สาเหตุที่ผู้คนยังคงจมปลักอยู่กับสิ่งเท็จ หลังจากมีการชี้แจงแล้ว
แปลและเรียบเรียงโดย อาบีดีณ โยธาสมุทร
การสรรเสริญเป็นเป็นสิทธิของอัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าแห่งทุกสรรพสิ่ง และการสดุดีตลอดจนความสันติจงมีแด่นบีของพวกเรา ท่านมุฮัมหมัด และแด่วงศ์วานของท่านตลอดจนสหายของท่านทั้งหมดด้วยเถิด
เป็นเรื่องที่ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สิ่งที่ท่าน(ไม่ได้ระบุว่าใคร-ผู้แปล)ได้วางมาตราฐานไว้ ขออัลลอฮฺทรงทำให้ท่านประสบกับความสำเร็จด้วยว่า การหวนคืนสู่ความจริงนั้น ย่อมดีกว่าการจมปลักอยู่ในความเท็จ เนื่องจากความเท็จถือเป็นเครื่องบ่งบอกถึงการทอดทิ้งและความไม่ใยดี (ของพระองค์ที่มีต่อเขาผู้นั้น –ผู้แปล) และยังบ่งบอกอีกว่าเขาผู้นั้นได้ถูกลวงหลอกด้วยความเท็จนั้นเสียแล้ว
ท่านอิหม่าม อิบนุกอยยิม ได้กล่าวไว้ใน –อั้ลฟะวาอิด- (ความ) ว่า
“และการทอดทิ้งไม่ใยดีนั้น หมายถึง การที่อัลลอฮฺทรงปล่อยคุณไว้กับตัวของคุณเอง”
ส่วนสาเหตุที่ผู้คนยังคงจมปลักอยู่กับความเท็จ ภายหลังจากที่ได้มีการชี้แจงกันเรียบร้อยแล้วนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายประการดังนี้
1. ความหลงใหลในอำนาจและชื่อเสียง
ท่าน อัล อัลลามะฮฺ อัชชาติบีย์ ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ใน – อัลเอียะอฺติซอม- (ความ) ว่า
“ประเด็นสุดท้ายที่สุดที่จะออกมาจากหัวใจของคนดีๆ ก็คือ ความรู้สึกรักในอำนาจและชื่อเสียง”
ท่าน อิบรอฮีม อิบนุ อัดฮัม ได้กล่าวไว้(ความ)ว่า “บ่าวที่หลงใหลในชื่อเสียงนั้น ย่อมไม่สัจจริงต่ออัลลอฮฺ”
ท่านอั้ลฮาฟิ้ซ อั้ซซะฮะบีย์ ได้กล่าวให้ข้อสังเกตุไว้ (ความ) ว่า
“ สัญลักษณ์ของบุคคลผู้มีความบริสุทธิ์ใจที่อาจหลงใหลในเรื่องชื่อเสียงโดยที่เขาไม่รู้ตัวก็คือ การที่เมื่อเขาถูกตำหนิและว่ากล่าวในประเด็นดังกล่าว แล้วเขาก็ไม่ได้รู้สึกโมโหใดๆ และไม่ได้กล่าวแก้ตัวอีกด้วย อีกทั้งยังสารภาพตนยอมรับและกล่าวว่า ขออัลลอฮฺทรงเมตตาผู้ที่ชี้แนะให้ผมได้รับรู้ข้อบกพร่องของผมเอง ซ้ำเขาผู้นั้นก็ไม่ใช่คนที่รู้สึกกระหยิ่มในตัวเองแต่ประการใด (หากแต่ในความเป็นจริง –ผู้แปล-) เขากลับไม่รู้กสึกรู้สากับข้อบกพร่องดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น เขาเองก็ยังไม่รู้สึกด้วยซ้ำว่าตนไม่รู้สึก แน่นอนว่านี่คือ โรคร้ายที่เรื้อรัง”
– ซิยะรุอ้ะอฺลามินนุบะล้าอฺ ของท่าน อั้ซซะฮะบีย์ 7/393. -
ท่านอิบนุอับดิ้ลบั้รได้กล่าวบทร้อยกรองไว้ใน – ญามิอุ่บะยานิ้ลอิ้ลมฺ 1/เลขที่975. – (โดยมีความหมายเป็นร้อยแก้วในภาษาไทย) ว่า
