สาเหตุในการละทิ้งการฝ่าฝืน
  จำนวนคนเข้าชม  6852

 

สาเหตุในการละทิ้งการฝ่าฝืน

 

เชค อุบัยดฺ อัลญาบิรี่

 

 

 คำถาม  อะไรคือสาเหตุที่ช่วยในการละทิ้งพฤติกรรมฝ่าฝืน ?


 

อันดับที่หนึ่ง 
 

 

          การกลับเนื้อกลับตัวที่บริสุทธิ์ โดยปราศจากการสร้างความเดือดร้อนและความยากลำบาก ที่พูดเช่นนี้ ก็เพราะว่าได้รับทราบข้อมูลมาว่า คนบางคนเวลาสำนึกผิดกลับตัวมักจะทำการบนบานแรงๆ ไว้ด้วย ตัวอย่างเช่น 
 

          คนๆ หนึ่ง สำนึกผิดกลับตัวออกจากการสูบบุหรี่ โดยบนบานว่า ถ้าหากเขากลับไปสูบอีก เขาจะต้องทำนั่นทำนี่ โดยให้เป็นทาน (ศ่อดะก้อฮฺ) ในจำนวนเท่านั้นเท่านี้  พฤติกรรมนี้เป็นเรื่องต้องห้าม เป็นการสร้างความเดือดร้อน เป็นอุตริกรรม การกลับเนื้อกลับตัวนี้ได้นำอุตริกรรมเข้ามาผสมโรงด้วย ฉะนั้น ด้วยกับการกลับเนื้อกลับตัวอันบริสุทธิ์เท่านั้นเป็นที่เพียงพอแล้ว


 

 

อันดับที่สอง 

 

พยายามทำการสักการะและภักดี (อิบาดะฮฺ) ที่เป็นภาคสมัครใจ (นาฟิละฮฺ) ให้มากๆ เช่น 
 

 การละหมาด ดุฮาสองร็อกอะฮฺ 

 การละหมาด สี่หรือสองร็อกอะฮฺก่อนดุฮฺริ 

 การละหมาด สี่หรือสองร็อกอะฮฺหลัง ดุฮฺริ  

 การละหมาด สี่หรือสองร็อกอะฮฺก่อนอัสริ 

 การละหมาด สองร็อกอะฮฺภายหลังจากทุกๆ การอะซาน 

 การละหมาด สองร็อกอะฮฺหลังมักริบและสองร็อกอะฮฺหลังอิชาอฺ 

 การละหมาดในช่วงค่ำคืน ตามที่สะดวกพร้อมกับ ละหมาด วิตริด้วย 

 การถือศีลอดที่เป็นภาคอาสา เช่น การถือศีลอดวันเพ็ญ สามวัน  

 การถือศีลอด วันจันทร์และวันพฤหัสบดี  

 การถือศีลอด หกวันจากเดือนเชาว้าล 

และอื่นๆ อีก ที่เป็นสิ่งที่มีแบบฉบับที่ถูกต้อง (เชื่อถือได้) ยืนยันไว้


อันดับที่สาม 

พยายามออกห่างจากพวกพ้องที่ไม่ดี ท่านร่อซู้ลศ้อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม กล่าวไว้ (ความ) ว่า 

“บุคคลนั้น จะ(วาง)อยู่บนศาสนาของสหายสนิทของเขา ดังนั้น พวกท่านแต่ละคนก็จงพิจารณาเอาเถิดว่า จะไปผูกมิตรสนิทสนมกับใคร”


อันดับที่สี่ 

          รำลึกถึงอัลลอฮฺ อั้ซซะวะญั้ล มากๆ และพยายามกลับเข้ามาหาพระองค์ด้วยการวอนขอ (ดุอาอฺ) อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ แม้ว่าจะไม่ได้เข้าไปทำเรื่องฝ่าฝืนก็ตาม จงวอนขอต่ออัลลอฮฺ ให้พระองค์ทรงปกปักรักษาให้แคล้วคลาดจากการฝ่าฝืน วอนขอต่ออัลลอฮฺให้พระองค์ทรงควบคุมดูแลคุณด้วยสิ่งที่ได้ทรงใช้ดูแลและควบคุมบรรดาคนดีๆ จากปวงบ่าวของพระองค์


อันดับที่ห้า 

          พยายามอยู่กับคนดีๆ ให้เป็นประจำ ด้วยการเข้าไปคลุกคลีอยู่กับพวกเขาถ้าทำได้ ไม่ว่าจะที่มัสยิดหรือแม้แต่จะด้วยการติดต่อกันทางโทรศัพท์ก็ตาม ไปถามไถ่สารทุกข์สุขดิบของเขา และให้เขามาถามไถ่ถึงคุณ  ให้เขาคอยแนะนำคุณให้ได้รับทราบในบางประเด็นที่คุณมองไม่เห็น หรือบางทีอาจเป็นคุณที่เป็นฝ่ายให้คำแนะนำ

 

        ทั้งหมดนี้ คือ ตัวช่วยสำหรับการที่จะมีความแน่วแน่มั่นคง และเป็นสิ่งที่จะคอยคุ้มกันจากการพฤติกรรมฝ่าฝืน อินชาอัลลอฮุ ตะอาลา




อาบีดีณ โยธาสมุทร แปลและเรียบเรียง