ข้อสังเกตบางประการของผู้มีสติปัญญา
  จำนวนคนเข้าชม  3686

 

ข้อสังเกตบางประการของผู้มีสติปัญญา

 

ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์


 

ข้อสังเกตบางประการของผู้มีสติปัญญา

 

♥ ข้อแรก 

 

สติปัญญาความคิดของคนเรานั้นขึ้นอยู่กับหัวใจ ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า  
 

“พวกเขามิได้ออกเดินทางไปในแผ่นดินดอกหรือ เพื่อหัวใจจะได้พิจารณาเพื่อพวกเขาเอง หรือมีหูเพื่อสดับฟังมัน

เพราะแท้จริงการมองของนัยน์ตานั้นมิได้บอดดอก แต่ว่าหัวใจที่อยู่ในทรวงอกต่างหากที่บอด” 
 

(อัลหัจญ์: 46)

 

ชัยคฺ มุหัมมัด อัชชันกีฏีย์ กล่าวว่า

 

         “เป็นการไม่ถูกต้องที่จะกล่าวว่า สติปัญญานั้นอยู่ที่สมองดังที่พวกนักปรัชญาได้กล่าวไว้ และมีมุสลิมบางส่วนคล้อยตาม ซึ่งนักวิชาการมุสลิมส่วนใหญ่ มีความเห็นว่าสติปัญญานั้นมีหัวใจเป็นศูนย์บัญชาการ ดังที่อัลลอฮฺตรัสว่า
 

“และแน่นอนเราได้บังเกิดสำหรับญะฮันนัมซึ่งมากมายจากญินและมนุษย์ โดยที่พวกเขามีหัวใจซึ่งพวกเขาไม่ใช้มันทำความเข้าใจ” 
 

(อัลอะอฺรอฟ: 179)
 

       โดยพระองค์ได้ทรงตำหนิพวกเขาว่า เป็นผู้ที่ไม่มีความเข้าใจ ซึ่งการจะเข้าใจได้ต้องใช้สติปัญญา จึงเป็นหลักฐานยืนยันว่าสติปัญญานั้นอยู่ที่หัวใจ และพระองค์ยังตรัสว่า
 

“เพราะการศรัทธายังมิได้เข้าสู่หัวใจของพวกท่าน” 
 

(อัลหุญรอต: 14)

อันนุอฺมาน บิน บะชีรฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะลัลลัม กล่าวว่า

“พึงทราบเถิดว่าในร่างกายเรานั้นมีก้อนเนื้ออยู่ก้อนหนึ่ง ถ้าส่วนดังกล่าวดี ร่างกายทุกส่วนก็จะดีตามไปด้วย

แต่ถ้าส่วนดังกล่าวไม่ดี ร่างกายส่วนอื่นๆ ก็จะไม่ดี ก้อนเนื้อที่ว่านั้นก็คือหัวใจนั่นเอง” 

(บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 52 และ มุสลิม หะดีษเลขที่ 1599)

       เมื่อหัวใจมีความศรัทธามั่น ทุกส่วนของร่างกายก็จะเป็นเช่นนั้น จะน้อมรับปฏิบัติตามคำสั่งใช้ และละทิ้งข้อสั่งห้าม เพราะหัวใจนั้นคือศูนย์ปฏิบัติการของร่างกาย ดังนั้น จึงเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าหัวใจคือศูนย์รวมของความเข้าใจ ความคิด และสติปัญญา” 

(อัรริหฺละฮฺ อิลา อัฟรีเกีย หน้า 25-29)


♥ ข้อที่สอง 

 

      มิใช่ทุกคนที่อ้างว่าตนเองเป็นผู้มีสติปัญญา จะเป็นผู้ที่มีสติปัญญาอย่างแท้จริง เพราะคำกล่าวอ้างเช่นนั้นแม้แต่คนโง่เขลาเบาปัญญาก็กล่าวอ้างได้ แต่ผู้ที่มีสติปัญญาที่แท้จริง คือผู้ที่หลีกห่างจากความโง่เขลา การทำบาป ห่างไกลจากความประพฤติที่ทำให้เสื่อมเสียเกียรติทุกประการ และจะต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งใช้ และมีมารยาทที่ดีงามด้วย

 

อิบนุหิบบาน กล่าวหลังจากยกทัศนะของอุละมาอ์เกี่ยวกับความหมายของการมีเกียรติ (المروءة) ว่า 

“สำหรับฉันแล้ว เห็นว่าการมีเกียรตินั้นประกอบด้วยสองคุณลักษณะคือ 

♦ การออกห่างจากการกระทำที่อัลลอฮฺและบรรดาผู้ศรัทธารังเกียจ 

♦ และประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่อัลลอฮฺและผู้ศรัทธาพึงพอใจ 

        ซึ่งการปฏิบัติทั้งสองคุณลักษณะนี้ได้ คือแก่นแท้ของการมีสติปัญญานั่นเอง ดังที่มีรายงานว่า การมีเกียรติของบุคคลหนึ่งนั้น คือการที่เขามีสติปัญญา” 