“ ความหลงใหลในตำแหน่งและยศถานั้น คือ โรคร้ายที่ถอนโกนโลกใบนี้ ซ้ำยังทำให้ความรักที่มีขึ้นระหว่างบุคคลที่รักใคร่สนิทสนมกัน กลับกลายเป็นการเปิดศึกสงครามต่อกันเสียอีก และจะเข้ามาตัดทำลายสายหลอดลม ซ้ำมันยังเข้ามาตัดเอาสายสัมพันธ์ให้สะบั้นลงอีก จนไม่เหลือแม้แต่เกียรติของคน หรือแม้กระทั่งศาสนา บุคคลที่ทำการยึดถือด้วยความโง่เขลาหรือบุคคลที่ยังไม่มีความลึกซึ้งนั้น ท่านจะไม่สัมผัสถึงธาตุแท้ของเขาว่าเป็นอื่นใดไปได้ นอกเสียแต่จะเป็นเพียงบุคคลที่ตั้งตนเป็นศัตรูกับผู้ที่ยึดมั่นอยู่บนความจริงเท่านั้น"
เขาจะรังเกลียดความรู้และโกรธเกลียดนักวิชาการ เนื่องด้วยความริษยา ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นพฤติกรรมที่เลียนแบบมาจากเหล่าศัตรูของบรรดานบีทั้งหลายนั่นเอง
ท่านอบูนุอัยมฺ ได้กล่าวไว้ (ความ)ว่า
“สาบานต่ออัลลอฮฺว่า ผู้ที่ประสบกับความพินาศนั้น ไม่ได้พินาศลงเพราะสาเหตุอื่นใด
นอกเสียแต่เพียงเพราะการมีความรู้สึกหลงใหลในยศถาบรรดาศักดิ์เท่านั้นเอง”
– ญามิอุ่บะยานิ้ลอิ้ลมฺ 1/ หน้า 570. –
2. ความยะโสและการไม่ยอมสยบให้กับความจริง
ท่านอิหม่าม ซุฟยาน อิบนุ อุยัยนะฮฺ ได้กล่าวไว้ (ความ) ว่า
“ผู้ที่เพียงได้รู้จักกับความดีและความชั่วนั้น ยังไม่ถือได้ว่าเป็นปัญญาชนแต่ประการใด
หากแต่ปัญญาชนคือ บุคคลที่เมื่อเขาได้เห็นสิ่งที่เป็นความดีแล้ว เขาก็ทำการดำเนินตามความดีนั้น
และเมื่อเขาได้เห็นสิ่งที่เป็นความชั่วช้า เขาก็ตีตนออกห่างจากมัน”
–อั้ลฮิ้ลยะฮฺ/8/339.-
ท่านอิหม่ามอิบนุลกอยยิม ได้กล่าวไว้ใน –อั้ลฟะวาอิด/ หน้า155.- (ความ)ว่า
“ส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์แห่งความสุขและความสำเร็จ ได้แก่ การที่ผู้เป็นบ่าวนั้น
♥ ทุกๆครั้งที่ความรู้ของเขาได้รับการเพิ่มพูนให้มีมากขึ้น ความถ่อมตนและความเมตตาของเขาก็จะได้รับการเพิ่มพูนให้มีมากขึ้นตามไปด้วย
♥ และทุกๆ ครั้งที่ผลงานของเขาได้รับการเพิ่มพูนให้มีมากขึ้น ความหวาดกลัวและความระมัดระวังของเขาก็จะได้รับการเพิ่มพูนให้มีมากขึ้นตามไปด้วย
♥ และทุกๆ คราที่อายุขัยของเขาได้รับการเพิ่มพูให้มีมากขึ้น ความสาละวนของเขาก็จะลดลง
♥ และทุกๆครั้งที่ทรัพย์สินของเขาได้รับการเพิ่มพูนให้มีมากขึ้น ความใจบุญและความเสียสละของเขาก็จะได้รับการเพิ่มพูนให้มีมากขึ้นตามไปด้วย
♥ และทุกๆ ครั้งที่สถานะและเกียรติยศของเขาได้รับการเพิ่มพูนขึ้น ความใกล้ชิดกับผู้คน การช่วยเหลือสะสางธุระของพวกเขา ตลอดจน ความถ่อมตนของเขาที่มีต่อพวกเขาเหล่านั้นก็จะได้รับการเพิ่มพูนให้มีมากขึ้นตามไปด้วย
ส่วนสัญลักษร์แห่งความทุกข์ ได้แก่ การที่เขาผู้นั้น
