้าม อัลลอฮฺ ตรัสว่า
"บรรดาผู้ที่เมื่อผู้คนได้กล่าวแก่เขาว่า แท้จริงมีผู้คนได้ชุมนุมสำหรับพวกท่าน ดังนั้น พวกท่านจงกลัวพวกเขาเถิด”
(อาลอิมรอน: 173)
ท่านอบูสะอีด อัลคุดรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ครั้งหนึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ยืนขึ้นกล่าวคุฏบะฮฺ ซึ่งส่วนหนึ่งจากคำพูดของท่านคือ
“จงอย่าให้ความเกรงกลัวต่อผู้อื่น มาขัดขวางการพูดความจริงในสิ่งที่ท่านรู้”
แล้วอบูสะอีดก็ร้องไห้และกล่าวว่า ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ เราได้รู้ได้เห็นอะไรหลายอย่างแต่พวกเรากลับกลัวที่จะพูด
(บันทึกโดย อิบนุมาญะฮฺ หะดีษเลขที่ 4007)
ประเภทที่สาม ความกลัวโดยธรรมชาติ เช่น กลัวศัตรูคู่อาฆาต กลัวสัตว์ร้ายต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนว่าความกลัวประเภทนี้ไม่มีข้อห้ามแต่ประการใด ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสถึงนบีมูซาว่า
“ดังนั้น เขาจึงออกจากเมืองนั้นในสภาพหวาดกลัวว่าจะเกิดภัย”
(อัลเกาะศ็อศ: 21)
และพระองค์ตรัสว่า
“แท้จริงชัยฏอนนั้นเพียงขู่ได้เฉพาะบรรดาผู้ที่ปฏิบัติตามมันเท่านั้น ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่ากลัวพวกเขา และจงกลัวข้าเถิด หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา”
(อาลอิมรอน: 175)
ในอายะฮฺข้างต้นนี้ อัลลอฮฺทรงห้ามบรรดาผู้ศรัทธามิให้เกรงกลัวต่อผู้ใดนอกจากพระองค์ และนั่นก็คือความอิคลาศที่พระองค์ทรงสั่งใช้ ดังนั้น เมื่อบ่าวคนใดเกรงกลัวแต่อัลลอฮฺและเคารพอิบาดะฮฺพระองค์อย่างบริสุทธิ์ใจแล้ว พระองค์ก็จะทรงประทานสิ่งที่เขาคาดหวัง และทรงทำให้เขารอดพ้นจากความกลัวใด ๆ ทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ
อัลลอฮฺตรัสว่า
“อัลลอฮฺมิทรงเป็นผู้พอเพียงแก่บ่าวของพระองค์ดอกหรือ และพวกเขายังขู่เจ้าให้กลัวด้วยเจว็ดต่าง ๆ อื่นจากพระองค์
และผู้ใดที่อัลลอฮฺทรงให้เขาหลงทาง ดังนั้น สำหรับเขาจะไม่มีผู้ชี้นำทาง”
(อัซซุมัรฺ: 36)
อิบนุลก็อยยิม กล่าวว่า “เล่ห์เหลี่ยมประการหนึ่งของเหล่าศัตรูของอัลลอฮฺ คือพวกเขาจะพยายามข่มขู่ผู้ศรัทธาด้วยไพร่พลและผู้สนับสนุนของพวกเขา เพื่อให้ผู้ศรัทธาเกิดความหวาดหวั่น ไม่กล้าที่จะเผชิญหน้าต่อสู้ ไม่กล้าเรียกร้องสู่ความดีและห้ามปรามความชั่ว อัลลอฮฺจึงได้ทรงเตือนผู้ศรัทธาว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุบายและการหลอกล่อของชัยฏอนมารร้าย และทรงห้ามพวกเรามิให้เกรงกลัว”
เกาะตาดะฮฺ กล่าวว่า “ชัยฏอนทำให้พวกเจ้าเกิดความรู้สึกเกรงขามต่อเจว็ดเหล่านั้น ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่ศรัทธาของคนคนหนึ่งแข็งแกร่ง ในจิตใจของเขาก็จะไม่มีความหวาดกลัวหลงเหลืออยู่ อัลลอฮฺ ตรัสว่า
“แท้จริงอุบายของชัยฏอนนั้นเป็นสิ่งอ่อนแอ”
(อันนิสาอ์: 76)
แต่หากศรัทธาของเขาอ่อนแอลง ความเกรงกลัวก็จะเข้ามาแทนที่ อายะฮฺข้างต้นนี้จึงเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า การเกรงกลัวอย่างบริสุทธิ์ใจนั้น เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้การศรัทธาสมบูรณ์”
(ฟัตหุลมะญีด หน้า 396-397)
แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ / Islamhouse