(เราะเฎาะตุล อุเกาะลาอ์ หน้า 232)


♥ ข้อที่สาม 

       บางคนอาจเรียกได้ว่าเป็น ผู้ที่มีความเฉลียวฉลาด แต่อาจไม่ใช่ผู้มีสติปัญญา เพราะความเฉลียวฉลาดคือความเข้าใจที่ว่องไวรวดเร็ว ส่วนสติปัญญาคือสิ่งที่จะคอยเตือนใจมนุษย์มิให้กระทำในสิ่งที่มิควร


♥ ข้อที่สี่ 

        สติปัญญามีสองประเภท ชัยคฺ อิบนุอุษัยมีน  กล่าวว่า

        “การมีสติสัมปชัญญะ คือเงื่อนไขสำคัญสำหรับการปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนา ซึ่งก็คือการรับรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆ สติปัญญาในลักษณะดังกล่าวนี้คือสิ่งที่อุละมาอ์ได้กล่าวถึง ในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับอิบาดะฮฺ ธุรกรรมต่าง ๆ และเรื่องอื่น ๆ

ส่วนอีกประเภทหนึ่งคือ สติปัญญาที่บ่งบอกถึงความเฉลียวฉลาด (عقل الرشد) คือการที่คนเรารู้จักประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่เหมาะที่ควร ซึ่งผู้ที่รู้จักปฏิบัติสิ่งที่เหมาะที่ถูกต้องนี้ เรียกว่าเป็นผู้ที่มีสติปัญญา” 

(ตัฟสีร สูเราะฮฺ อัลบะเกาะเราะฮฺ เล่ม 1 หน้า 158)

อัลลอฮฺ ตรัสว่า  

“ในทำนองนั้นแหละอัลลอฮฺจะทรงให้ผู้ที่ตายมีชีวิตขึ้นมา และจะทรงให้พวกเจ้าเห็นสัญญาณต่าง ๆ เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้เข้าใจ” 

(อัลบะเกาะเราะฮฺ: 73)

และพระองค์ตรัสว่า  

“พวกเจ้าใช้ให้ผู้คนกระทำความดี โดยที่พวกเจ้าลืมตัวของพวกเจ้าเองกระนั้นหรือ และทั้ง ๆ ที่พวกเจ้าอ่านคัมภีร์อยู่

แล้วพวกเจ้าไม่ใช้ปัญญากระนั้นหรือ” 

(อัลบะเกาะเราะฮฺ: 44)


♥ ข้อที่ห้า 

       บางคนอาจเป็นผู้ที่มีสติปัญญาอันชาญฉลาดเฉียบคม แต่ทว่าเขากลับไม่ได้รับทางนำ ดังมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย ทั้งนี้ บรรดานักประดิษฐ์ที่คิดค้นสิ่งต่าง ๆ ที่มีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า เครื่องบิน ระเบิดนิวเคลียร์ หรืออื่น ๆ อีกมากมาย โดยที่พวกเขามิใช่มุสลิม แต่เป็นชาวยิว ชาวคริสต์ หรือพวกไร้ศาสนา

       นอกจากนี้อัลลอฮฺได้ตรัสถึงชาวอ๊าด ซึ่งพวกเขาเป็นผู้มีที่มีสติปัญญาและมีไหวพริบปฏิภาณเป็นเลิศ พวกเขาได้สร้างอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง อัลลอฮฺ ตรัสว่า  

“(แห่ง) อิร็อม พวกเขามีเสาหินสูงตระหง่าน ซึ่งเยี่ยงนั้นมิได้ถูกสร้างตามหัวเมืองต่าง ๆ” 

(อัลฟัจญรฺ: 7-8)

        แต่ทว่าพวกเขากลับปฏิเสธโองการของพระองค์  สติปัญญาและความสามารถที่พวกเขามีจึงมิอาจยังประโยชน์อันใดแก่พวกเขาได้ แต่จะกลับกลายเป็นเพียงความวิบัติแก่พวกเขาเอง อัลลอฮฺ ตรัสว่า  

“และโดยแน่นอน เราได้ตั้งหลักแหล่งที่มั่นคงแก่พวกเขา โดยที่เรามิได้ตั้งหลักแหล่งที่มั่นคงแก่พวกเจ้าในนั้นและเราได้ทำให้พวกเขา มีหูตาและหัวใจ

แต่ว่าหูของพวกเขา ตาของพวกเขา และหัวใจของพวกเขา มิได้อำนวยประโยชน์อันใดแก่พวกเขา และสิ่งที่พวกเขาได้เคยเยาะเย้ยไว้นั้นก็ห้อมล้อมพวกเขา” 

(อัลอะหฺกอฟ: 26)

 


والحمد لله رب العالمين، وصلى الله وسلم على نبينا محمد،وعلى آله وصحبه أجمعين.


 

แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ / Islamhouse