ฟิตนะห์ของเงิน
  จำนวนคนเข้าชม  8108

 

ฟิตนะห์ของเงิน

 

อาจารย์ อับดุลบารีย์ นาปาเลน

 

 

          ♣ ความร่ำรวย ส่วนมากจะทำให้ห่างไกลจากการรำลึกถึงอัลลอฮ์ และลืมที่จะสร้างบ้านของเขาในโลกหน้า ด้วยกับการยุ่งอยู่กับเงินทอง หรือยุ่งอยู่กับงานต่างๆ และจะทำให้เกิดจิตใจแข็งกระด้าง และมีความเครียดสูง

 

         ♣ ความร่ำรวย จะทำให้มีนิสัยโอ้อวด หยิ่งยโสต่อผู้คน ดูถูกคนอื่น และไม่ยอมรับความจริง

 

         ♣ ความร่ำรวยทำให้มีนิสัยฟุ่มเฟือย และตามความใคร่ของตัวเอง มีโอกาสมากที่จะทะลุทะลวงไปสู่หนทางที่ฮารอม และต้องโดนสอบสวนอย่างมากมาย จึงเป็นเหตุให้คนจนเข้าสวรรค์ก่อนคนรวยห้าร้อยปี

 

         ♣ คนรวยส่วยใหญ่มักจะเนรคุณต่ออัลลอฮ์ และกลับมองว่า ทั้งหมดที่เขามีนั้น มาจากความเก่งกาจและเรี่ยวแรงของเขาเอง ลืมไปว่าสิ่งดังกล่าวนั้นมาจากอัลลอฮเพียงองค์เดียว

 

         "แท้จริงกอรูนมาจากพวกพ้องของมูซา เขาได้กดขี่ต่อพวกเขา และเราได้ประทานทรัพย์สมบัติมากมายแก่เขา จนกระทั่งลูกกุญแจทั้งหลายของมันนั้น เมื่อคนแข็งแรงกลุ่มหนึ่งยกแบกด้วยความยากลำบาก

เมื่อพวกพ้องของเขากล่าวแก่เขาว่า”อย่าได้หยิ่งผยอง เพราะแท้จริงอัลลอฮไม่ทรงโปรดบรรดาผู้หยิ่งผยอง”
 

(อัลเกาะศ็อศ 76)

 

"และจงแสวงหาสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ประทานแก่เจ้าเพื่อปรโลก และอย่าลืมส่วนของเจ้าแห่งโลกนี้

และจงทำความดี เสมือนกับที่อัลลอฮ์ได้ทรงทำความดีแก่เจ้า และอย่าแสวงหาความเสียหายในแผ่นดิน

แท้จริง อัลลอฮ์ไม่ทรงรักบรรดาผู้บ่อนทำลาย"

 

(อัลเกาะศ็อศ  77)

  เขา (กอรูน) กล่าวว่า “ฉันได้รับมันเพราะความรู้ของฉัน” 

         เขา (กอรูน) ไม่รู้ดอกหรือว่า แน่นอน อัลลอฮ์ได้ทรงทำลายผู้ที่มีพลังยิ่งกว่าและมีพรรคพวกมากกว่า ก่อนหน้าเขาในศตวรรษก่อน ๆ และบรรดาผู้กระทำความผิดจะไม่ถูกสอบถามเกี่ยวกับความผิดต่าง ๆ ของพวกเขาดอกหรือ ?

(อัลเกาะศ็อศ 78)

        ♣ ความร่ำรวยจะทำให้หลงรักในดุนยา และห่วงแหนในสิ่งที่พวกเขาครอบครอง จึ่งส่งผลให้เกิดความตระหนี่ จนสุดท้ายไม่ยอมจ่าย ซากาต และกลับเป็นทาสแก่เงิน


 ท่านนบี  ได้กล่าวว่า


«تَعِسَ عَبْدُ الدِّيْنَارِ ، وَالدِّرْهَمِ ، وَاْلَقطِيْفَةِ ، وَاْلخَمِيْصَةِ ، إِنْ أُعْطِيَ رَضِيَ ، وَإِنْ لَمْ يُعْطَ لَمْ يَرْضَ» [البخاري برقم 6435]

“ผู้ที่เป็นทาสของทรัพย์สินเงินทองและเสื้อผ้าอาภรณ์เครื่องนุ่งห่มนั้น เป็นผู้ที่อยู่ในความทุกข์ระทมยิ่ง

เมื่อได้รับสิ่งที่ต้องการเขาก็พึงพอใจ แต่เมื่อไม่ได้รับก็กระวนกระวายเศร้าใจ” 

(บันทึกโดย อัล-บุคอรียฺ หะดีษเลขที่: 6435)

ดังนั้นความสุขสบายอยู่กับการพอดี และมีใจที่มีความพอเพียง


«لَيْسَ الغِنَى عَنْ كَثْرَةِ العَرَضِ وَلَكِنَّ الغِنَى غِنَى النَّفْسِ» [البخاري برقم 6446، ومسلم برقم 1051]

 “ความร่ำรวยที่แท้จริงนั้น มิได้เกิดจากฐานะที่มั่งคั่งร่ำรวย แต่ทว่าเกิดจากจิตใจที่มีความพอเพียง” 

(บันทึกโดย อัลบุคอรียฺ หะดีษเลขที่ 6446 และมุสลิม 1051)

ด้วยเหตุนี้ที่ท่านนบี  จึงรักที่จะอยู่แบบคนจน และอยู่ด้วยกับคนจน 


وَكان صلى الله عليه وسلم يَقُولُ : «اللَّهُمَّ أَحْيِنِي مِسْكِينًا، وَأَمِتْنِي مِسْكِينًا، وَاحْشُرْنِي فِي زُمْرَةِ الْمَسَاكِينِ»

ท่านเราะสูลุลลอฮฺ จะขอดุอาอ์เป็นประจำว่า 


“โอ้ อัลลอฮฺ ขอทรงโปรดให้ฉันได้อยู่อย่างคนจน เเละตายอย่างคนจน และรวบรวมฉัน(ในวันกิยามะฮฺ)ในหมู่คนจน” 


(หะดีษ หะสัน บันทึกโดยอิบนุ มาญะฮฺ : 4126)