♦ ทุกๆ ครั้งที่ความรู้ของเขาได้รับการเพิ่มพูนให้มีมากขึ้น ความยะโสและความหลงผิดของเขากลับยิ่งถูกเพิ่มเติมให้มีมากยิ่งขึ้นตามไปอีก
♦ และทุกๆ ครั้งที่ผลงานของเขาได้รับการเพิ่มพูนให้มีมากขึ้น ความจองหอง การเหยียดหยามผู้อื่น และความคิดของเขาที่คิดแต่ว่าตนนั้นดีกลับยิ่งถูกเพิ่มเติมให้มีมากยิ่งขึ้นตามไปอีก
♦ และทุกๆ คราที่อายุขัยของเขาได้รับการเพิ่มพูนให้มีมากขึ้น ความหมกมุ่นของเขากลับยิ่งถูกเพิ่มเติมให้มีมากยิ่งขึ้นตามไปอีก
♦ และทุกๆ ครั้งที่ทรัพย์สินของเขาได้รับการเพิ่มพูนให้มีมากขึ้น ความตระหนี่ถี่เหนียวของเขากลับยิ่งถูกเพิ่มเติมให้มีมากยิ่งขึ้นตามไปอีก
♦ และทุกๆ ครั้งที่สถานะและเกียรติยศของเขาได้รับการเพิ่มพูนให้มีมากขึ้น ความยะโสและความหลงผิดของเขากลับยิ่งถูกเพิ่มเติมให้มีมากยิ่งขึ้นตามไปอีก
เรื่องราวเหล่านี้ คือ การทดสอบจากอัลลอฮฺ และเป็นแบบทดสอบที่พระองค์จะทรงใช้มันในการทดสอบปวงบ่าวของพระองค์ ดังนั้น กลุ่มชนหลายกลุ่มจึงได้ประสบกับความผาสุกเนื่องมาจากแบบทดสอบนี้ ในขณะที่อีกหลายกลุ่มก็ต้องประสบกับความทุกข์ระทมเนื่องมาจากแบบทดสอบดังกล่าวนี้นี่เอง”
(มีรายงาน)จากท่าน อะลี อิบนิ อบีตอลิบ ร่อดิยั้ลลอฮุอันฮุ ท่านได้กล่าวไว้ (ความ) ว่า
“ความลำพองตน คือ เภทภัยแห่งปัญญา”
และท่านอื่น (ไม่ได้ระบุว่าคือใคร –ผู้แปล-) ได้กล่าวไว้ (ความ) ว่า
“การที่คนๆ หนึ่งมีความลำพองในตนเอง นั่นคือข้อบ่งชี้ถึงความอ่อนแอของสติปัญญาของเขาผู้นั้น”
และพวกท่าน (ไม่ได้ระบุว่าคือใคร –ผู้แปล-) ยังได้กล่าวกันไว้ว่า
“ท่านจะไม่พบบุคคลที่มีความลำพองตนคนใด เว้นเสียแต่เขาผู้นั้น จะเป็นผู้ที่ฝักใฝ่ในยศถาบรรดาศักดิ์ทั้งสิ้น”
ดู – ญามิอุ่บะยานิ้ลอิ้ลมฺ /1/570-571.-
คนเรานั้นจำเป็นจะต้องตระหนักรู้ไว้อย่างสมบูรณ์ว่า อัลลอฮฺทรงสอดส่องเขาอยู่ พระองค์ทรงรู้ถึงความบิดพริ้วของสายตา ตลอดจนทรงรู้ถึงสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ข้างในหัวอก และ(ต้องตระหนักรู้ไว้ให้จงมากว่า) หัวใจทั้งหลายนั้น อยู่ระหว่าง นิ้วทั้งสองจากบรรดานิ้วของพระผู้ทรงเมตตา พระองค์จะทรงพลิกผลันมันเช่นใดก็ได้ตามที่พระองค์ทรงประสงค์
ท่านอิบนุอะบีฮาติมได้รายงานไว้ใน –อั้ซซุฮดฺ/ หน้า49.- ถึงท่าน อั้ลฮะซัน ร่อฮิมะฮั้ลลอฮฺ (โดยระบุ) คำพูดของท่านที่ (มีความ) ว่า
“แน่แท้ว่าหัวใจนั้น ย่อมล่องลอยอย่างรุนแรงเสียยิ่งกว่าขนนกในวันที่มีพายุเสียอีก”
ขออัลลอฮ์ โปรดทรงปิดผนึกเราและท่านด้วยดีด้วยเถิด ... อามีน
เขียนโดย อับดุลลอฮฺ อิบนุ อับดิรร่อฮีม อัลบุคอรีย์ 3 / ซุ้ลฮิจยะฮฺ / ฮ.ศ.1429
ต้นฉบับจาก http://www.elbukhari.com/node/21