สติปัญญาคืออะไร ? และใครคือผู้มีสติปัญญา ?
ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์
สติปัญญา คือ การรู้จักแยกแยะสิ่งที่เป็นความถูกต้องชอบธรรมอันควรประพฤติปฏิบัติ และหลีกเลี่ยงออกห่างจากสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ในอายะฮฺที่ว่า
“จนกระทั่งเมื่อเขาบรรลุวัยหนุ่มฉกรรจ์ของเขา และมีอายุถึงสี่สิบปี”
(อัลอะหฺกอฟ: 15)
อิบนุกะษีรฺ ได้กล่าวอธิบายว่า หมายถึง
"เมื่อเขามีสติปัญญาที่สมบูรณ์ มีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และความอดทนอดกลั้นอย่างสูง ซึ่งกล่าวกันว่าคุณลักษณะเหล่านี้มักจะเริ่มคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เมื่อมีอายุสี่สิบปี”
(ตัฟสีรฺอิบนุกะษีรฺ เล่ม 13 หน้า 15)
อิบนุหัซมฺ กล่าวว่า
“การมีสติปัญญา คือการปฏิบัติตามคำสั่งใช้และกระทำสิ่งที่ดีงาม พร้อมหลีกห่างจากการฝ่าฝืนและสิ่งชั่วร้าย อัลลอฮฺได้ทรงระบุในคัมภีร์ของพระองค์ว่า ผู้ใดฝ่าฝืนพระองค์ เขาผู้นั้นคือผู้ที่ไร้ซึ่งสติปัญญา พระองค์ตรัสว่า
“และพวกเขากล่าวอีกว่า หากพวกเราฟังและใช้สติปัญญาใคร่ครวญ พวกเราก็จะมิได้อยู่เป็นชาวนรกอย่างนี้ดอก
พวกเขายอมสารภาพในความผิดของพวกเขา แต่มันห่างไกลไปเสียแล้วสำหรับชาวนรก”
(อัลมุลกฺ: 10-11)
ส่วนความโง่เขลา คือการฝ่าฝืนและลุ่มหลงอยู่กับความชั่วร้ายต่ำช้า ซึ่งตรงกันข้ามการมีสติปัญญา ส่วนสิ่งที่อยู่กลาง ๆ ระหว่างสองสิ่งนี้คือความไร้สาระ”
(อัลอัคลาก หน้า 65-66)
มีชายผู้หนึ่งถามอิบนุลมุบาร็อกว่า “อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดในบรรดาสิ่งที่คนคนหนึ่งมี?”
ท่านตอบว่า “สติปัญญาอันเฉียบคม”
เขาถามอีกว่า “หากเขาไม่มีสิ่งนั้นเล่า?”
ท่านตอบว่า “มารยาทอันงดงาม”
เขากล่าวถามว่า “หากเขาทำไม่ได้เล่า?”
ท่านตอบว่า “การมีเพื่อนที่ดีคอยให้คำปรึกษา”
ชายผู้นั้นถามต่อว่า “หากไม่มีเล่า?”
ท่านตอบว่า “การนิ่งเงียบ”
ชายคนดังกล่าวถามว่า “หากเขาทำไม่ได้เล่า?”
ท่านตอบว่า “ถ้าเป็นเช่นนั้น ความตายก็คงจะเป็นการดีที่สุด”
(เราเฎาะตุล อุเกาะลาอ์ หน้า 17)
บุคคลที่มีความประพฤติที่ดี และมีสติปัญญาอันชาญฉลาดนั้น มักจะเป็นที่รักของคนทั่วไป ซึ่งท่านนบีมุหัมมัด เป็นผู้ที่มีสติปัญญาและไหวพริบปฏิภาณอันล้ำเลิศที่สุด ในยุคญาฮิลิยะฮฺก่อนที่ท่านจะได้รับวะฮีย์จากอัลลอฮฺ ท่านไม่เคยก้มกราบเจว็ดรูปปั้นเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งที่มันมีอยู่เป็นจำนวนมากรอบ ๆ ตัวท่าน และผู้คนต่างยึดถือบูชาเคารพสักการะกันก็ตาม เพราะท่านทราบดีว่าเจว็ดเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งไร้ชีวิตที่ไม่เคยให้คุณให้โทษแก่ใคร
นอกจากนี้ชาวกุร็อยชฺยังเคยฝากทรัพย์สินของพวกเขาให้ท่านดูแลรักษา ทั้งยังขอคำปรึกษาและคำชี้แนะจากท่านอยู่เสมอด้วยความที่ท่านเป็นผู้ที่มีสติปัญญาเฉียบคม และมีความคิดความอ่านที่หลักแหลม และท่านยังได้ปลีกตัวออกห่างจากผู้คน แล้วเข้าไปอยู่ในถ้ำหิรออฺ เพื่อวิงวอนขอให้พระผู้อภิบาลทรงโปรดประทานทางนำแก่ท่าน
มีบันทึกในเศาะฮีหฺอัลบุคอรีย์ว่า ท่านอบูบักรฺได้กล่าวแก่ ซัยดฺ บิน ษาบิต ว่า
“แท้จริงท่านเป็นคนหนุ่มที่มีสติปัญญาหลักแหลม และเราก็ไม่พบว่าท่านมีข้อเสียหายใด ๆ ท่านคือผู้ที่บันทึกวะฮีย์แก่ท่านเราะสูล ดังนั้นขอให้ท่านรวบรวมอัลกุรอานให้มาอยู่ที่เดียวเถิด”
ซัยดฺ กล่าวว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ หากพวกเขามอบหมายให้ฉันขนย้ายภูเขาทั้งลูก ยังเป็นการง่ายสำหรับฉันยิ่งกว่าการที่ให้ฉันรวบรวมอัลกุรอานเสียอีก”
(ส่วนหนึ่งจากหะดีษซึ่งบันทึกโดย อัลบุคอรีย์ เลขที่ 4987)
มีเรื่องเล่าว่า ชาวนะศอรอกลุ่มหนึ่งได้พูดคุยกันในหมู่พวกเขา โดยมีผู้หนึ่งกล่าวว่า
“พวกมุสลิมช่างไร้สติปัญญาเสียนี่กระไร พวกเขาอ้างว่าศาสนทูตของพวกเขาเคยเป็นคนเลี้ยงแกะ มันเหมาะสมหรือที่คนเลี้ยงแกะเลี้ยงจะได้เป็นศาสนทูต ?”
ทันใดนั้นมีคนหนึ่งในกลุ่มกล่าวขึ้นว่า
“ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ในความเป็นจริงแล้วพวกเขามีสติปัญญาที่ชาญฉลาดกว่าพวกเรา เพราะอัลลอฮฺทรงมีเหตุผลอันล้ำลึกในการที่ทรงให้ศาสนทูตของพระองค์เคยชินกับการเลี้ยงสัตว์ เมื่อท่านสามารถเลี้ยงดูสัตว์ได้เป็นอย่างดี พระองค์ก็ทรงให้ท่านได้ปกครองดูแลมนุษย์ตามลำดับอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่พวกเราชาวนะศอรอ กลับยกย่องเชิดชูทารกซึ่งเกิดจากสตรีนางหนึ่ง ใช้ชีวิตไปกับการกินการดื่ม ปัสสาวะ และร้องไห้ ให้เป็นพระเจ้าผู้สร้างชั้นฟ้าและแผ่นดิน”
ผู้คนในกลุ่มจึงพากันเงียบกริบ
(ญามิอุลอาดาบ เล่ม 1 หน้า 218)
แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ / Islamhouse